พฤษภาคม 28, 2021 | By Connext Team
รู้ทั้งรู้ว่า หนังสือที่อ่านเป็นเพียงแค่นิยายเล่มหนึ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่ทำไมเราถึงทำใจที่จะออกจากโลกของนิยาย และอ่านหนังสือหน้าสุดท้ายจนจบไม่ได้สักที ทำไมเราจะต้องรู้สึกผูกพันกับตัวละคร และเสียใจที่เรื่องราวของพวกเขากำลังจะจบลง? หรือว่าเรากำลังจะเป็น ‘Post-Book Depression’
ตอนนี้ เรากำลังอ่านนิยายเล่มหนึ่งที่เราชอบมาก อ่านมาจนใกล้จะจบแล้วล่ะ ถ้าเปิดดูก็คงจะเหลืออีกแค่ไม่ถึง 10 หน้าเท่านั้น แต่เราไม่กล้าเปิดอ่านจนจบเลย เพราะ คิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราอ่านหนังสือเล่มนี้จบเมื่อไหร่ เรื่องราวของตัวละครที่เราอ่านทุกวันจนผูกพันก็จะหายไป แต่มันก็ทำให้เราสับสนอยู่เหมือนกันนะ เพราะว่า มันก็เป็นแค่นิยายไม่ใช่หรอ เราจะไปเสียใจทำไมที่พวกเขาไม่มีอยู่จริง
กระดาษที่เปิดผ่านไปหน้าแล้วหน้าเล่าของหนังสือ Atlas Shrugged ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของ Dagny Hank และ James จนเหมือนพวกเขามีชีวิตจริงๆ บางทีเราเข้าใจพวกเขามากกว่าเพื่อนของเราเองด้วยซ้ำ และแม้ว่าจะมีตัวละครบางตัวที่เรารู้สึกไม่ชอบเอาซะเลย แต่ก็รู้ว่าถ้าเรื่องราวทั้งหมดจบลง เราก็คงคิดถึงพวกเขาไม่น้อยเช่นกัน
สิ่งที่แย่ที่สุด เมื่อเราอ่านหนังสือจนมาถึงหน้าสุดท้ายก็คือ ความรู้สึกอ้างว้างจากการเห็นตัวหนังสือค่อยๆหายไปจากหน้ากระดาษ แล้วประโยคสุดท้ายของเรื่องมักจะเป็นวลีเศร้าๆซึ้งๆ ให้เราชวนคิดถึงตลอด และไม่ว่าเรื่องราวจะจบลงอย่าง Happy Ending แค่ไหน ความรู้สึกว่างเปล่านี้ก็ยังค้างคาใจเราไปสักพักอยู่ดี
แน่นอนล่ะว่า นักอ่านอย่างพวกเราก็สามารถกลับมาอ่านเรื่องราวที่เคยอ่านได้อยู่เสมอ ก็แค่เปิดหนังสือเล่มเดิมแล้วก็เดินทางไปพร้อมกับตัวละครที่เราคุ้นเคย แค่นี้ก็น่าจะช่วยให้หายคิดถึงได้ไม่ใช่หรอ แต่จริงๆแล้ว นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเลยแม้แต่น้อย เราไม่ได้อยากรู้เรื่องราวที่เรารู้อยู่แล้ว เราแค่อยากรู้ว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น ตัวละครจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากกระดาษหน้าสุดท้าย
บางที นี่อาจทำให้หนังสือชุดที่เป็นซีรีส์ต่อเนื่องกันได้รับความนิยมมากในหมู่นักอ่าน เพราะ ทุกครั้งที่เราอ่านหนังสือเล่มแรกจบลง เรามักจะอยากรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นถัดไปหลังจากหนังสือเล่มนั้นด้วยความผูกพัน ทำให้แฟนคลับนักอ่านทั้งหลายต่างเฝ้ารอที่จะได้อ่านหนังสือในเล่มถัดไป ถึงแม้ว่าสุดท้าย ทุกเรื่องราวจะต้องเดินทางมาถึงจุดจบก็ตามที
ความรู้สึกอ้างว้างหลังจากอ่านหนังสือจนจบจะรุนแรงมากขึ้น ถ้าเราทุ่มเทเวลาให้กับการเข้าไปอยู่ในโลกของตัวละครเป็นเวลานาน หรือเรื่องราวในหนังสือเกิดขึ้นต่างแดนต่างเวลากับโลกในชีวิตจริง สำหรับตัวเราเอง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคย ทำให้เราอยากใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบใหม่มากขึ้น เหมือนกับที่เราอ่านหนังสือ Harry Potter ทุกภาค แล้วรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ผจญภัยในโลกของเวทมนตร์ แต่เมื่อเรื่องราวเดินทางมาถึงภาคสุดท้าย เราก็รู้สึกเศร้ามากกว่าอ่านหนังสือเล่มไหนๆ เพราะ โลกที่ปรากฏในนิยายแตกต่างจากโลกที่เราอยู่เกินไป จนไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เรานึกถึงในชีวิตจริงเลย
จริงๆแล้ว ไม่ใช่แค่นักอ่านอย่างพวกเราเท่านั้น ที่จะรู้สึกอ้างว้างหลังจากเรื่องราวในหนังสือเล่มโปรดได้จบลง นักเขียนนิยายที่ได้สร้างโลกอีกใบมาให้เราค้นหาก็รู้สึกอ้างว้างไม่แพ้กัน เมื่อเขาต้องจบเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง
Beatrix Potter นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ และเจ้าของหนังสือ The Tale of Peter Rabbit กล่าวเสมอว่า ‘เธอเกลียดการเขียนตอนจบของหนังสือมากที่สุด เพราะ เธอรู้สึกผูกพันกับโลกและตัวละครที่เธอสร้างขึ้นมา จนกระทั่งไม่อยากจะให้มันจบลงเลย’
แต่ก็เหมือนวลีที่ทุกคนคุ้นเคยกัน งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ‘หนังสือทุกเล่มที่เราอ่านก็ต้องมีตอนจบอยู่ดี’ ไม่ว่าเราจะพยายามเหลือหน้ากระดาษของหนังสือไว้สัก 10 หน้า หรืออะไรก็ตาม เราก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงข้อนี้ไปได้ ฉะนั้น แทนที่เราจะเอาแต่อ่านหนังสือค้างไว้ไม่ให้จบ เพราะ กลัวตัวเองจะรับกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจไม่ได้ ลองเปลี่ยนเป็นร่วมยินดีให้กับตอนจบของตัวละครที่เราเฝ้ามองดีกว่าไหม หรือไม่? เราก็อาจจะต้องหาเพื่อนและคนรอบข้างที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน และเข้าใจความรู้สึกที่เราเป็น เพื่อแบ่งปันและระบายความรู้สึกที่เอ่อล้นออกมา
สุดท้าย เมื่อเราอ่านหนังสือจนจบแล้วมองย้อนกลับไป เราจะไม่รู้สึกเสียดายอีกเลยที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และเรื่องราวทั้งหมดที่เราเฝ้ามองผ่านตัวละครโปรดก็จะอยู่ในความทรงจำดีๆของเราตลอดไป
อ้างอิง: huffingtonpost