จับโป๊ะ Toxic Culture ระหว่างสัมภาษณ์งาน วัฒนธรรมองค์กรไหนที่ควรเลี่ยง | Techsauce
จับโป๊ะ Toxic Culture ระหว่างสัมภาษณ์งาน วัฒนธรรมองค์กรไหนที่ควรเลี่ยง

กุมภาพันธ์ 17, 2022 | By Siramol Jiraporn

เรามีสิทธิ์แสวงหาและเลือกนายจ้างที่มีวัฒนธรรมธรรมองค์กรที่ตรงกับความเป็นตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางการเมือง ความเอาใจใส่พนักงาน หรือแม้กระทั่งความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ปัญหาคือเราไม่เคยทำงานที่องค์กรนั้น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ เป็นอย่างไร?

จากการศึกษาโดย Workplace จาก Facebook ซึ่งสำรวจพนักงาน 1,330 คน ในประเทศอังกฤษ พบว่า 63% กล่าวว่า พวกเขาต้องการผู้นำที่มีความเอาใจใส่ และ 62% กล่าวว่า พวกเขาต้องการทำงานกับบริษัทที่แชร์มุมมองของตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น ความหลากหลาย การยอมรับความเห็นต่าง หรือสภาพภูมิอากาศ

วัฒนธรรมองค์กร

การสัมภาษณ์งานเป็นตัวช่วยสำคัญอันดับแรกที่จะทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น และนี่คือสัญญาณอันตรายอย่างหนึ่งที่ผู้หางานสามารถจับตามองได้ผ่านการสัมภาษณ์

1. ไม่มีการเตรียมตัว

เราใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อไปสัมภาษณ์หลายชั่วโมง ตั้งแต่การค้นคว้าข้อมูลไปจนถึงการฝึกตอบคำถาม ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่แค่ผู้หางานเท่านั้นที่ต้องเป็นคนเตรียมตัว แต่ทางฝั่งนายจ้างเองก็ควรเตรียมตัวด้วยเช่นกัน

หากพบว่านายจ้างคนไหนไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อน นี่ก็อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดี ซึ่งอาจสังเกตได้จากหลายๆ อย่าง เช่น มาสัมภาษณ์ตรงตามเวลาที่นัดไว้หรือไม่ รู้ประวัติย่อของเราจากการอ่าน CV มาก่อนหรือไม่ เตรียมคำถามสัมภาษณ์มาล่วงหน้าหรือไม่ 

หากเราเจอกับนายจ้างที่ดี ก็จะรู้สึกได้ว่าเขามีส่วนร่วมกับเราในระหว่างการสัมภาษณ์ วิธีที่นายจ้างปฏิบัติต่อเราขณะสัมภาษณ์นี้เองที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าในอนาคตเขาจะปฏิบัติกับเราอย่างไร

2. สนใจแค่ว่าเราจะทำงานได้หรือไม่ แต่ไม่สนใจว่าเราจะไปพัฒนาต่อไปอย่างไร

ผู้สัมภาษณ์สนใจแค่ว่าเราจะทำงานได้สำเร็จหรือไม่ แต่ไม่สนใจว่าเราจะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้าในสายอาชีพนี้ได้อย่างไร 

ความสำเร็จของการทำงานที่เกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่มักจะมาจากการเราอยู่ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้ากับเราได้ และต้องเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้รู้ได้ว่าเราจะพัฒนาต่อไปอย่างไรในอนาคต 

3. ผู้สัมภาษณ์ดูเป็นคนตึงเครียด

หากองค์กรไหนมีผู้นำที่มีความตึงเครียด นั่นหมายความว่าพนักงานก็จะมีความเคร่งเครียดตามไปด้วย หากต้องการรู้ว่าองค์กรนั้นซัพพอร์ตพนักงานขนาดไหน ก็ต้องถามคำถามเกี่ยวกับ Work-life balance และสังเกตดูว่าผู้สัมภาษณ์พูดถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไรและมีท่าทีแบบไหน

หากผู้นำสนับสนุน Work-life balance ก็จะทำให้เห็นได้ว่าองค์กรนั้นมีความยืดหยุ่น เช่น สามารถทำงานจากที่บ้านได้ แต่หากเจอผู้นำที่ค่อนข้างมีความเถรตรง และลูกน้องจะต้องอยู่ในสายตาตลอด ก็แสดงว่าองค์กรนั้นอาจไม่ใช่องค์กรที่ดีนัก

4. ไม่พูดถึงจุดอ่อนของวัฒนธรรมองค์กร

คำถามสำคัญที่ผู้หางานควรถามผู้สัมภาษณ์คือ การถามถึงค่านิยมของบริษัทและแนวทางที่บริษัทจะทำให้วัฒนธรรมมีความเปิดกว้างและเป็นมิตรมากขึ้น

เมื่อถามคำถามเหล่านี้แล้ว ผู้สัมภาษณ์จะต้องมีความกล้าและซื่อสัตย์มากพอที่จะพูดถึงข้อบกพร่องและจุดอ่อนที่บริษัทจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ ไม่ใช่การพูดอวยแต่ข้อดีของบริษัทตัวเอง

หากนายจ้างพูดว่า “วัฒนธรรมองค์กรที่นี่ก็ไม่ได้ดีไปหมดทุกเรื่องหรอก แต่เรากำลังพยายามทำให้ดียิ่งขึ้น” นี่เป็นสัญญาณได้ว่าองค์กรนั้นๆ มีความจริงจังในการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรและมองหาสิ่งที่จะทำให้พนักงานมีสุขภาวะที่ดีอยู่ แต่หากผู้สัมภาษณ์พยายามขายฝันเรื่องวัฒนธรรมองค์กรไม่หยุด แสดงว่าที่นั่นอาจไม่ได้ดีอย่างที่คิด 

5. พูดถึงพนักงานในทางเสื่อมเสีย

หากผู้สัมภาษณ์เล่าถึงพฤติกรรมของพนักงานคนอื่นๆ ในองค์กรให้ฟัง นั่นแสดงให้เห็นได้ว่าเขาไม่ให้ความเคารพแก่ผู้อื่น ดังนั้นวิธีการพูดถึงและทัศนคติของผู้สัมภาษณ์ที่มีต่อคนรอบๆ ตัว ถือว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของเขาที่อาจมีต่อเราในอนาคตก็เป็นได้ จำไว้ว่าคงไม่มีคนดีๆ ที่ไหนมาว่าร้ายผู้อื่นลับหลังแบบนี้

ที่มา - Business Insider


No comment