Digital tv ยังไปต่อและทำกำไรผ่านมุมมองตัวจริงจาก Workpoint | Techsauce

Digital tv ยังไปต่อและทำกำไรผ่านมุมมองตัวจริงจาก Workpoint

Digital tv ในนาม Workpoint ช่อง 23 ฝ่ามรสุมคลื่นจำนวนช่องทีวีที่ล้นตลาดและพลังสื่อออนไลน์ที่ซัดกระหน่ำให้เพื่อนพ้องร่วมวงการหลายรายล้มหายไป ซึ่งไม่เพียงยืนหยัดถึงวันนี้เท่านั้นแต่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้รอดที่สามารถกำไรได้มาโดยตลอด ที่ฝากฝีมือไว้โดยตัวจริงด้านผลิตรายการโทรทัศน์ที่เมินกับกระแสเสียงที่ว่าธุรกิจโทรทัศน์ใกล้ถึงจุดจบแล้ว อย่าง ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดของการบริหารงานด้านโทรทัศน์ยุคใหม่

ที่มาของการมาดูแลสายงานดิจิทัลทีวีของ บมจ. เวิร์คพอยท์ ฯ ( ช่องเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23)

ผมอยู่ที่ Workpoint มาราว 10 ปี นับแต่ที่เริ่มจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงผ่านประสบการณ์มาหลายอย่าง ไม่ว่าจะทำรายการโทรทัศน์ อีเวนท์ หรือ คอนเสิร์ต จนเมื่อสัก 7-8 ปีก่อนที่มีโอกาสไปทำช่องทีวีดาวเทียมแล้วจึงต่อเนื่องมาทำดิจิทัลทีวี จนถึงปัจจุบัน

ตอนนั้นมีโจทย์หรือเป้าหมายที่ได้รับมาเป็นพิเศษหรือไม่

ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แค่บอกว่าให้ไปทำดิจิทัลทีวี ไปคิดว่าทำอย่างไรให้มีคนดูมาก ๆ แต่ที่ฮือฮาก็ด้วยเราทำรายการใหม่สำหรับช่องดิจิทัลทีวีขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น เชิญคุณปัญญา นิรันดร์กุลไปทำรายการนักประดิษฐ์พันล้าน

ภาพรวมของช่อง Workpoint เป็นไปอย่างที่เคยวาดฝันไว้หรือไม่

ไม่ได้วาดฝันไว้แรง ๆ แค่คิดว่าทำอย่างไรให้ตัวบริษัทไปได้ ทุกวันนี้ก็ไปได้ตามปกติ ซึ่งก็มีหวือหวาบ้างไม่หวือหวาบ้าง แต่ที่ผ่านมาได้สัก 5 ปี ดิจิทัลทีวีก็มีกำไรทุกปีแต่จะมากหรือน้อยก็ว่ากันไป

อยากให้ (ช่อง) เวิร์คพอยท์เป็นเหมือนเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ว่าง ๆ ก็มาดูกันหน่อย

ปัจจัยใดที่ทำให้ Digital tv ประสบความสำเร็จ

เพราะเราทำมานานและหากนับเฉพาะในส่วนที่ทำธุรกิจดิจิทัลทีวี เราก็เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ทำแต่ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์มาตั้งแต่แรกจนถึงวันนี้ก็ราว 30 ปีแล้ว โดยไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย เพราะที่เหลือถ้าไม่ทำธุรกิจอื่นด้วยก็อาจจะมาจากธุรกิจอื่นเลย ดังนั้นผู้ชมก็เลยพอจะรู้แนวทางเนื้อหารายการของเรามาก่อนแล้ว จึงช่วยให้มีคนดูได้ง่ายและเร็วขึ้น

"แม้ไม่ได้ถูกใจคนดูทุกชิ้น แต่ถ้าไม่ได้อย่างใจเราก็เปลี่ยนเร็ว"

เวลาที่ทำรายการออกไปแล้วพลาด มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

ถ้า rating ไม่มากก็ทำรายการใหม่ขึ้นมาให้เร็ว แค่นั้นเอง แต่ก็มีบางรายการ เช่น คุณพระช่วย ที่ทำมานานแล้วเป็น 10 ปีแต่ rating ไม่เคยสูงเลย แต่ก็ยังคงทำ เพราะยังมีแฟนประจำดูอยู่ตลอดและสามารถตอบโจทย์ในแง่อื่นได้ เช่น จัดคอนเสิร์ตเมื่อไรคนก็แน่นตลอดทุกปี เพียงแต่ rating ทางทีวีไม่สูง

มีมุมมองต่อการที่ธุรกิจโทรทัศน์ถูก disrupt โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไรบ้าง

เมื่อผู้ใช้งานเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น จึงส่งผลให้ทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นบันเทิง สื่อ หรือ อื่น ๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบหมด แต่ถ้ามองดี ๆ ต้นตอของเรื่องก็คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และผู้คนเองก็ปรับพฤติกรรมและสนใจกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย ดังนั้นเราก็ควรใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะใช้ได้มากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่าแต่ละคนมองยังไง

digital tv-workpoint-chalakorn panyachom

จะให้คำตอบอย่างไรกับที่มีคนพูดว่า Digital tv ไปไม่รอดแล้ว

ผมได้ยินคนพูดกันว่าดิจิทัลทีวีจะเจ๊ง ตั้งแต่วันแรกที่ทำแล้ว ซึ่งก็มีหลากหลายเหตุ แต่ทำมา 5-6 ปีแล้วก็มีกำไรมาเรื่อย ๆ แม้บางปีจะมากบางปีจะลดแต่บรรทัดสุดท้ายก็กำไร

ดังนั้นหากถามว่าจะเจ๊งแล้วหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่ามองอย่างไรมากกว่า แต่สำหรับผมมองเป็นแต้มต่อด้วยซ้ำ เพราะนับแต่นี้ไปถือว่าไม่มีต้นทุนอะไรแล้ว ไม่ว่าจะด้วยมาตรการอะไรก็ตาม หรือด้วยงบประมาณของบริษัทเองที่ด้วยกำไรสะสมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นค่าใบอนุญาตไปหมดแล้ว จึงไม่มีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่อะไรแล้ว หากเทียบกับคนที่ทำสื่ออื่น ๆ ที่คิด content เก่ง ๆ และต่อให้คนเหล่านั้นมีสื่อต่าง ๆ อยู่ในมืออย่างไรก็ยังทำโทรทัศน์ไม่ได้เพราะไม่มีใบอนุญาต

“เราเองก็ทำหลาย ๆ สื่อ แล้วเชื่อมเข้าหากันหมด จึงกลายเป็นแต้มต่อ”

ธุรกิจภาพรวมจะเป็นอย่างไรต่อ หลังจากที่มีผู้ประกอบการบางรายคืนใบอนุญาตฯ

ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบตรงไปตรงมาเลยคือ ช่องที่คืนใบอนุญาตไม่ได้มี performance สูงอยู่แล้ว หรือรายได้กับรายจ่ายไม่ลงตัว จึงไม่ได้ช่วยอะไรกับธุรกิจของเรามาก และเชื่อว่าหากไม่ได้เงินคืนก็คงไม่มีใครตัดสินใจคืนช่อง อย่างไรก็ตาม จากที่มองว่าใครแย่งเวลาคนดูได้มาก คนนั้นได้เปรียบสุด ซึ่งเดิมเรามองคู่แข่งแค่ช่องทีวีด้วยกัน แต่ตอนนี้ไปไกลกว่านั้นคือหากต้องการให้คนมาดูช่องเรา ต้องมองไปถึงว่าห้ามคนดูไปเตะบอล ไปออกกำลังกาย ไปกินข้าวกับเพื่อน เล่นเกม ซึ่งจริง ๆ ห้ามไม่ได้เลย เพราะทุกวันนี้กิจกรรมมากมายไปหมดทั้งในบ้านและนอกบ้าน

ดังนั้นโจทย์ของผมจึงเหมือนเดิม นั่นคือคนทำ content ไม่ว่าจะช่องทางไหนคือต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนดูอยู่กับเรานานที่สุด นั่นคือหากคุณอยู่บ้านก็ดูเรา แต่ถ้าไม่อยู่บ้านดูทีวีไม่สะดวกก็ดูทางคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก็ได้ เราอยู่รอบตัวคุณแล้วถ้าว่างก็ช่วยดูเราหน่อย

กลยุทธ์ในฝั่งสื่อออนไลน์ของช่อง Workpoint เป็นอย่างไร

ต้องบอกว่าตอนเริ่มทำออนไลน์มองว่าเป็นแค่เครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ก่อน จากนั้นก็เริ่มพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ รวมถึงด้วยกระแสที่คนพูดว่าคนไม่ดูทีวีแล้วตั้งแต่วันแรกที่ประมูลแล้วสื่อออนไลน์จะมาแทนที่ ก็มองว่าถ้าอย่างนั้นเราก็ทำแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย เพราะก็ไม่ได้เสียหายอะไรที่จะมี Facebook YouTube LINE หรือแม้แต่ Application ด้วย

หลังจากนั้นแล้วรอดูผลว่าผู้ชมจากฝั่งออนไลน์มากพอที่จะทำให้พนักงานบริษัทอยู่ได้หรือไม่ มีเม็ดเงินค่าโฆษณามากพอที่จะเลี้ยงให้บริษัทอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งหากมากพอก็แปลได้ว่าคงจริงแล้วที่ธุรกิจทีวีจะเจ๊งจริง ๆ แต่เท่าที่เห็นพบว่ายังถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่

ถ้าทีวีจะเจ๊งแล้วมาแย่งกันประมูลทำไม ซึ่งถ้าจริงอย่างนั้นเราก็เริ่มทำออนไลน์เลย

ความสำเร็จของช่องทางออนไลน์เป็นอย่างไร

แต่ละช่องทางมีคุณลักษณะแตกต่างกันไป กรณี YouTube จะมีแฟนประจำและโดยแพลต์ฟอร์มแล้วจะทำให้สามารถมียอดผู้ชมและจำนวน Subscribers เติบโตขึ้นได้เรื่อย ๆ จากกว่า 24 ล้านคนในปัจจุบันและย่อมทำให้รายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ Facebook Instagram และ LINE จะเป็นช่องทางที่กระจายออกไปได้กว้างกว่า ทำให้ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ชัดว่าทางไหนประสบความสำเร็จได้ดีกว่า

“อีกสัก 2 ปีจะเริ่มเห็นภาพชัดว่าใครจะยึดครองพื้นที่ไหนได้แน่ ๆ และพื้นที่ไหนเป็นคนแบบใด และทุก platform กำลังจะขยับเข้าหากัน เช่น จากเดิมที่ YouTube เคยเก่งเรื่อง VDO อยู่คนเดียว ตอนนี้ทั้ง Facebook และ LINE ก็เริ่มเน้นเรื่อง VDO มากขึ้น”

digital tv-workpoint-chalakorn panyachom

มีสูตรเด็ดหรือเคล็ดลับในการพัฒนา content ให้ดังหรือไม่

จริง ๆ ไม่มี แต่มักจะเป็นว่าเมื่อถ่ายทำเสร็จแล้วจึงพอประเมินได้ว่าอันนี้น่าจะฮิต แต่ตอนแรกที่คิดบนกระดาษหรือเริ่มแรกที่คุยกันอาจจะเห็นว่าแค่พอมีลุ้นแค่นั้น

จริงหรือไม่ที่การใช้งานข้อมูลที่ถูกต้องทำให้ช่อง Workpoint ผลิต content ออกมาได้ถูกใจคนดู

เราใช้ข้อมูลเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้ใช้เพื่อการตัดสินใจเป็นบรรทัดสุดท้าย แต่ใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่ง คนทำทีวีหลัก ๆ ก็ต้องใช้ข้อมูล rating

ด้วย data ที่มีเป็นข้อมูลเชิงสถิติซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเดิมแล้วทำซ้ำ จึงอาจนำมาใช้ได้หากเป็นการผลิต content แบบเดิม แต่ถ้าเป็นแบบใหม่ก็จำเป็นต้องใช้ data หลากหลายรูปแบบมาประกอบพร้อมกับการคาดเดาไปด้วย เพราะการทำ content จะมีเรื่องความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ความรู้สึกอยู่ด้วยมาก ที่บางที data ก็อาจวัดไม่ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามตัวเลข rating ใช้ในการตรวจงานได้ เช่น ถ้าได้ rating ต่ำกว่านี้อาจต้องเลิก หรือแบบนี้โอเคสามารถทำต่อได้

มีแนวทางในการเลือกพันธมิตรมาผลิตรายการร่วมกันอย่างไร

ดูคนทำงานเป็นหลัก เพราะสุดท้ายหัวใจอยู่ที่คน นั่นคือมีความตั้งใจในสิ่งที่ทำหรือไม่ มีภาพในหัวอย่างไรสำหรับการเติบโตในอนานคต หรือพอใจกับการทำแบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน แล้วสิ่งที่พันธมิตรอยากไปหรือแม้แต่คงที่อยู่เหมาะกับเราหรือไม่ และที่สำคัญคือชอบเราหรือไม่

เร็ว ๆ นี้จะเห็นกระแสอะไรในธุรกิจ Digital tv ที่น่าจับตามอง

ปัจจุบันคนทำธุรกิจทีวีที่ยังเหลืออยู่เกือบทุกคนต่างมีทุนทรัพย์ที่แข็งแรงกันหมด น่าจะมีแต่เราที่ทุนน้อยสุด เพียงแต่เรามีเงินสะสมอยู่บ้างและรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ไปต่อได้

ผมเชื่อว่าทุกคนคงลุยกันต่อ ยังขยันปั้น content และพยายามหารายได้จาก content หนึ่งให้ได้จากหลาย ๆ ช่องทาง นอกจากนี้คือไม่ใช่ทำแต่สถานีโทรทัศน์อย่างเดียวแต่ทำอย่างอื่นร่วมไปด้วย เช่น อีเวนท์



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...