ไม่ฟรีได้ไหม? จดหมายเปิดใจ และอธิบายเบื้องหลังงาน Techsauce Global Summit | Techsauce

ไม่ฟรีได้ไหม? จดหมายเปิดใจ และอธิบายเบื้องหลังงาน Techsauce Global Summit

“อยากได้ตั๋วจังเลย ขอฟรีได้ไหม”

การันตีว่านี่เป็นประโยคที่ทุกๆ คนในทีม Techsauce ต้องเคยถูกทักถูกถาม

นั่นจึงชัดเจนว่า พวกเขาอยากมางานของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็ คาดหวัง ว่าตั๋วฟรี จะต้องมีออกมา

ทำไมเราถึงต้องเขียนจดหมาย (บทความ) นี้

จากที่เคยได้เล่าไว้ในบทความ ตีแผ่ไฮไลท์งาน Techsauce Global Summit ทีมงานผู้ก่อตั้งงาน สร้างงานนี้โดยเริ่มต้นจากการเป็นงานที่โฟกัสกับกลุ่ม Startup

...เราเชื่อ และให้การสนับสนุน Startup เสมอ นั่นทำให้ปี 2011 ซึ่งเป็นยุคแรกของเรานั้น เริ่มต้นจากการทำให้งานนี้เป็นงานเข้าฟรีก่อน

จนกระทั่งเราพบว่าความใจดีก็ทำให้เกิดผลเสียเหมือนกัน เพราะทำให้คนใน Community ใกล้ชิดกับเรา เคยชิน หรือติดนิสัย คาดหวังว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนหรือสิทธิพิเศษดีๆ ออกมา

แต่ปีนี้ Techsauce ซึ่งมาพร้อมกับ Techsauce Global Summit เรามีเหตุผลมากมายที่จะต้องบอกว่าเราจะ ไม่ ทำให้งานนี้เป็นงานที่เข้าฟรีกันง่ายๆ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้งานนี้ ไม่สมควร เป็นงานที่เข้าฟรี/ราคาถูก

สร้างความเท่าเทียมให้กับผู้เข้าร่วมงาน

งานของ Techsauce ไม่ใช่งานเฉพาะ Startup อีกต่อไป แต่เป็นงานที่รวบรวมเนื้อหา และผู้คนที่สนใจในเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมุมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

เราต้อนรับทั้ง Startup, SMEs, บริษัทใหญ่, นักลงทุน และผู้ที่สนใจทั่วไปเข้ามาร่วมงาน

ใครๆ ก็มองเห็นความสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกเทคโนโลยี นั่นทำให้สัดส่วนของกลุ่มผู้ที่สนใจทั่วไปมีมากขึ้นๆ แน่นอนว่าเราอยากสร้างความทัดเทียมกันกับผู้เข้าร่วมงานทุกคน ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องรู้จักเราเป็นอย่างดีมาก่อน

เรากำลังสร้าง Standard ใหม่ให้กับเมืองไทย

Techsauce Summit ในปีที่แล้วเอง ก็สามารถดึงดูดนักข่าวจากต่างประเทศได้หลายสำนัก พวกเขาอ้างอิงงานของ Techsauce ในฐานะตัวแทนของประเทศ และนำมาสู่การนำเสนอภาพความคึกคักของวงการเทคโนโลยีในเมืองไทย กับผู้อ่านในต่างประเทศ เช่น บทความนี้ของ CNBC และ Forbes.com เป็นต้น

Techsauce Global Summit มาพร้อมกับมาตรฐานใหม่ ที่ตั้งเป้าหมายไม่ใช่เพียง "งาน Tech Conference นานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย" แต่ตั้งเป้าในระดับภูมิภาค... “ถ้าคิดถึงงานดีๆ ใน Southeast Asia จะต้องคิดถึงงานนี้” ปีนี้เรามีไป Roadshow ในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย เพื่อพาคนต่างชาติเข้ามาชื่นชมคุณภาพงานที่จัดในประเทศไทย

มาตรฐานของงานที่สูงขึ้น ต้องมาพร้อมกับ Standard Policy ที่ชัดเจนขึ้นด้วย

ปีนี้เราจะไม่มีการให้ตั๋วฟรี มีเฉพาะการแจกโควต้าตั๋วจำนวนหนึ่งให้ วิทยากร, สื่อและนักข่าวต่างๆ, พาร์ทเนอร์ที่ช่วยเหลือในการจัดงาน และสปอนเซอร์เท่านั้น (สปอนเซอร์เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าต้องการให้ใครต่อ)

การเป็น “เพื่อนของหนึ่งในทีมงาน” นั้น ไม่สามารถเป็นใบผ่านทางให้คุณเข้างาน

ราคาคัดกรองคุณภาพ

ยิ่งถ้าคุณเป็นคนทำธุรกิจ เวลาของคุณมีจำกัดอยู่แล้ว ถ้าจะต้องไปงานเพื่อจุดประสงค์ด้านธุรกิจ คุณก็คงอยากเจอคนที่ใช่ไปเลย ไม่ว่าจะไปเพื่อหานักลงทุน ไปเป็นนักลงทุนเอง ไปหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ไปทำความรู้จักกับคนที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้คุณได้

การมีราคามาตรฐาน สามารถช่วยเป็นตัวกรองให้กับงานได้ ทำให้งานได้คนในมาตรฐานที่ดี

นั่นคือเป็นคนที่รู้ว่าไม่ได้มาเล่นๆ แต่มีเป้าหมายบางอย่าง พวกเขาเป็นคนทำธุรกิจจริงๆ ทำนวัตกรรมจริงๆ หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นคนที่มีโลกทัศน์ มีความตั้งใจในการสนใจศึกษาเรียนรู้ และมองหาโอกาสใหม่ๆ เข้ามา

คุณเองก็คาดหวังว่าอยากมางานเดียว แล้วเจอกับคนแบบนี้ ที่คุณอยากเจอไปเลยใช่ไหม

แพงเกินไป จริงหรือ?

Justin Kan ผู้บริหารใน Y Combinator ซึ่งเป็น Accelerator ชั้นนำของโลก ผู้ปั้น Dropbox และ Airbnb (ซ้าย) และ Daniel Kan ผู้สร้าง Cruise Automation รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ขายให้กับ General Motors ไป หนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ (ขวา)

คุณคิดว่าวิทยากรระดับหาตัวจับยากเหล่านี้จะมาพูดให้เราฟรีหรือ? คุณคิดว่าการพาเขามาเมืองไทยไม่มีค่าเครื่องบิน ค่าที่พักหรือ?

ค่าจ้างวิทยากรเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แต่นั่นยังไม่นับรวมถึงค่าจัดงาน เพื่อให้รองรับคนได้ในปริมาณมาก และต้องนำเสนอประสบการณ์ที่ดีได้ด้วย อย่างสถานที่โรงแรมที่เดินทางสะดวก มีอาหารบุฟเฟต์บริการทุกท่าน ปาร์ตี้และเครื่องดื่ม (ซึ่งหลายๆ คนบอกว่าปาร์ตี้คือประตูที่ทำให้เขาได้เข้าถึงคนที่อยากคุยได้ดีทีเดียว)

ทุกสิ่งทุกอย่างเตรียมไว้พร้อมทั้งหมด คุณไม่มีการต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มอีกเมื่อมางาน

และทั้งหมดที่เราทำนี้ ใช้ต้นทุนมหาศาล

 

เพียงแต่คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับงานในลักษณะนี้เท่านั้นเอง เพราะในความเป็นจริง งาน Tech Conference ในระดับใกล้เคียงกันที่จัดขึ้นในต่างประเทศ มีราคาค่าบัตรสูงกว่างานของเราเสียด้วยซ้ำ

งานมันก็จะ ท้าทายๆ หน่อย

เพราะไม่มีงานแบบนี้เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน นั่นทำให้ทีมงานของ Techsauce ทำงานหนักไม่น้อยเพื่อจะสร้างมันขึ้นมา

ถ้าให้บรรยายเองอาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่ปีที่แล้วมีหนึ่งในผู้ที่เห็นการทำงานเบื้องหลังของทีมงาน เขาได้ตั้งสเตตัสเขียนความรู้สึกของเขาเกี่ยวกับงาน Techsauce Summit เอาไว้ เราจึงได้ขออนุญาตเขา หยิบมาให้ดูสักเล็กน้อย (ถ้ารูปมองเห็นไม่ชัด ด้านล่างมีสรุปข้อความอีกครั้ง)

source

บางส่วนของเนื้อหาในสเตตัส:

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดใน Event นี้สำหรับผม

...ไม่ใช่สเกลงานใหญ่ Epic 3,000 คน

...ไม่ใช่ After Party สุดเหวี่ยง

...ไม่ใช่ Guest Speaker ระดับโลก

แต่มันคือพลังของคนจัด ที่ไม่รู้ว่ากินวัวกินควายมาจากไหนถึงได้ aim high เลเวลนี้

ถ้าย้อนไป 6 เดือนที่แล้ว บอกว่าพี่ๆน้องๆ ทีม Techsauce จะจัดงานนี้

คงต้องเบิกตา ตบไหล่บอก เห้ยๆ ใจเย็น T T

แต่การที่ Make the Impossible Possible แบบงานนี้

มันให้ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ

แต่เป็นระดับภูมิภาคที่ถ้าไม่ใช่ "คนบ้า" น่าจะทำไม่ได้

มันมีโมเมนต์นึงที่ VC stage ที่ VC ระดับโลกพูดออกมาว่า SEA เป็นภูมิภาคที่เขาสนใจอยู่ตลอด แต่ละปีจะมีประเทศที่น่าสนใจต่างกัน และดูจาก Event นี้ ความคึกคักระดับนี้ ประเทศไทย น่าจะเป็น No.1 ที่ตัวเขาเองจะจับตามองในปีหน้าแน่ๆ VC ที่อยู่บนเวทีพยักหน้ารับเห็นด้วยกันทุกคน.... ผมว่ามันมีความหมายมากๆ เลย

สิ่งที่ทีมงานเล็กๆ ชุดนี้สร้างขึ้น มันสร้าง Impact ให้กับ Ecosystem ของ Startup ให้แข็งแรงขึ้น พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้จริงๆ

ขอชื่นชมเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกคนจากทีม Techsauce มากๆ

ที่เหนื่อยลืมตายสร้างงานนี้ขึ้นมา คำขอบคุณมันคงไม่พอกับการบุกเบิกเป็นหัวหอกให้ Ecosystem ได้ถึงระดับนี้ : )


 

หวังว่าความชัดเจนของบทความนี้จะช่วยให้พวกเราเข้าถึงผู้อ่านทุกท่านมากขึ้น

เราเชื่อมั่นว่างาน Techsauce Global Summit ในปีนี้ก็จะต้องเป็นงานที่ทุกคนต้องพูดว่า “ดีมาก” “คุ้มค่ามาก”

ปีนี้เรามีพื้นที่กว้างขวางที่พร้อมรองรับทุกคน คุณสามารถจองตั๋วได้ที่นี่ และมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้ร่วมงานท่านอื่นๆ ที่จองเข้ามาแล้ว

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากทุกๆ ท่านในการจัดงานในปีนี้ รวมถึงปีถัดๆ ไป

แล้วเราจะไม่ทำให้คุณต้องผิดหวัง

 

ด้วยรัก และ passion อันแรงสูง,

ทีม Techsauce Global Summit

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานวิจัย Accenture ชี้พนักงาน 60% กลัวตกงานเพราะ Gen AI องค์กรควรปรับระบบให้ใช้ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้พนักงานจะเห็นคุณค่าในการทํางานร่วมกับ Generative AI แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะตกงาน ข้อมูลนี้มาจากรายงาน 'Work, work, workers: Reinvented in the age of generative AI' ของ Accentur...

Responsive image

KTB ตั้ง ‘กรุงไทย เวนเจอร์ส’ ลุยธุรกิจ Venture Capital

KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวานนี้ว่า บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้น 99.99% และเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ได้จดทะเบียนจัดต...

Responsive image

ttb เปิดตัว 7 ผู้บริหารรุ่นใหม่นำทัพ ทรานส์ฟอร์มองค์กรรอบด้าน เร่งยกระดับประสบการณ์ด้านการเงินแบบไร้รอยต่อ

ทีทีบี (ttb) ปรับโครงสร้างองค์กรรอบด้าน ส่งคนรุ่นใหม่ 7 ผู้บริหารระดับสูง นำทัพขับเคลื่อนกลยุทธ์ มุ่งเจาะกลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน มนุษย์เงินเดือน และลูกค้า Wealth...