‘อายุแค่นี้จะไปรู้อะไร’ รู้จัก Ageism การเหยียดอายุในที่ทำงาน | Techsauce
‘อายุแค่นี้จะไปรู้อะไร’ รู้จัก Ageism การเหยียดอายุในที่ทำงาน

กุมภาพันธ์ 14, 2022 | By Siramol Jiraporn

“อายุแค่นี้จะไปรู้อะไร”

“ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน”

“เด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน”

หลายคนอาจเคยได้ยินคำกล่าวเหล่านี้จากผู้ใหญ่หลายคน แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้คือ Ageism หรือการเหยียดอายุ

เมื่อพูดถึงการเหยียดอายุในที่ทำงานหลายคนอาจนึกถึงการเหยียดอายุที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมาก เช่น การไม่รับคนอายุเยอะเข้าทำงานเพราะกลัวว่าจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่เป็น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการมองว่าคนที่มีอายุเยอะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นกับกลุ่มคนทำงานวัยหนุ่มสาวเช่นกัน

Ageism เหยียดอายุ

Agenism ปัญหาที่หลายคนต้องเผชิญในที่ทำงาน

หนึ่งในคนที่เผชิญกับ Agenism ก็คือ เลอา ซึ่งเป็นเด็กจบใหม่ และเริ่มทำงานแรกในทีม Business-development ที่บริษัทเทคขนาดกลางแห่งหนึ่ง แม้ว่าเลอาจะเป็นคนที่มีทักษะ แต่ก็เป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในทีม เมื่อเริ่มทำงานเลอาได้เห็นการทำงานบางอย่างที่ไม่มีประสิทธิภาพและแนะนำวิธีการแก้ไขให้กับคนในทีม 

แต่มีบางคนที่อาวุโสกว่าในทีมอย่างหัวหน้ากลับไม่ชอบการกระทำนี้ โดยในสายตาของหัวหน้ามองว่า นี่เป็นการกระทำที่แสดงความทะเยอทะยานมากเกินไป อีกทั้งหัวหน้ายังพูดต่อหน้าถึงอายุของเลอาว่า “เด็ก 23 ปีอย่างเธอจะไปรู้อะไร”

เลอาจึงพยายามเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของตัวเองให้ดูมีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เช่น พยายามแต่งตัวและเปลี่ยนกิริยาท่าทางให้ดูมีอายุมากกว่าเดิม ซึ่งการทำแบบนี้ก็ได้ผลแค่นิดเดียวเท่านั้น เนื่องจากผู้คนพูดถึงเรื่องอายุน้อยลง แต่รู้สึกว่าที่ทำงานนี้ไม่มีพื้นที่ให้ตัวเองเติบโต ทำให้ตัดสินใจลาออกในที่สุด

สิ่งเหล่านี้ที่เลอาเผชิญเป็นเรื่องของ Ageism แม้ว่าจะมีการศึกษาในสหรัฐชี้ให้เห็นว่า คนทำงานที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปเคยประสบกับการเลือกปฏิบัติด้านอายุ แต่คนอายุน้อยก็ประสบกับเรื่องนี้เช่นกัน จากการศึกษาใหม่พบว่า จริงๆ แล้ว คนที่อายุน้อยที่สุดในทีมอาจกำลังเผชิญอยู่กับ Ageism ในที่ทำงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพการทำงานด้วย

Ageism ในที่ทำงานส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่อย่างไร?

Ageism เป็นสิ่งที่คนทำงานยุค Millennial และ Gen Z กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และอาจมีความรุนแรงมากกว่าที่คนอายุเยอะเผชิญ 

Lauren Stiller Rikleen ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรกล่าวว่า “ผู้คนตัดสินผู้อื่นด้วยมาตรฐานของตัวเอง ผู้อาวุโสที่ตัดสินคนรุ่นใหม่อาจเป็นเพราะตัวเองประสบความสำเร็จมาก่อน จึงนำวิธีแบบเดิมๆ มาวัดความสำเร็จของผู้อื่น เช่น การใช้เวลาการทำงานนานๆ การอยู่ในที่ทำงานตลอด การไม่มีเวลาให้ครอบครัว เป็นสูตรสำเร็จการทำงานของ Baby Boomer

เมื่อ Baby Boomer เห็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่น Millennial และ Gen Z ให้ความสำคัญกับ Work-life balance เช่น การมีเวลาไปทานอาหารเย็นกับครอบครัวหรือการไปออกกำลังกาย จึงรู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ใช่ จึงทำให้เกิดอคติว่า “ชั้นอาบน้ำร้อนมาก่อน เด็กรุ่นใหม่จะไปรู้อะไร” เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทำแบบที่ตัวเองทำ 

เมื่อการมีอคติที่มีต่อคนรุ่นใหม่รวมกับโครงสร้างอาวุโสแบบเดิมๆ ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีพื้นที่ในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเส้นทางอาชีพ และความก้าวหน้าในที่ทำงาน อีกทั้งยังขัดขวางโอกาสในการได้รับคำปรึกษาและส่งเสริมกันในที่ทำงานด้วย 

ถ้าคนอาวุโสในที่ทำงานคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่มีความสำคัญ ก็จะทำให้คนอายุน้อยไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นวนๆ เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ลาออกไปในที่สุด แต่ผู้อาวุโสในที่ทำงานก็จะคิดได้แค่ว่า “เห็นไหม ชั้นคิดไว้อยู่แล้วว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน”

ทำอย่างไรให้ปัญหา Ageism หมดไปสักที?

Rikleen เชื่อว่าการให้ความสนใจเรื่อง Ageism ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ จะช่วยให้องค์กรตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรพูดถึงปัญหานี้ออกมาอย่างเปิดเผย มากกว่าการบ่นอยู่เงียบๆ คนเดียว 

เราต้องยอมรับกันได้แล้วว่า Ageism เป็นอคติ (Bias) อย่างหนึ่งและเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติต่อผู้อื่น ซึ่งถ้าให้เทียบง่ายๆ Ageism ก็คงไม่แตกต่างจากอคติที่มีต่อเชื้อชาติหรือเพศ 

บริษัทต่างๆ จะต้องมีการให้ความรู้แก่พนักงานในเรื่อง Bias ต่างๆ ผ่านการฝึกอบรมหรือนโยบายของบริษัท และจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในการแก้ปัญหาเหล่านี้

ประสบการณ์และทักษะที่มีไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Steve Jobs ที่ก่อตั้ง Apple ตอนอายุ 21 ปี เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปได้มากขนาดไหนถ้าไม่ให้โอกาส เพราะฉะนั้นจึงควรเลิกตัดสินผู้อื่นจากแค่เพียงอายุได้แล้ว 

ที่มา - BBC

No comment