เปิดใจทีมงาน 'จับใจบอท' ผู้พัฒนา Chatbot คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า | Techsauce

เปิดใจทีมงาน 'จับใจบอท' ผู้พัฒนา Chatbot คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

สัมภาษณ์ทีมงานจับใจบอท (Jubjai Bot) แชทบอทที่ช่วยประเมินอาการซึมเศร้าของผู้ใช้งานได้ หากพบว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้ามากก็ช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น ซึ่งทีมงานมีทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี นักจิตวิทยา และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ระบุอยากใช้วิทยาการทางด้าน AI ควบคู่กับหลักการทางด้านจิตวิทยาเพื่อช่วยผู้คนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา Techsauce ได้เผยแพร่บทความ "Chatbot กับ HealthTech ก็ไปด้วยกันได้ ส่อง 5 ผู้ช่วยด้านสุขภาพผ่านตัวอักษรที่น่าสนใจ" โดย 1 ใน 5 Chatbot ที่เราแนะนำให้รู้จักนั่นคือ "จับใจบอท" (Jubjaibot) โดยเป็น Chatbot ที่ให้บริการผ่าน Facebook Messenger ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าของผู้ที่ใช้งาน Chatbot ตัวนี้ได้

ปัจจุบันผู้คนมีแนวโน้มจะเกิดภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่ “โรคซึมเศร้า” ได้เป็นจำนวนมาก การมี Chatbot ในรูปแบบดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องดีและน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะที่จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าลงได้

ล่าสุดทีมงาน Techsauce ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทีมงานผู้พัฒนา Chatbot จับใจบอท เราว่าดูกันว่าจุดเริ่มต้น เบื้องหลัง เบื้องหลัง ผลตอบรับที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

 

แนะนำทีมงานจับใจบอท 'Depression Warriors'

ทีมงานผู้พัฒนาจับใจบอทเรียกตัวเองว่าเป็นเหล่า "Depression Warriors" ซึ่งทั้งหมด 4 ท่านด้วยกัน แต่ละคนมีบทบาทในโครงการ และมีหน้าที่การงานปัจจุบันดังนี้ (จากซ้ายไปขวา)

  • ท่านแรก ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Intelligent System Expert ปัจจุบันเป็น Co-Founder บริษัท พอดีคำดอทเอไอ จำกัด รวมทั้งเป็น Senior System Analyst และ Data Scientist บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
  • ท่านที่สอง ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี AI and Machine Learning Expert ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ท่านที่สาม คือ คุณพณิดา โยมะบุตร Clinical Psychology Expert ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลศิริราช เป็นว่าที่ ดร.ด้านจิตวิทยา กำลังจะสำเร็จการศึกษาเร็ว ๆ นี้
  • และท่านสุดท้าย คุณกัญธิณี กัจฉปคีรินทร์ Chatbot Expert ปัจจุบันเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการบำบัด ปีนี้วางแผนศึกษาต่อปริญญาเอก ด้าน AI อีกด้วย

จุดเริ่มต้นของการทำ 'จับใจบอท'

Photo: Twitter @aispdiary

ดร.กลกรณ์ :  เนื่องจากตัวเองเป็นอาจารย์และนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยลัยมหิดล ก็มีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริง จึงเริ่มมองรอบ ๆ ตัวเราว่า ณ ปัจจุบันมีปัญหาอะไรบ้างในสังคม ซึ่ง ณ จังหวะนั้นก็เห็นคนรอบตัวเราที่มีอาการของภาวะซึมเศร้า รวมทั้งได้ยินข่าวศิลปินต่าง ๆ ที่มีการฆ่าตัวตายเนื่องจากโรคซึมเศร้า ซึ่งตอนแรกก็ต้องยอมรับตรงๆว่าไม่เข้าใจคำว่าโรคซึมเศร้าเหมือนกันว่าคืออะไรและเป็นอย่างไร เพราะถ้าวิเคราะห์กันตามตรงคือ ก็เห็นศิลปินทำการแสดงได้ปกติ ทำไมถึงบอกว่าเป็นโรคซึมเศร้า

ก็เลยเริ่มมีการศึกษาพูดคุยกับนักวิจัยท่านอื่น (ดร.ยงยศ) ว่าปัญหาแบบนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะมันเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้เลย มันอยู่ข้างในจิตใจและค่อนข้าง Abstract มาก

ดร.ยงยศ: ส่วนของผมก็เกิดจากการได้เห็นคนรอบข้างเรารวมถึงคนที่เรารักมีอาการของภาวะซึมเศร้า แต่เนื่องจากบางคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น หรือบางคนรู้ว่าเป็นแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นรักษายังไง ซึ่งสิงที่เราเห็นคือไม่ว่าพวกเขาจะพยายามอยากหนักเพื่อรักษาด้วยตัวของพวกเขาเองอย่างไร แต่ผลลัพธ์กลับยิ่งแย่ลงทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งต่อเมื่อพวกเขาได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างจริงจัง กลับเห็นผลดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง และเปรียบเสมือนการให้ชีวิตใหม่แก่พวกเขาและคนใกล้ชิด

ดร.ยงยศ :  พวกเราจึงเริ่มคิดอยากจะนำความรู้ทาง AI ที่เรียนมา มาทำนวัตกรรมซักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอีกมากมายที่อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกลับเรา อยากให้เขามีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นบางจากการได้เข้าสู่กระบวนการรักษาโรคซึมเศร้า พวกเราจึงไปชักชวนนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้า และมาตกผลึกความคิดกัน จนได้มาเป็นจับใจบอทครับ

ดร.กลกรณ์ : ต่อมาเราก็เลยพากันไปคุยและเชิญชวนนักจิตวิทยาคลินิค (คุณพณิดา) ก็ทำให้เริ่มรู้ปัญหาที่แท้จริงมากขึ้น ประกอบกับ ณ ตอนนั้นก็ได้รู้จักเพื่อนอีกคนหนึ่ง (คุณกััญธิณี) ที่เป็นทั้งโปรแกรมเมอร์และเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วย

คุณพณิดา : ตอนที่ ดร.ยงยศมาชวน ว่าอยากนำความรู้เรื่องจิตวิทยามาใช้กับ AI เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยซึมเศร้า เราก็รู้สึกสนใจและคิดว่าน่าจะมีประโยชน์มาก เพราะในต่างประเทศก็มีการนำเอา AI มาใช้ในทางจิตวิทยาแล้ว ในไทยเราก็น่าจะมีบ้าง

คุณกัญธิณี : ส่วนตัวต้องบอกว่าเริ่มจากเราป่วยโดยเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราป่วย ความหมายคือ เรารู้แต่เราไม่มีความสุขนะ เรากลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันทุกข์มาก จนอยากให้ทุกอย่างในโลกหายไปให้หมด ไม่แน่ใจว่าอันนี้คือคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า แต่เราก็รู้นะว่าเราตายไม่ได้เพราะลูกมีเราแค่คนเดียว (คุณหมอบอกว่า แบบนี้ละคือคิดแล้ว) ต้องขอบคุณเพื่อนที่พาไปโรงพยาบาลให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จนอาการดีขึ้น มีสติมากขึ้น

และเริ่มเกิดความคิดว่าไม่อยากให้คนอื่น ๆ เจอแบบเรา ไม่รู้เขาจะมีเพื่อนดี ๆ มาทักเขาแบบเราไหม ก็เลยเริ่มรวมตัวกันเพื่อพัฒนาจับใจบอทคะ

ดร.กลกรณ์ : ทีมของเราค่อนข้างครบองค์ประกอบมาก มีทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี นักจิตวิทยา และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผมจึงเริ่มมาคิดงานวิจัยกันว่าเราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร เราจะเอาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างไร สุดท้ายก็มาตกผลึกกันที่การใช้วิทยาการทางด้าน AI ควบคู่กับหลักการทางด้านจิตวิทยา ทำให้เกิดตัว 'จับใจบอท' ขึ้นมา

โดยทางทีมงานจับใจบอทระบุเพิ่มเติมว่า ทีมงานหลักจะมี 4 คน และก็มีพันธมิตรที่มาช่วยดูแลเรื่อง Chatbot Framework คือทีมงานจาก Zwiz.AI ครับ ซึ่งงานวิจัยนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Innovation Hub Aging Society เพื่อตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0

สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทย

คุณกัญธิณีเล่ากับทีมงาน Techsauce ว่าสำหรับในประเทศไทยมีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2551 ประมาณการว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ในการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้าเมื่อตอนปีที่ทำสำรวจ โดยพบในวัย 25-59 ปี สูงถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นวัยทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว โดยผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า และจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บ ปี 2556 โรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุอันดับที่ 1 เลย ที่ทำให้หญิงไทยสูญเสียปีสุขภาวะ ส่วนชายไทยโรคนี้อยู่ในอันดับที่ 3

และจากสถานการณ์นี้ ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี พ.ศ.2563

เป็นที่รู้กันว่าโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาจะมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และในประเทศไทยทุก ๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า 1 คนนะ โดยที่ผู้หญิงจะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า คิดแล้วประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าความสูญเสียจากอาชญากรรมอีก

จากการศึกษาวิจัยโรคซึมเศร้าในคนไทยภายใต้แผนวิจัยบูรณาการการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อแก้ไขและป้องกันความสูญเสียจากโรคซึมเศร้า ปี 2549 พบว่าการดูแลแก้ไขโรคนี้ที่ได้ผลนั้นคือต้องพัฒนาระบบการค้นหาผู้ป่วย การนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบดูแลรักษาให้เร็วที่สุด จะช่วยลดระยะเวลาเจ็บป่วย เพิ่มอัตราการหายทุเลา และลดการฆ่าตัวตายได้ โดยที่ถ้าตรวจเจอตั้งแต่แรก แค่พูดคุยบำบัดปรับมุมมองก็หายแล้ว ไม่ต้องทานยาเลยคะ แต่ถ้ามาระยะหลังจากนั้น ก็อาจจะต้องทานยาร่วมด้วย

ซึ่งระยะเวลาที่รักษาขึ้นกับระยะเวลาที่ป่วยมาอีกด้วย

ผลตอบรับเมื่อทดลองเปิดใช้ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา

ดร.กลกรณ์ : ผลตอบรับในช่วงที่เปิดใช้ครั้งแรก ต้องยอมรับว่าได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด มีคนที่สนใจและเข้าร่วมการประเมินกับทางจับใจบอทเป็นจำนวนมาก และมีการแชร์เพจจับใจไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เพจจิตวิทยาคลินิคศิริราช เพจ Drama-addict และเพจอื่น ๆ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ ซึ่งทางทีมงานจับใจบอทก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนในงานชิ้นนี้ด้วยครับ ส่วนเรื่องคำแนะนำ ติชม นั้น ก็มีหลายหลายมาก ซึ่งตรงนี้ทางทีมงานก็ได้มีการทดสอบโดยให้ผู้ใช้ได้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้จับใจ ซึ่งคำแนะนำตรงนี้ทางทีมงานก็รับมาพิจารณาเพื่อพัฒนาตัวจับใจให้ดีขึ้นต่อไปครับ

ผลการวิจัยของทีมงานจับใจบอทพบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่พึงพอใจการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยการคุยกับจับใจบอท มากกว่าการตอบแบบสอบถาม และพบว่า "จับใจ" สามารถประเมินและคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้ดีพอๆ กับการคัดกรองด้วยวิธีมาตรฐานอีกด้วย / Photo : Jubjai Bot Facebook Page

คุณพณิดา: เรามีการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานเปรียบเทียบระหว่างการตอบแบบสอบถาม กับการคุยกับจับใจ คนส่วนใหญ่รู้สึกดีกับการคุยกับจับใจมากกว่า มีความเห็นว่าจับใจน่ารัก น่าคุยด้วย คุยแล้วสบายใจ อันนี้เป็นเพราะขั้นตอนการออกแบบ Conversation Flow เราคิดกันเยอะมาก เราคิดเผื่อทั้งในมุมของคนทั่วไป คนซึมเศร้า และมุมของนักจิตวิทยาเลยได้ออกมาเป็นจับใจ ที่ดูเป็นมิตรกับทุกคน

ช่วงเปิดการทดลองใช้งาน มีคนใช้มากกว่าที่คาด

ดร.กลกรณ์ :  ปัญหาที่พบช่วงทดลองใช้งาน คือมีคนมาใช้งานมากเกินความคาดหมาย นี่เป็นครั้งแรกที่ทุกคนทำงาน Scale ใหญ่ และ Real-time ขนาดนี้ ขนาดคิดว่าเตรียมตัวดีแล้ว แต่พอปล่อยจริงชั่วโมงแรกๆ พวกเราก็งงๆ เหมือนกัน แต่พอตั้งหลักได้ เราก็ผลัดกัน Monitor ดูว่ามี Error ตรงไหน แทบจะไม่ได้นอนกันเลย เพราะยิ่งดึกคนยิ่งเข้ามาใช้เยอะ คนที่เข้ามาทดลองใช้ก็น่ารักมาก พวกเค้ารู้ว่าเราทำกำลังทดลองระบบกันอยู่ นอกจากมาใช้ มาช่วยแชร์แล้ว พอเจอปัญหาของระบบเขาก็เข้าใจ แล้วก็ช่วยกันแจ้งพวกเรา ต้องขอบคุณจริงๆ ถ้าไม่มีพวกเขา ก็ไม่มีจับใจวันนี้

คุณพณิดา: เรื่องนึงที่เราทำได้คือสร้างปรากฏการณ์ทาง Social Media ช่วงที่ปล่อยจับใจ เป็นช่วงทีมีข่าวศิลปินดังฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า เราลองไปดู Feedback ใน Twitter หรือ Facebook ของกลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับของศิลปินนี้ จับใจบอทช่วยให้พวกเค้าได้ระวังว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือเปล่า เขามีการชักชวนกัน ให้มาคุยกับจับใจ จะได้รู้ว่าใครเสี่ยง ใครเศร้ามาก

อันนี้ถ้าจะมองว่าจับใจช่วยอะไร เราก็ถือว่าเราได้ช่วยสถานการณ์ตรงนั้น ที่เกิดขึ้นตอนนั้นพอดี ถือเป็นเรื่องที่ดีในช่วงวิกฤติ ถ้าพูดถึงสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป การปล่อยตัวจับใจบอทออกไป ทำให้คนตื่นตัวเรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้น และคนสองหมื่นกว่าคนที่มาใช้ในช่วงทดลองใช้งาน ก็ได้มาประเมินสภาพอารมณ์ของตัวเอง ในเฟสนี้ เราอาจจะยังไม่ได้ลดปัญหาโดยตรง แต่เรียกว่าเพิ่มดีกว่า เพราะเราเพิ่มโอกาสให้คนตระหนัก หรือเห็นปัญหาทางอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น จากการที่เราได้ Provide เครื่องมือในการประเมินสภาวะซึมเศร้าของเขา

Privacy หรือ ความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องสำคัญ

Techsauce ถามทางทีมงานจับใจบอทว่ามีผู้ใช้งานแชทบอทแล้วไปพบแพทย์แบบจริงจังมากน้อยแค่ไหน มีข้อมูลตรงนี้หรือไม่? ทางทีมงานจับใจบอทตอบว่า

ดร.กลกรณ์ : ตรงนี้ทางเรายังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด เนื่องจากตัวจับใจในเบื้องต้นเป็นการคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งในเบื้องจะเป็นการแนะนำบทความการดูแลตัวเองให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าครับ

คุณพณิดา: ในทางจิตเวช เราจะถือเรื่องความเป็นส่วนตัวและการรักษาความลับของผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่ง จับใจเองก็ยึดหลักการนี้เหมือนกัน เราเลยไม่มีการ track ไปว่าหลังจากคุยกับจับใจเนี่ย คนทีมีภาวะซึมเศร้าเค้าไปรักษาหรือเปล่า แต่ก็จะมีจากการคุยกันปากต่อปาก กับคนที่รู้จักๆ เช่น เพื่อนของเพื่อนของเพื่อน ก็มีมาบอกว่ามีบางคนตัดสินใจไปพบจิตแพทย์หลังจากคุยกับจับใจแล้วจับใจบอกว่ามีภาวะซึมเศร้า ซึ่งจริง ๆ แล้วต่อให้เป็นคนหรือสองคน เราก็ถือว่าคุ้มแล้ว ในแง่ของการรักษาชีวิตเค้าไว้

กลับมาเปิดให้ใช้พร้อมฟีเจอร์ใหม่ ๆ แล้ว

Jubjai Bot screenshot

ดร.กลกรณ์ : ช่วงที่ปิดการทำงานไปนี้ ทางทีมงานได้ทำงานอย่างหนักมาก เนื่องจากเราอยากให้ 'จับใจบอท' มีความน่าเชื่อถือเรื่องของการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วย ไม่ใช่แค่ว่าการพิมพ์ถามตอบเล่น ๆ ทั่วไป ทางทีมจึงนำหลักการทางด้านสถิติมาวิเคราะห์หาความเชื่อมั่นของการประเมิน แล้วผลสรุปก็ได้ตามที่ต้องการคือ การประเมินผลภาวะซึมเศร้าของจับใจนั้นได้ผลเช่นเดียวกับการประเมินผลของการใช้แบบทดสอบคำถาม (Questionaire) ที่ใช้ทดสอบในปัจจุบัน ทั้งนี้เรายังได้เพิ่มในส่วนของการแนะนำข้อมูล (Psychologist Recommendation) ให้กับผู้ที่ร่วมทดสอบกับจับใจด้วย ทั้งนี้การแนะนำข้อมูลนี้จะไม่ใช่การบำบัดโดยตรง เรายังคงแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและบำบัดให้ถูกวิธีต่อไป

ในส่วนทางด้านเทคนิค ทางจับใจได้รับความร่วมมือจาก Zwiz.AI เข้ามาช่วยดูในส่วนของ Framework ทำให้ จับใจ มีการทำงานที่ดีขึ้นด้วย ตรงนี้ก็ต้องของคุณทีมงาน Zwiz.AI ด้วยครับ

คุณพณิดา: เราเพิ่มส่วน Psychologist Recommendation ว่าคนที่มีภาวะซึมเศร้าระดับไหน ควรทำยังไง เป็นการให้ข้อมูล ให้ความรู้ และแนวทางปฏิบัติตัว แต่เรายังไม่ได้ลงไปถึงเรื่องของการบำบัด เพราะวัตถุประสงค์ของจับใจเป็นการประเมินเพือคัดกรอง ซึ่งเราคิดว่าในขั้นตอนนี้ Recommendation ที่เราให้ก็โอเคแล้ว อย่างน้อยทำให้เค้ารู้ว่าถ้ามีภาวะซึมเศร้าระดับนี้ ควรทำอย่างไรต่อไป

คุณกัญธิณี : อีกสิ่งที่เราปรับปรุงจะเป็นส่วน Infrastructure หรือ Framework ทั้งหมด เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานในปริมาณสูงได้ โดยได้รับความร่วมมือจาก Zwiz.AI ในการดูแล Framework ของ Chatbot ให้พวกเราคะ

ภาพคุณกัญธิณี ที่พัฒนาแชทบอทในเชิง Social Monitoring ที่ชื่อ TunTREND จนได้รับรางวัลในงาน Chatbot Hakathon 2017

ทิศทางของ 'จับใจบอท' ในอนาคต

ดร.กลกรณ์ : ณ ปัจจุบัน แชทบอท “จับใจ” ยังเป็นแค่เพียงการคัดกรองภาวะซึมเศร้าในแต่ละบุคคลที่เข้ามาใช้งาน ซึ่งในอนาคตทางทีมก็อยากจะสร้างระบบที่ครบวงจรมากขึ้น ทั้งการคัดกรอง การแนะนำ การบำบัด รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Tele-mental health เข้ามาช่วย ซึ่งตอนนี้ทางทีมก็กำลังสร้างเครือข่ายสำหรับการพัฒนาระบบนี้ให้ครบวงจร ก็มีการพูดคุยเชิญชวนนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ให้เข้าร่วมโครงการที่กำลังจะพัฒนาขึ้นครับ

พณิดา: อาจจะมีการทำ Chatbot เพื่อการบำบัด ซึ่งคงต้องใช้ทั้งทีม ทั้งเวลาที่มากกว่านี้

ดร. ยงยศ : นอกจากนี้เรายังมีแผนที่จะพัฒนา Platform สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าผ่าน Tele-mental health ซึ่งจะทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้คนในอย่างครบวงจรมากขึ้นครับ

อยากฝากอะไรเพิ่มเติมถึงผู้อ่าน ?

ดร.กลกรณ์ : อยากให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าใหม่ โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง ไม่ใช่โรคเครียด ไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วคุยกับใครไม่ได้ ซึ่งความเข้าใจกับคนที่มีภาวะโรคซึมเศร้านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยในทางปฏิบัติการรักษาบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้านี้สามารถทำให้หายได้ แต่ก็จะมีกระบวนการรักษาตามหลักจิตวิทยาที่เฉพาะเจาะจงไป ก็อยากจะฝาก Chatbot ที่ชื่อว่า 'จับใจบอท' ไว้กับทุกคนเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประเมินภาวะโรคซึมเศร้าของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนรู้ตัวในเรื่องของโรคซึมเศร้าของตัวเองตั้งแต่เริ่มๆ และทำการรักษาได้ทันท่วงทีครับ

ดร. ยงยศ : อยากจะฝากบอกว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายดีได้ ถ้าเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกวิธี แล้วคุณจะพบว่า ถึงแม้โลกใบนี้จะไม่สดใสนัก แต่รับรองว่าคุณจะได้พบกับโลกใบใหม่ที่จะไม่เลวร้ายสำหรับคุณอีกต่อไปครับ

คุณพณิดา : อยากจะขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมให้งานนี้สำเร็จนะคะ อีกเรื่องคือ นอกจากจะเชิญชวนให้มาคุยกับจับใจกัน ให้ชวนเพื่อน หรือคนในครอบครัวมาคุยกับจับใจ เพื่อจะได้คอยสังเกตตัวเองว่ามีภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า ก็อยากให้พยายามช่วยกันดูแลสุขภาพจิต พยายามทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตกันให้มากขึ้นด้วยค่ะ

คุณกัญธิณี : จะบอกว่าจับใจบอทเป็นผลงานที่ดิฉันทำในภาวะที่เราเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ ขนาด J.K. Rowling ก็เขียน Harry Plotter เสร็จเพราะเธอเป็นโรคซึมเศร้าเช่นกัน เราแค่จะฝากว่า “ถ้าเราทำได้ เธอก็ทำได้เช่นกัน”

วันนี้เราก็กล้าจะบอกว่าเราเป็นโรคซึมเศร้านะ แอบภูมิใจนิด ๆ ด้วย เพราะโรคซึมเศร้าทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น คิดจะทำประโยชน์ให้สังคมมากขึ้น และโรคซึมเศร้าก็ทำให้เราได้เห็นสิ่งดี ๆ ในชีวิตมากขึ้น รู้จักตัวเองและมีความสุขขึ้น เราทำให้เราแอบรู้สึกนะว่าโรคซึมเศร้าทำให้เราไปหาผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยฝึกใจเราให้เข้มแข็งมากขึ้น แล้วกลับมาตอบแทนสังคมและประเทศเรา

ที่สำคัญอยากบอกว่าทุกคนมีค่า มีความหมายกับพวกเราและจับใจเสมอ สุดท้ายขอขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน ๆ และทีมที่ดี ที่ฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยกัน

"ขอบคุณ Techsauce อีกครั้งที่เปิดโอกาสให้พวกเรานำเสนอผลงานหุ่นยนต์ตรวจจับภาวะซึมเศร้าด้วยภาษาไทย ผลงานคนไทย เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนคะ" คุณกัญธิณีกล่าวปิดท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...