Blockchain ในปี 2017 เป็นไปได้แค่ไหน? รวมคำถาม 20 ข้อที่คุณอยากรู้ | Techsauce

Blockchain ในปี 2017 เป็นไปได้แค่ไหน? รวมคำถาม 20 ข้อที่คุณอยากรู้

ปีนี้ Techsauce ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ Blockchain ให้ผู้อ่านได้ติดตามกันไปพอสมควร คำถามคือ ตอนนี้เราอยู่ไหนกันแล้ว และเรารู้สิ่งที่เราไม่รู้แล้วหรือยัง

สิ่งที่เรารู้แล้วและยังไม่รู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในโลกแห่งความเป็นจริง ตลอดจนความเป็นไปได้ในเชิงประสิทธิภาพ

บทวิเคราะห์นี้เขียนโดยนาย William Mougayar ผู้เขียนหนังสือ "The Business Blockchain" รวมทั้งเป็นบอร์ดที่ปรึกษาและนักลงทุนในโปรเจ็คบล็อกเชนและสตาร์ทอัพหลายๆ โปรเจ็ค

...ความรู้ตัวถือเป็นความผาสุกทั้งในชีวิตและธุรกิจ อย่างหนึ่งที่แน่ๆ คือยิ่งเรารู้เท่าทันตัวเองมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นเท่านั้น บล็อกเชนเองก็ไม่ต่างกัน  ด้วยความที่เป็นปัจเจกในตัวมันเอง จักรวาลแห่งบล็อกเชนจึงยังคงเต็มไปด้วยสิ่งที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง

เพื่อเป็นการเปิดซีรีย์ส่งท้ายปีชุดนี้  ผมจะพยายามนำเสนอประเด็นความจริงอย่างเป็นกลาง ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนกันแล้วในวิวัฒนาการแห่งบล็อกเชน  ดังเช่นคำถามง่ายๆ แต่น่าคิดที่ผมถามข้างต้น: ขณะที่กำลังจะเข้าสู่ปี 2017 เรารู้สิ่งที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับบล็อกเชนแล้วหรือยัง

นี่ไม่ใช่การคาดคะเนแต่เป็นเพียงการสะท้อนมุมมอง

และเพื่อตอบคำถามข้างต้น  ผมจะพูดเน้นในบางจุดควบคู่กับการแบ่งหัวข้อออกเป็นสองมิติหลักๆ คือเชิงแนวคิดและเชิงกลวิธี

[toc]

สิ่งที่เรายังไม่รู้ในเชิงแนวคิด

#1 เราอยู่ตรงไหนของวงจร ?

ลองเลือกทฤษฎีวงจรที่คุณชอบมาครับ  จะวงจร Hype Cycle ของ Gartner ทฤษฎีการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ Carlota Perez หรือจะทฤษฎีการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านจากหนังสือ Crossing the Chasm ของ Geoffrey Moore ก็ได้  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรากำลังอยู่ในช่วงปีเริ่มต้น ของทุกวงจรที่กล่าวมานี้  แต่ว่ามันตรงไหนกันแน่ล่ะ?

เมื่อไหร่บล็อกเชนจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในแง่ของผู้ใช้ ความหลากหลายในการใช้งาน เสถียรภาพ และรูปแบบการเจริญเติบโตที่คาดเดาได้ จากมุมมองของผม เรายังไม่ก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านครับ ยังไม่ถึงช่วงที่เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ยังไม่ผ่านจุดสูงสุดของความคาดหวังอันฟุ้งเฟ้อด้วยซ้ำ

ถ้าจะพูดให้ชัดเจนขึ้นคือตัวเราอยู่ตรงไหนกันแน่นั้นมองเห็นได้แค่จากกระจกมองหลัง เมื่อเรามีโอกาสมองย้อนกลับไปเท่านั้น  ระหว่างนั้นเราก็ยังคงต้องกรุยทาง ฝ่าฟันอุปสรรค และลุกขึ้นยืนให้ได้ทุกครั้งที่ล้มกันต่อไป

#2 ต้องมีจุดแตกหักที่ชัดเจนเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนะความคาดหวังหรือไม่ ?

ถ้าอินเทอร์เน็ตคือต้นเค้าแห่งประวัติศาสตร์ของบล็อกเชน  ปี 2000 ก็นับเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากเพราะมันลบล้างความเชื่อปลอมๆ ของคนออกไป  ปรับทัศนะความคาดหวัง และเปิดโอกาสให้คนที่ใจนิ่งกว่าเข้ามามีบทบาทในวาระใหม่และการเริ่มต้นใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง

อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ถูกขนานนามว่า Web 2.0 และเริ่มปรากฏโฉมราวปี 2003 นำมาซึ่งความรุ่งเรืองและการเติบโตอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบันของระบบเว็บนับตั้งแต่บัดนั้น เมื่อมองย้อนกลับไป  นั่นคือราว  7  ปีให้หลัง หลังจากที่ระบบเว็บเริ่มปรากฏโฉมครั้งแรกในปี 1993

สำหรับบล็อกเชนบางคนเริ่มใช้ชื่อที่เรียกว่า Crypto 2.0 กันแล้ว ทว่านั่นน่าจะเป็นชื่อเล่นที่เร็วเกินไปสำหรับช่วงชีวิตของบล็อกเชนที่เราอยู่กันในขณะนี้

ผมมั่นใจเหลือเกินว่าเรายังอยู่กันในช่วงแสวงหาประโยชน์จากยุค Blockchain 1.0 หรืออะไรทำนองนั้น ถึงแม้วิวัฒการของมันจะมีความต่างจากเว็บอยู่เล็กน้อย  บางทีคงมีแค่จุดแตกหักที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเขย่าวงการได้แรงพอและทำให้ประตูที่เปิดสู่ยุค Blockchain 2.0 กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

#3 ขอบเขตของบล็อกเชนอยู่ตรงไหน ?

เรารู้กันหรือยังว่าบล็อกเชนสามารถนำไปใช้ตรงไหนได้และตรงไหนไม่ได้ อะไรจะทำได้จริงและอะไรบ้างที่ไม่มีวันเป็นไปได้ คำตอบคือเราไม่มีทางรู้แน่ชัดนอกจากจะต้องผลักดันกันต่อไป ต้องพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อหาคำตอบว่าขอบเขตที่แท้จริงแล้วอยู่ตรงไหน

ผมเห็นหลายกรณีที่มีการคิดนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ แต่ดูเหมือนมันจะเป็นคำตอบที่รอเก้อ เมื่อแท้จริงแล้วคำถามไม่ได้อยู่ตรงนั้น

ยกตัวอย่างเช่นในแวดวงสุขภาพซึ่งถูกมองว่าเหมาะกับการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้มากที่สุด ทว่าเรากลับยังไม่เคยเห็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมหรือการนำบล็อกเชนมาประยุกต์ใดๆ เลย พูดให้เจาะจงขึ้นไปอีกคือผมได้ยินบ่อยๆ ว่าบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการถ่ายโอนข้อมูล ประวัติการรักษาของผู้ป่วย แต่ประเด็นเล็กๆ ที่หลายฝ่ายตระหนักดีก็คือการแก้ปัญหาประวัติการรักษาที่ว่า ยังมีประเด็นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนที่ต้องถูกสะสางก่อนรออยู่

#4 บล็อกเชนจะมีผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจหรือไม่ ?

องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์หรือ DAOs  (Decentralized Autonomous Organizations) ทำให้หัวคิดแบบสมัยเก่าของเราเกิดคำถามเกี่ยวกับการบริหารองค์กรขึ้น แต่เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าแนวคิดระยะเริ่มแรกเหล่านี้จะสามารถแทรกซึมเข้าไปสู่องค์กรแบบดั้งเดิมใดๆ

ได้หรือไม่  หรือพวกมันจะอยู่แค่ในขอบเขตธุรกิจที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนเป็นหลักเท่านั้น

แนวคิดขององค์กรกระจายศูนย์ที่ผูกกับเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีอิทธิพลกับการจัดการธุรกิจหรือไม่ ที่ระดับใด จริงอยู่ที่เรายังคงไม่เห็นภาพระบบบริหารจัดการด้วยบล็อกเชนแบบเบ็ดเสร็จ แต่เราต้องการตัวอย่างในยุคเริ่มแรกเหล่านี้เพื่อเป็นต้นแบบว่าธุรกิจควรมีการดำเนินการอย่างไร ระบบบริหารจัดการอัตโนมัติกับการดำเนินงานอัตโนมัติเป็นคนละเรื่องกัน  แต่ในทั้งสองกรณี เราต่างต้องการประสบการณ์ที่มากขึ้นในการสร้างต้นแบบและดำเนินงานทั้งสองระบบควบคู่กันไป จนกว่าจะหาคำตอบที่ชัดเจนได้ว่าองค์กรธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

#5 บล็อกเชนจะมีบทบาทช่วยส่งเสริม GDP อย่างไร ?

เรายังไม่อาจรู้ครับ ในเชิงเปรียบเทียบ  ในประเทศที่พัฒนาแล้วเศรษฐกิจบนอินเทอร์เน็ตช่วยส่งเสริม GDP ของชาติได้ตั้งแต่ 5-12 เปอร์เซ็นต์  และนั่นคือความสำเร็จภายหลังระบบเว็บเกิดขึ้นแล้วถึง 23 ปี

จริงอยู่บริษัทที่ดำเนินงานด้วยสกุลเงินดิจิทัลได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่จะเป็นอย่างไรถ้าพูดถึงผลกระทบรวมในแง่การสร้างความมั่งคั่งจริงให้กับประเทศ ระบบอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ  เรารู้ว่ามูลค่ารวมของสกุลเงินดิจิทัลที่ลอยอยู่ในท้องตลาดจะอยู่ที่คร่าวๆ ประมาณ 15,000 ล้านเหรียญเมื่อจบปี 2016 แต่นั่นก็เป็นแค่มาตรวัดในเชิงปริมาณที่สัมพันธ์กับการสร้างความมั่งคั่งเท่านั้น

เศรษฐกิจในเชิงดิจิทัลนี้จะดำเนินรอยตามเศรษฐกิจระบบเว็บ ด้วยการกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้าง ความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่ได้หรือไม่?  ผมเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งครับ แต่ตอนนี้เรายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวิวัฒนาการเท่านั้น

#6 อัตลักษณ์บนบล็อกเชนดูแล้วมีอนาคตหรือไม่ ?

คนเราจะมีกี่อัตลักษณ์บนบล็อกเชนนับว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ  หนึ่งในคำตอบที่ดูเป็นไปได้คือ เราจะมีอัตลักษณ์บนบล็อกเชนเทียบเท่ากับจำนวนการ์ดที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์จริงๆ  บวกกับจำนวนอัตลักษณ์ออนไลน์ที่เคยสร้างขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้เพราะว่าอัตลักษณ์บนบล็อกเชนคือการนำอัตลักษณ์ในโลกจริงเข้ามาสู่โลกออนไลน์ เพื่อความเป็นไปได้ในการผสานปัจจัยความน่าเชื่อถือระหว่างสองขอบเขตกึ่งเสมือนจริงนี้

อัตลักษณ์บนบล็อกเชนเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาซึ่งทำให้เราสามารถบริโภคบริการที่หลากหลายบนพื้นฐานที่สามารถเชื่อถือได้  โดยที่เราไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนทางกายภาพ อย่างเช่นการออกเสียงเลือกตั้งทางไกล เป็นต้น

แอปพลิเคชันอะไรจะเป็นไม้ตายสำหรับอัตลักษณ์บนบล็อกเชน: แอปเลือกตั้ง แลกเปลี่ยน โซเชียลเน็ตเวิร์ค ร้านค้าออนไลน์ แอปบริการผู้บริโภค หรือว่าอื่นๆ สุดท้ายแล้วเราจะมีอัตลักษณ์มากมายหรือเพียงแค่หยิบมือ การเชื่อมโยงตัวตนเหล่านี้จะเป็นแค่สายใยที่เพ้อฝันหรือว่ามันจะมีคุณค่าขึ้นมาจริงๆ

#7 เราสามารถทำกฎหมายให้เป็นรูปแบบของโค้ดได้หรือไม่ ?

มีความคาดหวังที่สูงมากเกี่ยวกับระบบสัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชน  คู่สัญญาจะสามารถจ่ายเงิน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และประกาศการตัดสินใจได้จริงหรือไม่  บางทีอาจง่ายกว่าที่จะทำกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้กลายเป็นรูปของโค้ดและเราควรจะเริ่มจากตรงนั้น  แทนที่จะร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ แถมพยายามเขียนให้กลายเป็นโค้ดทั้งที่มันยังไม่ได้รับการรับรอง

สัญญาอัจฉริยะจะสามารถควบคุมการดำเนินงาน การตัดสินใจ ผู้ถือหุ้น รวมถึงทิศทางในอนาคตของบริษัทได้หรือไม่  เราต้องระมัดระวังและไม่เร่งรัดในการนำมันมาใช้ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจถึงนัยแฝงของข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์

จากกรณี การพุ่งทะยานและดิ่งลงเหวของ DAO ที่ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหู มีการใส่ระบบอัตโนมัติลงในสัญญาอัจฉริยะซึ่งเปรียบเสมือนลูกนกที่เพิ่งหัดบินมากจนเกินไป ผลคือระบบดำเนินการกลับตาลปัตรแบบที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ด้วยมือมนุษย์ (ยกเว้นด้วยการใช้ hardfork)

ความเป็นอัตโนมัติดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายอันดื้อรั้นของ DAO เหล่าวิศวกรผู้แสนกระตือรือร้นทั้งหลายต้องการจะใส่พลังลงไปในสัญญาอัจฉริยะที่พวกเขาสร้างขึ้น เพียงเพราะตอนนี้ทั้งเงิน กฎเกณฑ์ทางธุรกิจ ความรับผิดชอบ และอำนาจการตัดสินใจสามารถนำมายำรวมกันเป็นโปรแกรมขนาดมหึมาได้แล้ว

เราจะได้เห็นอะไรที่เหมือนหัวหน้าใหญ่ของสัญญาอัจฉริยะซึ่งออกมาเพื่อควบคุมสัญญาอัจฉริยะอื่นๆ อีกทีหรือไม่ ภาษา Turing เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดหรือเป็นเพียงจุดอ่อน ของสัญญาอัจฉริยะกันแน่

#8 เครือข่ายบล็อกเชนจะปลอดภัยกว่าเครือข่ายธนาคารที่มีในปัจจุบันหรือไม่ ?

เมื่อกล่าวถึงการเจาะระบบความปลอดภัยซึ่งเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนที่ยังดำเนินการอยู่ (เช่น DAO หรือ Bitfinax ยกตัวอย่างเฉพาะสองเคสล่าสุดที่เห็นได้ชัด) คำถามหลักเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดคือ: ท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นระบบความปลอดภัยของบล็อกเชนเป็นของตาย เช่นเดียวกับที่เห็นความปลอดภัยระดับธนาคารเป็นของตายหรือเปล่า หรือนี่ยังเร็วไปมากเมื่อเทียบกับวงจรชีวิตของบล็อกเชนที่เราจะคาดหวังความยืดหยุ่นทางความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ

ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่คาดหวังให้ความปลอดภัยของบล็อกเชนเทียบเท่ากับสิ่งที่เรียกกันติดปากว่าความปลอดภัยระดับธนาคาร”  แม้วันนี้เราจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น  อย่างไรก็ตามเราไม่ควรลืมว่าธนาคารจริงๆ เองก็มีประวัติศาสตร์การถูกโจรกรรมมาอย่างโชกโชน  เริ่มตั้งแต่สมัยปี 1800 ในยุค Wild West ในสหรัฐฯ แถมยังคงมีการโจรกรรมธนาคารที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขโมย เจาะระบบ และบุกปล้นอย่างอุกอาจที่มีมาจนถึงทุกวันนี้

ท้ายที่สุดแล้วความไม่มั่นคงต่างๆ ของระบบรักษาความปลอดภัยของบล็อกเชนควรจะต้องกลายเป็นอดีต เพราะความปลอดภัยนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมากหากบล็อกเชนต้องการจะเติบโตในอนาคต

#9 บล็อกเชนจะมีปฏิสัมพันธ์กับบล็อกเชนอื่นๆ อย่างไรในโลกแห่งความจริง ?

เป็นคำถามที่ถูกสงสัยเข้ามามากเหลือเกิน และเป็นสิ่งที่เราแทบยังไม่เข้าไปแตะหรือคาดหวังจะหาคำตอบที่ทะลุปรุโปร่งได้ในปี 2017

รวมถึงคำถามอื่นๆ อย่างเช่น: จะมีวิธีพื้นฐานใดที่เราจะเข้าถึงข้อมูลที่อยู่นอกห่วงโซ่ได้หรือไม่  องค์กรแบบกระจายศูนย์จะกู้ความน่าเชื่อถือคืนมาในสายตาของหน่วยบริการแบบรวมศูนย์ได้ไหม  บล็อกเชนหลายๆ ตัวจะทำงานร่วมกันที่ระดับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ได้หรือจะต้องใช้ตัวเชื่อมอื่นๆ อย่างไร  เมื่อเราเชื่อมต่อกับบล็อกเชนได้แล้วยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things)” จะมาถึงจริงหรือ  จะมีบล็อกเชนรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากแบบสาธารณะและส่วนบุคคลอีกไหม  บล็อกเชนจะบันทึกและอัพเดทสถานะในโลกจริงได้อย่างไร  หรือเราควรจะปรับกิจกรรมทุกอย่างให้เหมาะสมกับกิจกรรมบนบล็อกเชน  การย้ายสินทรัพย์ข้ามบล็อกเชนจะเป็นฝันร้ายแห่งการรวมฐานข้อมูลหลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน หรือมันจะง่ายกว่านั้นเยอะ

#10 บริษัทใหญ่ๆ จะยอมฉีกกรอบการดำเนินงานแบบเดิมๆ ของตัวเองไหม ?

ความลำบากของนักนวัตกรรมแทบทุกคนคือการก้าวข้ามกำแพงของบรรดาบริษัทใหญ่ๆ  แม้แต่อินเทอร์เน็ตเองก็ไม่มีข้อยกเว้น  อย่างที่เราเห็นว่ามีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ที่ยอมปรับตัวใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยของเว็บ  ส่วนหลายธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมกลับรับบทบาทเป็น ผู้รับผลกระทบจากอินเทอร์เน็ตแทน  ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ ร้านค้าปลีก ร้านหนังสือ เอเจนซี่ท่องเที่ยว โบรคเกอร์หุ้น นายทุน ธุรกิจรับชำระเงิน ไปรษณีย์ และอื่นๆ ต่างต้องทนดูธุรกิจของพวกเขาถูกอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทนที่

การนำบล็อกเชนเข้ามาใช้อาจทำให้บริษัทใหญ่ๆ ต้องวุ่นกันไปอีก 10 ปีต่อจากนี้ เพื่อปรับโครงสร้างการดำเนินงานของพวกเขาใหม่ให้รองรับและได้รับประโยชน์จากบล็อกเชนที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนและพัฒนาระบบปฏิบัติการ  แต่พวกเขาจะยอมออกนอก comfort zone หรือ  พวกเขาจะยอมเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้าหรือไม่

หากธนาคารกลางที่งุ่มง่ามมาตลอดเรื่องบล็อกเชนยอมรับเอาสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาใช้ นั่นจะหมายถึงพวกเขาแค่ต้องการทดลองหรือมันคือสิ่งที่พวกเขาเชื่อและมองเห็นอนาคตจริงๆ กันแน่

สิ่งที่เรายังไม่รู้ในเชิงกลวิธี

#11 เมื่อไหร่เราจะเห็นบล็อกเชนเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง ?

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีแอปฯ ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชิงเทคนิคเกี่ยวกับบล็อกเชน  กระเป๋าสตางค์ดิจิทัลในยุคแรกถือว่ามีความใกล้เคียงกับบล็อกเชนมากและยังไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากพอ อย่างน้อยก็ไม่ใช่สำหรับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่

บางทีเราอาจกำลังรอให้มีบล็อกเชนที่ทำงานได้เทียบเท่ากับเว็บไซต์  เพราะระบบ World Wide Web นี่เองคือผู้ให้บริการหน้าฉากที่ใช้งานง่ายโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลกับการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูล  สุดท้ายเราจะสามารถเปลี่ยนบทสนทนานี้จากเชิงเทคนิค ให้กลายเป็นเชิงธุรกิจได้หรือไม่

#12 Regulators (ผู้มีหน้าที่กำกับดูแล) จะมีบทบาทและสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ?

ในบล็อกเชนส่วนใหญ่ Regulators ยังไม่ได้เข้ามารับบทหนักเท่าไหร่  แต่แน่นอนว่าพวกเขาจะถูกผูกให้ต้องมีบทบาทในที่สุด  ที่เรายังไม่รู้คือพวกเขาจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลง อัปเดต ทดสอบ สนับสนุน หรือว่าขัดขวางนวัตกรรมบล็อกเชนกันแน่

Regulators ที่มีการอัปเดตอย่างเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของบล็อกเชนได้เป็นอย่างดี  มีทฤษฎีใหม่หลายตัวเกี่ยวกับการกำกับควบคุมบล็อกเชนที่จะวาง Regulators ไว้เป็นบัพบนเครือข่าย  เหมือนเครื่องสังเกตการณ์อื่นๆ เขาจะสามารถปรากฏตัว หายตัว และแทรกซึมเข้าไปตรวจสอบ และตอบสนองในทุกระดับชั้นของธุรกรรมได้

อย่างไรก็ตามเรายังไม่เคยเห็น Regulators ที่เข้ามาอยู่ตรงจุดนี้อย่างเป็นทางการ  อีกทั้งยังคงต้องรอดูการทดสอบให้มากกว่านี้ก่อนจะนำดอกผลของมันมาใช้งานจริง

#13 ระบบตรวจสอบ Proof of Work (POW) ดูแล้วมีอนาคตระยะยาวหรือไม่ ?

ระบบปฏิบัติการ Proof of Work (POW) จะขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือวิธีใหม่ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันมากกว่าอย่าง Proof of Stake จะเข้ามาแทนที่?  เรารู้ทุกอย่างที่ควรรู้ในเชิงเศรษฐกิจและความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าดีนี้แล้วหรือยัง

คำถามที่ตามมาจากคำถามแรกคือ: เหล่านักขุดเหมืองจะยังคงมีบทบาทสำคัญในวงจรนี้ หรือว่างานของพวกเขากำลังจะถูกคุกคาม  ยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสร้างบล็อกเชนสาธารณะซึ่งไม่ถูกควบคุมโดยผลกำไรน้อยนิดจากการทำเหมือง Bitcoin

ผมจะขอเตือนความจำเราทุกคนด้วยสิ่งที่ Tim Berners-Lee พูดตอนที่พวกเขาปล่อยให้เทคโนโลยีเว็บไซต์ กลายเป็นของสาธารณะอย่างสมบูรณ์แบบว่าคุณจะวางแผนปล่อยบางอย่างออกสู่จักรวาล และพยายามควบคุมมันไปพร้อมๆ กันไม่ได้หรอก

ท้ายที่สุดเราจะสามารถมีบล็อกเชนที่ปลอดภัยโดยไม่พึ่งระบบการให้ Bitcoin ที่มีมูลค่าเป็นเครื่องตอบแทนในการรักษาความปลอดภัยให้มัน หรือโดยไม่ต้องเรียกมันว่า เป็นบล็อกเชนส่วนบุคคลที่ผ่านการอนุญาตได้หรือไม่

#14 ICOs สุดท้ายแล้วจะรุ่งหรือร่วง ?

ทุกวันนี้โครงการเสนอขายเงินดิจิทัลในระยะเริ่มต้น (Initial Cryptocurrency Offerings หรือ ICOs) ผุดขึ้นเรื่อยๆ เป็นดอกเห็ด ไม่ต่างจากตอนที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตพากันเร่งรัดเข้าสู่ตลาดหุ้นในปี 1999 บริษัทที่ยังครึ่งๆ กลางๆ และไอเดียต่างๆ เร่งกลั่นตัวออกมาเป็นโครงการเพียงเพื่อจะเผชิญกับความโหดร้าย ของตลาดสาธารณะในภายหลัง

การเลือกเส้นทางสร้าง ICO โดยอาศัยแคมเปญระดมทุนจากสาธารณะนั้นเกือบจะเหมือนการเปิดตัวเป็น บริษัทมหาชนตั้งแต่วันแรกของการดำเนินงาน  มันไม่ง่ายเลยกับการต้องถูกจับจ้องโดยสายตาของประชาชน และบริษัทที่ไม่สามารถสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในระดับสูงได้ไม่ควรจะเลือกเดินเส้นทางนี้

ในพายุความไม่แน่นอนของการประเมินค่า ICOs เรายังคงไม่มีทางรู้ว่าเทรนด์นี้จะกลายมาเป็นบรรทัดฐาน ของวิธีการระดมทุนเมื่อมีเงินดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องรึเปล่า

นอกจากนั้นเรายังคงอยู่ในระหว่างการพยายามตรวจสอบหลายๆ หน้าที่ที่เงินดิจิทัล (หรือโทเค่น) เข้าไปมีบทบาท: มันคือตัวแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นจากเน็ตเวิร์ค ผลประโยชน์โดยเนื้อแท้ รางวัล หรือว่าเครื่องมือในทางทฤษฎีกันแน่

#15 มาตรฐานแบบไหนจะถือกำเนิดขึ้น ?

ในปี 2016 การรอคอยมาตรฐานของบล็อกเชนแทบจะเหมือนการรอคอย Godot ในละคร Waiting for Godot  แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสักเท่าไหร่  การออกมาตรฐานที่เร็วเกินไปอาจทำร้ายตัวอุตสาหกรรม บล็อกเชนเอง  เพราะคนยังต้องการเห็นเทคโนโลยีนี้เบ่งบานต่อไปอีกหน่อย

มาตรฐานของบล็อกเชนเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และมันแผ่ขยายออกไปไกลเกินกว่าจะมองเป็นแค่ความท้าทายในการทำงานร่วมกันได้  เราอาจจำเป็นต้องมีชุดมาตรฐานในเชิงเทคนิค ธุรกิจ และกฎหมาย ทว่ายังไม่รู้จริงๆ ว่าจะเป็นอันไหนกันแน่ หรือมาตรฐานที่มีอยู่แล้วตัวไหนจะต้องได้รับการอัพเดทแทนที่จะคิดทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

นวัตกรรมเทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วกว่าการควบคุมและมาตรฐานที่อยากจะจับมันใส่กรอบเพื่อตีตราเสมอ  แต่ถ้าคุณพยายามจับภาพเคลื่อนไหวใส่กรอบเร็วจนเกินไป  คุณภาพภาพที่ออกมาก็จะไม่ชัดเจน และแน่นอนว่าคุณจะอยากหาอะไรมาแทนที่มันเพียงไม่นานหลังจากนั้น

#16 อะไรคือผลกระทบของคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัมบนบล็อกเชน ?

ในทางทฤษฎีคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัมอาจลดความยืดหยุ่นของความปลอดภัยบนบล็อกเชนได้ เพราะมันส่อเค้าจะทำลายความแข็งแรงของการเข้ารหัส

คอมพิวเตอร์ระบบควอนตัมจะกลายมาเป็นภัยอย่างหนึ่งที่ต้องเผชิญหรือการเข้ารหัสของบล็อกเชนจะได้ประโยชน์จากมันในแง่การพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นตามจนผลสุดท้ายออกมาอยู่ในรูปของคู่ต่อสู้ที่เท่าเทียมกันแน่

#17 ตัวกลางรูปแบบใหม่จะมีหน้าตาแบบไหน ?

เราให้คำจำกัดความบล็อกเชนว่าเป็นเครือข่ายแบบคนต่อคน ที่มูลค่าทุกอย่างแพร่สะพัดโดยไม่มีตัวกลาง  แต่ในความเป็นจริงคือตัวกลางรูปแบบใหม่กำลังจะเกิดขึ้นต่างหาก

กิจกรรมส่วนมากของบล็อกเชนมุ่งเน้นไปที่การบริการทางการเงิน  เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพหลายตัวมองว่าธนาคารคือตัวกลางที่กำลังจะหายไป  แต่ที่นอกวงการบริการทางการเงินล่ะ  อุตสาหกรรมอื่นๆ จะโชว์การนำบล็อกเชนไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง รัฐบาล พลังงาน และแวดวงสุขภาพดูจะเป็นคู่แข่งที่ดี  แต่การนำบล็อกเชนไปใช้จริงนั้นยังคงมีน้อยและระดับความก้าวหน้าก็ยังห่างชั้นมาก

การเชื่อมโยงบล็อกเชนไปสู่สินทรัพย์ที่เป็นรูปธรรมในโลกจริงโดยไม่ใช้คนกลางที่วางใจได้จะเป็นไปได้จริงหรือเปล่านะ

#18 กลุ่มการค้าร่วมจะประสบความสำเร็จหรือเป็นเพียงบันไดขั้นหนึ่ง ?

มีกลุ่มการค้าร่วมต่างๆ อย่างน้อย 25 กลุ่มซึ่งเป็นการรวมกันของหลายประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม  ทั้งหมดมีจุดประสงค์คือสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้บรรดาสมาชิก

การรวมกลุ่มธุรกิจเป็นเรื่องยาก  มันไม่ง่ายเลยที่จะดึงหลายบริษัทที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน  คุณต้องมีระบบดำเนินการที่มีวินัย มีความหนักแน่น อดทน และยืนหยัดต่อการเมืองภายใน รวมถึงปัญหาด้านวุฒิภาวะหลายๆ อย่างให้ได้  

ส่วนที่ดีที่สุดคือมันทำให้สนามแข่งมีความเท่าเทียมขึ้นในหมู่สมาชิก และช่วยให้ทุกบริษัทเดินหน้าร่วมกันได้  ดังนั้นการเข้ากลุ่มการค้าร่วมจึงไม่ได้ให้ผลประโยชน์ในเชิงแข่งขัน  ซึ่งนั่นเองคือสาเหตุ ที่สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่ยังคงต้องมีความคิดริเริ่มในการทำบล็อกเชนอื่นควบคู่ไปด้วย

การรวมกลุ่มจะพาพวกเขาไปสู่เป้าหมายได้ไหม หรือท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็นแค่สะพานนำไปสู่กิจกรรมรูปแบบอื่นกันแน่

#19 สกุลเงินดิจิทัลจะเปลี่ยนนิยามของยุคเศรษฐกิจอิงกระแสไปหรือไม่ ?

คนเรามีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับกิจกรรมออนไลน์ซึ่งไม่ก่อรายได้มากขึ้นทุกวัน ทว่าเราจะยอมเสียเวลาฟรีๆ แบบนี้กันต่อไปเรื่อยๆ หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น การเล่นโซเชียลมีเดียคือกิจกรรมที่เสียเวลาไปแบบเปล่าๆ โดยไม่มีผลประกอบการทางการเงินโดยตรง  จะเป็นอย่างไรถ้าเราอัดฉีดสกุลเงินดิจิทัลเข้าไป

ในกิจกรรมเหล่านี้เพื่อสร้างเป็นหน่วยมูลค่าใหม่  มันจะเป็นแรงจูงใจที่ดีพอให้เกิดการสร้างสรรค์ประโยชน์ และพัฒนาคุณภาพได้หรือไม่

สกุลเงินดิจิทัลใช่เชื้อเพลิงที่ขาดหายไปซึ่งจะมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจในยุคอิงกระแสให้เคลื่อนตัวอีกครั้งหรือเปล่า

#20 บล็อกเชนส่วนบุคคลจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ?

โลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของบล็อกเชนจะมีหน้าตาอย่างไร  หรือพวกมันทั้งหมดจะทำงานร่วมกันได้เป็นหนึ่งเดียว

ถ้าโลกนี้มีอินเทอร์เน็ตมากกว่าหนึ่งระบบ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันคงจะไม่เบ่งบานอย่างที่เป็นตลอดเวลาที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเส้นทางไปสู่ระบบบล็อกเชนหลายเครือข่ายและบัญชีธุรกรรมสาธารณะกำลังถูกสร้างอยู่  แต่เรายังคงไม่เข้าใจเต็มร้อยว่า Network Effect ที่จำเป็นจะได้รับผลกระทบอย่างไร จากความทวีคูณของเครือข่ายบล็อกเชน

บล็อกเชนส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นเพียงรูปแบบเดียวคือเป็นของกลุ่มการค้าร่วม  หรือจะมีรูปแบบอื่นๆ ในทำนองเดียวกับเว็บไซต์ส่วนบุคคล  บริษัทหนึ่งๆ จะมีแอปพลิเคชันบล็อกเชนเป็นของตัวเอง เพื่อรองรับลูกค้าเฉพาะของพวกเขาหรือไม่

จงอย่าหยุดมองไปข้างหน้า

จุดประสงค์ของเช็คลิสท์นี้ไม่ใช่เพื่อให้มองในแง่ร้าย แต่เพื่อให้มองเห็นตามความเป็นจริง

เป็นเรื่องดีเสมอที่คนเราจะมองให้ไกลถึงสิ่งที่ต้องเจอในภายภาคหน้า  แม้กระทั่งตอนที่กำลังดื่มด่ำกับความหวังและความตื่นเต้นก็ตาม

คนที่มองโลกในแง่ดีจะบอกให้คุณเชื่อ พวกช่างกังขาจะอยากให้คุณลืมมันไป ส่วนคนที่มองโลกตามจริง (อย่างผม) จะสนับสนุนให้คุณคิดเยอะๆ และระวังตัวไว้เสมอ

ข่าวลือในหลายประเด็นที่ผมได้แจกแจงไปแล้วยังคงแพร่สะพัดอยู่ทั่วไป  สำหรับการนำแนวทางในวันนี้ไปปฏิบัติจริง  ผมแนะนำให้คุณทำการบ้านด้วยตัวเองโดยเลือกบล็อกเชนใดๆ ก็ตามที่ตัวคุณมีส่วนเกี่ยวข้อง ลิสท์รายการของสิ่งที่คุณยังไม่รู้ หาแนวทางเพื่อกำจัดความคลุมเครือ และเปลี่ยนเรื่องที่ไม่รู้เหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องที่คุณรู้

จากนั้นคุยกับคนอื่นๆ ที่อยู่นอกจักรวาลบล็อกเชนของคุณ  ถามพวกเขาว่ามีความเห็นยังไงบ้างกับโครงการ และไอเดียของคุณ  เหมือนกับเด็กๆ พวกเขาอาจพูดอะไรที่ขัดใจที่สุด แต่พวกเขาไม่โกหก และนั่นจะดึงคุณกลับมาสู่พื้นฐานแห่งความเป็นจริง

หลังผ่านการใช้งานมากว่าสองทศวรรษ  เราสามารถพูดได้ว่าวันนี้เว็บไซต์กลายเป็นลูกแมวเชื่องๆ ไปแล้ว เนื่องจากมีประเด็นที่เราไม่รู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก (ไม่นับปริศนาเร้นลับของการแฮ็กข้อมูล) ในทางตรงกันข้าม อาณาจักรแห่งบล็อกเชนกำลังเดือดพล่านไปด้วยความคลุมเครือ เป็นความคลุมเครือที่เราไม่อาจก้าวข้ามได้ และจะยังเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายปีจนกว่านวัตกรรมนี้จะไปถึงจุดที่สุกงอมเต็มตัว

การเปิดประเด็นสิ่งที่เรารู้แล้วว่ายังไม่รู้เป็นเพียงส่วนง่าย ที่ยากกว่าคือการหาสิ่งที่เราไม่รู้ว่ายังไม่รู้ต่างหาก แต่กว่าจะไปให้ถึงจุดนั้นได้เราคงต้องรอไปอีกปีก่อนครับ!

ที่มา: Coindesk.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...