Startup ต้องรู้! 4 ผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลังแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ | Techsauce

Startup ต้องรู้! 4 ผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลังแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association) สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ตามที่ Techsauce ได้เคยรายงานข่าวเรื่อง ครม.เห็นชอบแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หนุนตั้งบริษัท Startup ในไทย ซึ่งในตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการแก้กฏหมาย ลองมาดูเนื้อหาประเด็นสำคัญที่กำลังถูกพูดถึงกันอยู่ว่ามีอะไรบ้าง

ข้อจำกัดของกฎหมายปัจจุบัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปัจจุบันนั้นยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้การประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพยังไม่มีความสะดวกดังที่ควร โดยในปัจจุบันมีหลายบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้ตัดสินใจเลือกจดทะเบียนบริษัทในประเทศสิงคโปร์ที่กฎหมายอำนวยความสะดวกมากกว่า สามารถสรุปข้อจำกัดตามประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • เงินกู้แปลงสภาพ (Convertible debt) – บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยไม่สามารถแปลงหนี้เป็นหุ้นโดยตรงได้ ทำให้ไม่สามารถออกเงินกู้แปลงสภาพซึ่งเป็นเครื่องมือการระดมทุนที่เป็นที่นิยมของบริษัทสตาร์ทอัพในการระดมทุนรอบเล็กหรือที่เวลาจำกัด โดยเฉพาะในกรณีการระดมทุนรอบเล็กก่อนระดมทุนด้วยหุ้นรอบใหญ่ถัดไป (Bridge round) โดยในปัจจุบันมีความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงในการทำสัญญาหลายฉบับประกอบกัน
  • ระบบการจัดสรรหุ้นพนักงานบริษัท (ESOP) – บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยไม่สามารถถือหุ้นตัวเองได้ รวมถึงไม่สามารถชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปทำการซื้อหุ้นของบริษัทหรือเสนอขายหุ้นให้พนักงานโดยไม่เสนอให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนได้ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งระบบการจัดสรรหุ้นพนักงานบริษัทรวมถึงเงื่อนไขการทยอยให้หุ้น (Vesting) ได้โดยสะดวก ส่งผลให้ผู้ประกอบการหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพได้ยาก หากไม่ใช่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกเริ่มของธุรกิจที่บริษัทยังไม่มีเงินทุนมากพอในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานในอัตราที่แข่งขันกับตลาดได้
  • หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred shares) – บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงบุริมสิทธิในหุ้นได้เมื่อมีการกำหนดออกมาแล้ว รวมถึงไม่สามารถแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้ ความไม่ยืดหยุ่นในการจัดการหุ้นบุริมสิทธินี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการถือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งมีข้อกำหนด (Term) ในการปกป้องนักลงทุนที่ดีกว่านั้นมีความสนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่น

ผลกระทบจากการแก้กฎหมายนี้

ผลกระทบจากกระบวนการแก้กฎหมายครั้งนี้ที่ผู้ประกอบการควรทราบได้แก่

1) ผู้ประกอบการจะสามารถมีทางเลือกการระดมทุนที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้วยเครื่องมือเงินกู้แปลงสภาพซึ่งมีกลไกที่เรียบง่ายและสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการระดมทุนด้วยหุ้น โดยเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักลงทุนหรือผู้ประกอบการมากกว่ากันนั้น ขึ้นกับการเจรจาข้อกำหนดเรื่องการแปลงหนี้เป็นหุ้นในแต่ละเงื่อนไขและเหตุการณ์ เช่น ส่วนลดราคาหุ้น (Discount) และ ราคาสูงสุดในการแปลงสภาพ (Valuation cap)

2) ผู้ประกอบการจะสามารถดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพได้มากขึ้น

โดยเฉพาะการจ้างพนักงานในระยะแรกเริ่มของธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะสามารถพิจารณาเสนอส่วนหนึ่งของผลตอบแทนพนักงานเป็นหุ้นของบริษัท ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าในอนาคต (ตามเงื่อนไขผลงานและอายุการทำงาน) ได้ นอกเหนือจากเงินเดือนปกติ การให้ส่วนหนึ่งของผลตอบแทนเป็นหุ้นนี้เป็นวิธีสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยู่ร่วมพัฒนาบริษัทให้เติบโตในระยะยาวเพื่อเพิ่มมูลค่าของหุ้นที่ทุกคนถือให้สูงขึ้น โครงสร้างผลตอบแทนรูปแบบนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้วว่าช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างบริษัทสตาร์ทอัพได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

3) ผู้ประกอบการจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่เอื้ออำนวยความยืดหยุ่นในการจัดการหุ้นบุริมสิทธิจะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการถือหุ้นบุริมสิทธิจะให้ความสนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในประเทศไทยมากขึ้น และบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดโครงสร้างและจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศอีก

4) ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรมีความเข้าใจในสิทธิของนักลงทุนจากหุ้นบุริมสิทธิที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับหุ้นสามัญในปัจจุบัน

สิทธิที่เพิ่มมานี้เป็นกลไกในการปกป้องนักลงทุนทั้งในกรณีที่บริษัทเติบโตได้ดีและกรณีที่บริษัทถดถอย โดยข้อกำหนดสำคัญที่ควรทราบคือ สิทธิในการได้รับเงินคืนก่อนหุ้นสามัญ (Liquidation Preference) ที่จะช่วยให้นักลงทุนได้รับเงินตอบแทนก่อน (และยอดรวมสูงกว่า) ผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเกิดการขายกิจการ และการปกป้องนักลงทุนจากการระดมทุนที่มูลค่าบริษัทลดลง (Anti-dilution) ที่ช่วยปกป้องสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิเมื่อบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้ลงทุนไปทำการระดมทุนรอบถัดมาที่มูลค่าบริษัทต่ำลง (Down round)

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association) สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...