Utopian Thinking แนวคิดที่ไม่ได้มีแค่เพ้อฝันถึงแดนศิวิไลซ์ แต่ให้เราตั้งคำถามกับปัจจุบัน เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต | Techsauce
Utopian Thinking แนวคิดที่ไม่ได้มีแค่เพ้อฝันถึงแดนศิวิไลซ์ แต่ให้เราตั้งคำถามกับปัจจุบัน เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต

มิถุนายน 17, 2021 | By Connext Team

“จริงๆแล้ว มันสำคัญมากนะที่เราควรจะมีภาพในฝันของสังคมอุดมคติที่เราอยากให้เป็น เพราะมิฉะนั้น เราจะไม่สามารถพัฒนาสภาพสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ไปสู่จุดที่ดีกว่าปัจจุบันได้เลย”

Rutger Bregman นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ และนักเขียนชื่อดังที่ศึกษาเกี่ยวกับ Utopian Thinking กล่าวว่า ผู้คนมากมายมักจะไม่เห็นคุณค่าของการคิดแบบยูโทเปียสักเท่าไหร่ เพราะ พวกเขามองว่ามันเป็นเรื่องเฟ้อฝันที่ยังไงก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นจริงได้

อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนโลก ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การเลิกทาส การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ล้วนแล้วแต่เกิตจากการคิดแบบยูโทเปีย ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ไปสู่จุดที่ดีกว่าด้วยกันทั้งนั้น

เพื่อที่จะคิดแบบยูโทเปีย สิ่งสำคัญลำดับแรกที่เราต้องทำ คือ อย่าไปยึดติดอยู่กับปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจ ความเป็นจริงในสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและไม่มีอะไรที่จะอยู่ตลอดไป ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาทั้งนั้น

ในทางกลับกัน เราต้องหัดตั้งคำถามกับปัจจุบันที่เรายืนอยู่ว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือยังกับความเป็นไปที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้? และมันจำเป็นเช่นนี้ตลอดไปหรือไม่? 

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องความยากจน เป็นที่รู้กันดีว่า บนโลกใบนี้ มีทั้งคนที่ร่ำรวยและคนที่ยากจนอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่เราเคยย้อนกลับมาตั้งคำถามบ้างไหมว่า แล้วทำไมโลกของเราถึงต้องมีความยากจนด้วยล่ะ? ความยากจนจะต้องอยู่คู่กับสังคมของเราตลอดไปไหม? แล้วมีหนทางอื่นอีกไหมที่จะทำให้ความยากจนในสังคมของเราหายไป? 

บางที การคิดแบบยูโทเปียก็ทำให้เราอดที่จะจินตนาการไม่ได้ว่า ถ้าในอนาคตเมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนในยุคนั้นจะมองเราอย่างไร? จะมาวิเคราะห์สภาพสังคมและชีวิตความเป็นอยู่เหมือนที่เราทำหรือเปล่า? แล้วพวกเขาจะคิดยังไงกันนะ?

แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดเชียว การคิดแบบยูโทเปียไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องโลกสวยในทุ่งลาเวนเดอร์และเพ้อฝันอยู่กับสิ่งที่คิดไปตลอดกาลหรอก จริงๆแล้ว มันกลับต้องการให้เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และมุ่งไปยังแสงสว่างที่เราเห็นให้ได้ต่างหาก 

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น Rutger Bregman เห็นว่า การจะทำให้ภาพของสังคมอุดมคติกลายเป็นความจริงนั้น ควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะ การที่เรากระตือรือร้นมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน 

แม้ว่าการจะมองโลกในอนาคตต่อจากนี้ไปในทางที่สวยงามจะเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ทุกสิ่งอย่างรอบตัวเราโกลาหลไปหมด จริงๆมันอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเราคิดว่าโลกที่แสนเลวร้ายนี้จะจบลงอย่างไร แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็ต้องมองโลกที่แสนเลวร้ายนี้ด้วยความหวัง แม้จะเหลือความหวังเพียงแค่เศษเสี้ยว ก็ยังคงต้องมองมันด้วยความหวัง เพราะ ในโลกที่ดีกว่า ชีวิตของเราย่อมดีกว่าเสมอ

อ้างอิง: The New York Times

Credit ภาพประกอบจาก:  freepikfreepik

No comment