รู้หรือไม่! 28%ของพนักงานลาออกเพราะ 'หัวหน้า' ทำตัวไม่น่ารัก | Techsauce
รู้หรือไม่! 28%ของพนักงานลาออกเพราะ 'หัวหน้า' ทำตัวไม่น่ารัก

มิถุนายน 21, 2022 | By Connext Team

ความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับหัวหน้า จากการสำรวจของ Joblist พบว่าเกือบ 1 ใน 3 หรือ 28% ของผู้หางานจำนวน 18,617 คน ลาออกจากงานเพราะการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของหัวหน้า

“เมื่อคุณกลายเป็นหัวหน้า ไม่มีใครมาสอนคุณหรอกว่าต้องทำอย่างไร” Dr. Rosina Racioppi ผู้บริหารระดับสูงและประธานบริษัท WOMEN กล่าว “บ่อยครั้งที่หัวหน้ายังสับสน พวกเขาจดจ่ออยู่แต่กับการทำงานมากเกินไปจนลืมนึกถึงความเป็นมนุษย์”

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหากับหัวหน้าและกำลังคิดว่าจะลาออกดีไหม วันนี้ทาง ConNEXT จะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับวิธีที่จะช่วยคลายปัญหานั้นซึ่งแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ 

ลาออก

ก่อนเริ่มงานให้ถามหัวหน้าว่า “เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร”

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าอันดับแรกคุณต้องเข้าใจขอบเขตของงานคุณเสียก่อน Racioppi กล่าวว่า “ตอนที่ฉันทำงานกับหัวหน้าคนใหม่ คำถามที่ฉันมักจะถามอยู่เสมอคือ เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร คุณต้องการอะไรจากฉัน” โดยเธอแนะนำให้ถามหัวหน้าว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบทบาทของคุณสามอันดับแรก โปรเจ็คต์ต่างๆ กำหนดส่งเมื่อไหร่ จะให้ติดต่อสื่อสารกับพวกเขาอย่างไร 

เหตุผลที่ต้องคอยพูดเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอนั่นก็เพื่อที่คุณจะได้เท่าทันความต้องการของหัวหน้า เพราะถ้าคุณมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้งานของหัวหน้าง่ายขึ้น นั่นคือคุณกำลังลดความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นและยังเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ถามตัวเองว่า “กำลังตึงเครียดกับหัวหน้าเรื่องอะไรอยู่”

Racioppi แนะนำว่า หลังจากที่คุณเข้าใจบทบาทและการทำงานของคุณแล้ว แต่ยังคงมีปัญหากับหัวหน้าอยู่ ให้คุณถอยหลังมาหนึ่งก้าวแล้วลองถามตัวเองว่า “คุณกำลังตึงเครียดกับหัวหน้าเรื่องอะไรอยู่” 

เช่น คุณอาจไม่เข้าใจว่าหัวหน้าคาดหวังอะไรในตัวงานกันแน่ ฟีดแบ็กที่คุณได้รับอาจไม่ชัดเจนและทำตามยาก หรือหัวหน้าทำให้คุณไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน เป็นต้น คุณต้องพยายามนึกถึงสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกตรึงเครียด จากนั้นคิดให้ออกว่าปัญหานั้นคืออะไร

จดบันทึกปัญหา

หลังจากที่รู้แล้วว่าปัญหานั้นคืออะไร ให้คุณจดบันทึกมันเอาไว้ เพราะจะได้รู้ว่าพฤติกรรมนี้มี Pattern หรือเป็นปัญหาชั่วคราว 

Carolyn Kleiman ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจากเว็ปไซต์ ResumeBuilder.com กล่าวว่า “ทุกครั้งที่คุณมีเรื่องอะไรกับใครก็ตาม คนเรามักอยากรู้ว่าคุณมีวิธีรับมือกับมันอย่างไร ดังนั้น สิ่งใดที่คุณมองว่ามีความท้าทายก็ควรที่จะบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

นอกจากนี้ ในช่วงที่คุณกำลังเผชิญความท้าทาย การถอยหลังมาหนึ่งก้าวเพื่อมาไตร่ตรองจะช่วยให้คุณสามารถประเมินปัญหาได้อย่างไม่มีอคติ และสามารถหาวิธีแก้ไขผ่านมุมมองใหม่ๆ ได้

อย่าวิจารณ์ แต่ให้แสดงความขอบคุณ

เมื่อคุณรวบรวมตัวอย่างปัญหาบางส่วนได้แล้ว ให้เตรียมนำมาพูดกับหัวหน้าในการประชุมแบบตัวต่อตัว โดย Gorick Ng ผู้ให้คำปรึกษาด้านอาชีพจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า คุณต้องห้ามวิจารณ์ แต่ให้แสดงความขอบคุณแทน เพราะการพูดขอบคุณจะทำให้ความปัญหาต่างๆ ที่คุณหยิบยกขึ้นมาได้รับการยอมรับและทำให้คุณดูเป็นคนที่ใส่ใจกับความสัมพันธ์นี้

นอกจากนี้ Kleiman ยังแนะนำว่า หากคุณจะนำปัญหาไปคุยกับหัวหน้าให้ลองพูดว่า “ฉันเห็นว่าคุณทำแบบนี้ แต่ถ้าคุณทำแบบนี้แทนจะทำให้งานของฉันง่ายขึ้นมาก” ซึ่งการพูดในลักษณะนี้จะทำให้คุณไม่ดูเป็นการโจมตีหัวหน้า แต่เป็นการช่วยให้คุณทำงานได้ดียิ่งขึ้น

มองหัวหน้าว่ามีเจตนาดี

Ng กล่าวว่า ขณะที่คุณกำลังวุ่นอยู่กับการหาวิธีแก้ไขปัญหาอยู่นั้น ให้ลองมองว่าหัวหน้าอาจจะมีเจตนาดีก็ได้ ซึ่งการคิดแบบนี้จะช่วยลดความตึงเครียดให้กับคุณและทำให้คุณจัดการกับสถานการณ์โดยรวมได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้าคุณพยายามประคับคองความสัมพันธ์แล้ว แต่พฤติกรรมของหัวหน้ายังคงเหมือนเดิม ให้ลองดูว่าเพื่อนร่วมงานของคุณเจอปัญหาอะไรกับหัวหน้าของคุณบ้าง Kleiman กล่าวว่า “บางครั้งคุณต้องทำให้คนอื่นรับรู้ถึงชะตากรรมของคุณ เพราะอาจมีคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน เพื่อที่คุณและคนเหล่านั้นจะได้ช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหานี้” 

เป็นอย่างไรกันบ้างกับคำแนะนำที่เพิ่งอ่านจบไป ถ้าหากคุณกำลังมีปัญหากับหัวหน้าอยู่แต่ไม่รู้จะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ก็อย่าลืมลองนำวิธีที่ ConNEXT หยิบยกมานำเสนอในวันนี้ไปใช้กันดู เพื่อที่เรากับหัวหน้าจะได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากยิ่งขึ้น

หากเพื่อนๆ คนไหนที่เป็นเด็กจบใหม่และกำลังมองหาแรงบันดาลใจหรือกำลังหางาน พลาดไม่ได้กับงาน Tech ConNEXT Job Fair 2022 วันที่ 7-9 กรกฎาคมนี้ ณ True Digital Park ชั้น 6 และ 7 BTS ปุณณวิถี 

รีบลงทะเบียนก่อนที่นั่งเต็ม : https://www.eventpop.me/e/13032/techconnext-job-fair-2022

เขียนโดย Parinya Putthaisong

อ้างอิง cnbc


No comment