เรียนรู้แนวทางเติบโตอย่างยั่งยืนกับกูรู พร้อมรู้จัก Moonshot Thinking แนวทางการกู้วิกฤตโลก | Techsauce

เรียนรู้แนวทางเติบโตอย่างยั่งยืนกับกูรู พร้อมรู้จัก Moonshot Thinking แนวทางการกู้วิกฤตโลก

ในปี 2050 มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.3 ล้านคน โดย 1 พันล้านคนจะมีอายุมากกว่า 65 ปี และสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น 60% แต่นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรด้านพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เท่ากับว่าเราจะต้องมีโลกถึง 3 ใบเพื่อรองรับความต้องการมหาศาลดังกล่าว วิกฤตความยั่งยืนจึงกลายมาเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องหันมาตระหนัก ใส่ใจ และลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับโลกใบนี้

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนา Global Business Dialogue 2019 ภายใต้หัวข้อ Designing New Growth model Towards Sustainability เพื่อเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับโมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจมีส่วนช่วยเกื้อหนุนระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติแล้ว ยังเอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย

Mr. Marc Buckley, Official United Nations SDGs Advocate, UN Resilient Futurist, Member of Expert Network for World Economic Forum, and Founder of ALOHAS Resilience Foundation, Germany กล่าวว่า การประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ (UN) ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ถือเป็น Moonshot Thinking ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในระดับโลกในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนทั้งในเชิงสังคม และสิ่งแวดล้อมที่โลกเผชิญอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2030

ปัจจุบัน Mr. Marc ยังจับมือกับผู้เชี่ยวชาญก่อตั้งมูลนิธิ Futur/io, Germany ในปี 2017 ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรระดับโลก เช่น Google , Microsoft, Siemens และ LEGO เพื่อเผยแพร่ความรู้แนวความคิด Moonshot for Sustainable แก่บรรดาผู้นำองค์กรต่างๆ ใช้ในการออกแบบอนาคตของธุรกิจที่เชื่อมโยงกับ SDGs ทั้งยังสามารถเติบโตและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยกระบวนการของ Moonshot Thinking จะเริ่มต้นจากการสร้างเป้าหมายแบบก้าวกระโดด กล้าระดมใส่ไอเดียร่วมกันแม้ไอเดียนั้นจะบ้าบิ่นแค่ไหนก็ตาม, สร้าง Prototype และทดลอง จากนั้นจึงเป็นการสื่อสารเรื่องราวออกไป

“Moonshot คือคำที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ส่งจรวดไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 1969 นั่นหมายถึงการคิดในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่เคยมีใครตั้งเป้าหมายแบบนี้มาก่อน โดยนำทรัพยากรต่างๆ ที่ไม่เคยถูกคิดค้นหรือนำมาใช้ก่อนหน้านี้ เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคไปให้ถึงจุดหมายนั้นๆ สำหรับผมแล้วเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ เวลานี้โลกกำลังต้องการ Moonshot Thinking มาร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้อของ SDGs ด้วยการผสมผสานหลักการสร้างความยั่งยืนและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้อย่างลงตัว เพราะโลกเราเริ่มขาดแคลนทรัพยากร แล้วขยะที่ถูกทิ้งไปก็ยังอยู่ในโลกเราอยู่ดี นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราต้องหันมาใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกภาคส่วน และเร่งคิดค้นนวัตกรรมมากู้วิกฤต และใช้ทรัพยากรที่ต่างไปจากเดิม พร้อมทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในเวลาเดียวกัน เหมือนอย่างที่องค์กรชั้นนำระดับโลกอย่างยูนิลีเวอร์ หรือเนสท์เล่ประสบความสำเร็จมาแล้ว”

ในเวที Global Business Dialogue 2019: Designing New Growth Model Towards Sustainability ยังมีกรณีศึกษาจากองค์กรชั้นนำของโลกที่มาเผยถึงโมเดลการทำงานที่ตอบโจทย์ SDGs ในมุมของตัวเอง

โดยคุณปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเนื่องจาก TU อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลจึงมีเป้าหมายการทำงานที่จะบรรลุข้อ 14 ของ SDGs ในเรื่องอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Life Under Water) แต่ในเวลาเดียวกันบริษัทก็ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นั่นจึงเป็นที่มาของฝ่ายสิทธิมนุษยชนในองค์กรแห่งนี้ โดยทำงานร่วมกับฝ่ายบุคคลและฝ่ายจัดซื้อ

ปัจจุบัน TU ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีโรงงาน 17 แห่งทั่วโลก มีการจ้างงานกว่า 49,000 คน ทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องทำงานร่วมกับเจ้าของเรือประมง และบริษัทจัดหาแรงงาน ทำให้ TU มีความผลักดันเรื่องการจัดหาแรงงานอย่างมีจริยธรรม (Responsible Recruitment) เช่นกัน

“TU มีเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก ผ่านกลยุทธ์ Sea Change ในด้านการทำทรัพยากรมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ผลักดันไม่ให้มีการจับปลามากเกินไป ห้ามการประมงผิดกฎหมาย มีการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่มีแรงงานภาคบังคับ โดยทำงานร่วมกับบริษัทจัดหาแรงงานที่จะต้องมีการจ้างแรงงานอย่างถูกตามกฎหมาย ด้านโรงงาน TU มีระบบจัดการลดการปล่อยคาร์บอน และใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล รวมถึงทำโครงการเพื่อรณรงค์เรื่องความสะอาดชายหาด และทำ Pre School ในบริเวณโรงงานให้กับบุตรหลานของพนักงาน”

คุณปราชญ์ แนะนำถึงวิธีคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า องค์กรควรหาประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตัวเอง และวางขอบเขตเลยไปถึงลูกค้าของตัวเองด้วยว่าเขาให้ความสำคัญในประเด็นไหน จากนั้นจึงเข้าไปสำรวจซัพพลายเชนในแต่ละระดับชั้น ทั้งระดับคอร์ปอเรทตลอดจนคู่ค้า ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือ หรือสนับสนุนทั้งงบประมาณและแนวทางเพื่อให้คู่ค้ามีกระบวนการทำงานไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนนอกขอบเขตของตัวเอง อาทิ จับมือกับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันเพื่อผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้นทั้งอุตสาหกรรม

“ที่ผ่านมา TU ได้มีการจับมือกับคู่แข่งในตลาดเพื่อให้แต่ละบริษัทมีศักยภาพตามมาตรฐานการรับรองจาก MSC (Marine Stewardship Council) นอกจากนี้เรายังทำงานร่วม Calysta บริษัทชั้นนำด้านไบโอเทคโนโลยีในการวิจัยโปรตีนทดแทนเพื่อผลิตเป็นอาหารกุ้ง จากเดิมอาหารกุ้งจำเป็นต้องใช้โปรตีนจากปลาจำนวนมากนำมาแปรรูปเป็นอาหาร วิธีนี้ก็จะช่วยลดทรัพยากรธรรมชาติไปได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการทำโครงการ Global Ghost Gear Initiative ทำกิจกรรมเก็บอุปกรณ์ประมงที่ถูกทิ้งลงในทะเล ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็น 70% ของขยะทะเลทั้งหมด”

และเพื่อสร้างความยั่งยืนควบคู่ไปกับสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ปัจจุบัน TU ยังมีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับการจัดซื้อแหล่งวัตถุดิบ จึงรู้ได้ว่าสัตว์ทะเลถูกจับบริเวณใด จากเรือลำไหน จับด้วยวิธีอะไร และมีการจ้างแรงงานแบบไหน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนครบในทุกมิติ

ในขณะที่หนึ่งในผู้นำบริษัทเคมีคอลอย่างอินโดรามา เวนเจอร์ส ก็ได้ร่วมแบ่งปันแนวทางการทำธุรกิจเช่นกัน ดร. ดีพัก พาริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทต้องการปูทางธุรกิจในอนาคตที่จะเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ระดับโลก จึงมีนโยบายในการหาโซลูชั่นการผลิตสินค้าที่ดีที่สุด และเชื่อว่า Mega Trend ที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนไปคือ “เทคโนโลยีชีวภาพ”

“ถ้าอยากจะอยู่รอดในโลกใบนี้ ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง เพราะนับวันพลังงานฟอสซิลมีแต่จะน้อยลง ถึงเราจะมีการพัฒนาพลังงานจากแร่ยูเรเนียม และพลุโตเนียมก็ตาม แต่วันหนึ่งมันย่อมหมดไป เราจึงให้ความสำคัญกับ Reuse ,Recycle และ Upcycling”

ทั้งนี้อินโดรามาทำโปรเจ็กท์ Up cycling ร่วมกับไนกี้ และจับมือกับโค้กเพื่อเปลี่ยนระบบซัพพลายเชนในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ในขณะเดียวกันบริษัทยังลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกรีไซเคิล โดยนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า จนไปถึงเฟอร์นิเจอร์ และมีโครงการ Waste Recycle Bank เข้ามาเชื่อมโยงในการทำงาน ส่วนด้านการผลิตเรามีการรีไซเคิลทรัพยากร ลดการใช้พลังงาน น้ำ และมีมาตรการตรวจวัดเพื่อลดการปล่อยมลพิษให้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการสะท้อนภาพการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนที่เกิดจากภาคเอกชน และย่อมจุดประกายให้องค์กรต่างๆ หันมาลงมือทำเพื่อรักษาโลกให้อยู่กับเรานานเท่านาน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...

Responsive image

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Key Messages เกี่ยวกับ Sustainability & ESG จากงานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ในโครงการ KATALYST by KBank โดย Beacon VC...