เทรนด์ Tech ปีหน้า อะไรจะเกิด-ดับ? ผ่านทัศนะ 'หนูเนย' โปรแกรมเมอร์และบล็อกเกอร์ชื่อดัง | Techsauce

เทรนด์ Tech ปีหน้า อะไรจะเกิด-ดับ? ผ่านทัศนะ 'หนูเนย' โปรแกรมเมอร์และบล็อกเกอร์ชื่อดัง


กระพริบตาอีกที ก็ใกล้จะสิ้นปีแล้ว เห็นจะหนีไม่พ้นการพูดคุยเรื่องเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปีหน้า หลังจากที่ในปี 2018 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่เทคโนโลยีหลายอย่างได้เริ่มเข้าสู่กระแสหลัก ทั้ง AI, Blockchain และแม้แต่เรื่องของ Cryptocurrency ที่ผ่านร้อนหนาวลุ่มๆ ดอนๆ ว่าสุดท้ายจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เราจึงไม่พลาด เชิญคุณหนูเนย สิทธิพล พรรณวิไล โปรแกรมเมอร์ และ เจ้าของบล็อก NuuNeoi.com มาพูดคุยถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีต่างๆ ในปี 2019 ว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรที่จะได้ไปต่อ หรือมีแววว่าจะดับ

ตลาดเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ?

เทรนด์ของตลาด Tech เปลี่ยนไปพอสมควรในหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและกำลังหาว่าอะไรที่จะเป็นยุคต่อไป สิ่งหนึ่ง ที่แน่ๆ คือ ตลาด 'Mobile app' จบไปแล้ว แปลว่าใครที่กำลังเริ่มทำ mobile app ถือว่าช้าไปแล้ว พวกที่ยังอยู่รอดได้คือตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะทาง เช่น พวก app ไฟล์ทเครื่องบิน/ จองตั๋วหนัง แต่ถ้า app ที่เล็งไปทาง consumer แบบใหญ่ๆ กว้างๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะตลาดมันอิ่มตัว

ตลาด 'Mobile device' ก็เปลี่ยนไปพอสมควร คือกลายเป็น mass ที่ทุกคนมีใช้หมด ทำให้ไม่มี innovation ใหม่ๆ เกิดขึ้นและตลาดค่อนข้างนิ่ง สังเกตได้จากสองปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เห็นอะไรใหม่ที่หวือหวากับ mobile อีกเลย อาจจะมีแค่การเพิ่มสเป็คกล้อง แต่ไม่มีอะไรใหม่ จึงเป็นจุดที่กำลังหาอยู่ว่ายุคต่อไปจะมีอะไรที่มาแทน mobile

ส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ ก็ต้องหาตัวเองต่อไป เช่น Blockchain ปีที่แล้วค่อนข้างดัง เพราะทุกคนเอาไปเก็งกำไรกัน แต่จริงๆ แล้วมันยังหาประโยชน์ไม่ค่อยได้ เรื่องของการใช้งานจริงยังไม่ค่อยมี อีกสัก 1-2 ปีถึงจะรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ขณะที่ VR / AR ก็ยังหาตัวเองอยู่เช่นกัน VR พิสูจน์แล้วว่าไปตลาด consumer กว้างๆ ยังไม่ได้ แต่จะไปตลาดที่เฉพาะทาง อย่างเช่น ตลาดเกม แต่ก็ยังเหมาะกับการใช้ในร้านเกมมากกว่า ยังไม่เหมาะกับการเอาไปใช้ที่บ้านหรือชีวิตประจำวัน ส่วน AR ก็จะไปทางเฉพาะทางเหมือนกัน เช่น ทางการแพทย์

สำหรับตอนนี้ หากใครต้องการทำ service อะไร แนะนำให้ทำเป็น 'Web app' มากกว่า เพราะปัญหาใหญ่ของ Mobile app ตอนนี้ก็คือมันต้องโหลด แล้วกว่าคนจะโหลดแต่ละ app มันต้องใช้การตัดสินใจสูงมาก ดูจากตัวเราเองก็ได้ว่าในเดือนที่ผ่านมาเราโหลดเพิ่มไปกี่ app บางคนอาจจะไม่ได้โหลดเลยในหลายเดือน แต่เรายังบริโภคข้อมูลผ่านมือถือกันอยู่ ยังเข้า browser แล้วเสิร์ชหาข้อมูลต่างๆ ดังนั้น Web app รวมถึง content ที่อยู่บนเว็บจะยังเติบโตได้อยู่

ยุคต่อไปคืออะไร ?

ตอนนี้เริ่มชัดแล้วว่ายุคสมัยถัดไปที่จะบูมมากๆ ก็คือ AI เพราะ AI จะมาแทนทุกอย่าง จะมีคนมากมายที่ตกงาน สามารถฟันธงได้ว่า AI จะมายิ่งใหญ่สุดๆ ภายใน 1-5 ปีข้างหน้านี้

หลายคนอาจเข้าใจว่า AI คืออะไรที่ฉลาด หน้าตาเป็นหุ่นยนต์ที่มาแทนคนได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้ว AI คืองานชิ้นเล็กๆ เช่น AI ที่เอาไว้ตรวจจับการเดินของคน ว่าเดินแล้วล้มหรือเปล่า หรือ AI ที่เอาไว้ดูว่าคนนี้ทำท่าเหมือนจะต่อย ทะเลาะวิวาทหรือเปล่า หรือ AI ที่จีนที่เอาไว้ดูว่าคนข้ามถนนตอนไฟแดงหรือเปล่า ซึ่งในอนาคตจะมี AI ชิ้นเล็กๆ แบบนี้อยู่เป็นหมื่นแบบ และเราก็ต้องเลือกว่า บริการของเราจะนำ AI ตัวไหนมาใช้

ดังนั้น AI จะทำให้คนจำนวนหนึ่งตกงาน โดยจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจของทั้งโลก เมื่อคนตกงานเยอะ อัตราอาชญากรรมก็จะสูงขึ้น รัฐบาลก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ทุกอย่าง balance กลับมาให้ได้ แต่สิ่งที่ AI ยังทำแทนไม่ได้ ก็จะยังต้องใช้คนทำอยู่ เช่น อาชีพทางการแพทย์ที่อาจจะนำ AI มาช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น อ่านโรคได้ง่ายขึ้น แต่ไม่สามารถแทนที่ได้ เนื่องจากคนยังต้องการความเชื่อมั่นอยู่

จะมีงานใหม่เกิดขึ้นไหม ?

จะมีอาชีพที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น AI trainer คือเป็นคนที่เตรียมข้อมูลมาป้อนให้ AI ซึ่งจะเป็นงานที่เฟื่องฟูในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะอาหารของ AI คือข้อมูล พวกบริษัทเจ้าใหญ่ๆ อย่าง Google หรือ Facebook ที่มีข้อมูลมหาศาลจะสามารถทำได้ง่ายมาก การทำงานของ AI คือมันเรียนรู้จากข้อมูลที่มีคนโยนให้ เช่น บอกว่ารูปนี้คือแอปเปิ้ล รูปนี้คือทุเรียน แล้วป้อนให้เป็นพันๆ รูป หลังจากนั้นมันจะเรียนรู้และสามารถแยกแยะได้เอง

ตอนนี้มีสิ่งที่เรียกว่า Mechanical turk เหมือนกับ Crowdsourcing ให้คนทั่วโลกช่วยกันถ่ายรูปป้อนข้อมูลให้ AI เช่น หากเราต้องการรูปทุเรียน แต่เราไม่มี เราก็แค่โยนโจทย์ให้คนช่วยกันถ่ายรูป แล้วก็เอาไปเทรน AI คนที่ช่วยถ่ายรูปก็จะได้เงินไป

ธุรกิจ Cryptocurrency จะเป็นอย่างไรต่อไป ?

ปีที่แล้ว ICO บูมมาก เนื่องจากทุกคนคิดว่าจะรวย แต่ว่าใช้งานจริงไม่ได้ สุดท้ายทุกคนก็แค่เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นคนที่ลงทุน และคนที่เปิดโครงการขึ้นมาเอง มีเพียงไม่ถึง 1% ที่สามารถ deliver ผลงานได้จริง ที่เหลือคือหอบเงินหนีไปแล้ว เกิดขึ้นมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้นตลาด ICO ตอนนี้คือจบแล้ว เพราะคนไม่มีความเชื่อถือใน ICO อีกต่อไป มันพิสูจน์แล้วว่ามันไปไม่รอด

ก้าวต่อไปของตลาดนี้คืออะไร ?

สิ่งถัดไปที่จะมาแทน ICO คือ 'STO หรือ Security Token Offering' คล้ายกับตลาดหุ้น โดยขายเหรียญเหมือนกับการขายหุ้นของบริษัท ซึ่งหากเกิดผลกำไร ก็จะสามารถปันผลกลับมาให้ผู้ถือเหรียญได้ โดยจะมีเหรียญที่เรียกว่า security token ที่เป็นหลักทรัพย์ มีกฎหมายรองรับจากกลต. ทำให้ประเทศต่างๆ ค่อนข้างจะวินวิน คือรัฐบาลได้ผลประโยชน์ รวมถึงผู้ประกอบการและคนลงทุนก็ได้ผลประโยชน์ด้วย

มีประเทศไหนใช้ STO แล้วตอนนี้ ?

STO ค่อนข้างใหม่และยังไม่ชัดเจนมาก ดังนั้นกฎหมายรองรับจะมีอยู่แค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ซึ่งก็คือประเทศไทย แม้จะยังไม่พร้อมตอนนี้ แต่น่าจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกเลยที่พร้อม กลต. ประเทศไทยทำงานได้ค่อนข้างล้ำหน้า แต่ด้วยความที่มันยังใหม่ ดังนั้นถ้าจะออกกฎตอนนี้มันอาจจะมีความผิดพลาดในระยะยาวได้ เชื่อว่าต้นปีหน้าน่าจะเริ่มเห็นอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ตอนนี้ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า ICO Portal สำหรับใครก็ตามที่ต้องการทำ ICO หรือ STO จะโดนบังคับให้ทำผ่าน ICO Portal เท่านั้น ตามที่ได้รับอนุญาต ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า เพื่อป้องกันคนที่อยากจะทำเอง และปกป้องนักลงทุนได้ดีกว่าที่ผ่านมา

STO ต่างกับการเทรดหุ้นธรรมดาอย่างไร?

STO หลักๆ คือการถือหลักทรัพย์ แล้วจะแปลงมูลค่าหลักทรัพย์เป็นอะไรก็แล้วแต่แต่ละบริษัทว่าจะให้สิทธิประโยชน์เป็นอะไร ได้ปันผลอย่างไร สิ่งที่แตกต่าง คือ ความง่าย เพราะหุ้นในตลาดหุ้นต้องผ่านหลายขั้นตอน ขณะที่ STO สามารถทำจากบ้านได้ง่ายๆ แค่มี wallet ก็ทำได้เลย


แม้ว่าจะมีเทรนด์เทคโนโลยีหลายอย่างที่กลายเป็นกระแสหรือ 'buzzword' แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างก็ยังต้องการเวลาพิสูจน์ความเป็นไปได้ในตลาดของผู้บริโภคจริง ขั้นต่อไป คือการสร้างความเชื่อมั่น และการลดทอนความเสี่ยงที่อาจจะเป็นดาบสองคมของ 'ความง่าย' ที่มักพ่วงติดตัวมากับเทคโนโลยี ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าในปี 2019 จะมีอะไรบ้างที่สามารถพิสูจน์ตัวเองจนกลายเป็นยุคใหม่ต่อจากยุคสมัยของ mobile



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถอด 4 บทเรียนธุรกิจ Taylor Swift ชื่อศิลปินที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

Taylor Swift ไม่ใช่แค่ของชื่อศิลปินอีกแล้ว กลายเป็น Branding ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ความสำเร็จของ Taylor Swift ก็มีส่วนที่หยิบมาใช้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจได้เช่นเดียวกัน...

Responsive image

“อยากได้อะไร ก็แค่พูดตรงๆ” เคล็ดลับความสำเร็จจาก Sam Altman

Sam Altman CEO ของ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT แนะนำ วิธีช่วยให้คุณได้ในสิ่งต้องการ และทำได้ง่ายๆ...

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...