เด็กจบใหม่ ตกงาน ล้นตลาด จากพิษ COVID-19 | Techsauce
เด็กจบใหม่ ตกงาน ล้นตลาด จากพิษ COVID-19

มกราคม 21, 2021 | By Connext Team

เมษายนที่ผ่านมา เด็กจบใหม่อย่าง Brian Chee ดูจะมีอนาคตการทำงานที่สดใสและชัดเจน เมื่อบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เคยฝึกงาน เสนอตำแหน่งงานประจำให้กับเขา และกำลังจะเริ่มงานในอีกไม่กี่สัปดาห์ 

แต่ทว่า ชีวิตของเขากลับไม่ง่ายเช่นนั้น เมื่อเขาพบว่า ข้อเสนอของเขากลับถูกเลื่อนพิจารณา เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่เป็นผลให้องค์กรมากมาย เลื่อนพิจารณาการรับสมัครบุคลากรใหม่ เขาเฝ้ารอคำตอบจากทางบริษัทอย่างใจจดใจจ่อ แต่ทุกครั้ง คำตอบที่ได้รับ คือ ‘รอการพิจารณา’ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 3 เดือน เขาตัดสินใจสอบถามผลการพิจารณาตำแหน่งของเขาเป็นครั้งสุดท้าย และเมื่อคำตอบยังคงเป็นรอการพิจารณา เขาตัดสินใจที่จะละทิ้งงานที่เขาใฝ่ฝันไป

อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำให้เขากดดันและเริ่มหางานอย่างจริงจังอีกครั้ง เขาส่งใบสมัครไปมากกว่า 30 แห่ง ภายในสัปดาห์แรกที่เขาเริ่มสมัครงาน ถึงกระนั้น แม้ว่า เขาจะส่งใบสมัครไปเป็นจำนวนมาก แต่ทุกตำแหน่งงาน ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเรียนมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านสุขภาพ หรืออุตสาหกรรมยา นอกจากนั้น เขายังพิจารณาถึง ตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ทำงานอีกด้วย

จนกระทั่งในที่สุด เขาก็ได้รับข้อเสนองานในตำแหน่ง Clinical study coordinator จากบริษัทผลิตและพัฒนายา Covance เพื่อสนับสนุนงานวิจัย และอุตสาหกรรมยา เป็นเวลา 1 ปี และถึงแม้จะไม่ใช่งานประจำที่มุ่งหวัง แต่อย่างน้อย เขาก็ยังมีงานทำและสามารถหาเลี้ยงชีพต่อไปได้

เรื่องราวของ Brian Chee เป็นเพียงตัวอย่างชีวิตของเด็กจบใหม่มากมาย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ในสิงคโปร์ พวกเขาต่างต้องยอมละทิ้งความฝัน และทำงานที่ไม่ได้อยากทำ เพียงเพื่อดิ้นรนเอาชีวิตรอด ยิ่งกว่านั้น ตำแหน่งงานสำหรับเด็กจบใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังสร้างความกดดันให้กับผู้ว่างงานมากขึ้นอีกด้วย คาดการณ์ว่า หากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยังคงเพิกเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่จะย่ำแย่ลงอีก จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทางสังคม ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในที่สุด

มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่ออัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ ซึ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ เร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาและเยียวยานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบในระยะแรก ผ่านโครงการส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐ ที่มีชื่อว่า ‘the SG United Jobs and Skills Package’ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างงานให้กับชาวสิงคโปร์ มากกว่า 100,000 ตำแหน่ง และในจำนวนนี้ มีตำแหน่งฝึกงาน ซึ่งเปิดโอกาสสำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังมองหางาน อีกกว่า 25,000 ตำแหน่ง ยิ่งกว่านั้น ระหว่างการฝึกงาน ในโครงการ ‘the SG United Jobs and Skills Package’เด็กจบใหม่ จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการระหว่าง S$1,800 จนถึง S$2,500 โดยที่กว่า 80% ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

นอกจาก โครงการ ‘the SG United Jobs and Skills Package’ จะเปิดโอกาสให้เด็กจบใหม่ ได้รับประสบการณ์การทำงานที่ดีและสามารถเลี้ยงชีพตนเองได้แล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากเด็กจบใหม่ที่จะหายไปในอนาคตอีกด้วย

Adrian Choo ผู้ก่อตั้งสถาบันที่ปรึกษาด้านอาชีพ Career Agility International อธิบายไว้ว่า ช่วงปี 1998-2003 ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้องค์กรธุรกิจมากมายเลื่อนพิจารณาการรับบุคลากรใหม่ เพื่อตัดงบประมาณค่าใช้จ่ายภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผลที่ตามมา คือ การขาดแคลนบุคลากรระดับ Middle Management ที่ไม่สามารถขึ้นมาทดแทนบุคลากรรุ่นเก่าภายในองค์กรได้ ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น จะช่วยป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา

แรงสนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษา

นอกจากมาตรการเยียวยาจากภาครัฐแล้วนั้น  สถาบันอุดมศึกษาของสิงคโปร์ ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นจาก ความร่วมมือระหว่าง Singapore Management University (SMU)  National University of Singapore (NUS) และ Nanyang Technological University (NTU) ในการจัดตั้ง ‘Virtual Career Fair’ ซึ่งถือเป็นมหกรรมการหางานครั้งใหญ่ เพื่อให้นักศึกษามีงานรองรับหลังจบการศึกษา

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยชั้นนำของสิงคโปร์ ยังสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา เพื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ทั้งการเปิดคอร์สอบรมออนไลน์ สำหรับการเขียน Resume และการสัมภาษณ์งาน การแนะแนวเส้นทางอาชีพ ที่จะช่วยให้นักศึกษาวางแผนการทำงานในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น รวมไปถึงการอบรมทักษะด้านอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานโลกอนาคตอีกด้วย

ท้ายที่สุด หากนักศึกษายังไม่สามารถหางานได้ตามต้องการ สถาบันอุดมศึกษา ยังเปิดรับสมัครงาน ทั้งตำแหน่งงานประจำ และตำแหน่งฝึกงาน ให้กับนักศึกษาในสังกัดด้วย เช่น National University of Singapore (NUS) ที่เปิดรับสมัครงานประจำและฝึกงานรวมกว่า 1,000 ตำแหน่ง และ Ngee Ann Polytechnic (NP) ที่ให้โอกาสเด็กจบใหม่ ทำงานร่วมกับสถาบันกว่า 200 ตำแหน่ง ซึ่งในขณะนี้ มีผู้สมัครงานแล้วกว่า 50% ของจำนวนตำแหน่งที่เปิดรับ

ปัญหาเรื้อรังระยะยาว จาก COVID-19 ?

แม้ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ จะสามารถเอาชนะความท้าทายระยะสั้น และแก้ไขปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมองในระยะยาว ปัญหาเรื่องรายได้เฉลี่ยตกต่ำจากพิษเศรษฐกิจ อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับสิงคโปร์ได้

จากการศึกษาและวิจัยของ Philip Oreopoulos, Till Von Wachter และ Andrew Heisz ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก บัณฑิตจบใหม่จากแคนาดา ที่เริ่มทำงานช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ 1980s และ 1990s  พบว่า  เด็กจบใหม่ ที่เริ่มทำงานในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีเงินเดือนเริ่มต้นน้อยกว่าถึง 9% เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กจบใหม่ ที่เริ่มทำงานในสภาวะปกติ เนื่องจาก องค์กรธุรกิจมากมาย จำเป็นต้องกดฐานเงินเดือนให้ต่ำลง เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ รวมไปถึงการทำงาน ที่อาจจะไม่เหมาะสมกับทักษะความสามารถ (แต่จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด) ทำให้เด็กจบใหม่ต้องเปลี่ยนงานอยู่บ่อยครั้ง จนส่งผลต่อการเติบโตของฐานเงินเดือน นอกจากนี้ ผลการศึกษายังบ่งชี้อีกว่า ปัญหาเรื่องรายได้เฉลี่ยตกต่ำ อาจตกค้างอยู่ในกระแสสังคมนานนับ 10 ปี

ในขณะที่ งานวิจัยจาก Ministry of Trade and Industry (MTI) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก บัณฑิตจบใหม่ ที่เริ่มทำงานช่วงปี 2000-2007 พบว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จะทำให้รายได้เฉลี่ยของบัณฑิตจบใหม่ลดลง อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่สภาวะเช่นนี้จะหมดไปภายใน 3 ปี ยิ่งกว่านั้น เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะยังคงแข็งแกร่งมากพอ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารายได้เฉลี่ยตกต่ำ

นอกจากนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม แสดงความคิดเห็น ที่ขัดแย้งกับผลการวิจัยจาก Ministry of Trade and Industry (MTI) อย่างสิ้นเชิง โดยพวกเขากล่าวว่า ผลการวิจัยจาก Ministry of Trade and Industry (MTI) อ้างอิงข้อมูลจากเศรษฐกิจของต่างประเทศ ในขณะที่ เศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

สภาพทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ มีลักษณะที่ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหารายได้เฉลี่ยของเด็กจบใหม่ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ เป็นเพียงวัฎจักรทางเศรษฐกิจ ที่เป็นผลมาจาก ความต้องการแรงงานในตลาดลดลง หากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ รายได้เฉลี่ยของเด็กจบใหม่ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาดเช่นเดิม

ความคิดเห็นที่แตกต่าง ในประเด็นที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จะส่งผลกระทบต่อรายได้เฉลี่ยของเด็กจบใหม่มากน้อยแค่ไหน? และเป็นระยะเวลานานเท่าใด? ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในสังคมสิงคโปร์ปัจจุบัน แต่ไม่ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร การเตรียมความพร้อมรับมือถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ภาครัฐควรให้ความสนใจ เพื่อให้เด็กจบใหม่ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขที่สุด

อ้างอิง: CNA

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่

No comment