Microsoft เผยผู้บริโภคไทยยัง “ไม่ไว้วางใจ” Digital Privacy ของภาคธุรกิจ | Techsauce

Microsoft เผยผู้บริโภคไทยยัง “ไม่ไว้วางใจ” Digital Privacy ของภาคธุรกิจ

  • Microsoft เผยผลสำรวจด้านความน่าเชื่อถือของ Digital ในมุมมองผู้บริโภค พบผู้บริโภคไทยยังไม่ไว้วางใจการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ทำการสำรวจ
  • ผู้บริโภคชาวไทยระบุว่าภาครัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอันจะนำมาสู่ความไว้วางใจในการใช้งานระบบ Digital เพื่อพาไทยไปสู่ Digital Economy อย่างเต็มที่

Microsoft ประเทศไทย ชูความสำคัญของการสร้างความไว้วางใจในแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในเชิงเทคโนโลยีและกลยุทธ์ เน้นย้ำบทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการวางนโยบายให้สังคมได้เติบโตเคียงข้างนวัตกรรม AI อย่างมั่นคง พร้อมเผยผลสำรวจมุมมองผู้บริโภคไทยในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มบริการและการทำธุรกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้ถูกยกระดับสู่ระบบดิจิทัลกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เห็นได้จากกลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่ประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัลสูงที่สุดในโลก จึงทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมารับรู้ถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในโลกออนไลน์ โดยความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้มาจากกลุ่มอาชญากรไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหละหลวมขององค์กรธุรกิจอีกด้วย

คุณโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)

คุณโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะพากันหันมาเลือกใช้งานบริการดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบว่ายังมีช่องว่างที่ต้องเติมเต็มอยู่ในด้านความไว้วางใจ โดยผลสำรวจของไอดีซีพบว่าผู้บริโภคจำนวนมากยังขาดความมั่นใจในศักยภาพขององค์กรต่างๆ ว่าจะสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาให้ปลอดภัย หรือไม่นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน การประกาศใช้กฎหมายใหม่ๆ อย่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ธุรกิจต้องเดินหน้าปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง ชัดเจน เสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ”

คนไทยครึ่งหนึ่งยังไม่มั่นใจใน Digital Security

Microsoft ร่วมกับ IDC เผยผลวิจัยด้านความเชื่อมั่นใน Digital Security ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำหรับผู้บริโภค โดยประเด็นที่น่าสนใจจากผู้บริโภคชาวไทยมีดังนี้

  • 51 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคไทยยังไม่มั่นใจว่าผู้ให้บริการดิจิทัลจะนำข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาไปใช้งานอย่างโปร่งใสและเชื่อถือได้
  • ถึงแม้ว่าผู้บริโภคไทยจะมองว่าทั้ง 5 ปัจจัยหลักมีความสำคัญในระดับเดียวกัน แต่ผลสำรวจพบว่าปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสนใจน้อยที่สุดคือการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกฎหมาย (compliance)
  • ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวมที่สูงถึง 3.15 ล้านล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา แต่กลับพบว่ากลุ่มธุรกิจค้าปลีกคือกลุ่มที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจน้อยที่สุดในด้านการเก็บรักษาและใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล
  • ผู้บริโภคชาวไทยเชื่อว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างมาตรฐานและกรอบเชิงนโยบายที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในบริการดิจิทัล และการนำเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI มาประยุกต์ใช้ โดยผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z มองว่าภาคเอกชนควรต้องออกตัวเป็นผู้นำ

ภัยร้าย Digital ในไทยพุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ขณะเดียวกัน อาชญากรไซเบอร์ยังคงมุ่งจู่โจมทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยรายงาน Security Intelligence Report (SIR) ฉบับที่ 24 ของไมโครซอฟท์ สรุปว่าภัยร้าย 4 อันดับแรกสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ได้แก่มัลแวร์ทั่วไป สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 107 เปอร์เซ็นต์  มัลแวร์ที่ขุดสกุลเงินดิจิทัล สูงกกว่าค่าเฉลี่ยโลก 133% มัลแวร์เรียกค่าไถ่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 140 เปอร์เซ็นต์ และการหลอกล่อด้วยเว็บไซต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก33 เปอร์เซ็นต์

“ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจในยุคดิจิทัลต้องเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆ จากหลายช่องทาง ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กรเอง การสร้างความไว้วางใจในกลุ่มผู้บริโภคจึงเป็นภารกิจที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับทุกองค์กร” นายโอมกล่าวเสริม “งานวิจัยฉบับนี้ยังระบุอีกว่าผู้บริโภคไทยถึง 42 เปอร์เซ็นต์ เคยพบกับปัญหาในการใช้งานบริการดิจิทัลที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจ โดยที่ผู้บริโภคกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มนี้ตัดสินใจหันไปใช้บริการคู่แข่งแทนเมื่อต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว ขณะที่ 33% จะหยุดใช้บริการไปอย่างเด็ดขาด”

พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในไทย ตัวแปรที่ธุรกิจต้องรับมือ

การลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยบนเส้นทางสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ด้วยการตีกรอบให้ชัดเจนว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิใดบ้างเหนือข้อมูลนั้นๆ วางแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูล พร้อมกำหนดขั้นตอนที่องค์กรหรือผู้ให้บริการจะต้องกระทำในกรณีที่เกิดเหตุข้อมูลรั่วไหลขึ้น จึงถือเป็นการกำหนดมาตรฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูลประเภทนี้ในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

“การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นฐานรากสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องมี ก่อนที่จะเปิดรับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่าง AI ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม” นายโอมกล่าว “ขณะนี้ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังคงอยู่ในช่วงการรอประกาศใช้ โดยจะมีระยะเวลาผ่อนผันให้ภาคเอกชนได้ปรับตัวหลังจากที่บังคับใช้แล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาดองค์กร ได้ลงมือศึกษาข้อกฎหมายโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็น พรบ. ฉบับนี้ของไทย หรือกฎหมาย GDPR ที่บังคับใช้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อปรับแนวทางการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ ปูทางไปสู่การพัฒนาธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง และรักษาฐานลูกค้าให้เหนียวแน่นด้วยความพร้อมในทั้ง 5 ปัจจัยหลัก”

“หนึ่งในองค์ประกอบหลักที่จะช่วยให้องค์กรปฏิบัติงานได้อย่างมีมาตรฐาน คือการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานทั้งในด้านความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย เสถียรภาพ และการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ ไมโครซอฟท์เองพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนภาคธุรกิจในด้านนี้ด้วยแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ในด้านนี้อย่างครบถ้วน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

RML ตั้ง เบร็นตัน มอเรลโล นั่งเก้าอี้ CEO คนใหม่แห่งอสังหาชั้นนำฯ ลุยกลยุทธ์บุกตลาดโลก

บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรี่ และอัลตร้าลักชัวรี่ชั้นนำของไทย ประกาศแต่งตั้ง เบร็นตัน จัสติน มอเรล ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานเ...

Responsive image

งานวิจัย Accenture ชี้พนักงาน 60% กลัวตกงานเพราะ Gen AI องค์กรควรปรับระบบให้ใช้ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้พนักงานจะเห็นคุณค่าในการทํางานร่วมกับ Generative AI แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะตกงาน ข้อมูลนี้มาจากรายงาน 'Work, work, workers: Reinvented in the age of generative AI' ของ Accentur...

Responsive image

KTB ตั้ง ‘กรุงไทย เวนเจอร์ส’ ลุยธุรกิจ Venture Capital

KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวานนี้ว่า บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้น 99.99% และเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ได้จดทะเบียนจัดต...