เด็กจบใหม่ เรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี? ส่อง 5 เทคนิคต่อรองเงินเดือนอย่างไรให้ปังฉบับเด็กจบใหม่ | Techsauce
เด็กจบใหม่ เรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี? ส่อง 5 เทคนิคต่อรองเงินเดือนอย่างไรให้ปังฉบับเด็กจบใหม่

กรกฎาคม 23, 2021 | By Connext Team

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเดือนเป็นปัจจัยสำคัญเวลาเราพิจารณาเลือกงาน  ปกติแล้ว บริษัทจะกำหนดช่วงเงินเดือนสำหรับแต่ละตำแหน่งงานไว้แล้ว นายจ้างจึงสอบถามความต้องการเรื่องเงินเดือนของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าความคาดหวังของเราสอดคล้องกับงบประมาณที่บริษัทตั้งไว้ไหมและเพื่อดูทัศนคติของผู้สมัครงาน

Credit ภาพประกอบ:  freepik

แล้วเราจะพูดคุยกับนายจ้างอย่างไรให้ได้เงินเดือนตามที่เราต้องการล่ะ วันนี้ conNEXT จะพามาดู 5 เทคนิคง่าย ๆ ที่ผู้หางานทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กัน

รู้คุณค่าของตัวเองและรูปแบบของค่าตอบแทนที่สำคัญกับเรามากที่สุด

การรู้จักคุณค่าของตัวเองนั้นสำคัญมาก คุณค่าคือประสบการณ์และความสามารถต่าง ๆ ที่เรามี เราต้องทบทวนให้ได้ว่า เราทำงานอะไรมาบ้าง เราประสบความสำเร็จอะไรมา แล้วนำผลงานตรงนี้ออกมาเป็นคุณค่า โดยนำเสนอในรูปแบบหลักฐาน เช่น รูปแบบตัวเลขหรือรูปแบบต่าง ๆ ที่พิสูจน์ได้ 

นอกจากนี้ เราต้องพิจารณาถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วย เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราต้องการทำงานนี้เพื่ออะไร และในบางกรณี บริษัทอาจเสนอเงินเดือนให้เราน้อยกว่าที่เราคาดหวังไว้ แต่มีสวัสดิการอื่น ๆ มาทดแทน เช่น จำนวนวันหยุดที่เพิ่มขึ้น หรือ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สรุปแล้ว หากเราพิจารณาทุกองค์ประกอบอย่างรอบด้าน เราอาจค้นพบว่าสิ่งที่เราได้ทั้งหมดนั้นคุ้มค่าก็เป็นได้

สำรวจระดับเงินเดือน (Salary Range) ของตลาด

คือการทำ Market Research นั่นเอง งานแต่ละงานมีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยตามราคาตลาดอยู่ ดังนั้น ให้เราทำการบ้านว่า เงินเดือนตำแหน่งนี้ในบริษัทระดับเดียวกัน อุตสาหกรรมเดียวกัน คือเท่าไหร่ เมื่อเรานำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับเงินเดือนที่เราต้องการ เราจะได้ทราบว่า เงินเดือนที่เราต้องการนั้นมากหรือน้อยเกินไป

เราสามารถสำรวจตลาดเงินเดือนได้หลายวิธี เช่น สอบถามบริษัทจัดหางาน (Head Hunter) หรือสอบถามคนในสายงาน ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมเดียวกัน

เมื่อมาถึงขั้นตอนการเจรจาเรื่องเงินเดือน ให้เราพูดถึงคุณค่าที่เรามีในข้อ 1 และอัตราเงินเดือนเฉลี่ยของตำแหน่งงานนั้น เพื่อให้นายจ้างทราบถึงที่มาที่ไปของจำนวนเงินที่เราต้องการ 

ให้ช่วงเงินเดือนที่เราต้องการ ไม่ใช่จำนวนเฉพาะ

เราต้องกำหนดตัวเลขเงินเดือนที่ต้องการให้ชัดเจนและกำหนดเป็นช่วง ตัวเลขที่น้อยที่สุด คือ ตัวเลขที่เรารับได้ ตัวเลขตรงกลาง คือ ตัวเลขที่เราคาดหวัง และตัวเลขที่มากที่สุด คือ ตัวเลขที่สูงกว่าที่เราอยากได้ เช่นเดียวกับการขายของ เงินเดือนย่อมมีการเจรจาต่อรอง ส่วนใหญ่พอเจรจาแล้ว เงินเดือนจะมาอยู่ที่กึ่งกลางของช่วงที่เราตั้งไว้

อย่าเพิ่งเจรจาเรื่องเงินเดือนจนกว่าจะได้รับการเสนองานอย่างเป็นทางการ

การคุยเรื่องเงินเดือนเป็นอย่างแรกขณะสัมภาษณ์ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เราควรคุยเรื่องตัวงานเป็นหลัก เพื่อให้นายจ้างเห็นว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งงานดังกล่าว เมื่อเราสัมภาษณ์งานผ่านแล้ว ค่อยเจรจาเรื่องเงินเดือนในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอจึงจะดีกว่า 

เจรจาเรื่องเงินเดือนแบบเห็นหน้า

การเจรจาแบบเห็นหน้าแทนที่จะส่งข้อความ จะช่วยให้การสื่อสารไม่คลาดเคลื่อน น้ำเสียงและท่าทางจะช่วยให้นายจ้างเข้าใจเจตนาของเราได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ อย่าลืมพกความความมั่นใจไปด้วยนะ

หากเราเป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีคุณค่าต่อองค์กร ตั้งใจทำงาน กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงองค์กร สามารถนำเสนอแนวคิด หรือ สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากกว่าเดิม การที่นายจ้างจะพิจารณาเพิ่มเงินเดือน ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว 

อ้างอิง: Indeed

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn 

ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]

No comment