วิธีเอาชนะความกลัวในการถามซ้ำของเด็กจบใหม่ในที่ทำงาน | Techsauce
วิธีเอาชนะความกลัวในการถามซ้ำของเด็กจบใหม่ในที่ทำงาน

พฤษภาคม 25, 2022 | By Connext Team

ไม่มีนักธุรกิจคนไหนที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่ก็ยังมีเด็กจบใหม่อีกหลายคนที่ชอบอายเวลาจะขอความช่วยเหลือในที่ทำงาน เพราะกลัวจะไปรบกวนคนอื่น

แต่จริงๆ แล้วการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่สามารถทำได้และเป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อต้องการ แม้ว่าเราอาจจะรู้สึกไม่สบายใจไปบ้าง แต่สิ่งนี้จำเป็นต่อการทำงานให้ถูกต้อง และจำเป็นต่อการเติบโตส่วนบุคคลและการเติบโตในอาชีพการงานด้วย Forbes Coaches Council ได้ให้วิธีขจัดความกลัวและกล้าเริ่มขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานในเวลาที่ต้องการดังนี้

เด็กจบใหม่

1. เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อถามให้ตรงจุด

ก่อนอื่นต้องหยุดความคิดที่ว่ากลัวจะไปรบกวนคนอื่น และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อยากขอความช่วยเหลือให้ลองคิดถึงปัญหาและลองพยายามหาคำตอบด้วยตัวเองก่อนที่จะไปขอความช่วยเหลือ หลังจากนั้นให้เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะขอความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

2. เรียนรู้วิธีขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน

ลองสังเกตุดูว่าคนในที่ทำงานมีวิธีการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างไร หรืออาจจะถามเพื่อนร่วมงานตรงๆ ก็ได้ว่า “มีคำแนะนำอะไรในการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นไหม?” เขาก็จะสามารถช่วยชี้แนะแนวทางให้ได้

3. เลียนแบบคนที่ยกย่องนับถือ

ลองทำเหมือนกับว่าเราเป็นคนที่สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ โดยการมองหาใครสักคนที่เรารู้สึกยกย่องชื่นชมแล้วคิดตามว่า “เขาจะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้” 

4. คิดว่าเป็นการทำเพื่อธุรกิจ

แทนที่จะคิดว่ากลัวไปรบกวนคนอื่น ควรคิดว่าถ้าเราไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นจะส่งผลเสียต่อทีม โครงการ หรือธุรกิจอย่างไรมากกว่า วิธีนี้จะช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญได้

5. อย่ารอให้อะไรๆ ผิดพลาด

ถึงแม้บางคนอาจรู้สึกไม่สะดวกที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ส่งผลร้ายต่อทีมยังไงเขาก็ต้องหาทางช่วยเหลือเราจนได้ เพราะการช่วยเหลือจะส่งผลดีต่อทุกคนมากกว่ารอจนอะไรๆ แย่ลง นอกจากนี้ก็ให้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กับเขาแค่เพียงเวลาต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น

6. เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วม

หลายคนชอบที่จะมีส่วนร่วมกับผู้อื่น เพราะการช่วยเหลือคนอื่นจะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการเติมเต็มจิตใจ เพราะฉะนั้นไม่ควรปิดโอกาสและเก็บปัญหาไว้กับตัวเอง ให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะช่วยเราไม่ 

7. ค้นหาปัญหาก่อนที่จะไปขอความช่วยเหลือ

ก่อนที่จะไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เราต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าปัญหาที่เราเจอคืออะไร เมื่อรู้แล้วก็ให้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญและอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเราต้องการผู้เชี่ยวชาญอย่างเขาจริงๆ

8. คิดว่ามีประโยชน์ต่อชื่อเสียงการทำงาน

การขอความช่วยเหลือมีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราทำงานเป็นทีม หรือมีความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมด้วย

9. โฟกัสที่ผลลัพธ์สุดท้าย

เป้าหมายการทำงานทุกงานคือ การทำงานให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ หากเราคิดถึงผลลัพธ์สุดท้าย แล้วมองเห็นว่าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นแล้วงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายแน่ๆ จะทำให้เราหลบเลี่ยงการขอความช่วยเหลือได้มากขึ้น

10. ลองคิดถึงผลลัพธ์ว่าจะเป็นอย่างไร หากไม่ขอความช่วยเหลือ

วิธีการก้าวข้ามความกลัวว่าจะทำให้คนอื่นลำบากอีกทางหนึ่งคือ ลองคิดดูว่าถ้าเราไม่ขอความช่วยเหลือและเกิดปัญหาขึ้น จะส่งผลเสียอย่างไรและจะทำให้ผู้อื่นลำบากไปมากกว่าเดิมหรือไม่

11. สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกัน

เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ครั้งต่อๆ ไปหากเราต้องการความช่วยเหลือ คนอื่นก็พร้อมที่จะตอบแทนความช่วยเหลือที่เราเคยให้ไป

12. ฝึกขอความช่วยเหลือและรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น

เริ่มจากการขอความช่วยเหลือจากคนที่สะดวกใจด้วย ซึ่งอาจจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานก็ได้ เพื่อฝึกขอความช่วยเหลือและรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น หลังจากนั้นให้ลองทดสอบทักษะกับคนที่ไม่ค่อยสนิท

13. อย่าพยายามเป็นฮีโร่

การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องที่ควรอาย การยอมรับความกลัวของตัวเองจะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง เรียนรู้วิธีที่จะยอมรับความกลัวของตัวเองในการขอความช่วยเหลือ และเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือเป็นการตอบแทน เพื่อแสดงความเป็นเพื่อน เป็นพันธมิตร ไม่ใช่ฮีโร่

อ้างอิง Forbes 

No comment