ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) แล้วจริงหรือ? | Techsauce

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) แล้วจริงหรือ?

อีกกระแสบนโลกดิจิตอลที่กำลังได้รับความสนใจ คงหนีไม่พ้นเรื่อง การทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายของระบบโทรศัพท์มือถือ” หรือที่เรียกว่า Mobile Payments ที่นับวันยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และกำลังก่อให้เกิดการทำธุรกรรมการชำระเงินยุคใหม่ ที่จะทำให้การชำระเงินค่าสินค้าและบริการในรูปแบบเดิมๆ เริ่มหยุดชะงักลงไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1) การเติบโตของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนและรูปแบบการใช้ชีวิตดิจิตอลที่เพิ่มมากขึ้น 2) โครงข่ายโทรคมนาคมและกระบวนการทำธุรกรรมทางด้านการเงินที่ดีขึ้น และ 3) การผลักดันการใช้ National e-payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน

ล่าสุด Marketbuzzz ในฐานะผู้นำนวัตกรรมการสำรวจวิจัยทางการตลาดรูปแบบใหม่บนมือถือ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการหลักด้าน Mobile Research & Digital Media ภายใต้ระบบ Eco-System ของ Buzzebees จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคบนฐานข้อมูลของบัซซี่บีส์ ในหัวข้อ “การใช้มือถือในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ” เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยสำรวจคนไทยที่ใช้สมาร์ทโฟน รวมจำนวน 2,000 คน เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะปัจจุบันของการใช้บริการในการชำระค่าสินค้าและบริการแบบดิจิตอล และสะท้อนให้เห็นว่ามือถือได้ส่งผลต่อวิถีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างไร

infograph-pic-mobile-payment-for-press

ข้อมูลหลักๆ ที่ได้จากผลสำรวจ แสดงให้เห็นว่า

  • 50% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีการใช้งาน Mobile Payments รูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว
  • Mobile Banking และ Mobile Shopping เป็นสองรูปแบบที่มีการใช้งานมากที่สุดด้วยจำนวนผู้ใช้มือถือกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้สองรูปแบบนี้ โดย Mobile Banking มีการใช้งานบ่อยครั้งกว่า เฉลี่ยใช้งานกว่า 6 ครั้งต่อเดือน  และ Mobile Shopping ใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 ครั้งต่อเดือน
  • มีเพียง 17% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ใช้ Mobile Wallet อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโต พิจารณาจากจำนวนครั้งต่อเดือนที่ใช้ Mobile Wallet เฉลี่ยสูงถึง 5 ครั้ง ซึ่งใช้งานบ่อยครั้งกว่าธุรกรรมการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ ยกเว้น Mobile Banking
  • มีการใช้งาน TrueMoney สูงสุดอยู่ที่ 51% ของกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟน รองลงมาคือ Line Pay ด้วยอัตราการใช้งานอยู่ที่30% และ mPay อยู่ที่ 28% ตามลำดับ
  • ในขณะที่ Mobile Wallet ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับผู้ที่เคยใช้แล้ว ส่วนใหญ่สูงถึง 96% พบว่าใช้งานง่ายมากและยิ่งง่ายดายมากยิ่งขึ้นหากมี:
    • จุดให้บริการที่มากขึ้นและครอบคลุมทุกแห่ง – แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ยอมรับ โดยมีจุดให้บริการในหลายพื้นที่
    • ระบบการออกใบเสร็จที่ดีขึ้น – ไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จแบบกระดาษ แค่ใบเสร็จบนระบบก็เพียงพอ
    • การใช้งานหน้าจอที่มีประสิทธิภาพ – เช่น การทำธุรกรรมแบบแตะและจ่าย (tap and go) รวดเร็วทันใจ
    • สำหรับผู้ใช้ Mobile Payments จำนวน 2 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาจะใช้ Mobile Payments ในปริมาณเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ครั้งต่อเดือน และอีก 1 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาจะใช้ในปริมาณที่บ่อยครั้งมากขึ้น
    • ผู้บริโภคที่เคยใช้ Mobile Payments เกือบทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า อุปสรรคในการใช้ Mobile Payments จะลดลง ถ้าMobile Payments ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการมีความสะดวกง่ายดายมากขึ้น มีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น สามารถชำระเงินได้ทุกที่ทุกเวลา และรวดเร็วกว่าการชำระเงินรูปแบบอื่น ถึงแม้จะยังมีข้อกังวลอยู่บ้างในเรื่องของระดับความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม 55% ของผู้ใช้ยังเชื่อว่าระดับความปลอดภัยยังอยู่ในระดับสูง

จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของ Mobile Payments ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมร. แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Marketbuzzz บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด ในฐานะที่เคยร่วมงานกับ Ipsos และ TNS เอเจนซี่ยักษ์ใหญ่ด้านวิจัยทางการตลาดระดับโลก มากว่า 20 ปี ได้ให้ความเห็นว่า “ผลการสำรวจของ Marketbuzzz ครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นของ Mobile Payments ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยการใช้สมาร์ทโฟน แน่นอนว่าย่อมเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนระบบทางการเงินโดยได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคต่างก็ต้องการระบบการชำระเงินที่มีความสะดวกสบาย มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงคนไทยต้องการระบบการชำระเงินแบบทันทีหรือเรียลไทม์มากขึ้น และการใช้มือถือแทนการถือเงินสดหรือบัตรเครดิตเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้”

มร. บาร์โทลี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการต่างๆ ระบบการชำระเงินก็ต้องการความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินที่มากยิ่งขึ้นระหว่างธนาคาร ผู้ค้าปลีก ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัทด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (หรือ FinTech)และระบบการจัดการร่วมกัน เพื่อนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ของการชำระเงินที่รวดเร็ว ไร้ขีดจำกัด และปลอดภัย”

pic-mr-grant-bertoli

“ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า Mobile Payments หรือการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายของระบบโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย จะเติบโตอย่างมีศักยภาพและนับเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินที่สามารถปฎิบัติได้ในทุกๆ วัน ซึ่งทุกวันนี้เรายังแชทผ่านทางมือถือ ค้นหาข้อมูลผ่านทางมือถือ เล่นเกมผ่านทางมือถือ ท่องอินเตอร์เน็ตผ่านทางมือถือ แล้วทำไมเราจะชำระเงินผ่านทางมือถือไม่ได้” มร. บาร์โทลี่ กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน Marketbuzzz ได้นำฐานข้อมูลของบัซซี่บีส์ที่มีฐานข้อมูลที่ใช้งานอยู่จริงกว่า 22 ล้านคน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจัดทำผลสำรวจอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ สามารถสำรวจได้ทุกที่ทุกเวลา 24/7 นอกจากนี้ ยังสามารถออกแบบและปรับเปลี่ยนแบบสอบถามได้หลากหลายประเภทตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงยังมีบริการด้านการวิจัยอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนา    แบรนด์ การประเมินผลโฆษณาและสื่อต่างๆ การวิเคราะห์ประสบการณ์ลูกค้าและลูกจ้าง และการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอีกด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCBX ไตรมาส 1 ปี 67 กำไร 11,281 ล้านบาท เตรียมลุย 'Virtual Bank' พร้อมก้าวสู่องค์กร AI-First Organization

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน...

Responsive image

“Money 20/20 Asia” ปักหมุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ 3 ปี ส่งเสริมไทยสู่ศูนย์กลางฟินเทคชั้นนำของเอเชีย

เปิดประตูบานใหม่สู่ “Money 20/20 Asia” ครั้งแรกของเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 23 – 25 เมษายน 2567 ที่ดึงดูดผู้คร่ำหวอดด้านฟินเทค และบริการทางการเงินกว่า 20,00...

Responsive image

เตรียมพบกับงานสัมมนา Social Value thailand Forum 2024 เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

งานสัมมนาเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานความรู้ นวัตกรรม และความร่วมมือรัฐ เอกชน สังคม Accelerating Education and Partnership for the SDGs...