ถอดสูตรลับพลิกชีวิตเด็กกวาดลานมันสำปะหลัง สู่เจ้าของ 'ธุรกิจยางพารา' หมื่นล้าน | Techsauce

ถอดสูตรลับพลิกชีวิตเด็กกวาดลานมันสำปะหลัง สู่เจ้าของ 'ธุรกิจยางพารา' หมื่นล้าน

ธุรกิจยางพารา ถือเป็นหนึ่งในสินค้าการเกษตรที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก จากการที่ประชาชนในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคอีสาน ประกอบเป็นอาชีพหลัก และส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยด้วย ส่งผลทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาเป็นผู้เล่นในธุรกิจนี้ หนึ่งในนั้น คือ บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ (North East Rubber) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนิน ธุรกิจยางพารา โดยผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ  จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และอินเดีย เป็นต้น

โดยเมื่อปี 2561 หลังจากที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สามารถทำรายได้อยู่ที่ 10,084.01 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 486.46 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ ‘ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์’     Self-made ที่เริ่มต้นจากการช่วยครอบครัวดูแลธุรกิจลานมันสำปะหลัง ที่จะต้องรับหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่กวาดลานมันจนกระทั่งรับซื้อและนำไปขายจนกระทั่งมีรายได้ออกมา ประกอบกับความกล้าที่จะลงมือทำ เสี่ยงนำยางพารามาปลูกในภาคอีสานเป็นเจ้าแรก และได้สั่งสมความรู้จากประสบการณ์จนสามารถก่อตั้งโรงงานยางพารา และขยายธุรกิจให้เติบโตมีรายได้แตะระดับหมื่นล้านได้

ธุรกิจยางพารา-ner

จุดเริ่มต้นของการทำ ธุรกิจยางพารา มีที่มาอย่างไร

เดิมทีผมเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ และครอบครัวได้มีการย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2518 และได้มาเริ่มทำกิจการเล็ก ๆ โดยการทำลานมันเส้น ตอนนั้นผมอายุประมาณ 11 ขวบ ซึ่งก็อยู่ในวัยกำลังเรียนหนังสือ แต่ผมเป็นคนไม่ตั้งใจเรียน และไม่ชอบอยู่ในสังคมของโรงเรียน เพราะว่า ผมไม่ชอบการท่องจำ

และไม่ชอบกฎระเบียบที่ในบางครั้งบังคับเรื่องที่มันเล็กน้อย และหยุมหยิมมาก ๆ ในทางกลับกันแม้จะไม่ชอบเรียน แต่ผมก็ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งผมจะเลือกเฉพาะในสิ่งที่ผมสนใจ เช่น วรรณคดี ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และสิ่งที่ผมรู้สึกว่าสามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันได้เท่านั้น  ผมอาจจะเลือกผิด ถ้าไปเรียนสายวิชาชีพอาจจะดีกว่านี้ 

เราไปเรียนสายสามัญตามที่พ่อแม่อยากได้ อาจารย์แนะแนวแนะนำ ด้วยเหตุผลที่ว่า เรียนสายสามัญมันมีช่องทางการเรียนต่อไปได้เยอะ แต่กลายเป็นเราไม่ชอบ และอยู่กับมันไม่ได้  แต่ก็โดนบังคับให้เรียนจนจบมัธยมปลายมาได้ จำได้ว่าตอนนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เลย ก็เลยมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เทอมแรกก็ลงเต็มทุกหน่วยกิต แต่ผมไม่ไปสอบเลย เพราะผมหนีไปแทงสนุ๊ก

ซึ่งชีวิตตอนนั้นค่อนข้างที่จะเกเร และทำอะไรตามใจตัวเองมาก ผลการเรียนเลยออกมาเป็นศูนย์ เลยเริ่มรู้ตัวแล้วว่า เรียนต่อไปก็ไม่จบ มันเสียเวลาเปล่า จึงได้กลับมาที่บ้านและได้เห็นพ่อกับแม่ทำงานลำบาก แล้วผมเองก็เป็นลูกชายคนโต ก็เลยมานั่งคิดว่าจะเลิกเรียนหนังสือ และกลับมาช่วยงานที่บ้าน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็ไม่กลับไปเรียนหนังสืออีกเลย ซึ่งก็ไม่มีใครเห็นด้วย แต่ผมตัดสินใจแล้ว ว่าอยากที่จะมาแบ่งเบาภาระของพ่อแม่

ธุรกิจยางพารา-nerและเมื่อประมาณปี 2527 ก็ได้เริ่มต้นปลูกยางพารา ซึ่งเกิดจากความกล้าที่จะลองของคุณพ่อของผม ดังนั้นเราจึงกลายเป็นครอบครัวแรกที่ปลูกยางพาราในภาคอีสาน และหลังจากนั้นก็เป็นการจุดประกายให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ เห็นว่าสามารถทำได้ ก็ได้มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อต้นยางพาราโตจนมีอายุที่สามารถกรีดได้ ชาวบ้านก็กรีดกันมากขึ้น

โดยที่ไม่มีปัญหาแรงงานในการกรีด เพราะเมื่อก่อนชาวอีสานได้ไปหางานทำที่ภาคใต้โดยการรับจ้างกรีดยางค่อนข้างมาก พอทีบ้านตัวเองทำได้ ทุกคนก็กลับมาประกอบอาชีพที่บ้าน แต่ตอนนั้นที่ภาคอีสานไม่มีที่รับซื้อยางพารา ชาวบ้านก็เลยต้องส่งยางมาขายที่จังหวัดระยอง ก็ค่อนข้างที่จะโดนกดราคา นี่จึงกลายเป็นปัญหาของเกษตรกรสวนยางของภาคอีสาน ผมก็เลยได้คิดจัดตั้งโรงงานขึ้นมา

เพราะจากการที่ผมเอายางพาราที่กรีดได้ไปขายที่จังหวัดระยอง ผมก็ไปเดินดูโรงงานเขา เรียนรู้แบบครูพักลักจำมา และลงไปดูงานเพิ่มเติมที่ภาคใต้ ไปหาผู้รู้ ไปขอคำแนะนำ และกลับมาเปิดโรงงานที่ภาคอีสาน ทำ'ธุรกิจยางพารา'ตั้งเป็น ‘นอร์ทอีส รับเบอร์’ ขึ้นมาเมื่อปี 2549 ก็เริ่มจากยางแผ่นรมควันอัดก้อน ที่กำลังการผลิต 60,000 ตันต่อปี ประกอบธุรกิจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2556 มีการขยายโรงงานครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง โดยการสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง STR เบอร์20  กำลังการผลิต 170,000 ตันต่อปี ปัจจุบันดำเนินธุรกิจตามนี้อยู่

ตอนที่เริ่มสร้างโรงงาน ผมมีเงินเก็บอยู่ประมาณ 17 ล้านบาท เพราะนอกจากทำลานมันสำปะหลัง และปลูกยางแล้ว ระหว่างนั้นผมก็ได้ทำธุรกิจเลี้ยงไก่ โดยการเป็นลูกเล้าในโครงการ Contract Farming ของเบทาโกร ไปด้วย จึงทำให้สามารถเก็บเงินได้ค่อนข้างมาก แต่ในตอนนั้นเงินจำนวนนี้สามารถสร้างได้แค่โครงสร้างอาคารและโรงงานเท่านั้น ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่เลย ดังนั้นผมจึงไปกู้เงินจากธนาคารมาก้อนแรก 151 ล้านบาทมาประกอบกิจการ

กว่าที่ธุรกิจจะสามารถยืนได้ มีอุปสรรคอะไรเข้ามาบ้าง และแก้ไขอย่างไร

ต้องบอกว่าปัญหาเข้ามาเยอะมากกว่าจะได้ตั้งเป็นโรงงานขึ้นมา อย่างแรกเลยก็คือ ความไม่เข้าใจของชาวบ้านในพื้นที่ ที่มีความกังวลเรื่องกลิ่น และมลภาวะ  เราได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการพาผู้นำชุมชนไปดูงานที่จังหวัดระยอง ให้เขาเห็นภาพ และเกิดความเข้าใจ ประกอบกับเราก็มีนโยบายใช้คนในพื้นที่ทำงานทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันพนักงานของเรามีประมาณ 700 กว่าคน เป็นคนไทยทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในระแวกใกล้เคียงกับโรงงาน

ส่วนปัญหาอย่างที่สอง คือ เงินที่ต้องกู้จากธนาคาร กว่าที่จะสามารถ Present ผ่านเพื่อขอกู้เงินมาทำธุรกิจก็ใช้ระยะเวลากว่าครึ่งปีเลยทีเดียว และอย่างที่สาม เรื่องของการหาตลาด โดยตอนนั้นสร้างโรงงานมา 3 เดือนแรก ขายของไม่ได้เลย จากการที่เป็นบริษัทใหม่ และลูกค้ายังไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้า

ดังนั้นต้องมีการหา Third Party มารับรอง ซึ่งในตอนนั้นเราก็ได้ไปเชิญ Bridgestone มารับรองโรงงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 7 เดือนก็ผ่าน และได้รับใบรับรองมาตรฐานเมื่อช่วงกลางปี 2550 ซึ่งเราก็ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้สามารขายของได้ดีขึ้น

ธุรกิจยางพารา-nerนอกจากนี้ในระหว่างที่ทำธุรกิจไปได้สักระยะก็ได้เกิดวิกฤติขึ้นหลายอย่าง โดยหลัก ๆ  เลยจะเกิดขึ้นตอนที่ราคายางพาราปรับตัวขึ้นไปกิโลกรัมละประมาณ 200 บาท และในปีนั้นเราได้มีการขายของล่วงหน้าไว้ค่อนข้างมาก โดยที่ไม่ได้สต็อกของไว้ในมือเลย ซึ่งในขณะนั้นเราต้องซื้อกิโลกรัมละ 150 บาทในการส่ง แต่สามารถขายออกได้ในราคากิโลกรัมละ 72 บาท 

นั่นเป็นวิกฤตหนักของเราเลย ซึ่งตอนนั้นสามารถคิดได้ 2  ทาง คือ หนึ่ง ถ้าต้องการที่จะอยู่ในธุรกิจนี้ต่อก็ต้องส่งมอบยางตามที่ขายเอาไว้ แต่กู้เงินธนาคารมามันก็หมดไปด้วย เพราะขาดทุน สอง ไม่ส่งของเลย ยางที่มีอยู่ที่ซื้อมาในราคากิโลกรัมละ 72 บาท เอามาขายในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ก็จะได้กำไรมาก้อนหนึ่ง คืนหนี้ได้ แต่ต้องออกจากธุรกิจนี้ไปเลย เพราะเสียชื่อเสียง 

ผมก็นั่งคิดอยู่หลายวันจึงตัดสินใจบินไปหาลูกค้า Bridgestone ที่สิงคโปร์ เพื่อที่จะไปบอกว่าอีก 3 เดือนจะไม่ส่งของ ที่ขายล่วงหน้าไว้จะส่งให้ปกติไปก่อน ซึ่งผมได้เสนอทางเลือกให้เขา 2 ทาง โดยเป็นการเจรจากันในฐานะเพื่อน คือ หนึ่ง ผมไม่ส่งของให้คุณแล้วเลิกกิจการ สองผมเป็นหนี้คุณ แล้วผ่อนใช้ในงวดต่อไป เปิดซื้อขายกันใหม่ยกยอดกันไว้ แล้วให้หักตันละ 100 เหรียญจากออเดอร์ใหม่ ทยอยหักเรื่อย ๆ 

ปรากฎว่าเขายอมที่จะให้ผมเป็นหนี้เขา เพื่อที่จะได้ทำการค้ากันต่อ เพระเขาบอกว่า มี Supplier เพียงรายเดียวที่บินไปหาเขาและบอกล่วงหน้า 3 เดือน ทำให้เขามีเวลาปรับตัวทัน ซึ่งหากคิดในแง่ของการทำงาน ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเอาตัวรอด ผมใช้หนี้ก้อนนี้มูลค่าประมาณ 32  ล้านบาทหมดภายในระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน เพราะลูกค้าได้เพิ่มออเดอร์เข้ามาเรื่อย ๆ จาก 700 ตันต่อเดือน เป็น 4,000 ตันต่อเดือน เพื่อที่เราจะได้ใช้หนี้เขาหมดโดยเร็ว

ทุกคนล้วนมีจุดวิกฤติกันทั้งนั้น แต่ผมแก้ปัญหาด้วยการคิดบวก บางครั้งผมก็นั่งเฉย ๆ ถ้ามีปัญหาเยอะ ๆ นั่งเฉย ๆ หยุดทำทุกอย่าง โทรหาคนไว้ใจ รู้จัก เพื่อปรึกษา นำมาประมวลผล ตั้งสติ และค่อย ๆ แก้ เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างแก้ไขได้

จากการที่บริษัทต้องมีคนจำนวนมากในการทำงาน มีวิธีในการบริหารจัดการแรงงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

ผมมองว่า โดยเนื้อแท้แล้วคนทุกคนเป็นคนดี ไม่มีใครอยากโกง หรือ อยากเป็นคนไม่ดี เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเราให้โอกาสเขา รอบตัวเราจะมีคนที่ดีเข้ามาทำงานกับเราเยอะมาก ไม่ใช่ว่าเขาทำผิดครั้งเดียวแล้วไปตัดโอกาสเขาเลย เราต้องให้โอกาสเขา ซึ่งผมเป็นคนที่ให้โอกาสคนบ่อยมาก เพราะผมถือว่าทุกคนมีความจำเป็น 

ในโรงงานของผมจะรับสมัครแรงงานแม้กระทั่งบุคคลที่เป็นผู้ต้องขังที่กำลังจะหมดโทษ ซึ่งเราก็ได้ทำโครงการกับทางเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ไว้ ก็ได้ผลตอบรับที่ดี ซึ่งผมมองว่าคนกลุ่มนั้นเขาควรได้โอกาสเหมือนกัน  เราต้อง Screen คนกลุ่มนี้ออกมา สังคมมันถึงอยู่ได้ ถ้าหากสังคมต่างผลักพวกเขาเอาไว้อีกกองหนึ่ง มันก็อาจจะทำให้เขาถูกชวนกลับไปทำอย่างเดิมอีก มันก็ไม่มีวันสงบสุข 

ธุรกิจยางพารา-ner นอกจากนี้ในระหว่างดำเนินกิจการเราเองก็มีการปรับวิธีการจ่ายค่าแรงงานในโรงงานเป็นระบบเหมาจ่าย ตามน้ำหนักที่ทำได้ ซึ่งในระหว่างจังหวะการเปลี่ยนถ่ายจากทำงานรายวัน มาเป็นเหมาจ่าย ตอนนั้นก็โดนพนักงานปิดหน้าโรงงานอยู่2 วัน  เพราะเขาคิดว่าเราจะเอาเปรียบเขา ก็ได้มีการให้คนกลางอย่างกรมแรงงานประจำจังหวัดมาพูดคุย 

ตอนนั้นเราก็ยืนยันกับว่าสิ่งที่เราคิดออกไปมันดีสำหรับทุกฝ่ายทั้งลูกจ้างและเจ้าของ เนื่องจาก ณ ตอนนั้น บริษัทต้องมีการส่งยางแผ่นรมควันอัดก้อนประมาณ 60,000 ตันต่อปี นั่นก็แสดงว่าเราจะต้องทำประมาณ 5,000 ตันต่อเดือน และหากคิดต่อวันต้องให้ได้ 150 ตัน ดังนั้นพอเราจ้างพนักงงานเป็นรายวัน ก็จะได้งานแค่วันละ 40-60 ตันเท่านั้น

แต่พอเราปรับเป็นค่าแรงเหมาจ่าย เขาก็ได้เงินเพิ่มขึ้นจากวันละ 300 บาท ก็เพิ่มเป็น 500 บาท และเราก็ได้ของออกมาขายวันละ 150  ตันตามที่ต้องการ เพราะหากจ่ายค่าแรงเป็นรายวันมันก็จะทำให้เขาอู้ นั่งกินแรงไปเรื่อย ดังนั้นผมเลยใช้วิธีการให้จับกลุ่มกัน กลุ่มละประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีกระตุ้นคนให้ทำงาน เพราะพอจับกลุ่มกันเอง ทุกคนก็จะดูว่าใครกินแรงเพื่อน จะถูกเอาออกเอง 

โดยที่บริษัทไม่เกี่ยวแล้ว ทุกคนตั้งใจทำงานเต็มที่ แล้วเราก็เข้าไปคุยไปให้นโยบาย และความเข้าใจว่าจริง ๆ ทุกคนมาทำงานมีต้นทุนหมด ขับรถมอเตอร์ไซค์มากจากบ้าน อย่างน้อย ๆ มีค่าน้ำมัน 20 บาทแน่ ๆ เพราะฉะนั้นคุณจะเอาเงิน 300 บาทกลับบ้าน หรือว่าคุณจะเอา 500 บาทกลับบ้าน  ต้นทุนมีเท่าเดิม แล้วแต่ความขยัน จนกระทั่งในปัจจุบันทุกคนไม่ยอมที่จะกลับไปเอารายวันอีกแล้ว เพราะว่าเขาได้เยอะกว่า ซึ่งอาจจะเหนื่อยขึ้นเล็กน้อย แต่ทำไปทำมามันเป็นความเคยชิน

ปัญหาแรงงานที่เจอเราก็ค่อย ๆ แก้  ซึ่งการปรับการจ่ายค่าแรง ถือเป็นโอกาสและการปรับที่ทำให้เกิดความเหมาะสมด้วยการทุกฝ่าย  ผู้ประกอบการได้ของมาขายมากขึ้นโดยที่ไม้ต้องสร้างโรงงานเพิ่ม ลูกจ้างเองได้เงินมากขึ้นในการมางานหนึ่งวันเหมือนเดิม 

ทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสิ่งที่เขาต้องการ แล้วผมมองว่ามันได้ดีกว่าการที่เราไปบังคับเขา เราเองเลยไปหาวิธีคิด แต่มันเป็นวิธีคิดที่มันต้องคุ้มค่าในแง่ทางเศรษฐกิจของเราด้วย

มีมุมมองต่อการแข่งขันของ ธุรกิจยางพารา ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ณ วันนี้ 'ธุรกิจยางพารา' มีการแข่งขันสูงพอสมควร และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ  จากการที่สภาวะที่ยางกลายเป็นสินค้าการเมือง ซึ่งในบางครั้งเรื่องของ Demand หรือ Supply มันไม่ได้เป็นปัญหา ในการกำหนดราคายาง ประกอบกับการมีตลาดล่วงหน้ามาชี้นำตลาดจริงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบ 

โดยก่อนหน้านี้ตลาดล่วงหน้าไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ ที่ Trend การทำงานมันเปลี่ยนไป ซึ่งจริง ๆ แล้วการมีตลาดสินค้าการเกษตรล่วงหน้า Concept มันดี แต่วิธีการทำงาน ณ วันนี้มันเปลี่ยนจากเดิม คนที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าไม่นิยมรับมอบของจริง ทุกคนนิยมที่จะหักกลบกันระหว่างซื้อกับขาย ส่วนต่างใครเป็นคนได้คนนั้นเอาไป 

ซึ่งจริง ๆ แล้ว วัตถุประสงค์ของการตั้งตลาดล่วงหน้าขึ้นมาคือ เพื่อเป็นสถานที่แลกเปลี่ยน พบเจอกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย  ไม่ว่าจะซื้อขายกันกี่ทอดก็แล้วแต่ สุดท้ายคนขายต้องมีของส่งมอบจริง โดยใช้กระดาษเป็นตัวกำหนดไว้ก่อน ถึงเวลา ณ วันที่ส่งมอบจริง ก็ต้องส่งมอบของจริงเพื่อไปใช้ผลิต แต่ ณ วันนี้มันไม่ใช่  มันกลายเป็นการเก็งกำไร คนที่มีเงินเยอะก็สามารถปั่นราคาได้  

นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเองไม่ยอมที่จะไปซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้าเลย เพราะมันมีความเสี่ยง และปั่นราคาได้ง่าย เราจึงใช้วิธีการเดียว คือ Matching  และอิงตลาดล่วงหน้าเป็นแค่การกำหนดทิศทางราคาในการซื้อขายในโลกนี้เท่านั้น ไม่ได้อิงวิธีการทำงานแบบเขา ตลาดล่วงหน้ามีการซื้อขายล่วงหน้าวันนี้ไปจนถึง 8-9 เดือนข้างหน้า แต่เราซื้อวันนี้ ขายพรุ่งนี้ โดยใช้ของจริงมาเป็นตัวตั้ง เราไม่เก็งกำไร แม้พรุ่งนี้ราคาจะขึ้น แต่เราขายตามมาตรฐานของเรา 

ธุรกิจยางพารา-nerภาพรวม ธุรกิจยางพารา ในปัจจุบันและเป้าหมายในอนาคตเป็นอย่างไร

สถานการณ์ของเราดีขึ้นในแง่ของการขายของ โดยหลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2561 ทำให้ได้รับเครดิตทางสังคมดีขึ้น ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยให้ ลูกค้าก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากการที่เราเองมีมาตรฐานในการกำกับและดูแลที่ดีขึ้น 

ส่วนเป้าหมายในอนาคตภายในปี 2563 เราจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 400,000 ตันต่อปี ตรงนี้ก็จะเป้าหมายสูงสุดของสินค้าต้นน้ำ และเป้าหมายต่อไปของเราก็คือ ทำสินค้าสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัย เพื่อสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีและความมั่นคงให้กับธุรกิจได้ 

ท่ามกลางยุค Digital Disruption ‘นอร์ทอีส รับเบอร์’ มีการปรับตัวเพื่อรับมืออย่างไรบ้าง

ตรงนี้เราก็คิดเอาไว้อยู่แล้ว อย่างแรก ที่จะถูก Disrupt คือ แรงงาน ดังนั้นปัจจุบันจึงได้มีการร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อคิดค้นและวิจัยเครื่องจักรที่จะมาใช้ในโรงงานเพิ่มเติม ให้สามารถควบคุมต้นทุนในการแข่งขันได้ และเรายังมีการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยทางมหาวิทยาลัยได้ใช้การตลาดมานำการผลิตให้กับเรา 

ซึ่งจะต้องมีการวิจัยในทางเศรษฐศาสตร์ก่อนว่าตลาดต้องการอะไร แล้วก็จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากยางพารา และนำไปสู่การทำสินค้าสำเร็จรูป คาดว่าภายในปี 2563 ก็จะมีการออกสูตรการผลิตออกมา และจะเริ่มสร้างโรงงานใหม่ประมาณปี 2564 ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างอัตรากำไรสุทธิต่อหน่วยได้ดีกว่า'ธุรกิจยางพารา' ดั้งเดิมในปัจจุบัน

เราพยายามคิดนอกกรอบการทำงานที่ผ่านมา เพราะธุรกิจยางธรรมชาติพอถึงจุดหนึ่งมันโตต่อไม่ได้  ถ้าเราโตแค่นี้มันสุดแค่นี้ ดังนั้นมันจะต้องต่อยอดไปเป็นอย่างอื่นได้

อย่างที่สอง คือ การใช้ยางเทียมมาทดแทนยางธรรมชาติ ตรงนี้ผมมองว่าไม่สามารถที่จะทดแทนกันได้หมด เพราะคุณสมบัติมันไม่เหมือนกัน ผลิตภัณฑ์บางอย่างมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยางธรรมชาติอยู่ เช่น ล้อยางเครื่องบิน ล้อยางรถยนต์ ต้องใช้ยางธรรมชาติเท่านั้น เพราะ มีแรงทนกระแทก แรงยืดหยุ่นที่ดี 

แต่ยางเทียม มีคุณสมบัติที่ดี คือ ความนิ่ม และสามารถละลายได้ในอุณหภูมิที่ต่ำ จึงอาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานในบางอย่าง แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะว่าต้องมีการพัฒนาสูตรยางให้มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อเพิ่มเป็นยางอีกเกรดหนึ่ง และทำให้ยางเทียมไม่สามารถทำได้เหมือนเรา

ธุรกิจยางพารา-nerเคล็ดลับของการเป็น Self-made ที่ประสบความสำเร็จคืออะไร

เมื่อคิดแล้วก็ต้องทำเลย  ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามคิดไว้ในระดับหนึ่ง ไม่ต้องละเอียดมาก หรือกระบวน 100% เป๊ะ  เพราะย่างไรก็แล้วแต่เมื่อลงไปทำก็เจอปัญหาอยู่ดี คิดมาเกิน 60% แล้วทำเลย ยิ่งช้าคนอื่นเขายิ่งทำไปก่อนยิ่งไม่ได้เกิด และความเร็วในการตัดสินใจก็มีผล ถ้าเล็กต้องเร็ว ถ้าเล็กแล้วช้า จะโดนใหญ่กินหมด 

และผมยังคิดเสมอว่า ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา คิดอย่างไร พูดอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น แล้วทุกอย่างมันจะมาของมันเอง ตลอดเวลาของการทำธุรกิจผมเป็นคนที่พูด คิด และทำในคำเดียวกัน ไม่เคยบิดพริ้ว และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมเป็นคนที่ให้ความจริงใจกับทุกคน ให้ความเป็นเพื่อนกับทุกคน ผมไม่เคยมีลูกค้า เพราะทุกคนเป็นเพื่อน 

ผมอยู่ได้ เพราะความซื่อสัตย์ จริงใจและให้ใจ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อยหรือรายใหญ่เราบริการเท่ากัน แต่ในแง่ของการค้าขาย มันก็จะมีหลักการขายของมัน ผมจึงรู้สึกสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่มาทำงาน

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...