ทำไมคนจีนรุ่นใหม่รู้สึกท้อกับงานและชีวิต จนเริ่มหันหลังให้กับ Hustle Culture วัฒนธรรมคลั่งงาน? | Techsauce
ทำไมคนจีนรุ่นใหม่รู้สึกท้อกับงานและชีวิต จนเริ่มหันหลังให้กับ Hustle Culture วัฒนธรรมคลั่งงาน?

ตุลาคม 20, 2022 | By Connext Team

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในประเทศจีนเริ่มรู้สึกท้อแท้กับงานและชีวิตมากขึ้น จนบางคนเริ่มหันหลังให้กับ Hustle Culture หรือวัฒนธรรมแห่งความรีบที่จะสำเร็จเกินไปจนกลายเป็นคนบ้างาน ในขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงการเลิกจ้างและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

การแข่งขันกันอย่างดุเดือดนี้ทำให้บางคนตัดสินใจละทิ้งความฝันและแรงบันดาลใจ ซึ่งในปี 2021 ที่ผ่านมามีคำหนึ่งที่กลายเป็นคำที่แพร่หลายในสังคมจีนคือ “tang ping” แปลว่า “lying flat” หรือ “นอนราบ” หมายถึงการปฏิเสธการทำงานที่มากเกินไป ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรมและเลือกที่จะทำอะไรให้น้อยที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเครียดและความผิดหวังของคนรุ่นใหม่ โดยคำว่า “tang ping” เทียบง่ายๆ ก็คล้ายกับคำว่า Quiet Quitting ที่หลายคนรู้จัก

Hustle Culture

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศจีนรู้สึกท้อแท้?

การว่างงานและความไม่แน่นอน

คำว่า “tang ping” สะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงที่คนทำงานรุ่นใหม่ในประเทศจีนต้องเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างที่ทุกคนกำลังแข่งขันกันก็เกิดความไม่แน่นอนจากโรคระบาดใหญ่ขึ้นมา จนทำให้ปีนี้เป็นปีที่หางานได้ยากมากขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราว่างงานของคนอายุ 16 - 24 ปี อยู่ที่เกือบ 20% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในปีที่แล้วอยู่ที่ 16.2% 

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวครั้งใหญ่ โดยเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 0.4% ในไตรมาสที่สอง นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่คนทำงานรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกท้อแท้กับงานและชีวิต

Escapism : การพาใจหลีกหนีจากความทุกข์

ในช่วงที่ผ่านมามีพนักงานในประเทศจีนหลายคนที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งบางคนถึงขั้นถูกเลิกจ้างสองครั้งในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ทำให้ได้รับผลกระทบหลายๆ อย่าง เช่น รายได้ และจิตใจ นอกจากนี้ เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดงานค่อนข้างแย่ ทำให้การหางานใหม่ยากตามไปด้วย หลังจากนั้นหลายคนจึงเริ่มหลีกหนีจากความเป็นจริงที่ว่าหางานใหม่ไม่ได้ผ่านการใช้เวลาว่างไปกับการทำงานพาร์ทไทม์ หรืองานอดิเรกอื่นๆ แทน

ความทะเยอทะยานที่ไม่อาจเอื้อม

คำว่า "cheng jia li ye" ของจีนมีความหมายว่า การมีหน้าที่การงาน การมีบ้าน และการมีครอบครัวที่ดี ซึ่งเป็นความสำเร็จในอุดมคติของจีน แต่คนรุ่นใหม่กลับรู้สึกว่าความทะเยอทะยานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจเอื้อมถึงไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม ตัวอย่างเช่น การซื้อบ้านในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับคนทำงานรุ่นใหม่

จากข้อมูลโดย Zhuge สถาบันติดตามและวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน พบว่า ในปี 2021 ราคาบ้านโดยเฉลี่ยสูงกว่ารายได้เฉลี่ยถึง 12 เท่า เนื่องจากการขาดการขยับสถานะทางสังคมและด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงทำให้คนทำงานรุ่นใหม่เริ่มหันหลังให้กับ "cheng jia li ye" หรือความสำเร็จในอุดมคติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวคิด Lying flat หรือ Quiet Quitting ก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจีน เนื่องจากบางบริษัทในประเทศจีนมีวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 คือให้พนักงานทำงานตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น. เป็นเวลาหกวันต่อสัปดาห์ แต่คนทำงานรุ่นใหม่ก็มองว่า Quiet Quitting  ไม่ได้หมายความว่าพวกเขายอมแพ้ในตัวเอง หรือไม่มีส่วนร่วมกับบริษัท แต่แค่ขาดแรงจูงใจที่จะให้ค่ากับการทำงานหนักจึงกำหนดขอบเขตและไม่รับงานอื่นที่นอกเหนือไปจากงานของตัวเอง

อ้างอิง CNBC

No comment