ส่อง Youth Trend Analysis กับ Nisit Generation สตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่เลือกโฟกัสเยาวชนก่อนผลประโยชน์ | Techsauce

ส่อง Youth Trend Analysis กับ Nisit Generation สตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่เลือกโฟกัสเยาวชนก่อนผลประโยชน์

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดยคุณศิรดา จันทรเรืองนภา

ว่ากันว่าการ ‘เตรียมตัวมาดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ ถือเป็นสูตรแห่งความสำเร็จเหนือกาลเวลา ไม่เว้นแม้แต่ในยุคปัจจุบันที่โลกหมุนเร็วกว่าแต่ก่อนหลายเท่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าเราเองก็ไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้อีกต่อไป แต่การปรับตัวตามสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะยุคของ globalization era นี้ มักจะมาพร้อมกับการแข่งขันสุดโหด เห็นได้ชัดว่าหนึ่งในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงเป็นวัยรุ่นเยาวชนที่ต้องกระตือรือร้นที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้พร้อม เตรียมคว้าโอกาสต่างๆ ก่อนจะเป็น first jobber เพราะสำหรับองค์กรสมัยใหม่แล้ว ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดก็คือ ทรัพยากรมนุษย์ นั่นเอง

วันนี้เราได้นั่งคุยกับ คุณเทพชัย ปานเจริญ หรือ เนป เด็กรุ่นใหม่ไฟแรง COO และ co-founder ของสตาร์ทอัพเพื่อเยาวชน Nisit Generation ที่ถูกสร้างขึ้นมาแก้ไขปัญหา information gap หรือการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เท่าทียมกันของนิสิตนักศึกษา ซึ่งทำให้หลายๆ คนพลาดโอกาสที่สมควรจะได้รับไปอย่างน่าเสียดาย

Nisit Generation คืออะไร?

Nisit Gen เป็น opportunity gateway for youth ที่อยากให้ชีวิตของเยาวชนไทยดีขึ้น เริ่มมาจากที่เรามองเห็นว่าตลาดกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นอะไรที่น่าสนใจ และยังไม่มีใครมาตอบโจทย์ตรงนี้อย่างจริงจัง ประกอบกับ co-founder ทั้ง 6 คนเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบทำกิจกรรม และมองว่า content ที่เป็นประโยชน์ที่นำไปใช้ได้เลยหรือนำไปใช้ได้จริงสำหรับคนกลุ่มนี้มีน้อย จึงร่วมกันก่อตั้ง Nisit Gen ขึ้นมา

การทำงานมีหลายพาร์ทด้วยกัน เริ่มแรกเลยคือเราเป็น platform รวมข่าวสารข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ทั้งเรื่องของการแนะนำการฝึกงาน คอร์สเรียนเสริมทักษะ เทคโนโลยี แอพพลิเคชั่น และกิจกรรมที่น่าสนใจ ไปจนถึงเรื่องไลฟ์สไตล์อื่นๆ ซึ่งอาจจะมีการร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำ เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการที่เหมาะสม และบางครั้งยังมีดีลพิเศษที่ให้ student discount โดยเฉพาะอีกด้วย เช่นตอนนี้ Nisit Gen กำลังร่วมมือกับ Major Cineplex โปรโมทบัตร M Pass ดูหนังไม่อั้นเหมาจ่ายรายเดือน ค่อนข้างตรงกับไลฟ์สไตล์เด็กวัยรุ่น และนอกจากส่วนของ curated content บนโลกออนไลน์แล้ว เรายังมีกิจกรรมออฟไลน์ออกมาบ้างประปราย ซึ่งอาจจะเป็นการนัดเจอกันตามงานอีเว้นท์ที่ลงเพจไปหรือเชิญชวนไปดูหนังด้วยกัน เพื่อเป็นการสร้าง community ที่สามารถจับต้องได้มากขึ้นอีกด้วย

เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแบบไหน หรือแม้กระทั่งกิจกรรมช่วง Leisure time ก็สามารถสร้าง Productivity และ Impact ได้ มันอยู่ในทุกมุมของชีวิต

ซึ่งระหว่างที่ดำเนินการงานทั้งหมดก็มีการเก็บรวบรวมข้อมูลมาเป็น data base เพื่อที่เราจะได้เข้าใจกลุ่ม user มากขึ้นว่าเขาเป็นใคร สนใจเรื่องอะไร มี pain อะไรบ้างที่ในตลาดยังไม่ตอบโจทย์เขา จะได้มาดูว่าเราจะทำฟีเจอร์อะไรเป็นการซัพพอร์ต หรือสร้าง solution อะไรที่เข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้นได้

อนาคต Youth Trend ในประเทศไทย

  1. กระแส self-learning กำลังมา ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วขึ้น การศึกษาแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว เพราะหลักสูตรเรียน 4 ปีมันนานไปสำหรับการเอาไปทำงาน เด็กรุ่นใหม่เริ่มหันไปพึ่งการเรียนแบบ MOOC (Massive Open Online Course) ที่เปิดสอนโดย corporation ข้างนอกมากขึ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรเสริมทักษะที่ตรงกับสายงานไปเลย เช่นการทำ UX/UI
  2. Future of work ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป เวลาทำงานจะยืดหยุ่นขึ้น การเข้าออกงานเป็นเวลาเหมือนแต่ก่อนจะน้อยลง และวัฒนธรรม work at home เริ่มเป็นที่นิยม เพราะสามารถทำงานแบบ officeless ได้ มีอิสระ เน้นที่ outcome เป็นหลัก ทำให้มี productivity สูง ทำให้เกิด innovation เยอะ ซึ่งคนรุ่นใหม่หรือ millennials ค่อนข้างชอบ
  3. สถาบันการศึกษาเปลี่ยนไป ใบปริญญาสำคัญน้อยลง อย่างที่กล่าวไปในข้อแรก สุดท้ายแล้วเราจะขอแค่คนๆหนึ่งที่ทำงานได้ มี outcome ออกมาแค่นั้นพอ ดังนั้นเราจะเห็นหลักสูตร shortcut ผุดขึ้นมาเยอะมาก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น Google Ignite ที่สอนทำ Google Ads, Google Analytics หรือ Code Camp สำหรับสายโปรแกรมเมอร์ ทั้งหมดนี้เป็นการลดการเรียนสี่ปีให้เหลือแค่หลักเดือน หลักสัปดาห์ จบแล้วได้ใบ certification เอาไปสมัครงานในแผนกที่เจาะจงได้เลย มีเงินเดือนรองรับตามศักยภาพ ซึ่ง trend นี้กำลังเกิดขึ้นที่อเมริการุนแรงมาก และกำลังกระจายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้มีผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาแบบเดิมโดยตรง บางมหาวิทยาลัยมีจำนวนนักศึกษาลดลงถึง 40% จนเริ่มสังเกตได้ว่าหลายๆ ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวกันทั้งการโฆษณาหนักขึ้น ให้ทุนเรียน มีการ recruit นักศึกษาต่างชาติ เปิดคณะใหม่ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความแตกต่าง หรือแม้แต่เปิดคอร์สเรียนให้บุคคลภายนอก เพื่อที่จะรักษาการ utilize สถานที่และรายได้เอาไว้ นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เรียน trend การศึกษาที่เปลี่ยนไป แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย student loan ที่ทำให้เด็กตัดสินใจเข้าหลักสูตรทางเลือกมากกว่าหรืออัตราประชากรเกิดน้อยลง ที่สุดแล้วเร็วๆ นี้เราอาจจะได้เห็นมหาวิทยาลัยบางที่เริ่มปิดตัวลง

ปัญหา Information Gap คืออะไร?

ด้วย trend ที่มันเปลี่ยนไปตอนนี้ ทำให้เรามองว่าคำว่าเด็กว่างงาน มันเป็นการว่างงานที่เกิดจากการเลือกงานมากกว่า ใน market opportunity ที่มีอยู่ อาจจะเป็นเรื่องที่เขาไม่รู้ ไม่สนใจ หรือเป็นงานที่ไม่ได้เป็นที่นิยมในสังคมไทย ง่ายๆเลย เช่นทุกคนรู้ว่ามีการจัดงานหนังสือทุกปี แต่น้อยคนที่จะรู้ว่ามีอาชีพเบื้องหลังอย่าง booth planning, event planning ก่อนมาถึงงาน หรืออีกตัวอย่างคือ ตอนนี้เยาวชนไทยยังได้รับข้อมูลเรื่อง startup หรือ social enterprise น้อยมาก ถึงจะมีสื่อเยอะก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำเสนอภาพลักษณ์ของวงการนี้แค่ว่าดูดี ดูเท่ มีแต่แอพเจ๋งๆ ออกมาใหม่ แต่ไม่มีการทำความเข้าใจเชิงลึกว่าการทำงานจริงๆเป็นอย่างไร คอนเซ็ปต์ของ lean startup การ build–measure - learn เป็นอย่างไร เราเลยคิดว่าถ้าเด็กรู้ตรงนี้มากขึ้นก็คงจะดี

ไม่ว่าจะสายอาชีพไหนก็ตาม การที่เด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้รับข้อมูล จะทำให้เตรียมตัวไม่ทัน และเสียโอกาสหลายๆอย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่าง นาย A ที่เตรียมตัวมาดี รู้ว่ามีอะไรอยู่ในตลาดบ้าง มีรายชื่อบริษัทที่อยากทำงานไว้ในใจแล้ว สามารถยื่นเรซูเม่ได้เลยหลังเรียนจบ มีทิศทางมีเป้าหมาย แต่นาย B ที่เรียนเก่งอย่างเดียว เกรดสี่เลย แต่ไม่ได้อัพเดตข่าวสาร เมื่อเรียนจบหางานก็ต้องเสียเวลามานั่งหาบริษัท กรอกเอกสาร หว่านเรซูเม่ต่างๆ ซึ่งใช้เวลา และอาจจะได้งานที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือเปล่า ดูแค่นี้ก็รู้แล้วว่าใครจะไปได้ไกลในสายอาชีพกว่ากันเพราะแค่กระดุมเม็ดแรกก็ต่างกันแล้ว นี่คือ information gap เป็น gap เล็กๆ ที่มักจะถูกมองข้าม Nisit Gen เลยอยากมาช่วยตรงนี้ ซึ่ง co-founder ทั้ง 6 คนก็เป็น community-driven อยู่แล้ว แต่ละคนก็มีการทำโปรเจคที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนกัน เช่น แจ็กกี้ CTO ของเราก็จัด Barcamp Bangkhen เจมส์ CEO และ ตั๋ง Designer จัดค่าย Young Webmaster Camp 16 เนปที่เป็น COO และ Eark CMO เคยจัด Startup Bootcamp by YEAH สุดท้ายคือเฟิร์ส CFO จัด YSEALI - SE 101

เราเลยใช้ passion ของเหล่า co-founder มาเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงาน พวกเราทั้งหมด engage ใน community และรู้สึกอินเรื่องของ information gap ซึ่งเราเล็งเห็นว่าสำคัญ การที่ได้มีโอกาสทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้ได้พัฒนาทักษะและ connection ที่ดี เลยอยากส่งต่อโอกาสให้กับคนอื่นๆ เพราะเรามองว่าการเข้าร่วมกิจกรรมพวกนี้เป็นจุดๆ หนึ่งที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนได้เลย ทั้งการค้นพบเป้าหมายในชีวิตตัวเองเจอ ทำให้รู้ว่าเราเก่งอะไร อยากทำอะไร และการที่เราส่งต่อโอกาสเหล่านี้ไปให้ user ผ่าน Nisit Gen พวกเราเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์เพราะเขาน่าจะมีการเติบโตในชีวิตได้เหมือนกับที่พวกเราได้รับโอกาสเหล่านั้น

เป้าหมายของ Nisit Generation คืออะไร และจากนี้มีแผนจะทำอะไรในอนาคต?

ตอบในเชิง business model คือเราเน้น user-centric design หมายถึงถ้านักศึกษาได้รับประโยชน์สูงสุด เราโอเค เพราะว่าจริงๆ เป้าหมายในการทำ Nisit Gen ก็ไม่ใช่การสร้าง startup พันล้านอยู่แล้ว เมื่อเราร่วมงานกับแบรนด์หรือหรือองค์กรอื่นๆ ก็พยายามทำออกมาในรูปแบบ work with คือการทำงานร่วมกัน create solution ไปด้วยกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบการจ้างงานที่เน้นระยะสั้นแล้วจบไป อย่างเคส Major Cineplex ที่เป็นพาร์ทเนอร์ปัจจุบันก็มาทำ web portal ร่วมกัน ให้บัตร M Pass ขายออนไลน์ได้ นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ตลอดการทำงานมีการรีวิวงานกันทุกเดือน เพื่อร่วมแก้ไขและปรับเปลี่ยน flaw ต่างๆ ซึ่งตรงนี้ทางแบรนด์ก็แฮปปี้ เพราะเหมือนเราเติบโตไปด้วยกัน ฉะนั้นโฟกัสหลักของ Nisit Gen คือการสร้าง experience ให้นักศึกษา เราไม่ใช่แค่ marketing solution แต่เป็นเพื่อนกับทั้งกับแบรนด์ และ user ที่เข้ามาใช้ platform

จริงๆ แล้วเราสามารถนิยาม Nisit Gen ได้หลายแบบมาก เบื้องต้นเราอาจจะเป็น media startup อย่างที่หลายคนเห็น เพราะเราทำคอนเทนต์ลงเป็นสื่อให้ user ได้มาอ่าน แต่ด้วยระบบการวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านของเราก็สามารถต่อยอดเป็น data analysis startup หรือถึงขั้นเป็น consultant ให้กับแบรนด์ที่ต้องการเจาะตลาดเยาวชนได้เลยด้วยซ้ำ การที่เรามีทั้งฐาน user และข้อมูล insight ของกลุ่มเป้าหมายพร้อมแล้ว ทำให้หลายๆ แบรนด์สนใจที่จะเข้ามาปล่อยสินค้าหรือบริการใหม่ เพื่อฟังผลตอบรับและนำไปพัฒนาต่อ คล้ายๆกับการลองตลาด ฉะนั้นถ้ามองมุมรวมๆ ในระยะยาวแล้ว เราไม่ใช่แค่ market place แน่นอน

ด้วยความที่ co-founder ทุกคนให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาตัวเอง การมีส่วนร่วมกับ community ต่างๆ และมีความตั้งใจจริงในการทำให้คุณภาพชีวิตของเยาวชนดีขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ first priority ของเราคือเยาวชนที่เข้ามาใช้ platform มากกว่าการโฟกัสที่จะสร้าง unicorn พันล้าน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...