Design your work life: วิธีหางานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ กับ ชญาน์ทัต วงศ์มณี (ท้อฟฟี่ แบรดชอว์) | Techsauce
Design your work life: วิธีหางานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ กับ ชญาน์ทัต วงศ์มณี (ท้อฟฟี่ แบรดชอว์)

กรกฎาคม 29, 2022 | By Connext Team

หลายคนที่กำลังจะก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่โลกของการทำงานยังไม่รู้ว่าจะหางานที่ใช่ได้อย่างไร ในงาน Tech ConNEXT Job Fair 2022 ที่ผ่านมา คุณชญาน์ทัต วงศ์มณี (ท้อฟฟี่ แบรดชอว์) นักเขียนชื่อดังและเจ้าของเพจ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ได้มาบอกวิธีค้นหางานที่ใช่สำหรับเราในหัวข้อ “Design your work life: วิธีหางานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ” แต่สำหรับใครที่พลาดงานนี้ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะเราได้สรุปเนื้อหามาให้อ่านกันแล้ว 

Design your work life

‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ คำถามที่หลายคนโดนถามตอนเด็ก

ตอนเด็กคุณท้อฟฟี่ก็เป็นหนึ่งในคนที่โดนถามแบบนี้และมีคำตอบมากมายในหัว แต่พอโตขึ้นมาคุณท้อฟฟี่กลับพบว่าคำถามนี้มีปัญหา เพราะเป็นคำถามที่ทำให้เราโฟกัสอยู่แต่กับเรื่องอาชีพ มันตีกรอบให้เราคิดว่าคุณค่าเดียวที่มีในชีวิตนี้คือการมีอาชีพใดอาชีพหนึ่ง และยังทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่ได้มีงานที่ประสบความสำเร็จเท่ากับว่าไม่มีอะไรเลย 

สิ่งที่ตามมาเวลาคนมีคำถามแบบนี้คือความคาดหวังว่าคนตอบจะตอบอาชีพอะไร เมื่อไหร่ก็ตามที่เราบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ ปลายทางจะมีปฏิกิริยาไม่ค่อยตื่นตาตื่นใจเท่ากับตอนที่บอกว่าอยากเป็นหมอ อารมณ์เดียวกับการเล่นเกมเศรษฐีที่แต่ละอาชีพจะให้เงินเดือนไม่เท่ากัน สิ่งนี้จะเฟรมความคิดของเราบางอย่างว่าอาชีพใดอาชีพหนึ่งมีคุณค่ามากกว่าอาชีพอื่น เช่นเดียวกับโรงเรียนที่จะมีป้ายแปะอยู่หน้าโรงเรียนว่าใครสอบหมอหรือวิศวกรได้ ทั้งที่จริงแล้วทุกอาชีพมีคุณค่าและมีความหมายไม่ต่างกันเลย ซึ่งการมีเฟรมอย่างเดียวว่าชีวิตนี้มีแต่เรื่องอาชีพอย่างเดียวทำให้เราขาดมิติในเรื่องอื่นๆ

สำหรับคุณท้อฟฟี่แล้ว ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ เป็นคำถามปิดโลก เพราะมันปิดให้เราคิดแต่เรื่องอาชีพ แต่ถ้าจะลองเปลี่ยนเป็นคำถามเปิดโลก  ควรถามว่า ‘โตขึ้นคุณอยากเป็นคนแบบไหน’ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะมองเห็นมิติมากขึ้นไปกว่าเรื่องของหน้าที่การงาน เพราะงานจะประสบความสำเร็จได้ไม่ได้มีแค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นหน่วยค้ำจุนที่ทำให้งานของเราประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องครอบครัว สุขภาพ เพื่อน สังคม การเงิน ทักษะความรู้ ความรัก ซึ่งทุกอย่างล้วนมีความเชื่อมโยงกันหมด 

6 Steps ในการออกแบบชีวิตการทำงานที่ทำให้เราเติบโตไปเป็นแบบที่เราอยากเป็น

Step 1: Your Strength 

ขั้นตอนแรกเราต้องสำรวจจุดแข็งของตัวเองก่อน ดูว่าเราทำอะไรแล้วมีความสุข รู้สึกหัวใจพองฟูเหมือนเวลาหยุดเดิน สิ่งนั้นเราทำได้ดีหรือไม่ เพราะเวลาที่เราทำอะไรแล้วเห็นว่าผลลัพธ์ออกมาดี มันจะทำให้มีกำลังใจและอยากทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่ทุกคนมีเวลาจำกัด เราจึงควรทุ่มเทเวลาเหล่านั้นไปกับการพัฒนาสิ่งที่ใช่และเป็นจุดแข็งของเราจริงๆ 

เรื่องที่ต้องดูลำดับถัดมาคือ สิ่งนั้นเราทำได้นานหรือไม่ มีโอกาสทำได้บ่อยหรือเปล่า สามารถปล่อยเวลาให้กับมันได้นานมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเวลาที่ทำงานอะไรสักอย่าง เราจะได้เจอทั้งสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบอยู่ในงานนั้น ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นงานของเรารอบด้านมากขึ้น สุดท้ายลองกลับมาดูว่าในสิ่งที่ชอบ ทำได้ดี และทำได้นานนั้นมีจุดไหนบ้างที่รู้สึกว่าสามารถทำได้มากกว่าคนอื่น เพราะมันจะทำให้เรามีจุดเด่นและแตกต่างจากคนอื่น 

Step 2: Your Impact 

หลังจากที่รู้จุดแข็งและความสามารถของเราแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือมองไปที่คนรอบตัวและสังคม ลองดูว่าความสามารถของเราจะสามารถสร้างประโยชน์หรือมอบความสุขให้กับคนอื่นได้อย่างไร มีปัญหาอะไรบ้างที่บางคนไม่สามารถแก้ได้ แต่เราสามารถใช้ความสามารถของเราไปช่วยแก้ปัญหานั้นได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้ว่าความสามารถของเรามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตใครบางคนอยู่ เราจะรู้เหตุผลในการตื่นขึ้นมาทำงานนั้น 

ตัวอย่างเช่น Nike ไม่ได้ตื่นขึ้นมาเพื่อขายรองเท้าแต่ตื่นขึ้นมาเพื่อทำให้คนมีสปิริตนักกีฬา พอมีสปิริตนักกีฬาก็จะกลายเป็นคนที่มีความทุ่มเท มีความอดทน พร้อมจะต่อสู้ และกล้าคว้าความฝัน ขณะเดียวกัน Netflix ก็ไม่ได้ตื่นมาทำสตรีมมิ่งแต่ตื่นมาเพื่อหาเรื่องราวมาเปลี่ยนแปลงชีวิตคน เพราะเชื่อว่าเรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้มีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ สารคดี จะช่วยหล่อหลอมให้คนเติบโตและเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ 

จะเห็นว่าสิ่งที่บริษัททั้งสองทำได้สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับคนอื่นๆ ทำให้พวกเขาอยากตื่นขึ้นทำให้ชีวิตใครบางคนดีขึ้น แต่ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความสามารถที่เรามีจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือเลิกโฟกัสที่ตัวเองแล้วมองไปหาคนรอบตัว พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา พอเข้าใจตรงนั้นแล้วเราจะเริ่มกลับมามองตัวเองแล้วว่าความสามารถที่มีจะช่วยคนอื่นได้อย่างไรบ้าง 

Step 3: Opportunity & Threat 

พอรู้ว่าความสามารถของเราคืออะไรและเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างแล้วนั้น ขั้นตอนถัดมาคือดูว่ามีเทรนด์อะไรบ้างที่จะเป็นโอกาสสำหรับเราและจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ตัวอย่าง Global Trends ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน เช่น Digitalization, AI & Robots, Health, Cybersecurity, Equality & Diversity เป็นต้น จากนั้นให้เอาความสามารถของเราไปบวกกับเทรนด์เหล่านี้ เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อที่จะเป็นต้นทุนและนำไปใช้ประโยชน์ในหน้าที่การงาน

นอกจาก Global Trends ที่เป็นจะเป็นโอกาสให้เราได้ไขว่คว้าแล้ว ลองดูว่าสิ่งไหนจะเป็นความเสี่ยงสำหรับตัวเราด้วย เช่น วิกฤตโรคระบาดหรือวิกฤตเศรษฐกิจที่มีอยู่ตอนนี้ ความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤตโลกร้อน และอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ลองดูว่าวิกฤตเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างไร แล้วมีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมอุดรอยรั่วเหล่านั้น 

Step 4: Skills 

ต่อมาคือกลับมาดูที่ตัวเราว่ามีทักษะอะไรบ้างที่จะต้องเติมเพื่อให้เราสามารถอยู่รอดหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น ทักษะที่มีความสำคัญมากและขาดไม่ได้ก็คือ Soft Skill เพราะเราต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ ขณะเดียวกัน Hard Skill ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นทักษะที่เปลี่ยนแปลงและต้องเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ

ตัวอย่าง Soft Skills เช่น Time Management คือการทำงานส่งตรงตามกำหนด Mentoring คือการโค้ชคนอื่นให้มีความสามารถมากขึ้น Resilience คือการล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่และพร้อมเรียนรู้ข้อผิดพลาด Communication คือการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ Teamwork คือการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น  Empathy คือการเข้าอกเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน และ Leadership คือการมีความเป็นผู้นำทั้งนำคนอื่นและนำตัวเองให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้  

สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องมี ‘ส่วนผสมที่ประหลาด’ ด้วย เพื่อที่เราจะได้มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากคนอื่น เช่น ถ้าเราเก่งเรื่องเทคโนโลยีก็อาจจะรู้เรื่องจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ บันเทิง และข่าวสารรอบโลกด้วย เพราะการมีส่วนผสมที่ประหลาดจะช่วยให้เราได้ใช้ทุกทักษะ ทุกความสามารถ และทุกท่าไม้ตาย นอกจากนี้ อย่าฝากชีวิตไว้แค่งานเดียว ลองทำงานอื่นบ้าง มีเพื่อนในหลายแวดวงและหลายสังคม ลงคอร์สเรียนที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์อื่นๆ เข้าด้วยกันได้ 

Step 5: The Right Place 

ต่อมาคือการหาที่ทำงานที่ใช่ ดูว่างานที่จะทำต้องไปอยู่ที่ไหนถึงจะมีโอกาสเติบโต ดู Culture ขององค์กรว่าจะหล่อหลอมให้ตัวเราเติบโตกลายเป็นคนที่อยากเป็นหรือไม่ ลองไปหาที่ทำงานที่ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ให้เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบอย่างเดียว แต่ทำให้เราได้ทำในสิ่งที่มีความหมาย สิ่งสำคัญก็คือที่ทำงานนั้นต้องทำให้เรามี Learning Skill ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อไหร่ก็ตามที่ที่ทำงานนั้นเริ่มทำให้เรารู้สึกว่าทำงานซ้ำๆ ทำงานเดิมๆ ความตื่นเต้นเริ่มหมดแล้ว เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง อาจจะเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนแผนก หรือสุดท้ายคือเปลี่ยนงาน 

หลายคนเวลามีปัญหาในที่ทำงานมักจะกระโดดข้ามไปที่การลาออกเลย คิดว่าการลาออกสามารถขจัดได้ทุกปัญหา แต่ความจริงแล้วทุกบริษัทมีปัญหาหมด ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมที่เคยอยู่ในที่ทำงานเก่าได้ ปัญหานั้นอาจจะตามมาหลอกหลอนไปจนถึงที่ใหม่ได้ ดังนั้น ลองดูก่อนว่าปัญหานั้นคืออะไร จะแก้ไขอย่างไร หากจนมุมจริงๆ ค่อยคิดเรื่องการลาออก

Step 6: Job Crafting 

Job Crafting คือวิธีการทำงานที่เราใส่ใจ ทุ่มเท และมองเห็นทุกรายละเอียดของเราในการทำงาน สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากการที่เรามองเห็นก่อนว่างานที่เราทำเป็นงานที่ชอบ เป็นงานที่ทำได้ดี เป็นงานที่มีความหมาย เป็นงานที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตเพราะเทรนด์กำลังมา เป็นงานที่ทำให้เกิดทักษะที่ต้องการอยู่พอดี พอเป็นอย่างนี้แล้ววิธีการทำงานของเราจะเปลี่ยนไป จะไม่ใช่วิธีการทำงานแบบ ‘ได้คร้าบ’ คือทำงานตามหัวหน้าสั่ง ไม่ได้ใส่ใจ ทำให้เสร็จก็พอ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพบว่างานของเราเป็นงานที่มีความหมาย เป็นงานที่ชอบ เป็นงานที่มีอิมแพคต่อคนอื่นๆ วิธีการของงานเราจะกลายเป็น ‘ได้คราฟท์’ คือทำงานด้วยความใส่ใจ เพราะรู้ว่าทำแล้วมีความหมาย งานที่ทำจึงเป็นงานคราฟท์ที่มีค่า

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าทุกวันที่เราทำงานคือทุกวันที่กำลังสร้างตัวเราอยู่ และมีคำพูดหนึ่งที่คุณท้อฟฟี่ชอบมากคือ “เมื่อคุณคราฟต์งาน งานจะกลับมาคราฟต์ตัวคุณด้วย คุณทำงานแบบไหนคุณจะกลายเป็นคนแบบนั้น” ถ้าเราทำงานอย่างทุ่มเทและใส่ใจ สุดท้ายเราจะกลายเป็นคนที่ใส่ใจรายละเอียดต่างๆ และเป็นคนที่ทำงานแล้วมีความหมาย

เมื่อทำครบทั้ง 6 Steps แล้ว เราจะได้ทำงานที่ใช่ ได้ทำสิ่งที่มีความหมาย ได้ใช้โอกาสให้คุ้มค่า ได้เรียนรู้ ได้เติบโตไปในทางที่ดีงาม และได้เป็นตัวเองแบบที่ภูมิใจ แต่ 6 Steps นี้ไม่ใช่ว่าทำทีเดียวแล้วจบ เราจะต้องคอยทบทวนอยู่ตลอดเวลาว่ายังตอบโจทย์เราอยู่หรือไม่ ถือเป็นกระบวนการที่วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดทั้งชีวิต

สุดท้ายคุณท้อฟฟี่ได้ทิ้งท้ายว่า ‘Leave the room better than you found it’ หรือ ‘ทำโลกนี้ให้ดีขึ้นหรือทำที่ที่คุณอยู่ให้ดีขึ้นกว่าตอนที่เข้ามา’ หากกลับไปที่คำถามตอนต้นว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นคนแบบไหน’ คุณท้อฟฟี่หวังว่าทุกคนน่าจะได้คำตอบแล้วว่า ‘อยากเติบโตไปเป็นคนที่ทำในสิ่งที่มีความหมายและเติบโตขึ้นเป็นคนแบบที่คุณเองก็ภูมิใจ’

เขียนโดย Parinya Putthaisong

No comment