รู้ก่อนได้เปรียบกว่า Gartner เผย ‘9 Work trends’ ส่งผลต่อการทำงานตั้งแต่ 2024-2025 | Techsauce
รู้ก่อนได้เปรียบกว่า Gartner เผย ‘9 Work trends’ ส่งผลต่อการทำงานตั้งแต่ 2024-2025

กุมภาพันธ์ 21, 2024 | By Chanapa Siricheevakesorn

โลกการทำงานเปลี่ยนไวเวอร์! ปี 2023 องค์กรและพนักงานเจอโจทย์หินหลายด่าน เงินเฟ้อก็พุ่ง AI ก็มาแรง การเมืองก็วุ่นวายไม่แพ้กัน ‍แต่ไม่ต้องกังวล! บทความนี้ได้รวบรวม 9 Work trends เทรนด์เด็ดจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่จะมาเขย่าโลกการทำงานปี 2024-2025 ใครปรับตัวทัน รับรองว่าปังแน่นอน 

รู้ก่อนได้เปรียบกว่า Gartner เผย ‘9 Work trends’  ส่งผลต่อการทำงานตั้งแต่ 2024-2025

1. องค์กรจะเสนอ Benefit ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำงานมากขึ้น 

องค์กรจึงต้องหาทางลดภาระเหล่านี้ เช่น การช่วยเหลือค่าที่อยู่อาศัยให้ใกล้ที่ทำงาน, สวัสดิการด้านการดูแลผู้สูงอายุ, เด็ก, และสัตว์เลี้ยง, โปรแกรมส่งเสริมการเงิน, และการช่วยด้านเหลือชำระหนี้สินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

2. AI ไม่ได้มาแย่งงาน แต่ช่วยพัฒนาสกิลใหม่!

ถึงแม้จะมีคนกว่า 22% กลัวว่า AI จะแย่งงานเราไปภายใน 5 ปีนี้ แต่จริงๆ แล้ว AI มาอัปเกรดงานมากกว่า ช่วยให้เราทำงานเดิมได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น โดยเฉพาะงานที่ต้องทำประจำ และต้องใช้ข้อมูล ซึ่งงานพวกนี้ AI จะมาช่วยทำ 70% แทนเราภายในปี 2025!

ทำให้ ‘การปรับตัว’ เป็นสิ่งสำคัญ! หัวหน้าและ HR ต้องวางแผนใหม่ คิดว่าจะดึงศักยภาพ AI ออกมายังไง ทำยังไงให้พนักงานคุ้นเคยกับเครื่องมือใหม่ แล้วปรับหน้าที่คนในทีมให้เข้ากับยุค AI ว่ามีทักษะอะไรที่ศึกษาเพิ่มเติม

3. สัปดาห์ละ 4 วัน จะกลายเป็นเรื่องปกติ

สมัยก่อนใครพูดถึงทำงาน 4 วัน คงโดนมองว่าจะเป็นไปได้หรอ แต่อยู่ ๆ ก็กลายเป็นประเด็นร้อนในสหภาพแรงงาน และได้รับความนิยมมากขึ้น แถมยังเป็นสวัสดิการที่คนทำงานอยากได้สุดๆ

ผลสำรวจปี 2023 พบว่า 63% ของคนหางาน เลือก "ทำงาน 4 วัน โดยได้เงินเดือนเท่าปกติ" เป็นอันดับหนึ่ง! ซึ่งมีหลายที่ทดลองแล้วผลลัพธ์คือ พนักงานมีความสุข และทำงานได้ดีกว่าเดิมด้วย

ทำให้ปี 2024 บริษัทหลายแห่งจะใช้กลยุทธ์นี้มาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของพนักงาน รวมถึงลดต้นทุนและดึงดูด Talent เก่ง ๆ 

4. ยอดดราม่าพุ่ง! สกิล "ไกล่เกลี่ยดราม่า" คือ Must-Have ของหัวหน้าปีนี้!

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพนักงาน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสารพัดวิกฤติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เดือดไปหมด! แถมยังมีเรื่อง DEI (ความเท่าเทียม) ที่อาจจะปะทะกันอีก 

ผลสำรวจปี 2023 จาก Gartner เผยว่า ผู้จัดการ 57% รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทีมเต็ม ๆ เพราะฉะนั้นองค์กรจึงควรจัดฝึกอบรมผู้จัดการด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพื่อเตรียมความพร้อม 

5. การทดลองกับ AI อาจเป็นบทเรียนราคาแพง 

กระแส AI มาแรง! บริษัทหลายแห่งรีบดึงเข้าทีมเพราะกลัวตกเทรนด์ แต่เดี๊ยวก่อน! ความคาดหวังกับ AI อาจสูงเกินจริง งานวิจัย Gartner ชี้ว่าเทรนด์นี้อาจกำลังจะร่วงสู่ "หุบเหวแห่งความผิดหวัง" ใน 2-5 ปีข้างหน้า เพราะผลลัพธ์อาจไม่ปังเท่าที่คิดหากใช้ไม่เป็น

แม้ AI ช่วยได้เยอะ แต่องค์กรก็ต้องบริหารจัดการความคาดหวัง ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการนำ AI มาใช้ และ "ปั้นสกิล" ให้พนักงานรู้จักอย่างปลอดภัยและมีวิจารณญาณ ไม่เช่นนั้นอาจเจอข้อมูลมั่ว ๆ ข้อมูลรั่วไหลหรือละเมิดสิทธิ์คนอื่นได้ง่าย ๆ 

6. ใบปริญญาไม่ใช่ทุกอย่าง บริษัทเจ๋ง ๆ มอง "ทักษะล้ำหน้า" มากกว่า!

Google, Delta, Zoho ฉีกใบปริญญาออกจากใบสมัครแล้ว รัฐบาลหลายประเทศก็หันมาโฟกัสทักษะแทนใบปริญญา ทำให้บริษัทจ้างคนได้กว้างขึ้น เพราะทักษะเจ๋ง ๆ หาได้จากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งจากกลุ่มที่สังคมมองข้าม หรือคนที่ไม่มีใบปริญญา!

แต่การเรียนก็ยังสำคัญ บริษัทหลายที่เลยมีวิธีพัฒนาคนของตัวเอง อย่าง Target, Amazon, EY ก็มีโปรแกรมการเรียนรู้ภายในที่ช่วยให้พนักงานมีทักษะที่บริษัทต้องการจริงๆ

7. สวัสดิการช่วยพนักงานจากภัยพิบัติธรรมชาติกำลังมา

องค์กรต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเสนอผลประโยชน์เน้นสวัสดิการช่วยพนักงานรับมือภัยธรรมชาติ พายุ ไฟป่า มีแผนรับมือล่วงหน้า ทั้งที่พัก, อาหาร, ยา พร้อม! และพนักงานประสบภัย สามารถลาพิเศษได้, มีเงินช่วยเหลือ, สนับสนุนอุปกรณ์เซฟตี้ นอกจากนี้บางที่ยังมีสวัสดิการดูแลสุขภาพจิต เยียวยาจิตใจจากผลกระทบภัยพิบัติอีกด้วย

8. DEI (ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม) จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน 

องค์กรต่าง ๆ จะเริ่มมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความหลากหลายและเท่าเทียมลงไปใน DNA ของวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น

9. ลืมภาพจำ "ทำงานยาวจนเกษียณ" ไปได้เลย! 

งานวิจัยของ Pew Research บอกว่า ปี 2023 ชาวอเมริกันอายุ 65 ขึ้นไป 19% ยังทำงานอยู่! เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 35 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีคนลาออกกลางทาง เปลี่ยนสายอาชีพ ทำฟรีแลนซ์ หรือหางานแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ กันมากขึ้นด้วย 

จากผลสำรวจของ LinkedIn ปี 2022 กับคนทำงาน 23,000 คน พบว่า 62% เคยลาออกกลางทางมาแล้ว และ 35% ก็คิดจะลาออกอีกในอนาคต สาเหตุก็มีทั้งโดนบังคับจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องดูแลคนอื่น โดนผลกระทบจากภัยพิบัติ หรือเทคโนโลยีเปลี่ยน

ที่พีคกว่านั้นคือ มีบริษัทที่เปิดกว้างให้หยุดชั่วคราว พร้อมแล้วค่อยกลับมาลุยงานใหม่ได้ด้วย! อย่างเช่น United Technologies, Goldman Sachs, และ Johnson & Johnson มีโปรแกรมรับพนักงานกลับมาทำงานหลังลาไปดูแลคนอื่นในครอบครัวด้วย

นอกจากนี้หลาย ๆ บริษัทใหญ่ก็รับผู้บริหารอายุ 20 กว่า ๆ! เพราะมีประสบการณ์ตรงกับปัญหาใหม่ ๆ

เพราะฉะนั้นองค์กรก็ต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นมากขึ้น มองคนจากความเชี่ยวชาญไม่ใช่ที่อายุ และเริ่มเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ตามสายถนัด ถึงจะดึงดูด Talent เก่ง ๆ ได้

ส่วนคนทำงานรุ่นใหม่ ก็ควรพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น 

นอกจากนี้ ควรติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เท่านี้ก็จะทำให้เราได้เปรียบในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้แน่นอน

อ้างอิง : hbr

No comment