LinkedIn ปรับเปลี่ยนการทำงานของสำนักงานใหญ่เป็นระบบ Hybrid อย่างไรให้พนักงานมีประสิทธิภาพ | Techsauce
LinkedIn ปรับเปลี่ยนการทำงานของสำนักงานใหญ่เป็นระบบ Hybrid อย่างไรให้พนักงานมีประสิทธิภาพ

พฤศจิกายน 25, 2022 | By Chanapa Siricheevakesorn

หลังจากเกิดการแพร่ของโรคระบาดครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในโลกการทำงาน บริษัทต่างๆ หันมาใช้รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท LinkedIn ที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในเมืองซันนีเวล รัฐแคลิฟอร์เนีย

แนวคิดที่ทำให้ LinkedIn ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานปกติมาเป็นแบบ Hybrid?

ข้อมูลจาก Gallup ผู้คนกว่า 50% ต้องการทำงานในรูปแบบของ Hybrid รองลงมา 30% ต้องการทำงานที่ออฟฟิศ (On-site) และ 20% ต้องการทำงานจากระยะไกล (Remote) 

หากเราอ้างอิงจากข้อมูลนี้จะเห็นถึงความเป็นไปได้ที่รองรับเป้าหมาย LinkedIn ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงให้การทำงานของพนักงานเป็นไปในรูปแบบ Hybrid ได้อย่างยั่งยืน

Lisa Britz ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบสถานที่ทำงานของ LinkedIn และ Robert Norwood หัวหน้านักออกแบบภายในของ NBBJ ได้กล่าวว่า ในเมื่อก่อนเราจะคิดถึงการออกแบบเพื่อสามารถรองรับพนักงานได้เยอะๆ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกลายเป็น Work from home อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสถานที่ทำงานแบบดั้งเดิมที่อาจจะไม่ตอบโจทย์แล้วในปัจจุบัน

เราจึงพยายามทำความเข้าใจแนวโน้มในที่ทำงานให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ และล่าสุดได้นำแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการทำงานแบบ Hybrid มาทดสอบในการออกแบบสำนักงานใหญ่ระดับโลก ขนาด 250,000 ตารางฟุตของ LinkedIn ที่เรียกว่า B1 บนพื้นที่ 29 เอเคอร์ในซิลิคอนวัลเลย์

LinkedIn ทำอย่างไร? ให้พนักงานสามารถทำงานในรูปแบบ Hybrid ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำให้สถานที่ทำงานมีประสิทธิภาพและสามารถรองรับการทำงานได้ทุกประเภท

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ LinkedIn มีพื้นที่ที่สามารถใช้สำหรับการพักผ่อน พื้นที่ที่สามารถโฟกัสกับงาน พื้นที่ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม พื้นที่ในการเรียนรู้ และพื่นที่ในการเข้าสังคม

ในช่วงล็อกดาวน์ Lisa และ Robert ค้นพบว่าเมื่อผู้คนมีอิสระส่วนบุคคลมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็จะเพิ่มขึ้น จึงทำให้ตระหนักว่าพนักงานต้องการความยืดหยุ่นในรูปแบบของการทำงาน เช่น การจัดตารางเวลาในการทำงานเอง หรือการ Work from home 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ LinkedIn ทำกับการออกแบบสำนักงานใหญ่คือการลดจำนวนเวิร์กสเตชันแบบดั้งเดิมลงประมาณ 40% และแทนที่ด้วยพื้นที่นั่งเล่นหลายสิบแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งทำหน้าที่เป็น “Neighborhoods” ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เพื่อจัดไว้รองรับกิจกรรมทั่วไปของแต่ละทีม

นอกจากนี้ โครงสร้างทั้งหมดได้รับการออกแบบในแนวตั้งให้สอดคล้องกับการไล่ระดับของรูปแบบการทำงาน โดยชั้นล่างจะเน้นไปที่การเข้าสังคมมากที่สุดโดยมี co-working spaces โรงอาหาร และร้านกาแฟ เป็นต้น

รองรับความหลากหลายในที่ทำงาน

ในปัจจุบันโลกแห่งการทำงานเปิดกว้างมากขึ้น ส่งผลให้พนักงานมีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบสำนักงานเพื่อให้สามารถรองรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการรับรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ LinkedIn ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นการออกแบบทั้งหมดของ LinkedIn สำหรับสำนักงานใหญ่แห่งใหม่จึงเป็นไปตามหลักการออกแบบที่ครอบคลุมให้พนักงานงานทุกคนสามารถเข้าถึง Facilities ต่างๆ ของสถานที่ทำงานได้

LinkedIn ใส่ใจในทุกรายละเอียดตั้งแต่พื้นไปจนถึงหลอดไฟ ระดับแสง ระดับเสียง และระดับความเป็นส่วนตัวไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่รองรับต่อท่าทางที่แตกต่างกันกว่า 60 แบบ โดยคำนึงถึงพนักงานในสภาวะต่างๆ เช่น อัมพาต ความบกพร่องทางสายตาหรือการได้ยิน ความแตกต่างของระบบประสาท ความวิตกกังวล และอื่นๆ

และหลังจาก LinkedIn เปิดตัวสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ก็ได้ย้ายพนักงานกว่า 63% เพื่อมาประจำที่ B1 อย่างเป็นทางการโดยพนักงานทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ให้บริการต่างๆ ได้ และนอกจากนี้พนักงานยังคงสามารถทำงานจากที่บ้านได้อีกด้วย

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า LinkedIn สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และเล็งเห็นถึงความต้องการของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโรคระบาดได้อย่างดี เพราะฉะนั้นหากองค์กรใดที่มีฟังก์ชั่นในที่ทำงานและรูปแบบการทำงานที่หลากหลายเพื่อรองรับพนักงานประเภทต่างๆ ได้ องค์กรนั้นก็จะสามารถรักษาพนักงานที่มีคุณภาพและดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อองค์กรและสังคมได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง HBR, ONEs Blog, Gallup

No comment