เป็น Content Creator ดีจริงไหม? ส่องโลกอีกด้านอาชีพยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ | Techsauce
เป็น Content Creator ดีจริงไหม? ส่องโลกอีกด้านอาชีพยอดฮิตของคนรุ่นใหม่

สิงหาคม 24, 2022 | By Connext Team

รู้หรือไม่ว่า หนึ่งในอาชีพที่คนรุ่นใหม่อยากเป็นมากเป็นอันดับต้นๆ คือ YouTuber ?

คนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 26 ปี กำลังหันมาใช้การสร้างคอนเทนต์เป็นแหล่งรายได้หลัก ทีนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าจริงๆ แล้วเส้นทางอาชีพนี้ดีจริงไหม? มีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน? มองจากภายนอกแล้วจะเห็นได้ว่าวงการนี้เป็นวงการที่น่าสนใจ แต่จริงๆ แล้วนั้นมีปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ เชื้อชาติ และความทุพพลภาพ รวมถึงมีปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่สนใจก้าวเข้าสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ควรศึกษาและเตรียมตัวรับมือไว้

การที่อินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จเคลมว่าใครๆ ก็สามารถทำงานในวงการนี้ได้ เป็นเรื่องที่สามารถพูดได้ง่ายๆ เนื่องจากตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว แต่ในความเป็นจริงมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะสามารถกอบโกยเงินจากการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้

Content Creator

ช่องว่างรายได้ที่ต่างกัน

Brooke Erin Duffy ผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Media Economy ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับอาชีพบล็อกเกอร์แฟชั่น บล็อกเกอร์ด้านความงาม และนักออกแบบ เธอได้เปิดเผยว่ามีช่องว่างรายได้ระหว่าง ‘อินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว’ กับ ‘คนอื่นๆ ที่พยายามจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์’ 

จากรายงานโดย DCMS พบว่าความเหลื่อมล้ำในการจ่ายค่าจ้างเป็นประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ เชื้อชาติ หรือความทุพพลภาพ โดยในกลุ่ม MSL ที่เป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ระดับโลก ก็พบว่ามีช่องว่างรายได้ระหว่างอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนขาวกับคนดำถึง 35%

รายงาน DCMS ยังระบุอีกว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นฟรีแลนซ์ มักจะเจอกับรายได้ที่ได้ไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ อีกทั้งยังไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนอย่างพนักงานประจำ เช่น สิทธิในการได้รับค่าจ้างเมื่อป่วย

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์มีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้าง อีกทั้งยังถูกทำให้คิดว่างานของตนเองไม่มีคุณค่ามากพอ ซึ่งนำไปสู่การประเมินค่าความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองต่ำไป จนสุดท้ายหลายคนก็จบลงด้วยการทำงานให้ฟรีๆ

ภัยคุกคามของการเป็น Content Creator

อินฟลูเอนเซอร์ต้องทำงานภายใต้อัลกอรึธึม ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องหลังที่คอยกำหนดว่าจะแสดงโพสต์ไหนให้ผู้ใช้เห็น สิ่งนี้ทำให้เกิด “เกมแห่งการมองเห็น” เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้โพสต์ของตนเองไม่โดนปิดกั้น เช่น การโพสต์บ่อยๆ ให้คอนเทนต์ของตัวเองขึ้นหน้าฟีด

ด้วยภัยคุกคามนี้เองที่ทำให้ Content Creator รู้สึกว่าตัวเองต้องอยู่กับความไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันของอัลกอริธึม และไม่รู้ว่าโพสต์ของตัวเองจะถูกปิดกั้นหรือไม่ และเพราะอะไร

วิกฤตสุขภาพจิต

การที่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนมาสู่โลกออนไลน์มากขึ้นทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในวงการอินฟลูเอนเซอร์ นั่นคือ ปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่การทำงานของแพลตฟอร์มและผู้ชมได้ตลอดเวลา ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างชัดเจน รวมถึงยังกลัวโดนปิดกั้นการมองเห็น ทั้งหมดนี้ทำให้อินฟลูเอนเซอร์ต้องทำงานมากเกินไปและเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะหมดไฟในการทำงาน 

นอกจากนี้อินฟลูเอนเซอร์ยังเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องรูปลักษณ์หรือคอนเทนต์ที่โพสต์ (และไม่ได้โพสต์) จนอาจนำไปสู่ปัญหาทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของตัวเอง และความผิดปกติของการกิน

แม้ว่าการเป็นอินฟลูเอนเซอร์จะดูน่าสนใจและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่อยากก้าวเข้าสู่วงการนี้จะต้องทำความเข้าใจโลกอีกด้านของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้ดีก่อน เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันและร่วมกันผลักดันการปรับปรุงกฎเกณฑ์การจ้างงานและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง BBC

No comment