‘Hidden Figures’ หนังตีแผ่ชีวิตของสตรีผิวสี แห่ง NASA ที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้แก่ผู้คนทั่วโลก | Techsauce
‘Hidden Figures’ หนังตีแผ่ชีวิตของสตรีผิวสี แห่ง NASA ที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้แก่ผู้คนทั่วโลก

มกราคม 21, 2021 | By Nabhatara Sinthuvanich

คุณกำลังรู้สึกหมดไฟในการทำงานอยู่หรือเปล่า?

 บางคน… ดิ้นรนที่จะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายของทางบริษัท                                                          บางคน… ทำงานตัวเป็นเกลียวจนประสบความสำเร็จ แต่เจ้านายกลับมองไม่เห็นค่า                                  บางคน… แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน ก็มีแต่คนสวมหน้ากาก หวังผลประโยชน์

ฟันเฟืองชีวิต ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสรรคและความล้มเหลวนั้น ทำให้มนุษย์เงินเดือนมากมาย เหนื่อยล้า ท้อแท้และสิ้นหวังกับชีวิตที่เป็นอยู่ จนหมดศรัทธาในการทำงาน ได้แต่เพียง ใช้ชีวิตในแต่วัน ให้มันผ่านพ้นไปอย่างไร้จุดหมาย อย่างไรก็ตาม หากชีวิตการทำงานของคุณไม่เป็นดั่งหวัง และไฟในการทำงานกำลังดับมอดลง เรื่องราวจากชีวิตจริง ของสตรีผิวสีแห่ง NASA อาจปลุกไฟในตัวคุณให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง

Hidden Figures เป็นภาพยนตร์ ที่ถ่ายทอดอัตชีวประวัติของ Katherine G. Johnson Dorothy Vaughan และ Mary Jackson สตรีผิวสี 3 คน ที่เข้ามาทำงานในองค์กรอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก พวกเธอต้องฝ่าฟันอุปสรรค และอคติทางความคิดที่ฝังรากลึกในสังคม ทั้งแนวคิดชายเป็นใหญ่ และการเหยียดสีผิว มาอย่างยากลำบาก กว่าที่พวกเธอจะได้รับการยอมรับ และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของ NASA ที่สามารถส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศได้อย่างสง่างาม ท่ามกลางการแข่งขันทางอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ที่กำลังถูกจับตามองไปทั่วโลก 

ต่อให้เก่งแค่ไหน ก็เป็นได้เพียง คนกดเครื่องคิดเล 

1960’s หรือที่รู้จักกันในนามสงครามเย็น การแข่งขันทางอวกาศระหว่าง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อชิงความเป็นหนึ่งเหนือฝ่ายตรงข้าม ไม่เว้นแม้กระทั่ง การคำนวณทางคณิตศาสตร์มากมาย ที่จำเป็นต่อการส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศ อย่างไรก็ตาม การคำนวณทางคณิตศาสตร์ ณ ขณะนั้น ไม่ได้ใช้ระบบประมวลผลสารสนเทศหรือแม้แต่คอมพิวเตอร์เหมือนในปัจจุบัน ตัวเลขทุกตัว กลับถูกคำนวณด้วยมือและเครื่องคิดเลขเท่านั้น และนั่นเป็นหน้าที่เพียงอย่างเดียว ที่สตรีผิวสีจะสามารถทำได้ในองค์กร NASA

หากมองผิวเผิน ‘คนกดเครื่องคิดเลข’ อาจจะไม่ได้เป็นงานที่หนักหนาสาหัสอะไร เมื่อเทียบกับงานจำพวกอื่น แต่สำหรับ NASA การคำนวณทางคณิตศาสตร์มากมายด้วยมือ เปรียบเสมือนงานใช้แรงงาน ที่มอบหมายให้พลเมืองชั้นล่าง (สตรี) เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ห้องคำนวณทางคณิตศาสตร์ หรือที่รู้จักในนาม Computing group จึงมีเพียงสตรีมากมาย ที่กำลังนั่งกดเครื่องคิดเลขอย่างมุ่งมั่น และแม้ว่า สตรีเหล่านั้น จะมีสถานะเป็นนักคำนวณเหมือนกัน แต่ด้วยแนวคิดเหยียดสีผิว ที่ฝังรากลึกในสังคมอย่างยาวนาน ทำให้สตรีผิวสีถูกกดทับซ้ำ และกีดกันออกจากความก้าวหน้าทางอาชีพจากสตรีด้วยกันเอง ในทางตรงกันข้าม หน่วยงานสำคัญ ที่มีความก้าวหน้าทางอาชีพสูง อย่างกลุ่มภารกิจอวกาศ และวิศวกรรมการบิน กลับถูกจำกัดเฉพาะบุรุษผิวขาวเท่านั้น ดั่งที่ภาพยนตร์ได้สะท้อนผ่านห้องทำงานของกลุ่มภารกิจอวกาศ ที่ไม่เคยมีสตรีย่างกรายเข้าไป

อคติทางความคิดที่ฝังรากลึกในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความคิดชายเป็นใหญ่ หรือการเหยียดสีผิว ทำให้ตัวละครหลักทั้งสาม ถูกตัดขาดออกจากกระแสสังคมการทำงานหลักของ NASA และกักขังความสามารถของพวกเธอ ให้อยู่เฉพาะพื้นที่สี่เหลี่ยมของห้อง Colored computing room เท่านั้น ทั้งๆที่ สตรีผิวสีทั้ง 3 คน มีความรู้ความสามารถ ไม่น้อยหน้าบุรุษผิวขาวเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

การเป็น ‘คนแรก’ มักเป็นเรื่องยากเสมอ

นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง องค์กรอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ไม่เคยมีพนักงานผิวสีคนไหน สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับหัวหน้าแผนก ไม่ว่าพนักงานคนนั้น จะมีความสามารถและประสบการณ์ทำงานที่เหมาะสมเพียงใด Dorothy คือ หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น เธอเริ่มต้นจากการเป็นนักคำนวณธรรมดาเหมือนกับสตรีผิวสีคนอื่น แต่ด้วยความรู้ความสามารถ ประกอบกับพรสวรรค์ที่เธอมี Dorothy จึงได้รับความไว้วางใจจากทุกคน ทำหน้าที่หัวหน้าแผนก Colored computing group แทนหัวหน้าแผนกคนเก่า แต่โลกแห่งการทำงานช่างโหดร้าย เมื่อเธอถูกปฏิเสธการพิจารณาตำแหน่งหัวหน้าแผนก เพียงเพราะ เธอเกิดมาเป็นคนผิวสี 

อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบกับความล้มเหลวอย่างรุนแรง แต่เธอเลือกที่จะก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นไป และพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง ด้วยการพัฒนาระบบประมวลข้อมูล IBM 7090 เครื่องจักรที่จำเป็นต่อการคำนวณทางคณิตศาสตร์ของ NASA ด้วยความสามารถทางระบบคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรม ที่ไม่มีใครคาดคิด หลังจากการลักลอบศึกษาและพัฒนาอยู่เป็นเวลานาน ระบบประมวลข้อมูล IBM 7090 ก็สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการคำนวณของสหรัฐฯ แซงหน้าสหภาพโซเวียต ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ จึงทำให้ Dorothy ก้าวขึ้นสู่ ‘หัวหน้าแผนกชาวอเมริกัน-แอฟริกันคนแรก ขององค์กรอวกาศสหรัฐฯ (NASA)’ ได้ในท้ายที่สุด

เส้นทางชีวิตของ Mary ก็ประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมายเช่นกัน เธอใฝ่ฝันที่จะเป็นวิศวกรหญิง แห่งองค์กรอวกาศสหรัฐฯ (NASA) และรู้ตัวดีว่า ตนเองมีความสามารถและพรสวรรค์มากพอที่จะไปถึงจุดนั้น แต่ทว่า ความฝันของเธอต้องจบลงไป เพียงเพราะว่า ‘NASA ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้ารับการฝึกเป็นวิศวกร’ แม้ว่าเธอจะมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ ทางเดียวที่จะทำให้ฝันของเธอกลายเป็นจริง คือ เธอต้องเข้าอบรมหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ชั้นสูง จากโรงเรียนมัธยมปลายแฮมป์ตัน ที่ซึ่งมีนโยบายแบ่งแยกสีผิวชัดเจน คนผิวสี จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับการศึกษาจากสถาบันแห่งนั้น

หากเป็นสตรีผิวสีคนอื่น ความฝันนี้ อาจสูญสลายไปจากความทรงจำของพวกเธอตลอดกาล แต่สำหรับ Mary เธอได้เลือกทางเดินที่ต่างออกไป เธอยื่นข้อร้องเรียนต่อศาล เพื่อขอเข้าร่วมอบรมหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ชั้นสูง ที่โรงเรียนมัธยมปลายแฮมป์ตัน หากพิจารณาจากบริบททางสังคม ณ ขณะนั้น โอกาสที่เธอจะชนะคดีเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากรัฐเวอร์จิเนีย เป็นรัฐที่มีนโยบายแบ่งแยกสีผิวชัดเจน และไม่เคยมีสตรีผิวสีคนไหน ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายของคนผิวขาวมาก่อนในประวัติศาสตร์ ถึงกระนั้น เธอยังยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เธอได้เป็นวิศวกรหญิงดั่งที่เธอปรารถนา หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนาน เธอก็ได้เข้าร่วมการอบรม และเข้ารับการฝึกเป็นวิศวกรของ NASA ได้เป็นผลสำเร็จ ในท้ายที่สุด เธอกลายเป็น ‘วิศวกรการบินและอวกาศหญิง ชาวอเมริกัน-แอฟริกันคนแรก ขององค์กรอวกาศสหรัฐฯ (NASA)’

ท้ายสุด กับเส้นทางชีวิตของ Katherine นักคำนวณสตรีผิวสี ที่มีพรสวรรค์ทางคณิตศาสตร์มาแต่กำเนิด แต่ถูกกดขี่ด้วยอคติทางความคิดของสังคมยุคสงครามเย็น แม้ว่า เธอได้รับโอกาสจากกลุ่มภารกิจอวกาศ ให้เข้าร่วมปฏิบัติการส่งนักบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ในฐานะนักคณิตศาสตร์เรขาคณิตวิเคราะห์ แต่ชีวิตการทำงานของเธอนั้น กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นับตั้งแต่เธอเข้าทำงานในกลุ่มภารกิจอวกาศ Katherine ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ทั้งจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือในการทำงานหรือเรื่องทั่วไป เช่น การแบ่งแยกห้องน้ำสำหรับคนผิวสี เป็นต้น

แต่ทว่า อุปสรรคมากมายที่คอยขัดขวางความสำเร็จ ก็ไม่อาจหยุดยั้งความพยายาม และความตั้งใจในการทำงานของเธอได้ ทุกวัน เธอทำงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อค้นหาวิถีวงโคจร ที่จะสามารถส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศและพากลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย แม้จะไม่มีใครเชื่อมั่นว่า เธอจะสามารถทำให้มันเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม จากพรสวรรค์ด้านการคำนวณ และความมุมานะที่มีต่องาน เธอก็สามารถไขปริศนา ที่ไม่มีใครสามารถหาคำตอบได้เป็นผลสำเร็จ เป็นผลให้สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรโลก ผลจากความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ Katherine จึงกลายเป็น ‘นักคณิตศาสตร์หญิง ชาวอเมริกัน-แอฟริกันคนแรก ขององค์กรอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ที่สามารถกู้ศักดิ์ศรี ในการแข่งขันวงการอวกาศ ให้กับสหรัฐอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ’ 

'ความพยายาม' ไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ   

'ไม่ว่าเจออุปสรรคมากแค่ไหน หากสตรีผิวสี แห่ง NASA ทำได้ คุณเองก็ทำได้'

จากเรื่องราวของสตรีผิวสี แห่ง NASA สะท้อนให้เห็นถึง สัจธรรมแห่งชีวิตการทำงาน ที่มักจะเจอกับอุปสรรคและความท้าทายระหว่างทางสู่ความสำเร็จ ซึ่งมนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิ์ ที่จะรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังกับชีวิตแบบนั้น อย่างไรก็ตาม แทนที่คุณจะยอมแพ้และใช้ชีวิตในแต่ละวัน ให้ผ่านพ้นไปอย่างไร้จุดหมาย ลองลุกขึ้นสู้อีกสักครั้ง และพยายามพิสูจน์ตัวเองอย่างสุดความสามารถ เหมือนที่สตรีผิวสีเหล่านั้นเคยทำในประวัติศาสตร์ สักวันความพยายามของคุณ จะต้องนำพาคุณไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

Credit ภาพหน้าปกจาก: IMDb

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่

No comment