JWD ฉีกสู่ New S-curve ด้วยบริการ Art Space เพื่อลูกค้ากระเป๋าหนัก | Techsauce

JWD ฉีกสู่ New S-curve ด้วยบริการ Art Space เพื่อลูกค้ากระเป๋าหนัก

Art Space คือบริการใหม่ที่มุ่งตอบโจทย์นักสะสมกระเป๋าหนัก ที่ JWD (บมจ. เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์) ผู้ให้บริการ logistics ของไทยเล็งเห็นโอกาสที่จะช่วยสร้างการเติบโตด้าน B2C ควบคู่ขยายเครือข่ายบริการ Self-Storage ให้กว้างขึ้น สานต่อแผนงาน transform องค์กรในวาระครบรอบ 40 ปี เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายปรับสัดส่วนธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากด้าน logistics เป็น 50% จากรายได้รวมภายในปี 2565

art space-self storage-jwd

กลุ่มบริษัท JWD ก่อตั้งเมื่อปี 2522 โดยวิทยา บัณฑิตกฤษดาที่เริ่มจากให้บริการขนย้ายบ้านและสำนักงาน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริการจัดเก็บเอกสาร ก่อนต่อยอดสู่ logistics และซัพพลายเชนเต็มรูปแบบบริหารจัดการคลังสินค้าทุกประเภท ขนส่งและกระจายสินค้า และพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ logistics

“คุณพ่อผมสร้างธุรกิจนี้ เพราะเห็นว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ต้องใช้บริหารด้าน logistics เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน จึงน่าจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและมีอนาคตกว่าธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะถนัดด้านงานบริการมาโดยตลอด” จากการบอกเล่าของชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง JWD ผู้ที่ปัจจุบันเป็นทั้งทายาทรุ่นสองและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สัดส่วนราว 21%

ชวนินทร์เล่าถึงวิวัฒนาการของกลุ่ม JWD ที่ผ่านมาว่า การพัฒนาธุรกิจเป็น 5 ช่วงหลัก ๆ แม้ในช่วงแรกยังมีตลาดที่เล็กและยังไม่ลงลึกนัก จนช่วงที่สองตั้งแต่ปี 2536 ที่เริ่มบริหารคลังสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีเรื่องนวัตกรรมและ IT ต่าง ๆ มาช่วย เพื่อให้สะดวกและแม่นยำ

จากที่เราเริ่มพัฒนา software ด้านบริหารคลังสินค้าขึ้นเองในบริษัท กระทั่งมีการตั้งบริษัท IT ขึ้น แต่ปัจจุบันทีมงานพัฒนาด้าน IT ของเราต้องปรับบทบาทจากผู้พัฒนาเป็น SI ที่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้กับงานและสามารถต่อยอดได้ด้วย

กระทั่งช่วงที่สามก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือระหว่างปี 2548 ถึง 2558 ที่ตัวเขามองว่าเป็นระยะเวลาที่บริษัทมีการเติบโตสูงสุด เนื่องจากเป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเติบโตมาก จากทั้งการลงทุนและนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ มาถึงช่วงที่สี่หลังเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็เดินหน้าที่จะเป็น regional player จึงเริ่มขยายออกไปเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นจนมีเครือข่ายใน 9 ประเทศของอาเซียนดังเช่นปัจจุบัน

โดยปัจจุบันมีบริษัทในเครือ 18 บริษัท ที่ครอบคลุมใน 4 กลุ่ม ประกอบ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจไอที และธุรกิจอินเวสต์เม้นต์ โดยให้บริการครอบคลุม ทั้ง 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาว อินโดนีเซีย ไต้หวัน และล่าสุดในประเทศเวียดนาม ส่วนประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย จะดำเนินการผ่านพาร์ทเนอร์ของ JWD

art space-self storage-jwd

เปลี่ยนโครงสร้างปรับรายได้

ทั้งนี้เพื่อให้ JWD ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังยืนหยัดมาถึง 40 ปี และเข้าสู่ช่วงที่ 5 ที่นับตั้งแต่ปี 2562 จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอีกครั้ง โดยบริษัทยังคงมุ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน (ASEAN Top Specialized Supply Chain Solutions) ต่อไป พร้อมมีการวางโครงสร้างธุรกิจใหม่สำหรับ 4 กลุ่ม

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ มีเพิ่มบริการที่หลากหลายเพื่อครอบคลุมบริการครบวงจรรองรับลูกค้าทั้งแบบ B2B และ B2C ได้แก่ การขนส่งเครื่องจักรกลหนักที่ตอบรับโครงการลงทุนต่าง ๆ ใน EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) บริการขนส่งอีคอมเมิร์ซ บริการ Self-Storage (ห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า) และ JWD Art Space (บริการจัดเก็บและแสดงงานศิลปะครบวงจร) นอกจากนี้มีแผนขยายโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์อื่น ๆ เช่น การให้บริการท่าเทียบเรือ ปัจจุบันบริษัทฯ เริ่มให้บริการยกขนตู้รถไฟบริเวณท่าเรือแหลมฉบังแล้ว

ด้านกลุ่มธุรกิจอาหาร ให้บริการฟู้ดซัพพลายเชนโซลูชั่นส์ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบสำหรับลูกค้า กระบวนการแปรรูปและจัดเตรียมวัตถุดิบพร้อมปรุง เช่น ผักหั่นฝอย ไข่เหลวบรรจุขวด อบขนมปังและเบอเกอรี่ สำหรับกลุ่มลูกค้า Quick Services Restaurants ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ บริการจัดเก็บและกระจายสินค้า รวมทั้งเป็นตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกี่ยวกับอาหารจากทั่วโลก

ธุรกิจไอที ใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจ ซึ่งมุ่งด้านการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่สำคัญ (Business Intelligence) เพื่อใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางช่วยให้สามารถตัดสินใจในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สามารถพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้า รวมทั้งสร้างให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

ในฝั่งธุรกิจอินเวสต์เมนต์ เน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งการลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต ที่ชวนินทร์มองว่าเป็นอีกช่องทางที่จะทำกำไรให้แก่กลุ่ม JWD นอกเหนือจากธุรกิจอื่น ๆ

ขณะที่แนวทางลงทุนในธุรกิจ Startup นั้น ชวนินทร์เล่าว่าจะเน้นในรูปแบบของ strategic partner เพื่อนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเสริมการดำเนินกิจการของกลุ่ม JWD มากกว่าที่จะเน้นในแง่สร้างการเติบโตให้กิจการโดยรวม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยกับ Startup รายหนึ่งที่ทำ platform เรื่องการซื้อขายของสด ที่จะมาช่วยเสริมธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นและการขนส่งสินค้า

“สำหรับช่วงที่ 5 นี้ เราต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การบริหารท่าเรือและการชนส่งทางเรือ การขนส่งทางรถไฟ เป็นต้น รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายทั้ง 9 ประเทศจากโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทไปลงทุน”

ทั้งนี้เพื่อให้สุดท้ายแล้วจะสามารถปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหาร ธุรกิจไอที และธุรกิจอินเวสต์เมนต์ เติบโตเพิ่มจนเป็น 50% ของรายได้รวมภายในปี 2565 เช่นเดียวกับที่ต้องการให้รายได้จากฝั่งต่างประเทศเติบโตขึ้นจากที่ 12% ในปัจจุบันเป็นไม่ต่ำกว่า 35% ภายในปี 2565 ด้วย

สำหรับเป้าหมายระยะสั้นของการ transform ในครั้งนี้ ชวนินท์มองว่าในช่วง 1-2 ปีแรก จะเน้นให้ทีมงานที่รับผิดชอบดูแลในแต่กลุ่มธุรกิจและแต่ละประเทศจะสามารถผลักดันตัวเลขต่าง ๆ ให้ได้ตามที่มอบหมายไว้

ในเมืองไทย (ยอดขาย) ก็น่าจะจบได้ราว 4 พันล้านบาทภายในปีนี้

art space-self storage-jwd

เสริม B2C ด้วย JWD Art Space

“ตลาด B2B เริ่มอิ่มตัว และยังไม่มีอะไรใหม่ ๆ จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการขยาย B2C มากขึ้น เพื่อมาตอบโจทย์ด้าน e-Commerce มากขึ้น” จากมุมมองนี้เองที่ทำให้ JWD เริ่มให้บริการธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัว หรือ Self-Storage ในนามของ บริษัท สโตร์ อิท! แมเนจเม้นท์ จำกัด ตั้งแต่เมื่อปี 2557 ซึ่งร่วมมือกับบริษัท สโตร์ อิท! แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัวในประเทศสิงค์โปร์ โดยปัจจุบันมี 2 สาขา (สยามและศรีกรีฑา) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9 สาขาในปีหน้า และขึ้นไปถึงราว 15 สาขาในปี 2564

ทั้งนี้บริการ self storage เน้นให้ความสะดวกสบายกับลูกค้าทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในเมือง และมีการนำนวัตกรรมมาใช้ โดยสามารถจัดการทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งทางเว็บไซต์และ App ได้

ล่าสุดกำลังจะเปิดให้บริการ JWD Art Space (บริการจัดเก็บและแสดงงานศิลปะครบวงจร) ในพื้นที่ถึง 1,300 ตารางเมตรหลังห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อาร์ท สเปซ จํากัด ซึ่งไม่เพียงประกอบธุรกิจให้บริการรับฝากสินค้า รูปภาพ ผลงานทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้เช่า รูปภาพ และผลงานทางศิลปะ และให้บริการจัดแสดงนิทรรศการรูปภาพ หรือ ผลงานทางศิลปะต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้เพื่อเน้นตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนักสะสมงานศิลปะที่มีกำลังซื้อสูง โดยจะมีระบบ platform ที่เชื่อมโยงระหว่างตัวศิลปินทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า หอศิลป และนักสะสม ที่ JWD Art Space จะเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่พัฒนา

โดยชวนินท์ในฐานะที่เป็นนักสะสมงานศิลปะอยู่ด้วย มองว่า art space เป็น pain point ของนักสะสมทุกคนที่ต่างก็มีภาพวาดกันเป็นร้อยชิ้น แต่บ้านส่วนใหญ่ก็ติดกันได้ไม่เกิน 10 ชิ้น เพราะภาพวาดมักมีขนาดใหญ่ จึงต้องการพื้นที่เก็บที่เหมาะสม มีผู้เชี่ยวชาญดูแลทั้งเรื่องการขนส่งและซ่อมแซม นอกจากนี้ยังมีระบบให้บริการแบบครบวงจรผ่าน App จึงช่วยให้บริหารจัดการและเรียกดูข้อมูลงานศิลปะที่เก็บไว้กับ JWD Art Space ได้สะดวกและง่าย พร้อมทั้งมีการประกันภัยงานศิลปะให้ด้วย

“เราไม่ได้คาดหวังว่าธุรกิจ art space จะเติบโตมากแต่คิดว่าไม่น่าช้า และยังสามารถขยายไปยังตลาดเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าในอีก 2-3 ปีหลังจากเปิดตัวแล้วก็น่าจะได้ขยายพื้นที่เพิ่มอีก เพราะกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการอยู่แล้ว อีกทั้ง JWD ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และเราโชคดีที่ได้ทีมงานซึ่งมีประสบการณ์ถึง 25 ปีแล้วมาดูแล”

ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคตบริษัทยังมีแผนพัฒนาห้องเก็บของนิรภัย เพื่อให้บริการจัดเก็บสิ่งของมีค่า ที่ชวนินท์ยืนยันว่าปลอดภัยยิ่งกว่าของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนให้บริการ Store It! Express รับส่งของ พร้อมนำมาจัดเก็บให้ถึงพื้นที่จัดเก็บ

“พยายามเน้นเรื่อง experience ที่ว่าทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึก wow และเหนือกว่าที่คาดหวัง”

สุดท้ายแล้วไม่ว่าปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร ชวนินท์ก็มั่นใจว่าธุรกิจของ JWD ในเมืองไทยจะโตได้ดีกว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP อย่างแน่นอน ทั้งจากจุดแข็งด้านความหลากหลายของบริการ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการกระจายความเสี่ยงด้านเครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมหลายประเทศ และมีการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

วันนี้เป็นเกมของปลาใหญ่ ซึ่งโชคดี JWD ไม่ได้เล็ก แม้จะไม่ใหญ่เท่าต่างชาติ เช่น จีน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...