Quarter-life crisis เมื่อเราไม่ใช่วัยรุ่นอีกต่อไป ทำไมการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงยากกว่าที่คิด | Techsauce
Quarter-life crisis เมื่อเราไม่ใช่วัยรุ่นอีกต่อไป ทำไมการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงยากกว่าที่คิด

มีนาคม 3, 2021 | By Nabhatara Sinthuvanich

ปีนี้ เรากำลังจะอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์…

หลังจากใช้ชีวิตมาสักพัก เราก็เพิ่งจะรู้ตัวว่า ‘นี่เราไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้วนะ เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว’ และนั่นหมายความว่า เรากำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ที่เราไม่อาจตั้งตัวได้ทัน

การรับรู้ว่า ตนเองกำลังจะก้าวเข้าสู่อีกขั้นหนึ่งของชีวิต นับเป็นเรื่องนามธรรม เพราะแต่ละคน ตีความคำว่าความเป็นผู้ใหญ่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจมองว่า การออกมาอยู่คนเดียวและรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ก็นับว่าพวกเขาเป็นผู้ใหญ่มากพอแล้ว ขณะที่บางคน ต้องการสิ่งที่จับต้องได้อย่างใบปริญญา เพื่อบ่งบอกว่า หลังจากนี้พวกเขาจะใช้ชีวิตสนุกสนานไปวันๆ ไม่ได้อีกต่อไป แต่ไม่ว่านิยามความเป็นผู้ใหญ่ของเรา จะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนย่อมรับรู้ได้เหมือนกัน คือภาระอันหนักอึ้งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อยังเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่ง เราต่างใช้ชีวิตด้วยความสนุกสนาน วันและเวลาผ่านไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ทุกอย่างรอบตัวดูจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและแปลกใหม่ ถามว่า เรื่องที่ทำให้รู้สึกเครียดและวิตกกังวลในชีวิตมีหรือไม่ ทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ย่อมมีด้วยกันทั้งนั้น แต่ทว่า แรงกดดันจากตนเองและคนรอบข้างยังมีไม่มากนัก เพราะ เราเข้าใจได้ว่า ชีวิตวัยรุ่น เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และลองผิดลองถูก หากเราทำอะไรผิดพลาดไป ก็ยังมีเวลาอีกมากมายให้แก้ไขและปรับปรุงตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต เรากลับพบว่า เราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ เมื่อเราถูกผลักเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง ชีวิตมันมีอะไรมากกว่า การตั้งใจเรียนในคลาส เพื่อหนี F จากอาจารย์มหาลัย หรือการใช้ชีวิตโลดโผนไปวันๆเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ เราต้องเริ่มค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเราแล้วว่า เราเป็นใคร และต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ หรืออย่างน้อยที่สุด จะทำอะไรเพื่อเลี้ยงปากท้องตนเองและคนรอบข้าง เพื่อที่จะกำหนดเส้นทางชีวิตที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับคำตอบจากคำถามที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้ว มีเพียงไม่กี่คนด้วยซ้ำ ที่จะรู้จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิตในวัยนี้

เมื่อไม่มีคำตอบของคำถาม เราที่เพิ่งจะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ไม่นาน ต่างรู้สึกสับสนกับชีวิตว่า แท้จริงแล้ว เราต้องการอะไรกันแน่ หลายคน ต้องเปลี่ยนงานหลายต่อหลายครั้ง เมื่อพบว่า งานที่ทำ ณ ปัจจุบัน ไม่เหมาะกับตัวเองเอาเสียเลย หรือบางคนก็ยังก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป เพราะ ไม่มีทางเลือกอื่นอีก และไม่ใช่เพียงแค่ชีวิตการทำงานเท่านั้น ชีวิตในแง่มุมอื่นก็เป็นแบบนี้เช่นกัน ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในชั่วพริบตา เมื่อพบเจอกับสถานการณ์เหล่านี้บ่อยครั้ง ประกอบกับแรงกดดันทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก ท้ายที่สุด คนในวัย 25 อย่างเรา ก็จะรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ และนั่น คือ เหตุผลว่า ทำไมการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงยากกว่าที่คิด

แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ แล้วเราจะก้าวข้ามผ่าน ‘Quarter-life crisis’ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีความสุขได้อย่างไร?

คิดอยู่เสมอว่า เราไม่ได้ก้าวข้ามผ่าน ‘Quarter-life crisis’ เพียงลำพัง

Paul Angone นักเขียนชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ All Groan Up: Searching for Self, Faith, and a Freaking Job! กล่าวไว้ว่า คุณไม่ใช่คนแรกหรอกที่กำลังเผชิญกับสภาวะ Quarter-life crisis เพราะ ผู้คนอีกมากมายก็กำลังประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คนที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตที่คุณรู้จัก ล้วนเคยเผชิญกับความสับสนในชีวิตวัยนี้แล้วทั้งสิ้น แม้กระทั่งพ่อแม่ของคุณเองก็ตาม

การรับรู้ว่า ไม่ใช่เราเพียงคนเดียว ที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกสับสนและสิ้นหวัง อาจช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง เพราะอย่างน้อย  เราก็ได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า คนอื่นก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดมาได้อย่างไร นอกจากนั้น การได้ระบายความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ภายในจิตใจให้กับใครสักคนฟัง ก็นับว่าเป็นทางออกที่ดีเช่นกัน เราอาจเลือกระบายกับพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่สนิทชิดเชื้อ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา และนำบทเรียนที่ได้มาปรับใช้กับชีวิตของเรา ณ ปัจจุบัน หรือจะระบายให้กับคนหัวอกเดียวกันอย่างเพื่อนสนิทของเราก็ได้ เพราะฉะนั้น จงคิดเสมอว่า เราไม่ได้ต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงลำพัง ทุกคนล้วนมีประสบการณ์และผ่านสิ่งเหล่านี้กันมาแล้วทั้งนั้น แล้วสักวัน เราก็จะผ่านมันไปเช่นกัน

ค้นหาว่าอะไร คือ ต้นเหตุที่ทำให้เราติดอยู่วังวนของ ‘Quarter-life crisis’

เมื่อคนเราเผชิญกับความรู้สึกสับสนกระวนกระวายในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เรามักจะขาดสติ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่กำลังเผชิญกับสภาวะ Quarter-life crisis ก็เช่นกัน เรามักจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่สนใจถึงที่มาที่ไปเลยว่า อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นผลให้เราไม่สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในชีวิตไปได้สักที เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะลงมือทำอะไรก็ตาม เราต้องตั้งสติและค่อยๆ คิดก่อนว่า ต้นเหตุที่ทำให้เราติดอยู่วังวนของ Quarter-life crisis คืออะไร

คนส่วนใหญ่ ที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ มักจะรู้สึกสับสนและไม่มั่นใจในอนาคตของตนเองเป็นเรื่องปกติ ทุกครั้งที่รู้สึกว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับเราอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งเห็นคนรอบข้างได้ดีในเส้นทางอื่น พวกเขาก็มักจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตทันที และไม่ให้โอกาสตนเองได้ลองเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเลย โดยเฉพาะในมุมของชีวิตการทำงาน ทำให้พวกเรามักจะเห็นเด็กจบใหม่ หรือคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เปลี่ยนงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนชินตา แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ยังไม่พบสิ่งที่ใช่สำหรับตนเองสักที

แต่แทนที่เราจะรีบค้นหาเส้นทางชีวิตใหม่ที่คิดว่าใช่ ทำไมเราไม่ค้นหาก่อนว่า อะไร เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในวัฏจักรชีวิตแบบนี้ เรายังมีเวลาอีกมากมายที่จะค้นหาสิ่งที่ใช่ อย่างน้อยก็ดีกว่า การค้นหาอะไรก็ตาม ที่ไม่มีทางได้คำตอบ และเมื่อเรามั่นใจแล้วว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราไม่ได้อยากจะทำมันไปตลอดชีวิตแน่ๆ ลองให้โอกาสตนเองได้เรียนรู้เส้นทางอื่นๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราอาจเริ่มต้นจากการใช้เวลาว่างไปกับงานอดิเรกที่ชอบ การไปทำงานเป็นอาสาสมัคร หรือแนวทางอื่น ที่ทำให้เรายังไม่สูญเสียสิ่งที่ทำ ณ ปัจจุบันไป จากนั้นเมื่อพบเส้นทางอื่นที่ดีกว่า หรืออย่างน้อย ทำแล้วมีความสุขกับชีวิตมากกว่า เราค่อยเลือกเดินไปตามเส้นทางนั้นอย่างเต็มตัว

อย่าใจร้ายกับตัวเอง ด้วยการมองความสำเร็จของผู้อื่น

ท่ามกลางความรู้สึกเครียดและสับสนกับชีวิตในอนาคต เรามักจะคอยสำรวจคนรอบข้างเสมอว่า มีใครที่กำลังเผชิญกับสภาวะ Quarter-life crisis บ้างไหม เพื่อจะได้รู้สึกสบายใจว่า อย่างน้อยเราก็ยังมีเพื่อนที่ต่อสู้ชีวิตร่วมกัน อย่างไรก็ตาม จังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญ อาจเป็นช่วงเวลาที่เพื่อนของเรากำลังประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดก็เป็นได้

เพราะฉะนั้น เมื่อเราบังเอิญพบว่า เพื่อนและคนรอบข้างในวัยเดียวกัน กำลังไปได้ดีกับเส้นทางชีวิตที่พวกเขาเลือก จงอย่ารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือมองความสำเร็จเหล่านั้นด้วยความอิจฉาเลย เพราะ จังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่จงเอาความสำเร็จเหล่านั้น มาเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวเดินต่อไป วันนี้อาจจะไม่ใช่วันของเรา วันข้างหน้าก็ยังเป็นของเราได้เสมอ

คาดหวังกับชีวิตที่สมบูรณ์แบบได้ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

Quarter-life crisis เป็นความรู้สึกนึกคิด ที่สามารถเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดช่วงเวลาที่เราก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของเรา ณ ขณะนั้น ดังนั้น เพื่อที่จะก้าวข้ามความสับสนที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน เราจำเป็นต้องรู้จักควบคุมความคิดของตนเอง ไม่ให้คาดหวังกับชีวิตมากจนเกินไป และตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ให้เราละทิ้งความฝันที่ตั้งไว้ แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานมากจนเกินไป เพียงแต่ปรับจุดมุ่งหมายและความฝันในชีวิตของเรา ให้ยืดหยุ่นและลื่นไหลไปตามโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ท้ายที่สุด เมื่อความคาดหวังของเราสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นไปได้ในชีวิตจริง เราก็จะสามารถจัดการชีวิตได้ดีขึ้น และก้าวข้าม Quarter-life crisis ได้อย่างสวยงาม

อ้างอิง: lifehacker

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn 

ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]

No comment