รู้สึกเบื่อกับงานที่ทำอยู่หรือเปล่า? แนะนำ 5 วิธีขจัด ‘Burnout Syndrome’ ให้หมดไป เพื่อปลุกไฟในตัวคุณอีกครั้ง | Techsauce
รู้สึกเบื่อกับงานที่ทำอยู่หรือเปล่า? แนะนำ 5 วิธีขจัด ‘Burnout Syndrome’ ให้หมดไป เพื่อปลุกไฟในตัวคุณอีกครั้ง

เมษายน 8, 2021 | By Connext Team

เคยสงสัยไหมว่า ทำไม? เดี๋ยวนี้เราแทบไม่อยากนึกถึงเรื่องงานเลยแม้แต่น้อย ได้แต่ใช้ชีวิตให้ผ่านไปวันๆ ทั้งที่เมื่อก่อนเรามีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานที่นี่

นั่นเป็นเพราะว่า ไม่ว่าเราจะรักงานที่ทำมากแค่ไหน ความเบื่อหน่ายจากการทำงานย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ บางที เราอาจจะเคยรู้สึกตื่นเต้นกับโปรเจคใหญ่ที่ได้รับมอบหมาย แต่เมื่อทำไปสักระยะกลับพบแต่ปัญหาให้ต้องแก้ไข จนกระทั่งรู้สึกท้อใจที่จะก้าวเดินต่อไป หรือการกลับมาทำงานแบบ Work From Home ที่ต้องนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมคนเดียว ก็อาจจะพรากความกระตือรือร้นในการทำงานไปจากเราได้เช่นกัน

แล้วเราจะจัดการกับ ‘Burnout Syndrome’ จากการทำงานเหล่านี้ไปได้อย่างไรกันล่ะ?

Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ อะไร?

‘Burnout Syndrome’ หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ความรู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้าทั้งทางกายและใจที่เกิดขึ้น เมื่อปริมาณงานที่ทำไม่สัมพันธ์กับพลังงานที่เรามี โดยความรู้สึกเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ทั่วไปในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนยุคใหม่

Ron Friedman ผู้ก่อตั้งบริษัท ignite80 ที่เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำงาน และเจ้าของหนังสือ The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary Workplace กล่าวว่า คนรุ่นใหม่นั้นมีความเสี่ยงสูงขึ้นมากที่จะเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน เมื่อเทียบกับผู้คนเมื่อ 10 ปีก่อน เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่รายล้อมไปด้วยอุปกรณ์สื่อสารมากมาย ที่คอยอัพเดทข่าวสารและความเปลี่ยนแปลงรอบตัว เป็นผลให้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง Burnout ไปในที่สุด 

Heidi Grant Halvorson นักจิตวิทยาสังคม และเจ้าของหนังสือ No One Understands You and What to Do About It ยังกล่าวในทำนองเดียวกันว่า ปัจจุบัน การทำงานแบบ 24/7 กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำกัน เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวหายไป ซึ่งนั่นทำให้คนรุ่นใหม่เคร่งเครียดและกดดันอยู่กับการทำงานตลอดเวลา จนส่งผลต่อความสุขในการใช้ชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะรู้สึกเบื่อหน่ายจากการทำงานมากแค่ไหน เราก็คงจะไม่สามารถละทิ้งความรับผิดชอบที่มีไปได้ เพราะ ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป หนทางเดียวที่จะช่วยให้เราหลุดออกจากความรู้สึกแย่ๆเหล่านี้ คือ เราต้องดำเนินชีวิตการทำงานด้วยความสุขที่ยั่งยืนให้ได้ แต่จะทำอย่างไรล่ะ?

ชาร์จพลังกายและใจด้วยการพักผ่อน

Burnout Syndrome มักจะเกิดขึ้นจากความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพ ซึ่งในระยะสั้น เราอาจจะได้งานที่รวดเร็วและมีคุณภาพมากก็จริง แต่การทุ่มเททำงานอย่างหนักเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจ จนกระทั่งงานที่ออกมาคงจะไม่สมบูรณ์แบบอีกต่อไป

ดังนั้น เพื่อที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว เราจำเป็นต้องชาร์จพลังกายและใจให้กลับมาเต็มเหมือนเดิมด้วยการพักผ่อน หากเริ่มรู้สึกว่า คิดงานไม่ออกและต้องการพักสมองจากการทำงานชั่วคราว ลองลุกออกจากหน้าจอไปเดินเล่นข้างนอกสักพัก หรือไปทานอาหารกลางวันกับเพื่อนฝูงบ้างก็ได้ พยายามทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ให้ห่างจากคอมพิวเตอร์หรือโต๊ะทำงาน เพื่อไม่ให้เรากลับไปนึกถึงเรื่องงานอีกครั้ง วิธีการนี้ จะช่วยให้สมองของเราปลอดโปร่งและสดชื่น พร้อมต่อสู้กับการทำงานที่แสนเหนื่อยล้า และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

แต่ถ้าคิดจะพักแล้ว ต้องพักให้ถูกที่ถูกเวลาด้วยนะ โดยเฉพาะในช่วงเช้า ที่สมองของเราโล่งและปลอดโปร่งมากที่สุด เราก็ควรจะโฟกัสกับงานที่ทำและทำงานให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดก่อน จากนั้นจึงค่อยพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ 

วางสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารบ้างก็ดี

ก่อนการเข้ามาของสมาร์ทโฟน การออกจากออฟฟิศและนำงานกลับไปทำที่บ้านเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแทบจะไม่มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีกเลย เนื่องจากคนรุ่นใหม่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างสมาร์ทโฟน ซึ่งหากมองในแง่ดี แน่นอนว่า มันช่วยให้ชีวิตการทำงานของเราสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม นั่นก็หมายความว่า เรากำลังเข้าสู่การทำงานแบบ 24/7 ด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันภาวะ Burnout Syndrome จากการทำงานแบบ 24/7 เราจำเป็นจะต้องลดเวลาการใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารลง และใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมอย่างอื่นมากขึ้น พยายามนำสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารไปซ่อนไว้ตามตู้เสื้อผ้าหรือในที่ที่เรามองไม่เห็น และพยายามไม่เช็คข้อความหรืออีเมลที่ส่งมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีเมลที่ส่งมาจากที่ทำงาน หรือถ้าหากเราอดเล่นสมาร์ทโฟนคู่ใจไม่ได้จริงๆ ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองไหมว่า จะใช้สมาร์ทโฟนถึงแค่ 2 ทุ่มเท่านั้น เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถแบ่งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันได้อย่างลงตัว และพร้อมตื่นเช้าทำงานในวันใหม่ด้วยความสดชื่น

หากิจกรรมสนุกๆทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

แทนที่จะใช้เวลาทั้งหมดจดจ่ออยู่กับการหักห้ามใจไม่ให้ทำงานในเวลาพักผ่อน ทำไมไม่ลองหากิจกรรมสนุกๆทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจดูล่ะ? เราอาจเริ่มต้นจากงานอดิเรกเล็กๆอย่าง การอ่านหนังสือเล่มโปรด หรือออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆในช่วงวันหยุดก็ได้

การค้นหากิจกรรมหรืองานอดิเรก พร้อมกับกำหนดเป้าหมายในการทำ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากงานที่ทำได้เป็นอย่างดี เพราะ บางครั้ง การนอนพักผ่อนเฉยๆ อาจทำให้เราย้อนกลับมานึกถึงเรื่องงานที่ต้องสะสางได้ทุกเมื่อ ดังนั้น ถ้าหากเรามีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน เรื่องงานที่เคยยากต่อการปล่อยวาง ก็จะหายไปจากสมองของเราอย่างง่ายดาย และเมื่อเรากลับมาทำงานอีกครั้ง เราจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน 

ค้นหาจุดมุ่งหมายในการทำงาน และใช้มันปลุกไฟในตัวเรา

หากหน้าที่ความรับผิดชอบต่องาน ขัดขวางไม่ให้เราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องถามตัวเองแล้วว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ สำคัญต่อชีวิตของเรามากแค่ไหน เช่น โปรเจคที่เรากำลังรับผิดชอบอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นตัวชี้วัดว่าเราจะได้เลื่อนขั้นขึ้นสู่ตำแหน่งที่ดีกว่าเดิมหรือไม่ เป็นต้น 

เมื่อเราค้นพบเป้าหมายและความสำคัญของงานที่ทำแล้ว จงใช้สิ่งนั้นเป็นแรงผลักดัน และปลุกไฟในการทำงานให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง คิดอยู่เสมอว่า วันรุ่งขึ้นเราจะทำอะไรบ้าง เพื่อเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้มากกว่าเดิม แต่อย่าลืมว่า เราสามารถมุ่งมั่นและตั้งใจพุ่งชนเป้าหมายได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเราพยายามอย่างหนัก จนกระทั่งรู้สึกว่าเดินต่อไปไม่ไหว ก็ถึงเวลาที่ต้องพักร่างกายและจิตใจให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม มิฉะนั้น ภาวะ Burnout Syndrome อาจจะทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้เลยก็ได้    

อย่าฝืนทำงานต่อ หากสิ่งที่เป็นสาหัสกว่า ภาวะ Burnout Syndrome

หากวิธีการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ไม่ได้ผลเลยสำหรับเรา เป็นไปได้ว่า เราอาจกำลังเผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายกว่า ภาวะ Burnout Syndrome ก็ได้นะ หากเรารู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ แต่ยังสามารถทำงานต่อได้เป็นปกติ นั่นเป็นสัญญาณของภาวะหมดไฟในการทำงาน แต่ถ้าหากเรารู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้า จนกระทั่งไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป นั่นอาจหมายความว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องพักผ่อนและดูแลรักษาสุขภาพอย่างจริงจัง และออกจากงานที่ทำเพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ที่เหมาะกับเรามากกว่า

อ้างอิง: Harvard Business Review

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่ 

No comment