ยุคปฎิวัติโฉมตลาดแรงงาน พร้อมแนวทางรับมือผลกระทบจาก ChatGPT Era | Techsauce
ยุคปฎิวัติโฉมตลาดแรงงาน พร้อมแนวทางรับมือผลกระทบจาก ChatGPT Era

สิงหาคม 10, 2023 | By Connext Team

เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีอย่างเต็มตัวการมี AI หรือ Chat GPT เข้ามา อาจทำให้บางอาชีพกลัวว่าตัวเองจะถูกแทนที่ ซึ่ง ChatGPT จะเข้ามาเป็นอนาคตของการทำงานจริงหรือไม่? มาร่วมหาคำตอบผ่าน Tech ConNEXT Talk ในหัวข้อ “ยุคปฏิวัติโฉมตลาดแรงงาน พร้อมแนวทางรับมือผลกระทบจาก Chat GPT Era” ที่จะพาคุณไปทำความรู้จักศักยภาพอันไร้ขอบเขตของปรากฏการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI นำโดย 

ยุคปฎิวัติโฉมตลาดแรงงาน พร้อมแนวทางรับมือผลกระทบจาก ChatGPT Era

คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ (Khajochi) Managing Director จาก The Zero Publishing บริษัทสื่อออนไลน์รุ่นใหม่ โดยมีทั้งเว็บแนวไลฟ์สไตล์, แม่และเด็ก, ชุมชนนักการตลาด, เกมส์ และ ชุมชนของคนสร้างคอนเทนต์ออนไลน์

คุณวสุพล ธารกกาญจน์ Microsoft Azure Business Group Lead จาก Microsoft Thailand บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟท์แวร์รายใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ดร.ภัสด์ พุทธาพิพัฒน์ Head of Analytics and Products at DataX and Instructor and Advisor จาก True Digital Academy สถาบันเสริมทักษะด้านดิจิทัลเพื่อลดช่องว่างให้คนไทยมีความรู้และสามารถปรับตัวเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล

Chat GPT คืออะไร 

คุณวสุพล กล่าวว่า Chat GPT เป็น AI ในรูปแบบหนึ่งที่สามารถสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือแม้กระทั่งวีดีโอ เพราะฉะนั้นตอนนี้เหมือนเรากำลังมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นมองว่า Chat GPT คือ แอปพลิเคชันที่ใช้ความสามารถของ AI ช่วยคิดไอเดียคอนเทนต์ใหม่ ๆ ให้กับเรา 

Chat GPT จะเข้ามาแย่งงานคนไหม?  

ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่ามีเครื่องมือต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเยอะมาก โดยเฉพาะเครื่องมือที่ช่วยในการผลิตคอนเทนต์ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลของคนที่ทำงานในวงการ Creator คือเรื่องของลิขสิทธ์ แต่ในปัจจุบันก็มีเครื่องมือหลาย ๆ ตัวได้ถูกพัฒนาขึ้น และเริ่มถูกลิขสิทธิ์มากขึ้น

ในมุมมองของ Content Creator มองได้หลายมิติ เพราะเมื่อมีเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยสร้างสรรค์คอนเทนต์โดยได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดีและใช้เวลาที่น้อยลง ถ้ามองในแง่ลบและไม่ปรับตัวก็อาจจะโดน AI แย่งงานได้ แต่ถ้าเราปรับตัวและเปิดรับการเรียนรู้ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ก็จะทำให้เราได้คอนเทนต์อีกรูปแบบหนึ่งโดยประหยัดเวลามากขึ้นได้เช่นกัน คุณขจร กล่าว 

Chat GPT ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างไรบ้าง

ดร.ภัสด์ ได้แบ่งปันมุมมองไว้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ Paradigm Shift หรือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ จากแต่ก่อนที่ต้องมีคนมาคอยบอกเราว่าควรเรียนอย่างไรแล้วก็เรียนกันตามระบบ แต่กลับกันตอนนี้ทุกคนสามารถถามตอบกับ AI ในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ทั่วโลก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเปลี่ยนชุดความคิดว่าเราไม่สามารถวัดการเรียนรู้เหมือนสมัยก่อนได้ เพราะทุกวันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น 

ทำอย่างไรให้เราก้าวตามทันโลก 

เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน คิดว่าเราต้องเรียนรู้และยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ต้องลองทำ แล้วถ้าทำไม่สำเร็จ เราก็ต้องลองปรับใช้สิ่งนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะเป็น ดร.ภัสด์ กล่าว

คุณวสุพล กล่าวว่า อยากให้ลองเปิดใจ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของการปรับ Mindset สมมติว่ามีสิ่งใหม่เข้ามาให้ลองเรียนรู้ แล้วเราเลือกที่จะปฏิเสธ เราก็จะไม่ได้ลอง แต่ถ้าเกิดเราลอง เราจะมีทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น 

ข้อมูลใน Chat GPT เชื่อได้มากน้อยแค่ไหน? 

ดร.ภัสด์ กล่าวว่า Chat GPT เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ยังไม่มีสำนึกรับรู้ แต่ Chat GPT สามารถตอบได้ว่าสิ่งไหนผิดหรือถูกตามข้อมูลที่ถูกป้อนไว้ โดยในคำตอบที่ตอบออกไปนั้นตัวของ Chat GPT เองจะไม่สามารถรู้ได้ว่าคำตอบที่ตัวเองตอบออกไปจริงแค่ไหน ฉะนั้นอยากให้มองว่า Chat GPT Model เป็นเพียงผู้ช่วยชั้นยอด แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่เรา สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องเรียนรู้และตรวจสอบด้วยว่าสิ่งที่ Chat GPT ตอบออกมาถูกมากน้อยแค่ไหน 

คุณวสุพล เสริมว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ Chat GPT เก่งมาก คือการทำ Summarization หรือการสรุปข้อมูล แต่อยากให้มองว่าสิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยงานเรา เรายังต้องเป็นเจ้านายหรือเป็นคนที่ควบคุม Chat GPT อยู่ 

นอกจากนี้ดร.ภัสด์ ยังได้เสริมว่า เห็นด้วยที่ Chat GPT จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่ม Productivity ถ้าเราใช้อย่างถูกวิธี แต่ถามว่าสิ่งนี้จะมาทดแทนเราไหม มองว่าเรายังไม่ไปถึงจุดนั้น  

AI สามารถมาแทนที่คนได้หรือไม่? 

คุณวสุพล กล่าวว่า AI จะเก่งเฉพาะงานที่ทำซ้ำ ๆ และทำตลอดเวลา ซึ่งตอนนี้ AI สามารถตอบคำถามหรือให้ข้อมูลเหมือนมนุษย์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเราควรเลือกให้ AI ทำงานในส่วนที่ต้องทำซ้ำ ๆ หรือปริมาณเยอะ ๆ แล้วนำมาให้เราตรวจสอบอีกรอบ เพื่อลดภาระการทำงานของคนลง คุณวสุพล กล่าว 

คุณ ขจร กล่าวว่า อาชีพอะไรก็ตามที่ต้องรีบตื่นเช้าไปทำงาน หกโมงเย็นกลับ ทำงานอยู่ออฟฟิศ 8 ชั่วโมง หรือต้องทำอะไรที่ซ้ำ ๆ เหมือนเดิมทุกวัน มีความเสี่ยงได้ว่าอาจจะถูก AI เข้ามาแทนที่ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งการที่ AI เข้ามาก็ทำให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่นเพิ่ม ซึ่งอาชีพที่จะเสี่ยงต่อ AI มาก ๆ คือ อาชีพที่มีวิธีคิดชัดเจนหรืออาชีพที่เกี่ยวกับตัวเลข เป็นต้น

อาชีพอะไรที่จะโดน AI แทนที่ 

ดร.ภัสด์ กล่าวว่า อาชีพอะไรก็ตามที่ทำซ้ำเยอะ ๆ ทำเป็นประจำทุกวัน มีเปอร์เซนต์สูงที่ AI จะเข้ามาแทนที่ อย่างเช่น อาชีพคอลเซนเตอร์ เมื่อก่อนอาชีพนี้ต้องมีการฝึกวิธีการตอบ แต่ในปัจจุบันเรามี AI ที่ช่วยตรงนี้ ดังนั้นระบบจะรู้ทันทีว่าควรตอบแบบไหน เพราะฉะนั้นการฝึกตรงนี้จะหายไป และตำแหน่งงานจะถูกแทนที่ด้วยใครก็ได้ ซึ่งถ้าใครที่มีทักษะการใช้ AI หรือ Chat GPT ได้ดีจะเป็นคนที่มีทักษะพิเศษที่สามารถสร้าง Productivity ขนาดใหญ่ได้ 

คุณ ขจร กล่าวว่า ต้องบอกว่าบางอาชีพ AI ก็ยังเข้ามาแทนที่ไม่ได้ คือ อาชีพที่ต้องใช้แรงงาน ในอนาคตอันใกล้อาชีพนี้ AI ยังเข้ามาแทนที่ไม่ได้แน่นอน นอกจากนี้มองว่าถ้าคุณมีทักษะการใช้ AI หรือ Chat GPT ในเรซูเม่สิ่งนี้จะเป็นแต้มต่อให้คุณได้เปรียบในการสมัครงาน  

คุณวสุพล ยกตัวอย่างเสริม ทักษะของนักบัญชียังสำคัญอยู่ เพราะถ้าสมมติเราให้ Chat GPT ทำทุกอย่างให้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นบริบทของแต่ละอาชีพยังสำคัญอยู่ แต่วิธีการที่จะได้ผลลัพธ์ของแต่ละอาชีพจะเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเราทำงานเอง 100% ต่อไปอาจจะเหลือ 20% และอีก 80% ให้ระบบ AI ช่วยทำ และที่สำคัญเราจำเป็นต้องมีทักษะการใช้ AI ติดตัวไว้ เพราะมองว่า AI มาแทนคนยังไม่ได้ แต่คนที่ใช้ AI ต่างหากที่จะเข้าไปแทนที่คนที่ใช้ AI ไม่เป็น

พนักงานจำเป็นต้องเรียนรู้ AI หรือ Chat GPT ไหม? 

คุณ ขจร กล่าวว่า ในฐานะที่อยู่ในวงการ Content Creator และ Agency มองว่า ถ้าเรายังใช้ Chat GPT ไม่เป็น เราจะเสียเปรียบเพราะว่าจะมีคนมาทำแทนเราได้ ณ ตอนนี้หลาย ๆ บริษัทเริ่มมีระบบเทรนนิ่งให้พนักงาน แต่ว่าการฝึกอบรมอย่างเดียวอาจไม่พอ การจะใช้ AI ให้เป็น เราต้องลองฝึกทำบ่อย ๆ แล้วเริ่มนำมาปรับใช้กับการทำงานสิ่งนี้จะช่วยเราได้เยอะมาก ๆ 

ดร.ภัสด์ กล่าวว่า ถ้ารอให้ Chat GPT เป็น Organic Growth ให้ทุกคนนำมาใช้เอง อาจจะไม่ทันเพราะเราอาจจะเป็นผู้ตามในกลุ่มธุรกิจได้ ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องนำสิ่งนี้เข้ามาปรับใช้กับการทำงาน แต่ถามว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร คงต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ

  1. ให้พนักงานในองค์กรใช้ Chat GPT เพื่อเพิ่ม Productivity ในหน่วยงาน
  2. ทำ Solution เพื่อเพิ่ม Productivity ให้กับองค์กรในการสร้างรายได้ 

เพราะฉะนั้น Chat GPT จึงเป็นเหมือนทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่เข้ามา 

เราจะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างไรให้อยู่รอด 

คุณวสุพล กล่าวว่า AI ไม่มาแทนคนแน่นอน แต่คนที่ใช้ AI เป็นจะมาแทนที่คนที่ใช้ AI ไม่เป็น ในทุกธุรกิจ ถ้ามองย้อนกลับไปในยุคก่อนที่เรายังใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์ ถ้าเราไม่เรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ คนอื่นก็จะเรียนรู้ ซึ่งถ้านำทักษะเหล่านี้ไปเขียนในเรซูเม่ เรซูเม่ของคุณกับเขาก็จะต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องมี Growt Mindset ที่ดี ต้องเริ่มเปิดใจ เริ่มเรียน เริ่มทดลองใช้ แล้วถ้าเริ่มเร็ว เราก็จะไปได้เร็วเช่นกัน    

ดร.ภัสด์ กล่าวว่า อยากให้มอง Chat GPT เป็น Milestone Tech สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราซ้ำ ๆ ในยุคก่อนเราก็ตื่นเต้นกับการมี Google มาจนถึงตอนนี้ที่เป็น GPT Model ไม่อยากให้กลัวกับคำว่าจะมีอะไรมาแทนที่เรา แต่อยากให้เราเตรียมพร้อมและปรับตัวให้ทันมากกว่า  

คุณ ขจร กล่าวว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ Chat GPT เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่าตื่นตัว ซึ่งหลายคนยังมีมุมมองว่า AI จะเข้ามาแย่งงานเรา เพราะฉะนั้นอยากแนะนำว่าให้ทุกคนตื่นตัว อย่ากลัวมากจนเกินไป เพราะยิ่งเราตื่นตัวเร็ว เรายิ่งจะตื่นเต้น ยิ่งเข้าใจ และอยากจะลองใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น 

ความแตกต่างระหว่าง  Chat GPT 3.5 กับ Chat GPT 4.0 คืออะไร 

คุณวสุพล กล่าวว่า Chat GPT เป็นแอปพลิเคชันอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ถามว่าโมเดล 3.5 ที่เราใช้อยู่เก่งไหมก็เก่ง แต่ว่าโมเดล 4.0 เป็นตัวที่พึ่งออกมาใหม่ ตัวนี้ก็จะเก่งกว่าโมเดล 3.5 ในเรื่องของการใช้ภาษา คอนเซ็ปต์ที่ Chat GPT เพิ่มเข้ามา คือโปรแกรมเสริม หรือ Plug-in ที่เอาความรู้เฉพาะทางไปเพิ่มให้กับโมเดลตัวเดิมให้รู้เฉพาะทางมากขึ้น 

ดร.ภัสด์ กล่าวว่า ความแตกต่างของโมเดล 3.5 และ 4.0 คือปริมาณ Knowledge ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แน่นอนว่าอนาคตอาจจะมี Chat GPT 5.0 หรือ 6.0 ออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งตัว Collective knowledge ก็จะฉลาดตามขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ต้องบอกว่าต่อไปข้อมูลต่าง ๆ จะผ่านการคัดกรองมากขึ้น ซึ่งอันนี้อาจเป็นโอกาสหนึ่งในการที่ AI จะเตรียมข้อมูลเป็นภาษาไทย เพราะข้อมูลภาษาไทยที่ใช้สอนตัว GPT Model ยังมีน้อยมาก ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องเตรียมอีกอย่างคือการเรียนภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษนั่นเอง

ในอนาคต AI สามารถมีความรู้สึกนึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ได้ไหม 

ในมุมมองส่วนตัวมองว่ายังอีกไกลมาก เพราะ AI ยังไม่มีความสำนึกรับรู้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ AI มีสำนึกรับรู้ อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสายพันธุ์ เพราะเราอาจจะไม่ใช่ผู้ที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร ดร.ภัสด์ กล่าว 

ในอีก 5 ปีข้างหน้า AI จะพัฒนาไปทิศทางไหน 

มองว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น Democratization AI หรือการให้ User เข้าถึงเทคโนโลยีและการใช้งานง่ายมากขึ้น และในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า AI จะมีความฉลาดขึ้น เร็วขึ้น อย่างเช่น     ณ ตอนนี้ Chat GPT อาจยังไม่เหมาะกับการทำเรียลไทม์เพราะว่ายังต้องใช้การประมวณผลที่ค่อนข้างเยอะ  

ดร.ภัสด์ กล่าวว่า ในเรื่องของ Data และ AI Democracy มองว่าสองสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในไทย แต่มันเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ทุกคนจะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และจะเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยน Paradigm Shift ของการศึกษา ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเราจะมีบุคคลากรที่เข้าถึง AI มากขึ้น 

และอีกอย่างหนึ่งคือจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ จะมีผลิตภัณฑ์ที่สร้าง Productivity ขนาดใหญ่ในองค์กรมากขึ้น อยากให้ทุกคนเตรียมพร้อม ลองสำรวจว่างานที่เราทำเป็นงานที่ต้องทำซ้ำไหม เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองและเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

คุณขจร กล่าวว่า มองว่าในอนาคต AI จะเรียนรู้เฉพาะบุคคลมากขึ้น และจะเข้าอกเข้าใจคนใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ

สุดท้ายแล้ว Chat GPT เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยลดภาระการทำงานฉะนั้นเราต้องมี Growth Mindset ที่ดี ต้องเริ่มเปิดใจ เริ่มเรียน เริ่มทดลองใช้ AI หรือ Chat GPT ถ้าเรามีทักษะการใช้ AI หรือ Chat GPT ในเรซูเม่สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณได้เปรียบในโลกแห่งการทำงาน เพราะ AI มาแทนคนยังไม่ได้ แต่คนที่ใช้ AI ต่างหากที่จะเข้าไปแทนที่คนที่ใช้ AI ไม่เป็น

No comment