Food Technology สร้างได้ ผ่านกลยุทธ์นวัตกรรมของ Thai Union | Techsauce

Food Technology สร้างได้ ผ่านกลยุทธ์นวัตกรรมของ Thai Union

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Thai Union

  • Thai Union ธุรกิจคนไทยที่ส่งออกปลาทูน่าเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมถึงเป็นผู้แปรรูปปลาทูน่าในปริมาณสูงสุด และผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งปริมาณสูงสุดแก่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย  

  • Thai Union ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537

  • Thai Union แสวงหาวัตถุดิบจากมหาสมุทรทั่วทุกมุมโลก และมีฐานการผลิตรวม 12 ประเทศ ทั่วทั้ง 5 ทวีป ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา กลุ่มทวีปออสเตรเลีย และเอเชีย

  • Thai Union ตั้ง GII (Global Innovation Incubator) ศูนย์วิจัยแห่งแรกในโลกที่ศึกษาเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน หรือ Global Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือทั่วโลก

Food Tech -Thai Union

Food Technology (Food Tech) ที่นำ Deep Tech มาประยุกต์ใช้คือตัวแปรสำคัญต่อกลยุทธ์บริษัทแห่งนวัตกรรมให้ราชาแห่งวงการค้าอาหารทะเลอย่างกลุ่ม Thai Union  ที่เดินเกมเก็บวัตถุดิบไร้ราคามาเพิ่มค่าในแนว Co-products จากคำบอกเล่าของ ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ผู้ย้ำว่ายังไม่สายเกินไปที่จะพัฒนาคนไทยให้ก้าวทันกับการนำวิทยาการล้ำสมัยมาใช้ในอุตสาหกรรมหากเริ่มตื่นตัวตั้งแต่วันนี้

ทั้งนี้กลุ่มบริษัท Thai Union เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลกที่ก่อตั้งมากว่ากว่า 40 ปี โดยครอบครัวจันศิริ โดยปัจจุบันบริษัทยังเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายต่อปีมากกว่า 133.3 แสนล้านบาท (4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

ด้วยพันธกิจที่ปักหมุดเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรม ผ่านความเชื่อที่ว่าเป็นดังหมากเด็ดในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้ Thai Union ซึ่งทางบริษัทคาดว่าด้วยจุดแข็งแห่งการพัฒนาวิยาการด้านต่าง ๆ จะสร้างรายได้กลับคืนให้บริษัทในสัดส่วน 10% ของรายได้ยอดขาย 3-5 ปีข้างหน้า หรือสร้าง gross margin ไม่ต่ำกว่า 25%

Food Technology-Thai-Union

มีมุมมองอย่างไรต่อ Food Technology

เรามองว่า ณ จุดนี้คือ Deep Tech ที่เราต้องใช้นวัตกรรมที่มีรากฐานจากการวิจัย ตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่การปรับปรุงกลิ่น สี หรือ รส ของอาหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปยังจุดอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น เวลาที่กินมันฝรั่งทอดเข้าไป สิ่งสำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่กลิ่น สี หรือรส แต่ที่สำคัญที่สุดคือเสียง ด้วยการทำให้เป็นแผ่นหยัก

อีกตัวอย่างคือปลา ที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อปลาจากการใช้ตาก่อนที่จะกินเข้าปาก ด้วยการที่มองจากภาพว่าปลาที่ดี อร่อยควรจะเป็นอย่างไร สีควรจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของการที่เกิด oxidation (การทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ) ระหว่างเนื้อปลากับอากาศที่จะทำให้สีของปลาเปลี่ยน ซึ่งถ้าเราสามารถป้องกันการเปลี่ยนสีของเนื้อปลาได้โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ก็จะได้รสสัมผัสและสีที่เปลี่ยนไป

ไม่เพียงเท่านั้นผู้บริโภคยังคาดหวังกับเรื่องชิ้นเนื้อปลาด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เช่น สีของเนื้อปลา ความนุ่มของเนื้อปลา ซึ่งความอร่อยของคนทั่วโลกก็ยังแตกต่างกันด้วย จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์การอาหารในเรื่องของ Degree of Liking (DOL) เข้ามาช่วยในระดับหนึ่ง

ในปัจจุบันนั้น อุตสาหกรรมอาหารของไทยยังถือว่าเป็น traditional มาก เราจึงเห็นว่าการอัพเกรดกระบวนการหรือ processing เป็นสิ่งที่น่าเข้ามาทำ

ปัจจัยใดที่เป็นอุปสรรคให้ไม่เกิดการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น

ผมคิดว่าเรื่องการลงทุน เพราะบริษัทอาหารใหญ่ ๆ หลายบริษัทในไทยที่ว่าใหญ่แล้ว ถ้าไปเทียบกับระดับโลกยังถือว่าเล็กมาก จะเห็นว่านวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะมาจากบริษัทข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะมี economies of scale ที่สูงกว่ามาก เช่น Nestlé มีงบลงทุน 2 พันล้านยูโรต่อปีในการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ถ้ามองกลับมาที่ไทยก็ยังไม่ค่อยมี เหตุผลเพราะยังไม่กล้าเสี่ยง เพราะการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาถือว่ามีความเสี่ยงสูง

อีกย่างหนึ่งคืออุตสาหกรรมอาหารเติบโตมาจากการซื้อหรือลอกเลียนแบบเทคโนโลยี จึงยังมีคำถามเกิดขึ้นว่า ถ้าวันนี้เราซื้อและ copy เทคโนโลยีได้ แล้วทำไมจะทำต่อไม่ได้ เพราะต้นทุนมันต้องถูกกว่าอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องการใช้เวลา กว่าจะทำ R&D เสร็จ ความต้องการของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าเราเริ่มช้า รวมถึงหลายคนก็มองว่ารอให้มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ เป็นคนทำ แต่ผลคือยังไม่ commercial และสร้าง impact ใหญ่ ๆ มากพอ ดังนั้นมองว่าอาจต้องไปสนับสนุนเรื่อง commercial แก่สถาบันการศึกษาให้มากขึ้น

“ผมคิดว่าปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ Food Technology ในเมืองไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร คือเรื่องการลงทุน ความเสี่ยง และระยะเวลา”

แนวทางพัฒนา Food Tech ของประเทศใดที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ ปรับใช้ได้

ประเทศส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปไปไกลกว่าเรามากแล้ว โดยปัจจุบันประเทศเหล่านี้จะสนับสนุนหรือทำงานร่วมกับกลุ่ม Startup ซึ่งแยกตัวออกมาจากพวกมหาวิทยาลัยหรือจากองค์กรธุรกิจ ซึ่งมีรากฐานที่ดีจึงสามารถต่อยอดได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้อีกมาก แล้วเราก็เริ่มช้าแล้วด้วย

ทั้งนี้มุมมองที่ต้องปรับเปลี่ยน อย่างแรกคือ คน ผมคิดว่าคนไทยมีความสามารถ แต่อาจจะยังไม่มีโอกาส และหลายคนยังมองไม่ออกว่าจะไปต่ออย่างไร อาจจะต้องงมีคนเข้ามาช่วยสนับสนุน

นอกจากนี้ผมยังคิดเสมอว่าการที่นำต่างชาติเข้ามาทำงานร่วมกับเรา ไม่ได้ถือว่ามาแย่งงานเรา แต่มาสอนงาน ฉะนั้นต้องมองภาพจุดนี้ให้ได้ว่าไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ถ้าสามารถจะดึงคนเก่งเข้ามาช่วยได้จะยิ่งไปได้เร็วขึ้นกว่าการสอนกันเอง เพราะทั้ง Deep Tech และ Food Tech ในต่างประเทศไปได้ไกลกว่าเราแล้ว

ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ดึงคนข้างนอกเข้ามาช่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าความพร้อมและความสามารถของคนที่ถูกสร้างขึ้นมาอาจจะนำประเทศไทยไปก่อน แต่เราก็ยังมีโอกาสตามทัน เพราะมีแหล่งวัตถุดิบและอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างคน

จะให้คำแนะนำเช่นไร แก่ผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมเองได้ แต่ไม่กล้าร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะอาจจะกลัวถูก copy

ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของแต่ละบริษัท การที่เราทำงานกับนักวิจัยและพัฒนาทั้งหมดเราต้องมีสัญญาและให้ความเคารพกับทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนักวิจัย (IP Xpedite) เพราะฉะนั้นการทำงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งทุกคนต่างก็มี IP ของตัวเอง จึงต้องมีข้อตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ กันตั้งแต่แรก ซึ่งส่วนมากก็ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะคุยกันและมีข้อตกลงที่เป็นโครงสร้างชัดเจนตั้งแต่แรก ทำให้เรารู้ว่าใครเป็นเจ้าของอะไร

ผมเชื่อเสมอว่าไม่มีใครเก่งเพียงคนเดียว ถ้าไม่ได้ร่วมงานกับบริษัทนี้ก็หาต่อไปเรื่อย ๆ เราเองก็ไม่อยาก take advantage จากคนอื่น ขณะที่ก็ไม่อยากให้คนอื่นมา take advantage จากเราเหมือนกัน ก็ต้องเข้ามาถึงจุดที่เป็นกลางทั้งสองฝ่ายที่ทุกคนได้ผลประโยชน์เท่าเทียมกัน

Food Technology-Thai Union

มีบทบาทอย่างไรต่อการสร้างนวัตกรรมให้ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

ผมทำงานกับบริษัทข้ามชาติมาโดยตลอด ไม่เคยคิดว่าจะกลับมาทำงานที่ไทย เพราะมองว่าเทคโนโลยีเขาไปไกลกว่า และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ไปเจอ product ใหม่ ๆ จนคุณธีรพงศ์ (ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)มาคุยกับผมว่าต้องการจะสร้างนวัตกรรมอย่างจริงจัง ใช้เวลาคุยกันเป็นปี ผมก็ถามเขาว่าแน่ใจแล้วใช่ไหม แน่ใจขนาดไหน เพราะมีความเสี่ยง ต้นทุนสูง และใช้เวลานาน สุดท้ายก็ตัดสินใจทำ

“ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นเพราะได้กลับมาช่วยอุตสาหกรรมอาหารในไทย แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดคือ เราสร้างทุกอย่างจากศูนย์ ทั้งนโยบายและกลยุทธ์นวัตกรรมของ Thai Union ว่าเราควรจะเริ่มอย่างไร ที่ต้องคิดก่อนว่าควรจะมีนวัตกรรมอย่างไร อยู่ที่ไหน”

แต่เมื่อมองว่าหากจะสร้างศูนย์วิจัยเองก็จะช้าไปแล้ว แต่ถ้าไปจ้างคนอื่นก็แพง จึงเลือกทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำคัญคือได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นเวลา 5 ปีจาก BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ทำให้สามารถสร้างศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน หรือ Global Innovation Center (GIC) ขึ้นมาได้

ทั้งนี้จึงเริ่มดึงนักวิจัยจากต่างประเทศหรือคนไทยที่อยู่ต่างประเทศให้มาทำงานร่วมกันกับนักวิจัยที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ถือว่าเป็นการสร้างองค์กรใหม่และสร้างโอกาสให้นักวิจัยได้มีพื้นที่ในการทำงานวิจัย แล้วยังเป็นองค์กรที่มีความต่างทั้งเรื่องอายุ (ตั้งแต่ 20 ปี ถึง 60 ปลาย ๆ ) สัญชาติ และเพศที่แตกต่างกัน จึงก่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลายด้วย

“ตัวผมเองไม่มีความรู้เรื่องปลาเลย คนที่ทำงานกับผมที่จบเกี่ยวกับปลาก็มีน้อย ซึ่งเมื่อเราให้คนที่ไม่รู้ได้มาศึกษาเพิ่ม ก็อาจจะได้ภาพออกมาที่แตกต่าง แต่ถ้าให้คนที่รู้อยู่แล้วมาทำ ก็อาจจะไม่ได้มองภาพแตกต่างไป เพราะก็จะคิดว่าเขารู้อยู่แล้ว”

นอกจากนี้ผมยังมีความเชื่อเรื่อง Industry 4.0 (การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เป็นการนำสารสนเทศมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) เพราะถ้าเป็นไปไม่ได้บริษัทเราก็อยู่ไม่ได้ ด้วยคนงานที่มีอยู่ 20,000-30,000 คน และเราก็ไม่ได้หวังว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเขาจะอยู่ที่นี่ แล้วถ้าเขาไม่อยู่เราจะอยู่ได้อย่างไร หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เราเริ่มใช้เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง การเรียนรู้ของ AI ในโรงงานมีมูลค่ามหาศาล ทุกคนพูดเหมือนกันว่าในที่สุดจะชนะกันด้วยข้อมูลหรือ data จริง ๆ เพราะในอุตสาหกรรมอาหาร data คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณเข้าใจทั้งในกระบวนการผลิต คุณภาพและผลิตภัณฑ์

ฉะนั้นวันนี้การที่เราเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ก็ยิ่งมี data เป็นจำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมื่อก่อน data ค่อนข้างจะกระจัดกระจาย แต่เรานำ data เหล่านั้นมารวมกันเพื่อทำความเข้าใจ ทำให้ต่อไปนี้ก็สามารถคาดการณ์เรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น

นวัตกรรมไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์แต่เป็นได้ทั้งธุรกิจและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปลาทูน่า ถ้าเราไม่ทำการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยเราก็อยู่ไม่ได้

อยากให้เล่าถึงที่มาของการพัฒนา Co-products ที่จะมาต่อยอดธุรกิจ

ตอนที่ผมมาสัมภาษณ์งาน ผมต้องไปเดินในโรงงาน ซึ่งผลิตปลา 3-4 แสนตันต่อปี แต่ส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปเป็นของที่ low-value จึงคิดว่าน่าจะนำมาทำอะไรให้มีมูลค่ามากขึ้นจากวัตถุดิบที่อยู่ในโรงงานอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์

พอคิดว่าเราสามารถทำผลิตน้ำมันปลาทูน่าเองได้ ผมก็ไปเสนอกับผู้บริหารว่าควรตั้งสายงานใหม่เป็น Marine Ingredient Division ซึ่งได้เปิดขึ้นมาแล้วเป็นธุรกิจใหม่และเป็นความหวังของบริษัท จากนั้นเราก็มาสร้างโรงงานน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์ให้กับบริษัทผู้ผลิตนมผง ก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นแล้วและไม่ได้เกินกำลังความสามารถ

หลังจากนี้ก็มองไปถึงด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ในแง่การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างกระดูกปลาทูน่าและได้จดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งเป็นแคลเซียมที่ได้จากธรรมชาติ จึงสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าแคลเซียมที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้กระบวนการอยู่ระหว่างเตรียมผลิตจริงในโรงงานต้นแบบที่ฝรั่งเศส

Food Technology-Thai-Union

ที่มาและบทบาทของโครงการ SPACE-F (สเปซ-เอฟ) เป็นอย่างไร

จุดเริ่มต้นเกิดเมื่อ 3 ปีก่อน ที่คิดว่าทำไมจึงไม่สร้าง ecosystem ที่มุ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมอาหารและ Deep Tech ที่เกิดจาก 2 หน่วยงานแรกคือเราและ NIA หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ก่อน แต่ก็ใช้เวลากับการชวนบริษัทอื่น ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหารมาร่วมด้วยแต่ก็ตัดสินใจช้า เราเลยไม่รอแล้วเริ่มเดินหน้าทำ และคิดว่าตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง

ในที่สุดจึงเกิดโครงการ SPACE-F ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง T้U มหาวิทยาลัยมหิดล และ ที่มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนา Startup เพื่อค้นหา บ่มเพาะและเร่งการเติบโตของ Startup ด้าน Food Technology  แห่งแรกของโลก โดยจะให้บริการด้านนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 โปรแกรม คือ โปรแกรม Incubator สำหรับสตาร์ทที่อยู่ในระยะบ่มเพาะ และโปรแกรม Accelerator สำหรับบริษัท Startup ที่อยู่ในระยะเร่งการเติบโต

โดย SPACE-F ตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดยจะให้บริการตั้งแต่ห้องแล็บ เครื่องมืออันทันสมัยที่จะช่วยให้การวิจัยและการพัฒนาทางความคิดเป็นไปได้อย่างสะดวก นอกจากนี้การขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยการเข้าถึงพื้นที่ทำงานของ WeWork Labs ได้ใน 60 แห่งทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนของเครือข่ายทั่วโลกของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และโปรแกรมของสนช. ที่ส่งเสริม Startup สู่ตลาดต่างประเทศ

เราคิดว่าเป็นการสร้าง ecosystem ในไทยให้เพิ่มมากขึ้น และคิดว่าเราและเขา (Startup) ได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากที่เราให้เงินรายละประมาณ 1 แสนบาทแล้วแต่เรายังลงทุนในคนเพื่อเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงด้วย

ผมคิดว่าจะทำให้ Deep Tech ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะมีบริษัท Tech Company เกิดขึ้นในไทยก็เป็นไปได้

พบกับดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ได้ที่งาน Techsauce Culture Summit 2019!

ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เรียนรู้ secret sauce การขับเคลื่อนบริษัทแห่งนวัตกรรมจากดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ที่งาน Techsauce Culture Summit 2019 ใน Hands On Workshop หัวข้อ 'Culture of innovation: The secret sauce of jumping to a new S curve' ในด้านการส่งเสริม startups การผลักดันความคิดสร้างสรรค์ และการปรับรูปแบบธุรกิจสำหรับการทำงานในรูปแบบ new S curve กับมหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัยและพัฒนา เพื่อผลักดัน FoodTech startups ในประเทศไทย ภายใต้โปรแกรม SPACE-F เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและซื้อบัตรได้ที่ http://bit.ly/2mwJvkg

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...