ฟรีแลนซ์ vs งานประจำ แบบไหนใช่กว่า กับ คุณบองเต่า ไชยณัฐ และ ครูทอม จักรกฤต | Techsauce
ฟรีแลนซ์ vs งานประจำ แบบไหนใช่กว่า กับ คุณบองเต่า ไชยณัฐ และ ครูทอม จักรกฤต

สิงหาคม 4, 2022 | By Connext Team

หลายคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ก็มักจะสับสนว่าตนเองเหมาะกับการทำงานแบบไหนระหว่างการทำงานแบบฟรีแลนซ์กับการทำงานประจำ แบบไหนดีกว่าและแบบไหนใช่สำหรับเรา 

ในงาน Tech ConNEXT Job Fair 2022 ได้จัดเซสชั่น ‘ฟรีแลนซ์ vs งานประจำ แบบไหนใช่กว่า’ จากวิทยากรชื่อดังทั้ง 2 ท่านที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงของการทำงานทั้งสองรูปแบบ ท่านแรกคือ คุณบองเต่า ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ กรรมการผู้จัดการ Rabbit's Tale และผู้ดำเนินรายการ I HATE MY JOB ซึ่งจะมาเป็นตัวแทนของฝั่งการทำงานประจำ และครูทอม จักรกฤต โยมพยอม นักแสดง พิธีกร นักเขียน podcaster และผู้ร่วมก่อตั้ง สำนักพิมพ์อะโวคาโดบุ๊กส์ เป็นตัวแทนของฝั่งการทำงานแบบฟรีแลนซ์ 

สำหรับใครที่พลาดมางานในปีนี้ ทาง ConNEXT ได้รวบรวมใจความสำคัญที่วิทยากรทั้งสองท่านดังกล่าวไว้ที่นี่แล้ว

ฟรีแลนซ์ vs งานประจำ

ข้อดีของการเป็นฟรีแลนซ์ vs พนักงานประจำ คืออะไร

คุณบองเต่าได้พูดถึงการทำงานประจำว่า หนึ่งในข้อดีของผู้ที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนคือ ‘ความมั่นคง’ โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดี การที่รู้ว่ามีงานให้ทำหรือพรุ่งนี้เช้าต้องทำอะไรบ้าง งานประจำตอบโจทย์เรื่องนี้มาก

ครูทอมกล่าวในมุมมองของการทำงานแบบฟรีแลนซ์ว่า ตอนที่เพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงาน ตอนนั้นก็คิดเรื่องความมั่นคงเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เขายังเด็ก ยังไม่ได้คิดเยอะและคิดให้รอบด้าน ขอแค่ ‘ความมั่นคงทางความสุข’ ก่อน จึงเริ่มทำงานเป็นฟรีแลนซ์และไม่เคยทำงานประจำที่ไหนเลย เพราะรู้สึกว่ามันเป็นการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกรอบ เช่น เข้างาน 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น ทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งเขาไม่มีความสุขกับการทำงานในกรอบแบบนี้

คุณบองเต่าได้กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า สมัยก่อนคนจะรู้สึกว่างานประจำคืองานซ้ำๆ เดิมๆ ตอกบัตรเช้าตอกบัตรเย็น แต่สมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะมีทั้งงาน Startup และงานใหม่ๆ ออกมามากมาย ดังนั้นรูปแบบการทำงานจึงไม่ได้น่าเบื่อแบบที่คิด มีทั้งงานที่สนุกและงานที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และถ้าหากถามว่าระบบงานแบบ Coperate นั้นยังมีอยู่ไหม ก็ตอบได้ว่ายังมีอยู่ และข้อดีของการทำงานแบบนี้ คือสามารถวางแผนชีวิตได้ รู้ว่าก่อน 9 โมงเช้าและหลัง 5 โมงเย็นสามารถทำอะไรได้บ้าง 

ในเรื่องของการจัดตารางเวลา ครูทอมมองว่าหากเป็นฟรีแลนซ์ก็สามารถจัดตารางเวลาได้เหมือนกัน เช่น หากจองตั๋วเครื่องบินและล็อกตารางเวลาเพื่อหยุดไปพักผ่อน แต่ถ้ามีงานเข้ามา ก็สามารถดูได้ว่างานนั้นทับซ้อนเวลาหยุดงานหรือไม่ หากซ้อนกัน แล้วงานนั้นจะคุ้มค่าให้เสียตั๋วใบนั้นไปหรือเปล่า อันนี้ต้องมาคิดกันอีกที แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมีคือ ‘วินัยในการทำงาน’ รับงานเขามาแล้วต้องทำอย่างเต็มที่ เพราะในปัจจุบันมีฟรีแลนซ์เยอะมาก ถ้าเขาไม่เลือกเรา เขาก็สามารถไปเลือกคนอื่นได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ และงานทุกชิ้นต้องมีมาตรฐาน

ข้อเสียของการเป็นฟรีแลนซ์ vs พนักงานประจำ คืออะไร

สำหรับงานประจำแล้ว อาจต้องลองเปรียบตัวเองเป็นต้นไม้และต้องอยู่ในกระถาง มีคนมารดน้ำให้ตลอด แต่ถ้าวันหนึ่งหากอยากออกไปนอกกระถาง ก็คงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น นั่นเป็นสิ่งที่ต้องแลกกัน อีกทั้งบางทีการที่อยู่แต่ในกระถางมันเพลย์เซฟมาก เพราะเติบโตในทางที่เขาวางไว้ให้ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่อยากเติบโตในแบบของตัวเอง ก็ต้องเข้าใจว่างานประจำอาจจะให้แบบนั้นไม่ได้ ต้องมาดูว่าความต้องการในชีวิตตัวเองเป็นแบบไหน ซึ่งในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน ช่วงหนึ่งอาจจะรู้สึกอยากเรียนรู้หรืออยากทำงาน แต่ช่วงหนึ่งอาจจะต้องการอิสระ ต้องการการวางแผนมากขึ้น งานประจำก็อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

สำหรับครูทอมแล้ว ถึงจะเคยบอกว่าการทำงานแบบฟรีแลนซ์ทำให้เขามีความมั่นคงทางความสุข แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะใช้ชีวิตแบบนั้นได้ตลอด บางช่วงที่รายได้เข้ามาน้อย ช่วงนั้นจะทำให้เริ่มรู้สึกถึงความสั่นคลอนทั้งความมั่นคงทางรายได้และทางความสุข ซึ่งฟรีแลนซ์บางสายงานก็ต้องรอให้งานเข้ามาหาเพราะไม่สามารถผลิตงานขึ้นมาเองได้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ เวลาทำธุรกรรมค่อนข้างยุ่งยาก เช่น การทำบัตรเครดิต การทำวีซ่า การกู้ซื้อบ้านหรือซื้อรถ ก็ยากเพราะทางธนาคารมองว่ารายได้ไม่มั่นคง ดูไม่น่าเชื่อถือ ต่อให้มี Statement ทางธนาคารก็จะมองว่ามีความเสี่ยง ประกอบกับยุคโควิดอีก ยิ่งทวีคูณความเสี่ยงขึ้นไป

หากทำงานแล้วรู้สึกหมดไฟ การลาไปเที่ยวพักผ่อนยังได้ผลอยู่หรือไม่

คุณบองเต่ากล่าวว่า การลาไปเที่ยวพักผ่อนยังคงใช้ได้อยู่ ยิ่งช่วงยุคโควิด ยิ่งมีหลายคนเกิดอาการหมดไฟ ในตอนแรก คุณบองเต่ารู้สึกว่าเด็กยุคใหม่โตขึ้นมากับแพชชั่นและต้องทำงานที่มีแพชชั่น แต่อาจารย์ชัชชาติเคยมาพูดที่ออฟฟิศแล้วบอกว่า ‘บนโลกนี้ไม่ได้มีงานสำหรับแพชชั่นกับทุกคน งานประจำคืองานที่ทำเพื่อให้เราเติบโต เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่คุณสามารถไปหาแพชชั่นจากข้างนอกได้ เช่น เลิกงานแล้วไปออกกำลังกาย ไปเจอเพื่อน หรือไปทำในสิ่งที่คุณชอบ’ ทุกวันนี้เวลามีใครมาถาม เขาก็ยังคงตอบแบบนั้นอยู่ ซึ่งหนึ่งในแพชชั่นก่อนช่วงโควิดคือการไปเที่ยว คุณบองเต่ายังบอกอีกว่าเขาให้เกียรติการลาและการไปเที่ยวของทุกคน ขออย่างเดียวคือวางแผนให้ทีมสามารถทำงานต่อได้ และปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายเข้ามา สามารถ Work from home ได้หรือจะ Work from anywhere ก็ได้ กลายเป็นว่าการไปเที่ยวเป็นช่องทางให้คนสามารถทำงานไปด้วยได้

ครูทอมเสริมว่า การไปเที่ยวสามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้จริงๆ เพราะบางทีการทำงานที่บ้านก็ทำให้รู้สึกเบื่อกับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ครูทอมยังบอกอีกว่าตัวเขาเองมีความสุขกับการออกไปหาร้านกาแฟใหม่ๆ เพื่อทำงาน หรือบางครั้งก็หิ้วคอมไปซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อทำงานที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ พอคุณบองเต่าพูดเรื่องแพชชั่นขึ้นมา ทำให้ครูทอมรู้สึกว่าโชคดีที่งานที่ทำตอนนี้มันเป็นแพชชั่นของเขา มันตอบโจทย์ทุกอย่าง ตัวเขาเองชอบงานพิธีกร ชอบงานแสดง ชอบงานหนังสือ ชอบงานสอนหนังสือ ทั้งหมดนี้ทำให้มีความสุข แล้วก็สร้างรายได้ให้ตัวเอง อีกทั้งยังมีเวลาให้ไปเที่ยวพักผ่อนหรือแม้แต่ตอนที่ไปเที่ยวก็สามารถทำงานได้ 

หากหาแพชชั่นไม่เจอ ไม่รู้ว่าควรทำงานแบบไหน ควรทำอย่างไรดี

ครูทอมแนะนำว่า ตัวเราจะรู้ว่าชอบอะไรก็ต่อเมื่อได้ลองทำ ต้องหาโอกาสลองทำสิ่งต่างๆ เช่น ลองไปเรียนออนไลน์ พอได้ลองถึงจะรู้ว่าเราชอบอะไร

คุณบองเต่าเสริมว่า หลายคนเจอปัญหาเดียวกันคือ ยังไม่เจอแพชชั่นของตัวเอง ปัจจุบันไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร คุณบองเต่าแนะนำทุกคนว่า ‘ไม่ต้องรีบ’ ยังมีเวลาอีกเยอะมากให้ได้ลองทำสิ่งต่างๆ เหมือนที่ครูทอมได้พูดว่า ต้องลองค้นหาไปเรื่อยๆ บางคนอาจจะเจอเร็ว บางคนอาจจะต้องใช้เวลา แต่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกกดดัน 

ทำอย่างไรให้ตัวเองโดดเด่นจนได้งาน

สำหรับฟรีแลนซ์แล้ว ครูทอมกล่าวว่า เวลาได้ยินคนพูดว่า ‘ของดีไม่จำเป็นต้องโฆษณา’ เขาไม่เห็นด้วย เพราะถ้าไม่โฆษณาแล้วเขาจะรู้จักตัวเราไหม ถ้าอยากโดดเด่นและอยากให้คนรู้จัก ก็ต้องทำให้คนอื่นเห็น ซึ่งในปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียมากมาย ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้คนอื่นเห็นงานของเราหรือรู้จักงานของเรา อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ‘คอนเนคชัน’ ถ้ามีโอกาสก็ให้พาตัวเองไปรู้จักผู้คนใหม่ๆ เพราะมันสามารถต่อยอดได้ ซึ่งคอนเนคชันก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งเพราะถ้ามีเส้นสายแต่ไม่มีคุณภาพ เขาก็ไม่เลือกอยู่ดี ดังนั้น ก่อนจะใช้เส้นสายก็ต้องทำตัวเองให้มีคุณภาพก่อน 

คุณบองเต่าได้ให้ความเห็นกับคำถามนี้ว่า ช่วงนี้เป็นยุคทองของการเป็นเป็ด ก็คือทำได้หลายอย่างแต่อาจจะไม่เก่งสักอย่าง ยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเข้าไปในทุกแขนง เช่น หากทำงานด้านมาร์เก็ตติ้ง ก็ต้องใช้ทักษะด้านมาร์เก็ตติ้งและทักษะเทคโนโลยี คนที่เป็นเป็ดที่รู้ทั้งสองอย่างก็จะสามารถสื่อสารกับคนทั้งสองโลกได้ ทักษะแบบนี้เป็นสิ่งที่คนต้องการมาก ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แต่ต้องตามโลกให้ทัน 

หากย้อนเวลากลับไปได้ ยังจะเลือกงานเดิมอยู่หรือไม่

สำหรับคุณบองเต่า หากย้อนเวลากลับไปได้ก็ยังคงเลือกงานประจำอยู่ เพราะเขาเป็นคนชอบวางแผนชีวิตว่าจะทำ 1 2 3 4 5 ซึ่งงานนี้มันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเขา อีกจุดหนึ่งที่ชอบคือ เมื่อเข้าไปอยู่ในองค์กรที่เหมาะสมกับตัวเรา เขาพร้อมที่จะซัพพอร์ตให้ตัวเราเติบโต อยากเรียนรู้อะไร เขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน นอกจากนี้คุณบองเต่ายังกล่าวอีกว่า เขาอยากให้ทุกคนลืมภาพว่างานประจำมันน่าเบื่อเพราะงานประจำมีข้อดีของมัน ซึ่งที่เขาเติบโตอยู่จนถึงทุกวันนี้เพราะอยู่ในองค์กรที่ดี มีเจ้านาย มีสังคมที่ดี สิ่งเหล่านี้ช่วยเกื้อหนุนให้เขาเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ได้

ส่วนทางฝั่งครูทอมกล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ ก็ยังคงเลือกเป็นฟรีแลนซ์แบบนี้ เพราะเขามั่นใจมากว่าจะมีความสุขกับเส้นทางนี้ ตลอดเวลาที่อยู่ในช่วงมหาวิทยาลัยที่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ มันทำให้เห็นได้ชัดว่า เขาจะไม่มีความสุขแน่ๆ ถ้าเข้าไปอยู่ในกรอบของการเป็นพนักงานประจำ การเป็นฟรีแลนซ์จะทำให้ตัวของเขามีความสุข เมื่อได้พัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น โอกาสก็จะเข้ามาหาตัวเราและบางครั้งเราก็จะสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ด้วย

ทาง ConNEXT หวังว่าทุกคนจะได้คำตอบหรือข้อคิดดีๆ กลับไปไม่มากก็น้อย และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ติดตามคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากเซสชั่นภายในงานได้ที่ Facebook page ConNEXT

No comment