ทำดีก็เสมอตัว แต่พลาดเมื่อไหร่ โดนจั่วหัวยับ ! เพราะแบบนี้ Psychological Safety ถึงสำคัญ | Techsauce
ทำดีก็เสมอตัว แต่พลาดเมื่อไหร่ โดนจั่วหัวยับ ! เพราะแบบนี้ Psychological Safety ถึงสำคัญ

ธันวาคม 14, 2023 | By Connext Team

"ไม่กล้าออกไอเดีย ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น กลัวทำงานผิดพลาด แล้วจะโดนหัวหน้าตำหนิ"

ถ้าใครมีอาการเหล่านี้อยู่ แปลได้ว่าที่ทำงานของเราอาจไม่มี Psychological Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน   

ทำดีก็เสมอตัว  แต่พลาดเมื่อไหร่ โดนจั่วหัวยับ ! เพราะแบบนี้ Psychological Safety ถึงสำคัญ

แน่นอนถ้าวันไหนเราทำงานได้ดี วันนั้นก็อาจเป็น Made my day ของเรา แต่ในทางกลับกันถ้าเราทำงานผิดพลาดล่ะ ? จะเกิดอะไรขึ้น เราจะโดนอะไรบ้าง แล้วถ้ายิ่งที่ทำงานของเรามองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องใหญ่ล่ะ วันนั้นก็คงกลายเป็น Bad day ของเราไปเลยรึเปล่า? เพราะแบบนี้ Psychological Safety ถึงสำคัญ 

Psychological Safety คืออะไร

Amy Edmondson ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School ผู้ริเริ่มคำว่า Psychological Safety ได้ให้คำนิยามของ Psychological Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยทางใจว่า “ที่ทำงานทีดี คือ เซฟโซนที่ทำให้เรารู้สึกว่าสามารถเป็นตัวเองได้ สามารถกล้าที่จะพูด กล้าที่จะคิด หรือลองผิดลองถูกได้ โดยที่ไม่ต้องกลัวโดนว่า หรือโดนตำหนิ”

จากการศึกษาของ Amy Edmondson ยังพบอีกว่าทีมที่มีโอกาสได้ลองผิดลองถูกจะเป็นทีมเวิร์กที่ดีมากกว่าทีมที่ทำงานแบบเป็นขั้นเป็นตอนตลอดเวลา โดยไม่มีการลองผิดลองถูก เพราะทุกคนจะรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ทำให้พวกเขากล้าที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา และกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ โดยที่ไม่กลัวว่าจะถูกวิจารณ์

ทำไมต้องมี Psychological Safety ในที่ทำงาน?

การจะทำงานให้มีประสิทธิภาพที่ดีได้ ต้องมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้ออำนวยด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพนักงานมีความสบายใจต่อหัวหัวหน้า การทำงานในครั้งนั้นก็จะผ่านไปได้ด้วยดีและเกิดผลงานที่สร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นเดียวกัน ถ้าที่ทำงานลองเปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองคิด สามารถลองผิดลองถูกได้ โดยที่ไม่กลัวว่าจะถูกตำหนิ คนในองค์กรก็จะมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็น สามารถหนีออกจาก Comfort zone ของตัวเองได้โดยไม่กลัว นอกจากนี้ Psychological Safety ยังส่งผลให้ที่ทำงานมีแต่พลังงานดี ๆ  สภาพจิตใจของพนักงานแฮปปี้ ทำงานออกมาดี งานมีประสิทธิภาพ องค์กรก็จะเติบโตขึ้นไปด้วย 

Psychological Safety และ Psychological Health แตกต่างกันอย่างไร?

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า Psychological Safety คือ ความรู้สึกปลอดภัยและสบายใจในที่ทำงาน ไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็น หรือออกไอเดียงานต่าง ๆ โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าเราจะถูกตำหนิรึเปล่า

Psychological Health คือการมีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งการมีสุขภาพจิตที่ดีนั้นก็อาจจะประกอบไปด้วยหลายปัจจัย เช่น การควบคุมอารมณ์ ความนับถือตนเอง การให้อภัยตนเอง และความสามารถในการรับมือกับความเครียดและความทุกข์ได้เป็นอย่างดี 

ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ มีความสำคัญมากพอ ๆ กันในที่ทำงาน เพราะ Psychological Safety เป็นส่วนหนึ่งของ Psychological Health สุขภาพจิตจะดีได้ จุดเริ่มต้นต้องมาจากความรู้สึกที่ดีก่อน เพราะฉะนั้นสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยนอกจากจะช่วยเป็นเซฟโซนให้เราแล้ว ยังช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

5 สัญญาณที่บ่งบอกว่าที่ทำงานไม่มี Psychological Safety

1.หัวหน้างานไม่มีความเป็นผู้นำ

หัวหน้าที่ดี ต้องมีความเป็นธรรม เห็นอกเห็นใจคนในทีม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาอื่น ๆ ได้ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ถือตัวในที่ทำงาน หากในที่ทำงานของเราหัวหน้าไม่มีคุณลักษณะอย่างนี้ล่ะก็ เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมรับมือไว้ได้เลย 

2.พนักงานนินทากันเอง

ลองจินตนาการดูว่าเราอยู่ในสถานที่ที่มีการนินทา ว่าร้าย คอยจับผิด กันตลอดเวลาอยู่รึเปล่า? และจะเป็นยังไงถ้าสถานที่นั้น คือที่ทำงานของเราเสียเอง ที่ทำงานนั้นก็คงจะกลายเป็น Toxic Workplace ต่างคนต่างพูดลับหลังและคอยจับผิด แม้จะอยู่ด้วยกันแต่คงเต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดระแวง แล้วแบบนี้ที่ทำงานจะเป็น Psychological Safety ได้อย่างไร 

3.ไม่มี Work Life Balance ที่ชัดเจน

แน่นอนว่าพนักงานหลายคนต้องการเวลาส่วนตัวในการพักผ่อน แต่ถ้าในที่ทำงานของเราไม่มีการแบ่งแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวที่ชัดเจน หลังเวลาเลิกงานไปแล้วก็ยังต้องมานั่งทำงาน หรือตามงานกันอยู่ หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  แน่นอนว่าพนักงานอาจจะรู้สึกเหนื่อยเพิ่มขึ้นเหมือนไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ หากปล่อยไว้แบบนี้บอกเลยว่าต่อให้มีพลังเหลือล้นมาจากไหนก็หมดลงได้เหมือนกัน

4.องค์กรมองพนักงานเป็นเครื่องจักร

หากในที่ทำงานไม่มีความเข้าอกเข้าใจ ต่างมองว่าทุกอย่างคือการทำงานไปเสียหมด ไม่ว่าพนักงานจะเป็นยังไง ป่วย ไม่สบาย ก็ยังต้องมาทำงาน ไม่ยอมให้ลาหรือไปทำธุระใด ๆ เห็นพนักงานเป็นเหมือนเครื่องจักร นี่ก็แสดงให้เห็นว่าองค์กรไม่ได้เอาใจใส่พนักงานเลย ซึ่งถ้าทำงานในที่แบบนี้ต่อไปยังไงก็เสียสุขภาพจิตแน่นอน

5.พนักงานไม่สามารถทำผิดพลาดได้เลย

การทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ไม่มีใครที่จะทำถูกต้องและได้ดั่งใจเสมอไป แต่ถ้าหากที่ทำงานของเพื่อน ๆ ไม่อนุญาตให้ลองผิดลองถูกเลยล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? แน่อนว่า การทำงานในทุก ๆ วัน ของเราคงเต็มไปด้วยความรู้สึกกังวลว่า ตัวเองจะทำพลาดรึเปล่า? แล้วถ้าหากทำพลาดจะถูกตำหนิไหม? หากรู้สึกแบบนี้ไปนานๆ อาจทำให้เรา ไม่กล้าที่จะลองทำอะไรเลย ไม่กล้าออกความคิดเห็นใด ๆ หรือหนักไปกว่านั้นคืออาจจะทำงานตามคำสั่งไปวัน ๆ ก็ได้  

สุดท้ายแล้วเราไม่ได้ทำงานเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เรายังคงต้องอยู่ในที่ทำงานและต้องพยายามปรับตัวอยู่เสมอ หากสังเกตแล้วว่าที่ทำงานของเราไม่มี Psychological Safety แล้วเราจะต้องยอมทนกับความ Toxic แบบนี้ไปนาน ๆ สภาพจิตใจของเราคงย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะดีกว่าไหม? ถ้าเรายอมกลับมาเซฟใจของตัวเองก่อน เพราะสภาพจิตใจของเรา ก็สำคัญไม่แพ้งานเหมือนกัน


เขียนโดย : Monnapha Wangchanakul 

อ้างอิง : greatplacetowork

No comment