บุกศูนย์นวัตกรรม Blockchain ของ IBM ที่สิงคโปร์พร้อมกรณีศึกษาการใช้งานจริง | Techsauce

บุกศูนย์นวัตกรรม Blockchain ของ IBM ที่สิงคโปร์พร้อมกรณีศึกษาการใช้งานจริง

ในงาน Krungsri Consumer Innovation Press Trip ที่สิงคโปร์ จัดโดยบริษัท Krungsri Consumer  ทีมกองบรรณาธิการ techsauce มีโอกาสได้เยี่ยมชมบริษัทชั้นนำมากมายที่นั่น หนึ่งในบริษัทที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก่อนเป็นรายแรก คือ IBM ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีโซลูชั่น แม้อายุอานามจะเข้าสู่ปีที่ 106 เข้าไปแล้ว ฝ่าคลื่นกระแสการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีมาหลายยุคหลายสมัย และถือเป็นบริษัทที่ต้องยอมรับว่าปรับตัวเก่งและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีมาโดยตลอด เมื่อยุคนี้ที่ใครๆ กำลังให้ความสนใจเรื่อง AI, Machine Learning และ Blockchain IBM ก็มีโซลูชั่นนำเสนอให้กับลูกค้าแทบทั้งสิ้น

ครั้งนี้เราไปเยี่ยมชมบริษัท IBM ที่ประเทศสิงคโปร์ และที่น่าสนใจคือ ที่นี่ถูกรับเลือกให้เป็นศูนย์ IBM Center for Blockchain Innovation: ICBI ตั้งอยู่ใกล้ๆ บ้านเราเอง และได้รับการสนับสนุนจากแบงค์ชาติของสิงคโปร์

เทคโนโลยี Blockchain ความสำคัญและประโยชน์

แม้ Blockchain จะถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในบ้านเราตั้งแต่ปีก่อน แต่ก็ยังมีคนที่เข้าใจเรื่องนี้อยู่น้อยมาก ครั้งนี้ IBM จึงสรุปเนื้อหาสำคัญมาให้ผู้อ่านของเราได้ทำความรู้จักและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีตัวนี้กันอีกครั้ง

  • Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนโลกอีกครั้งหนึ่ง เฉกเดียวกับเมื่อครั้งที่อินเตอร์เน็ตเข้ามาพลิกรูปแบบการทำธุรกิจในอดีต
  • จากรายงานของ Gartner มูลค่าเพิ่มที่ Blockchain จะก่อให้เกิดสำหรับธุรกิจทั่วโลกจะสูงถึงกว่า 6 ล้านล้าน บาท ($176 billion) ในปี พ.ศ. 2568 และสูงถึงกว่า 108 ล้านล้านบาท ($3.1 trillion) ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งการเติบโตลักษณะนี้เป็นแพทเทิร์นที่มักเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ (emerging technology) ที่สำคัญๆ แม้ตอนนี้อาจยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิ่งที่นักคาดการณ์พูดถึงนั้นเป็นจริงแค่ไหน แต่ถ้ามันสร้างผลกระทบได้ขนาดนี้จริงๆ แล้วหล่ะก็ Blockchain จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิวัติหลายภาคธุรกิจเลยทีเดียว

  • ปัจจุบันบริการ Blockchain ของไอบีเอ็มได้รับการจัดอันดับโดย Juniper Research ให้เป็นอันดับ 1 ของโลก และไอบีเอ็มยังสนับสนุนโครงการ Hyperledger เพื่อเร่งให้เกิดการนำ Blockchain มาใช้งานภายในองค์กรให้เร็วที่สุด
  • คุณประโยชน์หลักของเทคโนโลยี Blockchain ไม่ว่าจะสำหรับงานบริการทางการเงินหรืองานด้านอื่นๆ คือ  ข้อมูลที่อยู่บน Blockchain นั้น จะสามารถไว้ใจได้และตรวจสอบย้อนหลังได้เสมอ สามารถกำหนด privacy และ confidentiality ได้  Blockchain จะทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากความยุ่งยากซับซ้อนอันเกิดจากการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย การส่งต่อข้อมูล เอกสารที่เป็นกระดาษ กระบวนการหลายขั้นตอน หรือระยะเวลาในการทำข้อตกลงที่มักจะยาวนานถึง   20 วันหรือมากกว่านั้น สู่การเก็บข้อมูลอ้างอิงแบบเรียลไทม์ มีการตรวจสอบ และแชร์ข้อมูลให้เฉพาะบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงเป็นระบบข้อมูลจริงที่มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ Blockchain  จะทำให้การดำเนินการที่กินเวลาและใช้ต้นทุนสูงหมดไป มีการตรวจสอบความถูกต้องหรือประวัติเครดิตและติดตามได้ในทันที สร้างความเชื่อถือและความโปร่งใสให้กับข้อมูลและธุรกรรมต่างๆ ซึ่งทำให้ธุรกรรมที่ผิดพลาดหรือการฉ้อโกงหมดไป พร้อมกับต้นทุนการทำธุรกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับระบบการทำธุรกรรมแบบเดิม

  • เมื่อข้อมูลการทำธุรกรรมใหม่ๆ ที่ได้รับการจัดเก็บบนบล็อคเชนสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในหลายแง่ อาทิ การระบุตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า (KYC) การเสริมประสิทธิภาพของ Ecosystem ด้านการขนส่ง การตรวจสอบเส้นทางของสินทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างเช่นในขณะที่สินค้าระหว่างทางได้รับการตรวจผ่านที่ด่านศุลกากรและท่าเรือ องค์กรต่างๆ ก็จะทราบถึงสถานที่ของสินค้าของตนตามเวลาจริง หรือสามารถพิสูจน์แหล่งกำเนิดเพื่อป้องกันมิให้เซมิคอนดักเตอร์ปลอมหลั่งไหลเข้าสู่ตลาด ข้อดีเหล่านี้นำสู่การลดต้นทุนและเวลา การลดความเสี่ยง การเพิ่มความสามารถในการมองเห็นข้อมูลเดียวกันร่วมกันซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถไว้วางใจในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น

11 กรณีศึกษาการนำ Blockchain มาใช้ในธุรกิจการเงิน ธนาคาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน

  • China UnionPay E-payment Research Institute ได้ร่วมกับ IBM ในการพัฒนาระบบสำหรับการแลกเปลี่ยน Bonus Point ระหว่างธนาคารต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแลก Point ที่มีกับธนาคารใดก็ได้ โดยรูปแบบบริการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและมีต้นทุนสูงหากพัฒนาขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีแบบเดิมๆ แต่การใช้ Blockchain ทำให้บริการดังกล่าวสามารถ integrate เข้ากับทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บัตร China UnionPay สามารถแลกเปลี่ยน Bonus Point เป็นสินค้าต่างๆ ได้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างต่างๆ ภายในไม่กี่ขั้นตอน โดยในอนาคตคาดว่าจะมีการผนวกรวมให้ผู้บริโภคสามารถแลกพอยท์จากไมล์สะสมจากการเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าแก๊ส หรือการซื้ออาหาร-เครื่องดื่มต่างๆ ได้ด้วย
  • ธนาคารชั้นนำ 6 แห่งในแคนาดาได้ร่วมมือกันสร้างบริการในการระบุตัวตน (identity service) ในโลกดิจิทัล ซึ่งลูกค้าของทางธนาคารสามารถใช้บริการนี้เพื่อเปิดบัญชีกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ผู้ให้บริการมือถือ หรือระบบสาธารณูปโภค ธนาคารต่างๆ ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่ออนุญาตให้ผู้อื่นสามารถใช้คีย์ในการระบุตัวตน (identity key) เมื่อลูกค้าใช้งานข้อมูลระบุตัวตนในระบบดิจิทัลที่สถาบันต่างๆ นอกอุตสาหกรรม ทางธนาคารก็จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แพลตฟอร์มนี้ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย กล่าวคือ สะดวกสำหรับการใช้งานโดยบุคคล สร้างกระแสรายได้ให้แก่ธนาคารที่เข้าร่วม และเป็นวิธีการยืนยันตัวตนและประวัติของลูกค้าใหม่หรือองค์กรอื่นๆ บนแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่บริการนี้ผ่านการทดสอบในปลายปี 2017 นี้ ผู้บริโภคชาวแคนาดาจะสามารถเลือกเข้าร่วมในเครือข่ายการระบุตัวตนบนพื้นฐานของบล็อกเชนโดยใช้แอปฯ บนมือถือ
  • ห้าง Walmart ในประเทศจีนได้ร่วมกับไอบีเอ็มในการนำ Blockchain มาใช้ในการบันทึกข้อมูล เช่น รายละเอียดของฟาร์มที่ผลิต อุณหภูมิการจัดเก็บ ข้อมูลขนส่ง วันหมดอายุ เป็นต้น เพื่อติดตามเนื้อหมูทั่วทั้งซัพพลายเชนจากฟาร์มสู่ผู้บริโภค และเพื่อให้สามารถติดตามที่มาของเนื้อหมูในกรณีที่เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหาร

  • ล่าสุดบริษัทอาหารชั้นนำระดับโลก ประกอบด้วย Dole, Driscoll’s, Golden State Foods, Kroger, McCormick and Company, McLane Company, Nestlé, Tyson Foods, Unilever และ Walmart ยังได้ประกาศความร่วมมือกับ IBM ในการแสวงหาแนวทางใหม่ในการนำ Blockchain มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยของระบบซัพพลายเชนอาหาร โดยเฉพาะการตรวจสอบที่มาของอาหาร
  • เจแปนเอ็กซ์เชนจ์กรุ๊ป (JPX) ได้ร่วมกับ IBM ในการทดสอบการนำ Blockchain มาใช้ในการซื้อขายหุ้นในกลุ่มบริษัทที่มีสภาพคล่องต่ำ เพื่อความปลอดภัยในการซื้อ-ขาย ลดต้นทุน ลดความซับซ้อน และเพิ่มความเร็วของกระบวนการในการซื้อ-ขาย
  • Postal Savings Bank of China (PSBC) ได้เปิดตัวบริการดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินบนเทคโนโลยี Blockchain ของ IBM ซึ่งช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถแชร์ข้อมูลกันได้แบบเรียลไทม์ ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนในการตรวจสอบเครดิต และลดกระบวนการต่างๆ ลงได้ 60%-80%
  • Northern Trust จับมือ IBM พัฒนาเทคโนโลยี Blockchain สำหรับการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (private equity) เพื่อเพิ่มความโปร่งใส ความปลอดภัย และประสิทธิภาพให้แก่การซื้อ-ขายหุ้นในกลุ่มดังกล่าว รวมถึงลดต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินงานที่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายและเอกสารมากมาย โดยถือเป็นระบบ Blockchain แบบคอมเมอร์เชียลระบบแรก

  • Everledger ร่วมกับ IBM ในการนำ Blockchain มาใช้กับระบบ global certification ที่ใช้ติดตามเพชร ชิ้นงานศิลปะ และสินค้าหรูหราต่างๆ ตลอดทั้งซัพพลายเชน เพื่อให้สามารถระบุที่มาของสินค้าเหล่านี้ และปกป้องซัพพลายเออร์ ผู้ซื้อ ตลอดจนผู้ให้บริการขนส่งจากการโจรกรรม ปลอมแปลง หรือการคอร์รัปชั่นรูปแบบต่างๆ  บันทึกการขนส่งเพชร
  • กลุ่มบริษัทมหินธรา ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียได้เริ่มพัฒนาใช้ Blockchain กับกิจกรรมด้านการเงินในระบบซัพพลายเชน เพื่อร่นระยะเวลาการดำเนินการในส่วนของ invoice discounting ซึ่งถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่ยาก ช้า และเสี่ยง โดยที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายต้องเก็บข้อมูลบัญชีและอัพเดทข้อมูลต่างๆ แบบแมนวล และความผิดพลาดที่เกิดระหว่างกระบวนการมักนำไปสู่การชำระเงินล่าช้าและไม่สามารถคาดการณ์เงินทุนของบริษัทได้
  • ซีแอลเอสกรุ๊ป (CLS) ผู้ให้บริการด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติการเกี่ยวกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระดับโลกได้ร่วมกับ IBM ในการพัฒนาบริการ payment netting service เพื่อลดปัญหาการขาดมาตรฐานของกระบวนการ payment netting ในการซื้อขายระหว่างสถาบันที่อยู่นอกเหนือ settlement service ของซีแอลเอส ที่มักนำสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นและปริมาณความต้องการเงินสดระหว่างวันที่เพิ่มขึ้น โดยมีสถาบันการเงินชั้นนำต่างๆ ที่พร้อมเข้าร่วมใช้งานเมื่อบริการแล้วเสร็จ อาทิ Bank of America, Bank of China - Hong Kong, Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Citibank, Goldman Sachs, Goldman Sachs Asset Management, HSBC, JPMorgan Chase และ Morgan Stanley เป็นต้น
  • Maersk ผู้นำระดับโลกด้านการขนส่งและระบบลอจิสติกส์ ได้จับมือกับ IBM ในการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Blockchain ที่เชื่อมต่อ Ecosystem ของซัพพลายเชนของตน ซึ่งประกอบด้วยบริษัทขนส่ง ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เรือสินค้า ท่าเรือ และหน่วยงานศุลกากร ผลที่ได้ไม่เพียงแค่ช่วยลดต้นทุนสินค้าสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ใช้จำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงการซื้อขายทั่วโลกได้ ทั้งในประเทศเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว

  • FreshTurf Startup จากสิงคโปร์ทำงานร่วมกับ IBM Bluemix Garage จนพัฒนาเป็นระบบที่ใช้ Blockchain ในการแทร็กการจัดส่งสินค้าแบบ last mile ในสิงคโปร์

ศูนย์นวัตกรรม Blockchain ของ IBM อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลที่สิงคโปร์นี่เอง

ในปี พ.ศ. 2559 IBM ได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมบล็อกเชนไอบีเอ็ม (IBM Center for Blockchain Innovation: ICBI) ขึ้นที่สิงคโปร์กลางปี 2016 โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานผู้กำกับดูแลด้านการเงิน (Monetary Authority of Singapore: MAS) และคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board: EDB) โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาในการพัฒนาโซลูชั่นบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Blockchain Cyber-Security Cognitive Computing  พร้อมสนับสนุนองค์กรขนาดกลางและเล็กโดยเฉพาะในด้านการค้าและการเงิน และร่วมสร้างทักษะในด้านที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ กับหน่วยงานต่างๆ ในปัจจุบัน อาทิ

  • ความร่วมมือกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลด้านการเงินและธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์ในการพัฒนาโซลูชั่นการค้าบนเทคโนโลยี Blockchain เพื่อเสริมศักยภาพกระบวนการและการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ
  • การร่วมมือกับท่าเรือ PSA สิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าเรือการถ่ายลำคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างอิโคซิสเต็มและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในด้านการค้าที่จะดึงดูดการลงทุนจากหน่วยงานด้านการค้าและการเงินระดับโลก
  • ความร่วมมือกับ National University of Singapore (NUS) ในสร้างคอร์สเรียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain และเทคโนโลยี Distributed Ledger ให้กับนักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ในภาควิชาและนักวิจัยของศูนย์นวัตกรรมบล็อกเชนไอบีเอ็ม ด้วยเนื้อหาที่เน้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและการนำไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่การสร้างสกุลเงินดิจิทัล การจัดการซัพพลายเชน ไปจนถึงการนำไปใช้ในธนาคารโดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนต้นปี พ.ศ. 2561 นี้

นอกจากนี้  IBM ยังได้จับมือกับ Baruch College, Fordham University, University of Arkansas, University at Buffalo และ University of British Columbia เพื่อสร้างหลักสูตรทางด้าน Blockchain พร้อมทั้งเปิดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านเว็บ IBM Academic Initiative  โดยผู้ที่ผ่านหลักสูตรจะได้รับ Badge รับรองอีกด้วย

ขอขอบคุณบริษัท Krungsri Consumer กับการพาเยี่ยมชมงานดีๆ ในครั้งนี้และเตรียมติดตามบทความความรู้จากการเยี่ยมชมบริษัทถัดไปได้ในตอนที่ 2 อย่าลืมติดตามกันเช่นเคย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...