ใช้เงินซื้อความสุขตอนนี้! Soft Saving เทรนด์การเงินของคนรุ่นใหม่ ออมเงินน้อยลง ใช้เงินซื้อความสุขมากขึ้น ทำงานตลอดชีวิตแบบไม่คิดเกษียณ | Techsauce
ใช้เงินซื้อความสุขตอนนี้! Soft Saving เทรนด์การเงินของคนรุ่นใหม่ ออมเงินน้อยลง ใช้เงินซื้อความสุขมากขึ้น ทำงานตลอดชีวิตแบบไม่คิดเกษียณ

พฤศจิกายน 30, 2023 | By Suchanan Songkhor

เพื่อน ๆ เป็นไหมทุก ๆ วันดับเบิ้ล 12.12 หรือวัน Payday เงินรั่วออกจากกระเป๋าทุกที ไม่ต้องแปลกใจว่าเป็นเราคนเดียวหรือเปล่า? เพราะนี่คือพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z ที่มี Mindset ในเรื่องเงินเพื่อซื้อความสุขในปัจจุบันมากกว่าเก็บเพื่อเกษียณ

ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เจนเนอเรชั่นเปลี่ยน ความคิดของคนก็เปลี่ยนตาม แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงทำงานเก็บเงิน ไว้ใช้ยามเกษียณอยู่ เพราะมองว่าการเกษียณเป็นเหมือนเป้าหมายสุดท้ายของการทำงาน แต่คนรุ่นใหม่ส่วนมากก็เลือกที่จะออมเงินน้อยลง และแฮปปี้กับการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า “Soft Saving” 

Soft Saving เทรนด์การเงินของคนรุ่นใหม่ ออมเงินน้อยลง ใช้เงินซื้อความสุขมากขึ้น ทำงานตลอดชีวิตแบบไม่คิดเกษียณ

Soft Saving คืออะไร 

Soft Saving คือพฤติกรรมการเงินของ “คนรุ่นใหม่” ที่เก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณน้อยลง หันมาใช้เงินซื้อความสุขใน ปัจจุบันมากขึ้น 

ตามรายงาน Prosperity Index Study จาก Intuit บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการเงิน-ภาษีรายใหญ่ของโลก ระบุว่า Gen Z ไม่ได้ต้องการการเกษียณที่เร็วที่สุด และไม่ได้มองว่าตัวเองต้องเกษียณเลยด้วยซ้ำ 

แน่นอนว่าทุกวันนี้เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ขยันทำงาน หาเงิน ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ๆ  แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำแบบตึงเครียดเหมือนคนยุคก่อน ๆ เพราะพอพวกเขาหาเงินมาได้ ก็ใช้ซื้อความสุข ซื้อของที่ตัวเองอยากได้ทันที ซึ่งมันคือไลฟ์สไตล์ที่ให้ความสุขกับตัวเอง กดดันตัวเองน้อยลงหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตและสุขภาพจิตใจของตัวเองมากขึ้น

ต้นตอที่ทำให้คนรุ่นใหม่ออมเงินน้อยลง

จากรายงานของ Intuit เผยว่า 3 ใน 4 ของ Gen Z อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าการมีเงินเก็บเยอะ ๆ ในบัญชี ซึ่งตรงกับข้อมูลของสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่พบว่า ชาวอเมริกาเก็บเงินน้อยลงมากในเดือนสิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา เรียกว่าลดลงไปแบบครึ่งต่อครึ่งเลย เหลือเพียง 3.9% จากปกติอยู่ที่ 8.51% 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเกิดวิกฤตโรคระบาดที่กินระยะเวลายาวไปถึง 2-3 ปี ทำให้ผู้คนไม่ได้จับจ่ายใช้เงิน การเดินทางก็หยุดชะงักทำให้เดินทางไปไหนไม่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ผู้คนก็เริ่มกลับมาใช้เงินเพื่อชดเชยเวลาที่สูญเสียไป แต่ก็ใช้เงินได้ไม่นานก็เจอกับปัญหาเงินเฟ้อหลังโควิดอีกเลยทำให้การมีเงินเก็บลำบากขึ้น

Ryan Viktorin หรือไรอัน วิกทอริน รองประธานที่ปรึกษาทางการเงินของ Fidelity Investments บริษัทให้บริการทางการเงิน ระบุว่า คนรุ่นใหม่ไม่รีบเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณแล้ว แต่มุ่งหาสมดุลระหว่างการทำงานหนักเก็บเงินกับการนำเงินที่ได้มาเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองแทน

เก็บเงินรีบเกษียณ = No | ทำงานเก็บเงินตาม Passion = Yes

คนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Z และ Millennials เต็มใจใช้เงินไปกับ Passion ที่ชอบหรือสิ่งของที่ไม่จำเป็น มากกว่าคนกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสิ่งของไม่จำเป็นในที่นี่คือ การท่องเที่ยวและความบันเทิง แต่รู้หรือไม่? ว่าสองสิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมาก 

Andy Reed หรือแอนดี รีด หัวหน้าฝ่ายพฤติกรรมนักลงทุนของบริษัทจัดการลงทุน Vanguard ระบุว่า Gen Z ยอมเสียเงินเพื่อซื้อประสบการณ์และความบันเทิงมากขึ้นใน 3-4 ปีผ่านมา เป็นเพราะในช่วงโควิดพวกเขาแทบไม่ได้ใช้ชีวิตเลยรู้สึกอัดอั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะใช้จ่ายสุรุ่ยสุ่ร่าย จนไม่เก็บเงินนะ 

แม้ว่า Gen Z จะยอมใช้จ่ายไปกับการหาประสบการณ์ จนดูเหมือนไม่มีเงินเก็บ แต่ Andy Reed กล่าวเสริมว่ากลุ่มคน Gen Z เขาก็ใช้เงินตามรายได้ที่ตัวเองมี เพียงแต่แบ่งบางส่วนออกไว้เพื่อ “ซื้อความสุขให้ตัวเอง” บ้างเท่านั้น 

คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่คิดเรื่องเกษียณ 

จากผลสำรวจของ Blackrock บริษัทการลงทุนข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน บอกว่ามีพนักงาน 53% เท่านั้นที่เชื่อว่าตัวเองจะมีเงินเหลือใช้เพียงพอในวัยเกษียณ 

สาเหตุมาจากการ

3 สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้พนักงานหลายคนไม่มั่นใจว่าจะเกษียณดีหรือเปล่า? โดย 2 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่ บอกว่าตัวเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะมีเงินมากพอเก็บใช้หลังเกษียณ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำงานหาเงินไปเรื่อย ๆ แค่ไหนก็ตาม 

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “เกษียณ” ของคนยุคนี้ไม่ได้เหมือนกับยุคก่อนแบบ 100%

หากพูดถึงคนยุคก่อนคำว่า “เกษียณ” อาจหมายความว่าการได้พักผ่อน ได้เที่ยว ได้ชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการ แต่กลับกันสำหรับคนรุ่นใหม่หากต้องคิดว่าตัวเองถึงวัยเกษียณจริง ๆ ก็จะยังคงทำงานอยู่อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากถึง 41% ของ Gen Z และ 44% ของ Millenials นั่นหมายความว่าสุดท้ายแล้วคนรุ่นใหม่ยังต้องการทำงานและมีรายได้ไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิตเท่าที่จะหาได้นั่นเอง


อ้างอิง : cnbc

No comment