Huawei Cloud เตรียมบุกไทย พร้อมกรณีศึกษา Digital Transformation บริษัท Dongfeng Honda | Techsauce

Huawei Cloud เตรียมบุกไทย พร้อมกรณีศึกษา Digital Transformation บริษัท Dongfeng Honda

  • ในบริการ Cloud Service Provider เราอาจคุ้นเคยกับผู้บริการฟากตะวันตกอย่าง AWS ของค่าย Amazon, Microsoft Azure และ Google Cloud
  • ส่วนพี่จีนผู้ให้บริการ Cloud อื่นก็มี Tencent Cloud และ Alibaba Cloud และตอนนี้ผู้เล่นอีกรายที่ไม่ใช่ใครอื่น Huawei ผู้ชนะหลายศึกในโลกของธุรกิจโทรคมนาคมก็เตรียมบุกไทยแล้วเช่นกัน
  • กรณีศึกษา Digital Transformation ด้วย Cloud Platform ของ Dongfeng Honda

Huawei Technology ประกาศเปิดตัวบริการคลาวด์ (Cloud) สาธารณะในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเปิดตัวในงาน "Digital Thailand Big Bang 2018"  นี้เอง โดยมี  ดร. พิเชฐ       ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  มร. เจิ้ง เย่หลาย ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจคลาวด์ของหัวเว่ย มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร หัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมร. โซเล่อร์ ซุน หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ Cloud ของหัวเว่ยประเทศไทย ร่วมงาน

Huawei ได้รับมอบใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจบริการคลาวด์ในประเทศไทยจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  ทำให้หัวเว่ยเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลกรายแรกที่เปิดให้บริการคลาวด์ในประเทศไทย พร้อมด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และรองรับการเข้าถึงเครือข่ายทั่วโลก

มร. เจิ้ง  เย่หลาย ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจคลาวด์ของหัวเว่ย กล่าวว่า

"การเปิดตัวบริการคลาวด์ของหัวเว่ยในประเทศไทยถือเป็นก้าวสำคัญของเรา หัวเว่ยเชื่อมั่นว่า การเปิดศูนย์ข้อมูลใหม่นี้จะช่วยขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในด้านการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) บิ๊กดาต้า (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) การนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มของเรามาใช้จะช่วยให้บริษัททุกขนาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขยายธุรกิจออกไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หัวเว่ยจะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไกลต่อไป ด้วยการแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไอซีทีที่บ่มเพาะมากว่าสามทศวรรษ  ด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายเทคนิคระดับมืออาชีพในไทย หัวเว่ยคลาวด์พร้อมที่จะมอบบริการระดับโลกชั้นยอดที่น่าเชื่อถือแก่ลูกค้าในประเทศไทย”

ในงาน Huawei Cloud Thailand หัวเว่ยได้แนะนำเทคโนโลยีคลาวด์ต่างๆ เช่น

  • การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning)
  • การจดจำข้อมูลภาพ (Image Recognition)
  • เทคโนโลยี AI

และยังได้มีการสาธิตกรณีศึกษาหลายโครงการ อาทิเช่น หนึ่งในการนำเสนอของ Huawei Cloud ให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานของ Cloud Platform ที่ช่วยหน่วยงานท้องถิ่นบริหารระบบสัญญาณไฟจราจรตามแยกต่างๆ โดยมีมาตรการที่สามารถควบคุมความแออัดของการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โซลูชั่นบริหารจัดการสามารถควบคุมการตั้งเวลาสัญญาณไฟจราจรได้อย่างชาญฉลาด มีการทำงานประสานกัน จึงช่วยลดปัญหาการจราจรบนท้องถนนได้อย่างมาก

ตัวอย่างของกลุ่มลูกค้า อาทิ Peugeot SA (PSA), ธนาคาร Banco Santander และองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN)

เทรนด์เทคโนโลยี Cloud ในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2562 คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีการใช้บริการคลาวด์มากกว่าการใช้เทคโนโลยีไอทีแบบเดิม และในปี พ.ศ. 2564 เฉพาะในประเทศไทย มีการประเมินว่า Cloud รวมถึงฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ ที่ทำงานบน Cloud จะมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 48,000 ล้านบาท ตามข้อมูลในรายงานของ IDC  หัวเว่ย คลาวด์ ยังได้ร่วมกับพันธมิตรในไทย เช่น Stream IT, CallVoice และ BeTimes ในการสร้างแอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าองค์กรแบบเบ็ดเสร็จ ที่มุ่งเน้นให้บริการแก่ภาครัฐ การดูแลรักษาทางการแพทย์ อีคอมเมิร์ซ และอื่นๆ

กรณีศึกษา Huawei Cloud กับบริษัทในกลุ่ม Honda

ตงเฟิง ฮอนด้า ออโตโมบิล บริษัทร่วมทุนระหว่างตงเฟิง มอเตอร์ กรุ๊ป จากประเทศจีน และบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2003 ด้วยทุนจดทะเบียน 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำ เอื้อต่อการดำเนินงานด้านการผลิตภายในโรงงานของตน เช่น  การผลิตและประกอบเครื่องยนต์, กระบวนการกัด (Machining) และการประกอบชิ้นส่วนยานยนต์  นับตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัทได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพสูงแก่ลูกค้ากว่า 3 ล้านราย

การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล

ในอีก 20 ปีข้างหน้า  เราจะได้เห็นโลกที่มีความเป็นอัจฉริยะเกิดขึ้น ซึ่งทุกสิ่งจะสามารถตรวจจับ เชื่อมโยงถึงกัน และมีความชาญฉลาด   โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์  ผู้คน ยานยนต์ ตัวแทนจำหน่าย และโรงงานผลิตจะสามารถเชื่อมโยงสื่อสารกันได้ตลอดเวลา และรูปแบบธุรกิจของผู้ผลิตยานยนต์ก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  อุตสาหกรรมได้มาถึงจุดเปลี่ยนตามภาวะการขึ้นลงของตลาด  ตัวแทนจำหน่ายเดิมบางรายประสบกับความผันผวนด้านยอดขาย ขณะที่บางรายต้องปิดกิจการลง แม้จะมีตัวแปรในเรื่องความท้าทายของตลาด แต่ยอดจำหน่ายของตงเฟิง ฮอนด้า ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถรักษาอัตราการเติบโตให้เป็นไปอย่างรวดเร็วจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และสร้างแพลตฟอร์มการตลาดแบบดิจิทัลด้วยระบบคลาวด์

กลยุทธ์: การสร้างแพลตฟอร์มบริการด้านการตลาดด้วยระบบ Cloud

เพื่อมอบบริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตงเฟิง ฮอนด้า ได้ผลักดันกลยุทธ์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มบริการด้านการตลาดบนระบบคลาวด์ พร้อมวางแผนติดตั้งเครือข่าย Wi-Fi เพื่อเชื่อมโยงตัวแทนจำหน่ายทั้ง 460 รายทั่วประเทศจีนเข้าด้วยกัน ซึ่งตัวแทนจำหน่ายของ ตงเฟิง ฮอนด้า ทุกรายจะใช้แท็บเล็ตเพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับรุ่นรถและราคาให้ลูกค้าทราบ โดยจะแจ้งราคาในขั้นสุดท้ายโดยอัตโนมัติตามรุ่นและอุปกรณ์เสริมภายในรถตามที่ลูกค้าเลือก  วิธีนี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อรถแก่ลูกค้าและยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์การให้บริการอีกด้วย สำหรับแพลตฟอร์มใหม่ในด้านการให้บริการทางการตลาดนี้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้า เช่น ชื่อ อาชีพ และลักษณะการขับขี่ที่ต้องการ และยังสามารถสร้างแบบสอบถามได้อย่างตรงจุด ด้วยวิธีนี้ ลูกค้าจึงสามารถให้ข้อมูลสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและส่งความคิดเห็นกลับไปยังตงเฟิง ฮอนด้าได้แบบเรียลไทม์ จากนั้นทางบริษัทก็จะผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ล่วงหน้าจากข้อมูลความต้องการของลูกค้า ช่วยลดเวลาการออเดอร์ของลูกค้าตลอดจนการส่งมอบรถยนต์ และลดภาระการจัดเก็บสินค้าคงคลังไว้มากจนเกินไป นอกจากนี้ ตัวแทนจำหน่ายที่มียอดจำหน่ายไม่ถึงเป้ายังสามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ตลอดจนให้บริการลูกค้าได้อย่างตรงจุด และปรับปรุงยอดขายได้โดยใช้แพลตฟอร์มบริการด้านการตลาด

ความท้าทายในการสร้างแพลตฟอร์ม 

สำหรับการสร้างแพลตฟอร์มบริการด้านการตลาดนั้น ตงเฟิง ฮอนด้า พบกับความท้าทายในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ความครอบคลุมการให้บริการ: ตงเฟิง ฮอนด้า มีตัวแทนจำหน่าย 460 รายในประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 รายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งมาใช้ เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการและการติดตามผลที่เป็นแบบแผนเดียวกัน รวมถึงการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาแบบรวมศูนย์
  • การควบคุมต้นทุน: อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่สูงในการวางระบบไอที การซื้ออุปกรณ์และการบำรุงรักษา การสร้างห้องเครื่องมือ ระบบไฟฟ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา
  • ระยะเวลาการติดตั้งใช้งาน: ระบบบริการด้านการตลาดที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นระบบที่ใช้กับตัวแทนจำหน่ายแต่ละแห่ง ซึ่งกินเวลาในการวางระบบเพื่อให้บริการใหม่ๆ ทางด้านการตลาดในศูนย์ตัวแทนจำหน่ายทั้ง 460 แห่ง ซึ่งระยะเวลาการวางระบบที่ยาวนานย่อมส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจและรายได้ที่หายไป
  • ประสิทธิภาพการทำงานของเครือข่าย: การใช้งานแบนด์วิธบน Wi-Fi ของตัวแทนจำหน่ายรายเดียวนั้นไม่สูงมากนัก แต่เมื่อตัวแทนจำหน่ายมีมากกว่า 1,000 รายขึ้นไป ปริมาณแบนด์วิธที่มีอยู่ในศูนย์ข้อมูลของตงเฟิง ฮอนด้าอาจไม่เพียงพอสำหรับช่วงที่มีการใช้งานหนาแน่น การเปิดใช้งานบริการใหม่ๆ จึงยิ่งทำให้ปัญหานี้แย่ลง ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายเหล่านี้ ตงเฟิง ฮอนด้า จึงจำเป็นที่จะต้องมีแพลตฟอร์มบริการด้านการตลาดบนระบบคลาวด์ ที่ติดตั้งได้รวดเร็ว มีระบบการสนับสนุนที่ยืดหยุ่น ปลอดภัยและไว้วางใจได้

ผลการนำ Cloud มาประยุกต์ใช้

ตงเฟิง ฮอนด้า นำ Huawei Cloud มาสร้างแพลตฟอร์มบริการด้านการตลาด เพื่อให้เกิดการใช้งานร่วมกันระหว่าง Cloud และเครือข่าย  ทำให้เกิดการใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งองค์กร การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ รวมถึงระบบปฏิบัติงานที่สั่งการจากส่วนกลาง  เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานบริการรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า

ทำให้พนักงานของตัวแทนจำหน่ายสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มด้านการตลาดบนระบบ Cloud ของตงเฟิง ฮอนด้า โดยใช้แท็บเล็ตเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ได้จากทุกศูนย์ตัวแทนจำหน่าย ทำให้สามารถติดตั้งใช้งานและนำบริการใหม่ๆ ออกใช้งานบนแพลตฟอร์มคลาวด์ได้อย่างรวดเร็ว

โซลูชั่น Cloud Campus ที่ทำงานบน Huawei Clooud ช่วยให้ตงเฟิง ฮอนด้า สามารถดำเนินการวางแผนเครือข่ายการใช้งานระยะไกลได้ด้วยแพลตฟอร์ม Cloud พนักงานในศูนย์ตัวแทนจำหน่ายจึงสามารถใช้แอปฯ สำหรับบริหารจัดการ Cloud ผ่านมือถือเพื่อใช้งานเครือข่าย เข้าถึงระบบ O&M บนเครือข่ายแบบรวมศูนย์ และป้องกันแก้ไขข้อผิดพลาดได้

สุดท้ายสามารถลดต้นทุนในการลงทุนด้านไอทีโดยรวม 23% และด้าน O&M  83% สามารถนำบริการใหม่ๆ ออกใช้งานในศูนย์ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศจีนได้อย่างรวดเร็ว โซลูชั่นนี้ยังช่วยลดค่าบริการด้านการตลาดลงได้มาก และเร่งการนำบริการออกมาใช้งานได้เร็วขึ้นหกเท่า และในอนาคตจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง AI Big Data IoT มาช่วยพัฒนาระบบ 4S (Sale, Sparepart, Service, Survey) ของบริษัทต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...