Getting things done วิธีกำจัดงานกองใหญ่ให้เป็นระบบ ไม่เปลือง Energy | Techsauce
Getting things done วิธีกำจัดงานกองใหญ่ให้เป็นระบบ ไม่เปลือง Energy

พฤษภาคม 30, 2022 | By Connext Team

เคยรู้สึกเครียดเพราะมีภาระงานต่างๆ มากมายที่ต้องทำไหม?

เคยตื่นมากลางดึกหรือนอนไม่หลับเพราะกังวลกับการทำงานไหม?

เคยเลื่อนเวลาการทำงานออกไปจนวินาทีสุดท้ายไหม?

ถ้าเคยแสดงว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดระเบียบชีวิตการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้นด้วย Getting Things Done

Getting things done

Getting Things Done คืออะไร?

Getting Things Done หรือเรียกสั้นๆว่า GTD คือระบบการจัดการงานที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งถูกสร้างโดย David Allen โดยวิธีนี้สร้างขึ้นมาจากการอิงจากความจริงที่ว่า ยิ่งมีข้อมูลกลับเข้ามาในหัวเท่าไหร่ การตัดสินใจว่าอะไรสำคัญก็ยิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้เราเสียเวลาไปกับการคิดมากกว่าการทำงานจริงๆ เมื่อข้อมูลต่างๆ มากเกินไปก็จะนำไปสู่ความเครียด ความรู้สึกท่วมท้น และความไม่แน่นอน

แต่ GTD ช่วยลดความยุ่งเหยิงทางจิตใจ แล้วทำให้เราสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ควรให้ความสำคัญจริงๆ ได้ เราจะสามารถตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า “เราควรทำงานอะไรดี” โดยไม่ต้องกลัวว่าจะลืมทำอะไรสำคัญๆ ไป

ลองใช้วิธี GTD ถ้ากำลัง…

วิธีจัดการงานด้วย Getting Things Done

1. Capture - จดทุกอย่างที่อยู่ในหัว

การเก็บข้อมูลสำคัญๆ ทั้งหมดไว้ในที่เดียว จะช่วยให้เลือกลำดับความสำคัญและโฟกัสไปที่งานที่สำคัญที่สุดได้ง่ายขึ้น ดังนั้นให้จดทุกอย่างที่อยู่ในหัวออกมา เพื่อปลดปล่อยความคิดให้เป็นอิสระและไม่ให้คิดเยอะเกินไป

2. Clarify - ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร

ขั้นตอนต่อมาคือ การวิเคราะห์และตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับสิ่งที่จดบันทึกไว้ โดยเราควรจัดหมวดหมู่ก่อนว่างานแต่ละงานสามารถทำได้หรือไม่ได้ ส่วนไหนที่ทำไม่ได้ก็ให้ตัดสินใจว่าจะล้มเลิก เก็บไว้ หรือค่อยทำทีหลัง ส่วนไหนที่ทำได้ก็ให้ตัดสินใจว่าจะทำเอง ส่งต่อให้คนอื่น หรือเลื่อนออกไปก่อน

3. Organize - จัดระเบียบข้อมูล

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไป หลังจากนั้นให้จัดระเบียบด้วยการนำเครื่องมือเข้ามาช่วย เช่น ระบบการจัดเก็บไฟล์ แอพจดบันทึก แอพปฏิทิน โดยงานไหนที่ไม่สามารถทำได้ก็อาจจะเก็บไว้ในไฟล์เก็บถาวรแบบดิจิทัลหรือกระดาษ หรืออาจจะลบทิ้งไปก็ได้ ส่วนงานที่สำคัญๆ ควรจดเวลาในการทำงานต่างๆ ลงปฏิทิน

4. Review - ทบทวนดูอีกครั้ง

เป้าหมายของการทบทวนอีกครั้งเพื่อทำให้แน่ใจว่าทุกอย่างที่ลิสต์ไว้เป็นข้อมูลปัจจุบัน ส่วนไหนที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่เกี่ยวข้องกับงานในปัจจุบันให้ลบทิ้ง โดยขั้นตอนนี้ควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่ออัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด

5. Engage - ลงมือทำ

ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากรวบรวมและลิสต์งานที่ต้องทำออกมาแล้ว เราก็จะรู้ได้ว่างานไหนควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ก็สามารถลงมือทำได้ทันที ส่วนงานไหนที่ไม่เกี่ยวข้องก็สามารถสลัดออกจากความคิดได้ ซึ่งการทำแบบนี้จะเป็นการช่วยลดภาระสมอง รวมทั้งยังช่วยลดความเครียดจากภาระงานที่ไม่เป็นระบบ และจะได้ลงมือทำงานที่สำคัญจริงๆ สักที

อ้างอิง todoist, spica, ionos 

No comment