เมื่อวิถีชีวิตการทำงานของคนเปลี่ยนไปจากเดิม นิยามคำว่า Work Productivity จะเปลี่ยนไปอย่างไรในยุค Hybrid | Techsauce
เมื่อวิถีชีวิตการทำงานของคนเปลี่ยนไปจากเดิม นิยามคำว่า Work Productivity จะเปลี่ยนไปอย่างไรในยุค Hybrid

กันยายน 24, 2021 | By Connext Team

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของมนุษย์เงินเดือนแทบทุกที่ก็ไม่เคยตัดขาดออกจากกันอีกเลย รวมไปถึงพนักงานออฟฟิศของ Microsoft ที่เมือง Seattle ของสหรัฐอเมริกาด้วย ทุกคนล้วนถูกส่งกลับบ้านและเรียนรู้ชีวิตการทำงานแบบ Hybrid ที่ไม่มีใครเคยเข้าใจมาก่อน 

คำถาม คือ เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นิยามคำว่า ‘Productivity’ สำหรับการทำงานจำเป็นต้องเปลี่ยนตามไปด้วยหรือไม่?

ทีมนักวิจัยจำนวนมากทั้งจาก Microsoft LinkedIn และ Github ต่างร่วมมือกันศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับปรากฎการณ์การทำงานที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า New Future of Work เพื่อค้นหาคำตอบว่า การทำงานแบบ Work From Home และ Hybrid ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่เราต้องรับผิดชอบสิ่งอื่นในบ้านไปด้วย ควรจะเป็นอย่างไร? โดยทีมนักวิจัยได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยไปแล้วมากกว่า 50 โปรเจค ณ ขณะนี้

จากการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า มนุษย์ออฟฟิศที่ทำงานแบบ Work From Home มักจะเกิดความรู้สึกย้อนแย้งในตัวเองที่เรียกว่า Hybrid Paradox หรือความรู้สึกที่คิดถึงหลายสิ่งหลายอย่างออฟฟิศนะ แต่ก็ไม่อยากเสียความเป็นอิสระจากการทำงานที่บ้านเหมือนกัน ซึ่งทำให้นิยามของคำว่า ‘Productivity’ ที่เราใช้วัดและประเมินผลกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป

ดังนั้น ผลจากงานวิจัยชี้ว่า หัวหน้างานหรือผู้ประกอบการควรที่จะสร้างนิยามของคำว่า ‘Productivity’ ในการทำงานเสียใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จ แต่ต้องรวมไปถึงกระบวนทำงานที่สอดคล้องกับวีถีชีวิตแบบใหม่เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพพร้อมกับสุขภาพจิตที่ดีด้วย

‘Productivity’ นิยามใหม่ในยุคการทำงานแบบ Hybrid

จริง ๆ แล้ว การจะวัดและประเมินว่า คนนึง ๆ สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทีมนักวิจัยจึงเลือกข้อมูล 2 ชุด ได้แก่ Self-reported Data ที่ได้จากการสอบถามความรู้สึกของพนักงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง และ Worker Activity Data ที่ได้จากจำนวนชิ้นงาน ข้อความ และอีเมลที่ส่งระหว่างการทำงาน มาใช้การศึกษาประสิทธิภาพการทำงานของผู้คนในยุค Hybrid

พวกเขาพบว่า เมื่อผู้คนส่วนใหญ่หันมาทำงานแบบ Work From Home และ Hybrid ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นด้วยซ้ำ โดยจากการสำรวจความรู้สึกของพนักงานกว่า 30,000 คนทั่วโลก ที่มีต่อประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองพบว่า พวกเขายังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม สอดคล้องกับ Worker Activity Data ที่ยังเป็นไปในทิศทางที่ดีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการสำรวจครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นว่าการทำงานแบบ Work From Home และ Hybrid จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ ‘Productivity’ ในการทำงานมากนัก แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว มันกลับซ่อนอะไรไว้มากกว่าที่เราคิด 

ผลจากเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่หายไป เป็นผลให้พนักงาน Microsoft กว่า 50%ทำงานในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น 54% รู้สึกว่าตัวเองทำงานหนัก และ 39% รู้สึกเหนื่อยล้าจากงานที่ทำในปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขทั้งหมดถูกซ่อนไว้ภายใต้คำว่า ‘Productivity’ ในความหมายแบบเดิมที่เราเข้าใจกัน 

ยิ่งกว่านั้น พนักงานออฟฟิศยังเสียผลประโยชน์มากมายจากการทำงานที่ออฟฟิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน โดยพนักงานกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัยกล่าวว่า กระบวนการทำงานที่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น Group Brainstorming เป็นไปด้วยความยากลำบากเมื่อเทียบกับการทำงานที่ออฟฟิศ 

เพราะฉะนั้น นิยามของคำว่า ‘Productivity’ สำหรับการทำงานแบบที่เราเคยเข้าใจกัน จึงไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนไป และถึงเวลาที่จะต้องนิยามออกมาในรูปแบบใหม่ด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้

#Well-being ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงาน

เมื่อทำงานแบบ Work From Home พวกเราทุกคนมักรู้สึกว่า การนั่งทำงานหน้าคอมนาน ๆ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็นเสมือนว่าเราทำงานที่ออฟฟิศ เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและใช้เวลาได้คุ้มค่ามาก อย่างไรก็ตาม การทำงานจากบ้านที่เราต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่ด้านอื่นด้วย เช่น งานบ้าน การเลี้ยงดูเด็กหรือสัตว์เลี้ยง ทำให้เราไม่สามารถโฟกัสอยู่กับงานได้ตลอดเวลาเหมือนเดิมอีกต่อไป

ดังนั้น คำว่า ‘Productivity’ สำหรับการทำงานในยุคนี้ จึงเปลี่ยนจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไปเป็นการจัดสรรเวลาระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัวต่างหาก เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราโดยภาพรวมดีขึ้นกว่าเดิม มิฉะนั้นแล้ว หากเรายังฝืนทนทำงานต่อไปทั้งที่รู้ว่า เราไม่สามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ ต่อให้พยายามทำงานหนักมากแค่ไหน การทำงานในครั้งนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าหรอก   

#Collaboration การทำงานและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น

สำหรับพนักงาน Microsoft นั้น เหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาอยากจะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ก็คือ การได้กลับไปเจอเพื่อนร่วมงานและทำงานด้วยกันเหมือนที่เคยเป็น อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบ Work From Home หรือแม้กระทั่ง Hybrid เอง ก็อาจจะไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนและทุกทีมกลับเข้าไปทำงานพร้อมกันได้เหมือนเดิม ถึงแม้ว่ากระบวนการทำงานบางอย่าง เช่น Group Brainstorming จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อทำงานที่ออฟฟิศก็ตาม

ดังนั้น คำว่า ‘Productivity’ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการทำงานร่วมกันด้วย เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งแต่ละทีมจำเป็นจะต้องปรึกษาและตกลงถึงสไตล์การทำงานร่วมกันว่า ทิศทางการทำงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร? มีอะไรที่จำเป็นต้องมาทำร่วมกันที่ออฟฟิศบ้าง? นอกจากนี้แล้ว การนัดพูดคุยหรือทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานภายในทีม ก็สามารถช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานยังคงแน่นแฟ้นต่อไปได้ แม้จะไม่ได้ใช้เวลาในการทำร่วมกันมากเหมือนเดิมก็ตาม 

#Innovation การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ

แน่นอนว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและไม่มีอะไรแน่นอน ซึ่งการที่องค์กรหนึ่ง ๆ จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอะไรสักอย่างออกมาได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนในการแสดงเสนอไอเดีย แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับการแบ่งสัดส่วนการทำงานแบบ Collaboration และ Individual ได้อย่างเหมาะสม

ดังนั้น เมื่อพิจารณาร่วมกับนิยามของคำว่า ‘Productivity’ ในข้อสองแล้วนั้น แม้ว่าการทำงานร่วมกันจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น แต่กระบวนการทำงานบางอย่าง ก็เหมาะแก่การใช้สมาธิในการทำงานเงียบ ๆ คนเดียว โดยเฉพาะเมื่อหน้าที่รับผิดชอบของทุกคนในทีมถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ด้วยวิธีนี้จะทำให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างเต็มที่ จนเกิดออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดต่อไปในอนาคต

อ้างอิง: Harvard Business Review

No comment