ถอดบทเรียนการกำกับดูแลและการพัฒนา Fintech จากต่างประเทศ | Techsauce

ถอดบทเรียนการกำกับดูแลและการพัฒนา Fintech จากต่างประเทศ

พาไปดูกรณีศึกษาจากการพัฒนาและการกำกับดูแล Fintech ของต่างประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ยังควรรักษาระดับความยืดหยุ่นของกฎเกณฑ์ให้พอดี และสร้างปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิด Ecosystem ที่เหมาะสม เพื่อทำให้เกิดการพัฒนา Fintech อย่างต่อเนื่องต่อไป

Photo: StockSnap.io

ปรากฏการณ์ “ฟินเทค (Fintech)” เป็นที่กล่าวถึงกันมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ เนื่องจากหลายประเทศประกาศใช้ “กล่องทรายทดสอบธุรกรรม” หรือ “Regulatory Sandbox” ซึ่งเป็นแนวทางในการส่งเสริมฟินเทคพร้อม ๆ กันทั้งอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น

หากย้อนดูพัฒนาการฟินเทคในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่าฟินเทคพัฒนาอย่างมาก และมีแนวโน้มพัฒนาต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2010-2015 การลงทุนในธุรกิจฟินเทคของโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงเกือบ 5 เท่า โดยเฉพาะในประเทศอเมริกาและจีน เราจึงต้องเตรียมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและนำมาซึ่งประโยชน์ มากมาย ขณะเดียวกันอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่อาจคาดไม่ถึงได้เช่นกัน

ฟินเทคถือเป็นรูปแบบธุรกิจการเงินใหม่ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้ใช้บริการทางการเงินและระบบการเงิน โดยเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มการเข้าถึง การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นรูปแบบธุรกิจที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือการกำกับดูแลเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่ตามมา

ทำให้ภาครัฐจึงสนับสนุนให้ธุรกิจฟินเทคเกิดขึ้นโดยเร็ว ด้วยการเปิดโครงการทดสอบนวัตกรรมสำหรับกลุ่มฟินเทค ใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น และเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกรรมนั้น ๆ เพื่อที่จะกำหนดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ฟินเทคที่เหมาะสมต่อไป

กฎเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของฟินเทค เมื่อมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการทางการเงิน ก็เหมือนเป็นการเปิดประตูให้ผู้ให้บริการฟินเทคได้มีโอกาสนำเสนอบริการได้อย่างถูกกฎหมายและเร็วขึ้น

แต่ในความเป็นจริงยังมีองค์ประกอบด้าน Ecosystem อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาฟินเทค ที่ทำให้ผู้ให้บริการพร้อมที่จะก้าวผ่านประตูไป องค์ประกอบเหล่านี้คือ

  1. Demand คือ ความต้องการใช้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่
  2. เงินทุน และบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Talents) ซึ่งเป็นความพร้อมในด้านผู้ให้บริการ
  3. กฏเกณฑ์ และกฎหมายต่าง ๆ

กรณีศึกษาธุรกิจฟินเทคที่เติบโตได้ดี: จีน สหรัฐ และอังกฤษ

กรณีศึกษาจากจีน มีองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ อุปสงค์หรือความต้องการใช้บริการทางการเงิน ประกอบด้วย

  1. บริการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unmet demand) เช่น การเข้าถึงสินเชื่อในชนบท
  2. บริการใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในเรื่องความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โดนใจ และมีราคาที่ถูกลง และ
  3. ความพร้อมของลูกค้าในการใช้เทคโนโลยี กรณีของจีนมีปัจจัยด้าน Unmet Demand เป็นหลัก เนื่องจากสาขาธนาคารพาณิชย์ที่กระจุกตัวและมี ไม่เพียงพอต่อประชากรและพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงทำให้ Peer-to-Peer Lending (การปล่อยกู้ระหว่างบุคคลผ่าน Online) ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากประมาณ 25 ล้านหยวน ไปเป็น 800 ล้านหยวน และในช่วงปี 2013-2016 มีผู้กู้มากกว่า 39 ล้านราย

นอกจากนี้ จีนยังมีกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) ทั้งผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกฎเกณฑ์การกำกับดูแลฟินเทคที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดช่องโหว่ในการกำกับดูแลระหว่างสถาบันและการใช้แนวทางกำกับดูแลแบบ Benign Neglect นั่นคือภาครัฐมีมุมมองว่าตลาดจะจัดการปัญหาของมันเอง โดยรัฐยินดีที่จะรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมเหล่านี้ จนกว่าธุรกรรมมีขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงต่อทั้งระบบการเงินจึงจะเข้าไปดูแล ทำให้ Peer-to-Peer Lending เกิดได้และขยายตัว จนมีขนาดใหญ่เกือบถึง 5% ของสินเชื่อบุคคลทั้งระบบหรือ 1.1% ของ GDP รวมถึงมีการล้มละลายไปหลายแห่งและการฉ้อโกงหลายครั้ง ในปี 2016 ภาครัฐจีนจึงได้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล

กรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ถือว่าประสบความสำเร็จด้านฟินเทค เนื่องจากโดดเด่นด้านความพร้อมของเงินทุน และ Talents ทั้งปริมาณ ประสบการณ์ และการกระจุกตัวของผู้ให้ทุนและ Talents ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่ “Silicon Valley” ซึ่งเป็นเหล่งรวมของ นักลงทุนรูปแบบต่าง ๆ เช่น Venture Capitalist และ Angel Funds ที่มีประสบการณ์จากการลงทุนในกลุ่ม Tech Startup มายาวนาน และยังเป็นแหล่งรวมของกลุ่มคนที่มีความสามารถ  (Talents) ด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ไอที และ Startup

การกระจุกตัวนี้ทำให้การเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้รับเงินทุนและต่อยอดนวัตกรรมได้รวดเร็ว

ในด้าน Demand ตลาดสหรัฐนั้นแม้จะมีการเข้าถึงสถาบันการเงินอย่างทั่วถึง แต่ยังเป็นโอกาสเพราะขนาดตลาดใหญ่พอสาหรับ Talents ที่เข้าใจประสบการณ์ของผู้ใช้บริการทางการเงิน และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สนองความต้องการของผู้ใช้ได้ตรงจุดกว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบเดิมได้ รวมทั้งกฎเกณฑ์และสถาบันกำกับดูแลสถาบันการเงินที่แตกต่างตามทั้งประเภทธุรกรรม สถาบันการเงินและระดับมลรัฐ (States) หรือรัฐบาลกลาง (Federal) เอื้อให้ธุรกรรมฟินเทคเกิดขึ้นมาได้

กรณีศึกษาจากอังกฤษ มีการใช้ Regulatory Sandbox ที่ยืดหยุ่น นอกเหนือจากความพร้อมด้านศักยภาพด้าน Demand ในการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรป (EU) เงินทุนและกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) ที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีนโยบายรัฐอื่น ๆ เสริมด้วย คือ

  1. ตั้งศูนย์ Innovation Hub เพื่อให้ความรู้และชี้แนะในเรื่องอุปสรรคการจัดตั้งและขออนุญาตทาธุรกรรม
  2. จัด Accelerator หรือเวที ให้ผู้เล่นทั้งฝั่งผู้ให้บริการและบริษัทฟินเทคมาเจอกันเพื่อแก้โจทย์ในระบบการเงิน
  3. สนับสนุนให้สถาบันการเงินใหญ่เปิดข้อมูลสินเชื่อ SME ผ่านช่องทาง “Application Programming Interface (API)” บน internet ให้ Startup เรียกหรือประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน

ประเทศทั้ง 3 ข้างต้นมีองค์ประกอบครบจึงทำให้ทั้งจีนและอเมริกามีการลงทุนและขยายตัวของฟินเทคอย่างรวดเร็ว ส่วนอังกฤษก็มีผู้สมัครเข้าร่วม Sandbox ถึง 146 รายและผู้ผ่านเข้าทดสอบถึง 42 ราย

กรณีศึกษาธุรกิจฟินเทคภายใต้กฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นแต่ยังไม่โต

ในขณะที่ฟินเทคยังไม่เกิดมากนักในออสเตรเลียและสิงคโปร์ทั้ง ๆ ที่มี Regulatory Sandbox ที่ยืดหยุ่น และนโยบายอื่น ๆ เช่นเดียวกับของอังกฤษในข้างต้น แต่ยังไม่พบผู้เล่นใน Sandbox มากนักในทั้งสองประเทศ (ออสเตรเลียมี 0 ราย และสิงคโปร์มี 2 รายตามลำดับ และสถาบันการเงินในสิงคโปร์ที่สามารถทดสอบธุรกรรมฟินเทคได้เองมีการทดสอบธุรกรรมใหม่ ๆ อีกเพียงไม่กี่ธุรกรรม)

กรณีศึกษาจากออสเตรเลียใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ โดยยังจำกัดขอบเขตการทดสอบค่อนข้างมาก ทั้งจำนวนลูกค้า วงเงินต่อลูกค้า และวงเงินรวม สะท้อนให้เห็นว่าการใช้นโยบายการกำกับที่ยืดหยุ่นในการสนับสนุนฟินเทคนั้นเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำกับดูแลในการชั่งน้ำหนักให้เหมาะสมระหว่างการยืดหยุ่นของกฎเกณฑ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดจากฟินเทค

ส่วนกรณีศึกษาจากสิงคโปร์ที่ภาครัฐเป็นผู้นำด้านนโยบายเพื่อเร่งให้เกิดฟินเทค และผลักดันสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางฟินเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของจำนวนผู้เล่น-กิจกรรมด้านฟินเทคยังมีไม่มากนักและยังไม่สะท้อนเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมขององค์ประกอบหลายตัว

โดยในด้าน Demand ศักยภาพของตลาดรายย่อยในสิงคโปร์นั้นมีอย่างจำกัด เพราะจำนวนประชากรในสิงคโปร์มีเพียง 3-5 ล้านคน อีกทั้งกลุ่ม SMEs เป็นชนกลุ่มน้อยในภาคธุรกิจ อีกทั้งทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารที่มีอยู่ทั่วถึงและแข่งขันสูงอยู่แล้ว โอกาสทางธุรกิจในกลุ่มรายย่อยจึงมีไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ ๆ

จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลระบบการเงินทั้งหมด ให้ความเห็นว่าปัจจัยแวดล้อมฟินเทคในสิงคโปร์นั้นมีความพร้อมด้านนโยบายนำหน้าความพร้อมในการสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) และเงินทุน

ซึ่งตอนนี้หน่วยงานภาครัฐในสิงคโปร์กำลังร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อสร้างกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents)  ซึ่งหมายถึง การสร้างผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ลูกค้าและด้านอื่น ๆ รวมทั้งพัฒนานโยบายเพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) จากต่างประเทศต่อไป

ด้วยความไม่พร้อมข้างต้นทำให้ความน่าสนใจของนักลงทุนด้านฟินเทคในสิงคโปร์จึงยังมีน้อย

อ่านประกอบ

สรุป

ประสบการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลยังควรรักษาระดับความยืดหยุ่นของกฎเกณฑ์ให้พอดี และการมีองค์ประกอบ Ecosystem อื่น ๆ ที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการสร้างและพัฒนาฟินเทคอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ในอนาคตข้างหน้าเรายังต้องประเมินความสำเร็จในการพัฒนาฟินเทคในประเทศไทยด้วย ซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มเปิดโอกาสใช้ Regulatory Sandbox ได้เพียง 2 ปี (พ.ศ.2559 ถึง พ.ศ.2561) เท่านั้น ซึ่งการพัฒนายังต้องใช้เวลา

อีกทั้งตอนนี้ภาครัฐหลายประเทศสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อเพื่อรองรับการพัฒนาฟินเทคล่วงหน้าไปก่อน ส่วนการพัฒนากลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) และเงินทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มาจากภาคเอกชนเองเป็นส่วนใหญ่จะดำเนินการในลำดับถัดมา

ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยควรตระหนักถึงความจำเป็นและเร่งพัฒนาระบบ Ecosystem อื่น ๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้ฟินเทคเกิดขึ้นได้จริง รวดเร็ว และต่อเนื่อง

 

หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงและปรับปรุงมาจากบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่ชื่อว่า เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์การพัฒนาและการกำกับดูแลฟินเทคของต่างประเทศ เขียนโดยคุณศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 กันยายน 2560โดยได้ขออนุญาตทางเจ้าตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบทวิเคราะห์เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด

ขอขอบคุณคุณศุกพิณรัศมาไว้ ณ โอกาสนี้ครับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...