จะดีแค่ไหน ถ้าตรวจเลือดแล้วรู้ถึงความผิดปกติในร่างกายภายใน 3 นาที ด้วยอุปกรณ์พกพาที่ชื่อ ‘WELSE’ | Techsauce

จะดีแค่ไหน ถ้าตรวจเลือดแล้วรู้ถึงความผิดปกติในร่างกายภายใน 3 นาที ด้วยอุปกรณ์พกพาที่ชื่อ ‘WELSE’

Pain Point เกี่ยวกับการเข้าถึงการตรวจโรคยังพบได้มากในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เด็กวิศวะกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงคิดค้นอุปกรณ์พกพาเพื่อตรวจโรคเบื้องต้นที่ชื่อ ‘WELSE’ และกำลังจะนำไอเดียกับ Prototype นี้ไปเป็นตัวแทนของภูมิภาค แข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่สหรัฐอเมริกา ชิงถ้วยรางวัล Image Cup จากเวทีระดับโลก

ความน่าสนใจของ ‘WELSE’ คือ เป็นสตาร์ทอัพผู้คิดค้นอุปกรณ์ IoT แบบพกพาที่ช่วยสร้างการทดสอบเชิงคลินิก (Clinical Test) ของเลือด โดยเริ่มจากตรวจวัดระดับเอนไซม์ในเลือด เพื่อหาค่าความผิดปกติของไต ตับ และส่งผลไปยังแอปพลิเคชันเพื่อการวิเคราะห์ต่อไปสู่มือแพทย์ผ่านทาง IoT Platform ขึ้นสู่ระบบคลาวด์ (Microsoft Azure Cloud) และเทคโนโลยี Big Data จาก G-ABLE โดยชื่อของ WELSE นั้น ผ่านการประกวดจากหลายเวทีทั้งในไทย ในต่างประเทศ และได้เป็นทีมผู้ชนะ Imagine Cup Thailand 2017

ซึ่งการที่ไอเดียนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายเพื่อทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์จริง ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กลุ่มบริษัท G-ABLE และเอสซีจี เคมิคอล จึงร่วมกันประกาศความร่วมมือและแผนสนับสนุนตามความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กร

WELSE จะเกิดและเติบโตเป็น Social Enterprise

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและภาคีความร่วมมือ, ผู้อำนวยการ Big Data Experience, ผู้อำนวยการศูนย์ Hatch มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเปิดประเด็นว่า ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีต้องการให้นักศึกษามีความคิดแบบผู้ประกอบการ จึงสร้าง Hatch โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพขึ้น เพื่อให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือด้าน Seed Funding ซึ่งที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถ Spin off สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแล้ว 2-3 บริษัท

“เด็กๆ รวมตัวจากคณะวิศวะคอม เขาคุยกันว่าเขาสนใจ Healthcare สนใจ Big Data ก็เลยไปคุยกับอาจารย์ทัศนีย์วรรณ ฟอร์มทีมและพัฒนา แล้วเริ่มประกวดจากเวทีของไมโครซอฟท์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทำเป็นโครงการ Collaboration กับแพทย์และวิศวะ ขณะที่ G-ABLE ช่วยดูแลด้านแพลตฟอร์ม”

ดร.ศิษฏพงศ์ เศรษฐภัทร Data and Analytics Manager กลุ่มบริษัทจีเอเบิล (G-ABLE) เปิดเผยว่า รู้จักกับทีมนักศึกษาที่ทำ WELSE ตั้งแต่น้องๆ เข้าไปฝึกงานใน G-ABLE ในปีที่ผ่านมา และเห็นความตั้งใจจริงของทีมจึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้คำปรึกษามาตลอด ขณะเดียวกัน บริษัทก็กำลังต่อยอดด้านการเป็นผู้นำการให้บริการไอทีโซลูชันครบวงจรเพื่อช่วยปฏิรูปธุรกิจไทยสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) และเคยร่วมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เป็นผู้ชนะ Imagine Cup Thailand ปี 2014 ชื่อ ‘Ask DOM’ แอปพลิเคชันประมวลภาษาไทยและอังกฤษเพื่อดึงข้อมูลออกมาจากข้อความที่เราต้องการ ให้เกิดเป็นบริษัทสตาร์ทอัพภายใต้ชื่อ ‘InsightEra’ การสนับสนุน ‘WELSE’ ทีมผู้ชนะ Imagine Cup Thailand 2017 จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทและสามารถทำได้ทันที

พสธร สุวรรณศรี จากทีม WELSE เล่าเกี่ยวกับที่มาของผลิตภัณฑ์ WELSE ว่า ทีมอยากพัฒนาการตรวจรักษาในพื้นที่ชนบท เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาเดินทางนานเมื่อต้องไปโรงพยาบาล กอปรกับการที่ห้องแล็บก็ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ผลนาน จึงคิดค้น WELSE อุปกรณ์พกพาที่ใช้เวลาตรวจโรคเบื้องต้นได้ภายใน 3 นาที โดยแสดงผลผ่านฟีเจอร์ Personalized Dashboard และถ้าพบความผิดปกติก็สามารถส่ง Notification ให้ผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ และส่ง Data ให้หมอตามโรงพยาบาลต่อได้

“การจัดการเบื้องต้นเป็นเรื่องสำคัญ อุปกรณ์นี้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้ โดยตัวอุปกรณ์ราคาประมาณ 2,500 บาท ซึ่งเราทำระบบเชื่อมเข้ากับโรงพยาบาล ทำโมเดลแบบ Service Base และจากที่การตรวจเอนไซม์มีต้นทุนประมาณครั้งละ 150 บาท แต่เราทำได้ที่ 30 บาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 5 เท่า”

ภาสกร จันทรมหา สมาชิกทีม WELSE กล่าวเสริมว่า “ที่ผมสังเกตเห็นสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ทำมักจะเป็นแพลตฟอร์ม เป็นเว็บไซต์ เช่น เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเดียว หรือติดต่อหมอได้ง่ายขึ้น แต่ในเชิงดีไวซ์ยังมีคนทำน้อย เพราะมันยากที่จะทำให้สำเร็จและนำไปใช้งานจริง คือถ้าเป็นซอฟต์แวร์จะปล่อยให้ใช้ได้เลย แต่ถ้าเป็นฮาร์ดแวร์ก็ต้องวิจัยเก็บข้อมูล พัฒนาเยอะ ทำหลายกระบวนการก็นานกว่า แต่เราก็มองว่าจะได้ ROI (Return of Investment) มากกว่าและเกิดประโยชน์มากกว่า”

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ทีม WELSE ตั้งเป้าให้ผลิตออกมาเป็นสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายได้จริงในปี 2018 และจะเริ่มใช้กับพื้นที่ต่ามต่างจังหวัด กรุงเทพฯ แล้วจึงขยายตลาดไปในระดับสากล โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อนำอุปกรณ์ไปทดสอบกับผู้ป่วยตามต่างจังหวัด นำทีมโดย ดร.ทัศนีย์วรรณ ลักษณะโสภิณ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาทีม WELSE ซึ่งต่อมาได้เป็น Co-founder ของทีม และบอกว่าสิ่งที่กำลังทำจะเป็น Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม

“ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงกับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานพาไปโรงพยาบาล หมดสิทธิ์ที่จะเข้าถึงการตรวจรักษา จึงเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งตอนนี้การตรวจโรคไต Validate แล้ว ส่วนการตรวจโรคอื่นๆ กำลังพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งสามารถเพิ่มได้ลดได้ แล้วก็ทำให้เป็น Panel ที่เหมาะสมกับแต่ละสเตจ และพัฒนาตามความต้องการของผู้ใช้งาน คือตัวแพลตฟอร์มทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ต้องเสียเงินใหม่ มีชิปอย่างเดียวที่เปลี่ยนก็สามารถขยายตัวได้ ทำให้เราสตรองกว่าคู่แข่ง”

วรินทร วิโรจนกูฎ Business Analyst / Design Catalyst, บริษัท เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลล์ จำกัด กล่าวถึง WELSE ว่า เป็นอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีทั้งแพลตฟอร์มและฮาร์ดแวร์ ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องทำงานร่วมกัน ในฐานะที่เอสซีจีเป็นบริษัทขนาดใหญ่และต้องการสนับสนุนให้นำสินค้าเข้าสู่ตลาดได้ และเห็นพื้นฐานของทีมว่ามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ดี ทีมเอสซีจีจึงร่วมออกแบบและพัฒนาขึ้น รวมถึงการประเมินด้านการผลิตอุปกรณ์เพื่อให้ออกสู่ตลาดได้จริง

ซึ่งในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ทีม WELSE จะเป็นตัวแทนของภูมิภาคไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเยาวชนมากความสามารถจากทั่วโลกรวม 54 ทีม จะมาร่วมแข่งขันเพื่อชิงถ้วย Imagine Cup และเงินรางวัลมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,440,000 บาท

ดร.ศิษฏพงศ์ จาก G-ABLE กล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับการสนับสนุนทีม WELSE ว่า

“สิ่งที่เราให้ความร่วมมือกับทีมคือ เทคนิคัลกับซอฟต์แวร์ เราพร้อมให้คำปรึกษา 100% ซึ่งในแง่ของธุรกิจ ต้องใช้เวลา ไม่เหมือน Disruptive Technology ที่เป็นไอที 100% โดย G-ABLE ได้สนับสนุนเงินทุนและให้คำแนะนำจากทีมวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดโครงการนี้ให้กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ และไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร G-ABLE ยังคงเดินหน้าตอกย้ำการทำตามพันธกิจที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น และพัฒนาบ่มเพาะ สนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งโปรเจกต์นี้คือความหวังที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือด้านสังคมและพัฒนาการแพทย์ต่อไป”

รู้เพิ่มเกี่ยวกับ WELSE, Imagine Cup Thailand และ G-ABLE

WELSE อุปกรณ์ตรวจวัดระดับเอนไซม์ในเลือด เพื่อหาค่าความผิดปกติของตับ

จากปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ในชนบทและเพื่อพัฒนาการบริการสาธารณสุขเบื้องต้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นควบคู่ไปกับการตอบสนองต่อภาวะสังคมผู้สูงอายุ  ทางทีมนักศึกษาจาก มจธ.จึงสร้างอุปกรณ์ที่ทำการย่อส่วนห้องแล็บจริงมาอยู่ในขนาดพกพา (Lab on a chip) ที่ทำงานควบคู่กับแผ่นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (สนับสนุนโดย SCG Chemical) ซึ่งนำของเหลวในร่างกายมาผสมกับสารเคมี ให้สามารถตวงวัดความผิดปกติของร่างกายในเบื้องต้นได้ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of care)

โดยตัวอุปกรณ์จะทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Azure) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถตรวจผลเลือด เพื่อวัดระดับค่าตับไตแบบ Early Detection จากเดิมเวลาคนไปตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคต้องเดินทางไปโรงพยาบาลและต้นทุนในการตรวจปกติต่อการเจาะเลือดหนึ่งครั้งตกอยู่ที่ 150 บาทต่อ 1 Sample แต่ Device ของ WELSE นี้จะช่วยย่อขนาดของเครื่องตรวจเลือดเหลือเป็นเครื่องเล็กๆ ที่สามาถเข้าถึงในระดับชุมชนและชนบทที่ห่างไกลได้ และต้นทุนลดลงเหลือ 30 บาทต่อ  1 Sample และ 1 Sample สามารถวัดค่าได้ 3 ระดับเอนไซม์ในเลือด 3 ชนิด คือ AST, ALT และ GGT

โครงการ Imagine Cup Thailand

เป็นโครงการภายใต้การจัดการของบริษัท Microsoft  ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอไอเดียด้านนวัตกรรมต่อผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไอทีและพัฒนาทักษะในการดำเนินธุรกิจด้วยการนำผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสู่ตลาดได้สำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่มีอยู่ประมาณ 2,000 รายในปัจจุบันให้เติบโตมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เทียบเท่ากับประเทศเวียดนามในแง่ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ได้มีการลงทุนจากกองทุน หรือ Venture Capital เป็นจำนวนเงินประมาณ 32 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.1 พันล้านบาท สูงขึ้นถึง 170% จากปี 2557 และคาดว่าในปี 2560 นี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของรัฐบาล

เกี่ยวกับ G-ABLE

G-ABLE คือบริษัทผู้พัฒนา, ติดตั้งจนถึงให้บริการด้านระบบ IT และ Digital ในไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้าน Modern Digital Solutions, Enterprise Business Solutions และ IT Infrastructure Solutions โดยมีกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในภาคเอกชนและรัฐบาล ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.g-ble.com

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...

Responsive image

สำรวจ orbix เมืองหลวงแห่งโอกาสของคริปโตเนียนและจักรวาล Digital Asset ของ Unita Capital

ทำความรู้จักแพลตฟอร์ม orbix กระดานเทรดนี้ต่างจากที่อื่นตรงไหน หัวใจสำคัญของการเปิด ‘เมืองหลวงแห่งโอกาสของคริปโตเนียน (The Capital of Kryptonian)’ คืออะไร รวมไว้ในบทความนี้แล้ว...