8 ทักษะที่นายจ้างมองหาในเด็กจบใหม่ | Techsauce
8 ทักษะที่นายจ้างมองหาในเด็กจบใหม่

กันยายน 6, 2022 | By Connext Team

การเป็นเด็กใหม่จบใหม่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คุณกำลังจะเริ่มต้นในเส้นทางอาชีพ แต่การเปลี่ยนบทบาทจากนักศึกษามาเป็นพนักงานไม่ใช่เรื่องง่าย การหางานยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราไม่รู้ว่านายจ้างกำลังมองหาอะไรในเด็กจบใหม่ ดังนั้น ก่อนที่จะยื่นเรซูเม่สมัครงาน ลองถามตัวเองว่าเรามีความสามารถเพียงพอที่จะดึงดูดนายจ้างแล้วหรือยัง หรือในฐานะเด็กจบใหม่เรามีทักษะและความสามารถอะไรแล้วบ้าง

วันนี้ทาง ConNEXT จึงอยากพาทุกคนมาสำรวจ 8 ทักษะที่นายจ้างมักจะมองหาในเด็กจบใหม่ ซึ่งหากเรามีทักษะเหล่านี้ในเรซูเม่รับรองได้เลยว่าจะทำให้เราโดดเด่นจากผู้สมัครคนอื่นๆ

ทักษะ

1. การพัฒนาตนเอง (Personal development)

การพัฒนาตนเองคือการรู้จักประเมินเป้าหมายและทัศนคติของตนเองที่มีต่ออาชีพนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นทักษะที่จะช่วยให้คุณเติบโตและบรรลุศักยภาพสูงสุดทั้งในตนเองและในอาชีพการงาน นายจ้างมักจะให้ความสำคัญกับทักษะการพัฒนาตนเองเนื่องจากเป็นทักษะที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้า

การมีทักษะการพัฒนาตนเองหมายความว่าคุณพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นไป โดยคุณจะพยายามหาวิธีที่จะช่วยให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆ และสามารถทำงานได้อย่างอิสระ

คำสำคัญ: Self-awareness, self-motivated, adaptability, self-starter, independent

2. การสื่อสาร (Communication)

การสื่อสารถือเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาดงานและยังเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นอีกด้วย การสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าคุณจะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมใด ผู้ที่สื่อสารได้อย่างดีเยี่ยมคือผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงและวัฒนธรรมใหม่ๆ มาสู่ที่ทำงาน

นอกจากคุณจะต้องเชี่ยวชาญในการสื่อสารที่เป็นคำพูดหรือตัวอักษรแล้ว การมีทักษะการสื่อสารที่ดียังหมายความว่าคุณจะต้องเข้าใจอวัจนภาษาหรือภาษากาย สามารถสื่อสารหรือโต้ตอบกับผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรู้วิธีนำเสนอข้อมูลอย่างชาญฉลาด ซึ่งทักษะการสื่อสารจะช่วยให้คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ช่วยลดความขัดแย้ง และยังช่วยแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้อีกด้วย

คำสำคัญ: Persuasive speaker, business storytelling, negotiation, presentation skills, confidence and clarity

3. การเป็นผู้นำ (Leadership)

นายจ้างมักจะเลือกเด็กจบใหม่ที่แสดงทักษะความเป็นผู้นำในประสบการณ์ด้านวิชาการที่ผ่านมา เพราะเด็กจบใหม่เหล่านี้ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้นำหรือเป็นผู้จัดการในอนาคต การมีทักษะนี้แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจได้ดี และมีความมั่นใจในการทำงานของตัวเอง โดยคุณสามารถระบุบทบาที่แสดงถึงความเป็นผู้นำได้ในหัวข้อ Extracurricular Activities หรือ Volunteer Work ในเรซูเม่ได้เลย

คำสำคัญ: Delegating, mentoring, evaluating, spearheaded, integrity

4. การแก้ปัญหา (Problem-solving)

การมีทักษะการแก้ปัญหาจะช่วยให้คุณสามารถระบุและแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยทักษะการแก้ปัญหาของคุณนั้นจะต้องประกอบไปด้วยทักษะการวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อช่วยในการประเมินสถานการณ์และตัดสินใจ ซึ่งนายจ้างมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครที่มีความสามารถในการแก้ปัญหา เพราะการที่พนักงานมีทักษะดังกล่าวช่วยให้หัวหน้าไม่ต้องมาคอยบังคับบัญชาอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

นายจ้างส่วนใหญ่อยากเห็นทักษะการแก้ปัญหาในเด็กจบใหม่ เพราะเป็นทักษะที่แสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถหลากหลาย เช่น การคิดเชิงตรรกะ การมีความคิดสร้างสรรค์ และการมีความมุ่งมั่น 

คำสำคัญ: Brainstorming, decision-making, risk assessment, conflict resolution, creative solutions

5. การมีความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

แน่นอนว่านายจ้างล้วนต้องการให้พนักงานของตนเองมีจรรยาบรรณและมีความเป็นมืออาชีพเวลาทำงาน โดยทักษะเหล่านี้สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ผ่านงานทั่วไป เช่น การตรงต่อเวลาหรือการตอบกลับอีเมลอย่างทันท่วงที 

และในความเป็นมืออาชีพนั้นต้องมีคุณค่าของคุณรวมอยู่ด้วย ในฐานะเด็กจบใหม่ คุณจะต้องรู้ว่าค่านิยม วิสัยทัศน์ และพันธกิจของบริษัทที่จะไปสมัครนั้นคืออะไร จากนั้นคุณต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้มีทักษะสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทต้องการ เพราะการทำแบบนี้จะทำให้ใบสมัครของคุณดึงดูดตานายจ้างมากขึ้น

คำสำคัญ: Solution-oriented, positive attitude, willingness to learn, Responsible, Project management 

6. การเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

การเข้าใจผู้อื่นเป็นทักษะที่เด็กจบใหม่มักมองข้าม แต่เป็นทักษะที่นายจ้างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเข้าใจและการทำงานร่วมกับผู้อื่น 

การมีความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี นอกจากนี้ การมีทักษะการเข้าใจผู้อื่นยังสามารถช่วยให้คุณมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าแน่นแฟ้นมากขึ้น ดังนั้น การระบุทักษะนี้ในเรซูเม่จะทำให้นายจ้างทราบว่าคุณจะสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

คำสำคัญ: Diversity, inclusive, compassionate, active listening, perspective-taking 

7. การทำงานเป็นทีม (Teamwork)

การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานในทุกอุตสาหกรรม ถือว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้องค์กรหรือบริษัทดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด นอกจากนี้ การทำงานเป็นทีมยังเป็นทักษะที่ช่วยให้เกิดความสามัคคีในหมู่พนักงาน เพิ่มความ Productive ส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น และเปิดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 

คำสำคัญ: Collaborative, reliability, cooperation, trustworthiness, team-player

8. การมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech-savviness)

เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่โอกาสต่างๆ มากมายในการทำงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งการมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีหมายถึงการรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ตัวเองมีทักษะดิจิทัลต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งการมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีถือเป็นทักษะที่นายจ้างต้องการเห็นในพนักงานและได้กลายเป็นคุณสมบัติที่ผู้สมัครงานต้องมีในทุกอุตสาหกรรมไปแล้ว

ในฐานะเด็กจบใหม่ คุณอาจมีทักษะที่จำกัดอยู่แค่ในเฉพาะบางแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่คุณจะต้องคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่คุณยื่นสมัครงานเป็นอย่างดี ดังนั้น การมีทักษะนี้จะแสดงให้เห็นว่าคุณเปิดใจกว้างต่อเทคโนโลยีและสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับเครื่องมือที่ออกมาใหม่ล่าสุดได้

คำสำคัญ: Research, curiosity, software proficiency, documentation, project planning

เขียนโดย Parinya Putthaisong

อ้างอิง Jobstreet


No comment