ถอดบทเรียนการสานต่อธุรกิจสามรุ่น พลิกฟื้นของเสียให้เกิดมูลค่าด้วยเทคโนโลยี | Techsauce

ถอดบทเรียนการสานต่อธุรกิจสามรุ่น พลิกฟื้นของเสียให้เกิดมูลค่าด้วยเทคโนโลยี

ในยุคของคนรุ่น Baby Boomers และ Gen X เราจะเห็นธุรกิจของรุ่นพ่อที่ต่อยอดมาสู่รุ่นลูกกันหลายธุรกิจ คำถามคือในยุค Digital Disruption อย่างตอนนี้ ธุรกิจในลักษณะนั้นจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไร?

ในบทความนี้ Techsauce ได้มาคุยกับนักธุรกิจสองพ่อลูก คือคุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา และคุณตรรก พงษ์เภตรา ที่สานต่อธุรกิจโรงงานปาล์มมาตั้งแต่รุ่นก๋ง เรียกได้ว่าคุณตรรกเป็นรุ่นที่สามแล้ว โดยความน่าสนใจของธุรกิจที่เรามาคุยกันนี้ คือการนำ “นวัตกรรม” เข้ามาพลิกฟื้นธุรกิจที่โดน Disrupt มาโดยตลอด

ธุรกิจนี้ดำเนินมาถึงรุ่นที่สามแล้ว มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

คุณธนารักษ์ : เดิมทีคุณพ่อทำธุรกิจไม้ และยางพารา แต่แล้วก็มีโอกาสเห็นธุรกิจปาล์มน้ำมันที่มาเลเซีย ซึ่งปาล์มเป็นพืชเกษตรอุสาหกรรมและสามารถทำได้หลายอย่าง ทำให้มองเห็นโอกาสตรงนั้นแล้วเริ่มศึกษาเรื่องปาล์มน้ำมัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำโรงงานปาล์ม

คุณธนารักษ์ : เมื่อก่อนโรงงานอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กม. ปาล์มน้ำมันจะมีข้อเสียก็คือ เราเก็บต้นปาล์มมาจากสวน 100 ตัน แต่ผลิตน้ำมันปาล์มจริงได้แค่ 17-20 ตัน ที่เหลือเป็นของเสีย และมีน้ำเสียอีก 23 ตัน น้ำเสียขจัดการลำบากมาก ของเสียเรามีค่า BOD ประมาณ 30,000 การจะปล่อยลงแม่น้ำ ค่า BOD ต้องไม่เกิน 1,300 ซึ่งค่ามันเกินอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ปล่อยไม่ได้ โรงงานมาอยู่ก็มีปัญหาเรื่องกลิ่น เราจึงไปศึกษาดูจากมาเลเซียว่าเขามีการกำจัด เราศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งมาเลเซียก็ไม่มีเทคโนโลยีในการกำจัดของเสีย

พลิกฟื้นนำของเสียไปสร้างมูลค่าที่มีมูลค่า

คุณธนารักษ์เล่าต่อว่า เมื่อวิธีบำบัดแบบที่มาเลเซียไม่ได้ผล จึงนำของเสียที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แทน โดยทำ ทำโรงไฟฟ้า Bio Gas จากปาล์ม กำจัดกลิ่นโดยการเอาแก๊สไปใช้

เราทำให้คนงานมองว่าของเสียที่ได้มาเป็นโรงงาน โรงงานที่ผลิตไฟฟ้า ช่วงเวลาที่ผลิตไฟฟ้าขายมี 2 ช่วง คือช่วงที่ราคาสูงและราคาต่ำ เวลาปั่นก็ปั่นในช่วงที่มีความต้องการสูงจะได้ราคาดี และตอนนี้ใครๆ ก็ทำ Bio Gas หมด และมีอีกโครงการที่ทำต่อคือ โรงไฟฟ้า Bio mass แบบเผา ซึ่งเราต้องการนำของเสียมาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันสามารถนำของเสียมาใช้ต่อได้ 100%

ในตอนนี้ โรงไฟฟ้า Bio gas เราทำเองหมดเลย หมักเอง ซึ่งพวกเราเป็นวิศวกร ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านจุลินทรีย์ ถ้าเราทำได้ระบบมันจะดีกว่านี้ เราก็พยายามจะสนับสนุนด้านวิจัยให้มีคนมองสนใจในเรื่องจุลินทรีย์ ซึ่งเมืองไทยยังขาดเรื่องพวกนี้ ผมมองว่าคนไทยมีของเสียเรื่องการเกษตรเยอะ ฉะนั้นถ้าเรามีความรู้ความสามารถเรื่องพวกนี้มันน่าจะทำอะไรได้เยอะ จึงพยายามทำวิจัยเรื่องจุลินทรีย์ ในส่วนที่ขาด

สรุป Timeline การทำธุรกิจปาล์ม ตั้งแต่รุ่นก๋ง

คุณตรรก พงษ์เภตรา ซึ่งเป็นรุ่นที่สามของธุรกิจ ได้สรุปถึง Timeline ของธุรกิจปาล์มที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2518

2518 : เริ่มต้นในธุรกิจปลูกปาล์ม

2527 : ทำโรงงานปาล์ม

2553 : BIO GAS เป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องรายได้ เรื่องมูลค่าของของแต่ละอย่าง อย่างที่บอกคือมีปาล์ม 100 ตัน ขายได้ 20 ตัน ของเสีย 80 ตัน แต่ตั้งแต่มี Bio gas ขึ้นมา 30 % ที่เป็นน้ำเสียมีมูลค่าขึ้นมาทันที Product ก็กลายเป็น 50% จากนั้นก็มี BIO MASS ทำให้ในส่วน 50% ที่เหลือมี มูลค่าขึ้นมา ปัจจุบันนำของเสียมาใช้งานต่อได้ 100%

“เราถูก Disrupt มาตลอดทำให้เรารู้ว่าเรื่องของ Innovation มันมีค่าขนาดไหน”

แนวความคิด หรือ Mind Set ที่ทำให้เราปรับเปลี่ยนหรือเห็นโอกาส

คุณธนารักษ์ : อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีช่วงหนึ่งที่การแข่งขันสูงมาก มันมีความกดดัน ถ้าไม่เปลี่ยน เราแย่ จึงจำเป็นต้องหาองค์ความรู้ การมีความกดดันทำให้ต้องปรับตัว

คุณตรรก : เห็นด้วยกับคุณพ่อว่ามีความกดดันที่ต้องทำ เมื่อมีความกดดันเข้ามาเราก็ต้องปรับเปลี่ยนมาตลอด ไม่ได้รอให้แย่มาก พยายามจะเปลี่ยนมาตลอด มีที่มาของความรู้ ทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้นั้นๆ ได้

ได้ยินว่ามีการนำเทคโนโลยีจากอิสราเอลมาใช้งานด้วย?

คุณตรรก : ทางบริษัทตั้งแต่สมัยก๋ง ได้เคยนำน้ำหยดจากอิสราเอลมาทำที่ไทย ทำได้ 3-4 ปี แต่โครงการนั้นไม่สำเร็จ

คุณธนารักษ์  : ปัญหาของโครงการนั้นก็คือเรื่องแหล่งน้ำ ต้องไปสูบน้ำมาจากคลอง ซึ่งอยู่ไกลมาก เรื่องสูบน้ำอย่างเดียวต้นทุนก็เยอะพอสมควร ไม่เหมือนที่อิสราเอล เพราะท่อมาถึงหน้าสวน

คุณตรรก : เทคโนโลยีตัวหลักๆ ที่เรานำมาก็คือการใช้โดรน ซึ่งในเมืองไทยเราใช้โดรนถ่ายกันได้ง่ายๆ แต่พอถ่ายมาแล้วเราไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้มามันแปลว่าอะไร แต่ในอิสราเอล มีหลายบริษัทที่เค้าก็จะเอาภาพที่ได้มารวมกันแล้วบอกได้ว่าต้นไม้มันมีปัญหาอะไร ตัวอย่างเช่น ทำไมต้นตรงนี้จึงไม่สว่างเท่าตรงนี้ ซึ่งเค้าก็มีสถิติมากพอที่จะบอกได้ว่ามันหมายความว่าอะไร

“ปัญหาของการศึกษาบ้านเราต่างกับบ้านเค้าตรงที่ว่า ศาสตร์มันไม่รวมกัน บ้านเค้าคนทำการเกษตรกับคนทำเทคโนโลยีอยู่ด้วยกันตลอด แต่บ้านเราคนทำเกษตรกับคนทำเทคโนโลยีก็ต่างคนต่างอยู่ ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง คนทำเทคโนโลยีก็ไม่มีตัวอย่างการใช้งานจริงๆไปวิเคราะห์ ในส่วนนี้เราเห็นความต้องการเยอะ ถ้าเราทำได้มันจะประหยัดต้นทุนให้เราได้มากขนาดไหน”

คุณธนารักษ์ : คนทำโดรนหรือทำเทคโนโลยี ก็ไม่เคยคุยกับคนทำเกษตร ฉะนั้นข้อมูลจึงไม่มีอะไรมารวมกันได้

คุณตรรก : Innovation ในเมืองไทยด้านการเกษตรส่วนใหญ่จะไปเรื่องพืชไร่ เช่น น้ำตาลหรือข้าวโพดมากกว่า แต่ไม่ใช่สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มของเรา การบินโดรนเราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่อได้ ซึ่งเราก็พัฒนาบางตัวที่เราต้องการ เช่น พัฒนาเทคโนโลยีการนับต้นไม้ และตรวจสอบว่าต้นไม้ต้นไหนไม่ดี โดยที่ตอนนี้ยังเป็นการตรวจสอบด้วยคนอยู่ เราอยากได้เทคโนโลยีที่มันเฉพาะทางกับอุตสาหกรรมของเรา โดยเรามีเครือข่ายกับทางอิสราเอลอยู่แล้ว เราก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เมืองไทยขาดอะไร ถ้าจะทำธุรกิจเพื่อสนุบสนุนภาคธุรกิจ

คุณธนารักษ์ : ผมมองว่าคนไทยไม่ลงลึกในเรื่องการเกษตร นักศึกษาปริญญาโท ถ้าลงลึกก็จะไม่จบ ยกตัวอย่าง Smart Farming  จะเห็นว่าในต่างประเทศทำได้ดีกว่า เพราะเค้าลงรายละเอียดลึกกว่าเรา

คุณตรรก : คนทำ innovation ไม่ได้เข้าใจอุตสาหกรรมนั้นจริงๆ เราก็เห็นว่า Startup หลายๆ ตัว คิดว่าจะทำอะไรขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ได้ไปถามคนซื้อ หรือว่ายังไม่ได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงว่าปัญหาเกิดจากอะไร เขาจะหยุดแค่เค้ารู้ว่านี่คือปัญหา แต่ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหานั้นจริงๆ เหมือนกับการที่เราทำวิจัยกับมหาวิทยาลัย เข้ามาแค่ช่วงที่มีทุน แต่เค้าไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เรื่อยๆ  ไม่เหมือนกับเอกชนที่ทำมาเรื่อยๆ เรารู้ว่าปัญหาคืออะไร แต่ทางนักวิจัยของบ้านเราไม่ได้มีเวลามาอยู่กับมันทั้งปี มันทำให้ innovation เกิดขึ้นยาก ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะมีการต่อต้าน innovation ขึ้นมาว่า ก็ทำแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย

นิยาม Digital Transformation

คุณธนารักษ์: การพยายามหาเทคโนโลยีและทำให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมเห็น Digital Transformation มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราก็เลยไม่เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเป็นอุปสรรค เราสามารถไปกับมันได้ อย่างเรื่องของการเกษตรเราก็พยายามทำ Controlling Management โดยใช้เรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

วิธีที่ใช้ในการวัดผล Innovation

คุณตรรก: คนทำ KPI ต้อง Set กันก่อนที่จะเริ่ม บางโครงการที่เราไม่ได้ Set ก่อนเริ่มเราจะเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า เราไม่รู้จะทำอะไรต่อ ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี อย่างแรกคือต้อง Set ก่อนเลยว่าเทคโนโลยีต้องดีได้ขนาดไหน ถึงเราจะนำมาใช้ จะได้ทำให้ได้ตามที่ตั้งไว้ เช่น ตั้งไว้ 4 ตัว ถ้าผ่าน 3 ใน 4 ก็แสดงว่าน่าจะนำมาใช้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่อุตสาหกรรมด้วย

คุณธนารักษ์: ต้องเห็นคำตอบก่อน เพื่อที่จะได้มองต่อไปว่ามันคืออะไร ถ้ามีความเชี่ยวชาญอยู่ในตัวก็สามารถไปต่อได้ มองความต้องการว่าเราต้องการอะไร

อะไรคือ Secret Sauce ที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

คุณธนารักษ์: Logical Thinking สามารถคำนวณทุกอย่างเป็นตัวเลขได้ ประเมินเป็นตัวเลข เรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมาแล้วเอามาต่อยอด

คุณตรรก: คล้ายๆ กัน ถ้าเห็นเป็นตัวเลขก็คุยกันง่าย ถ้าเป็นเรื่องความรู้สึกมันเถียงกันไม่จบ เราทำตามสมมติฐานรุ่นก่อนๆ ที่ทำมา ทำให้ดีขึ้นเพราะเค้าก็ทำมาดีแล้ว ถ่ายทอดความรู้ด้วยการคุยกัน

และในดำเนินการตามรอยตั้งแต่ยุคของคุณปู่ เรา “รู้จริง ทำจริง”

“สิ่งสำคัญคือเราไม่กลัวที่จะเจอกับการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลากับธุรกิจที่ผ่านมา แล้วเราก็พร้อมที่จะคิด หาวิธีการ หาทางออกที่จะดำเนินธุรกิจให้ไปต่อ”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...