ทำงานตอนกลางคืน เสี่ยง! สมองเสื่อมไวกว่าปกติ จริงหรือ? | Techsauce
ทำงานตอนกลางคืน เสี่ยง! สมองเสื่อมไวกว่าปกติ จริงหรือ?

กันยายน 17, 2023 | By Chanapa Siricheevakesorn

ในโลกการทำงานปัจจุบัน หลายองค์กรเริ่มเน้นผลลัพธ์ของงานและปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นมากขึ้น จึงทำให้พนักงานรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลากลางคืนในการทำงาน 

แม้ความเงียบสงัดและบรรยากาศตอนกลางคืนจะทำให้คุณมีสมาธิ สมองแล่นและคิดงานได้เป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่! ว่ามีผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองและสุขภาพโดยรวมอีกด้วย

ทำงานตอนกลางคืน เสี่ยง! สมองเสื่อมไวกว่าปกติ จริงหรือ?

ผลวิจัยชี้การทำงานดึกส่งผลให้สมองเสื่อมไวกว่าปกติ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในแคนาดาได้รวบรวมกลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 45–85 ปี รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน ตารางการทำงาน และผลการทดสอบสมรรถภาพทางปัญญากว่า 47,811 คน และเผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นนี้ในวารสาร PLOS ONE 

จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่ทำงานเป็นกะหรือทำงานนอกเวลาปกติระหว่าง 9.00 น. ถึง 17.00 น. มีอัตราความบกพร่องทางสติปัญญาสูงกว่าปกติถึง 79% และส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะคิดอะไรไม่ค่อยออก สมองประมวลผลได้ช้าลง เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและส่งผลให้สมองเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ

นอกจากนี้นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้คนทำงานเป็นกะ มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาด้านความจำ แต่คนที่ทำงานประจำในเวลาปกติมักจะต้องเผชิญกับการจัดการความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเองมากกว่า

นาฬิกาชีวิตกับการทำงานช่วงกลางคืน  

เซลล์ในร่างกายของมนุษย์จะมีระยะวงจร "Circadian rhythm หรือ นาฬิกาชีวิต" อยู่ที่ประมาณ 24 ชั่วโมง โดยจะรีเซ็ตใหม่ในทุก ๆ วันตามวัฏจักรของดวงอาทิตย์ แต่อาจถูกรบกวนจากการได้รับแสงแดดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปสำหรับคนทำงานเป็นกะหรือคนที่ทำงานนอกเวลาปกติ

ซึ่งนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ใน 24 ชั่วโมง จะกำหนดเวลาสำหรับการทำงานของร่างกายที่สำคัญหลายอย่างตามเวลาที่เหมาะสมในรูปแบบนาฬิกาชีวิตของแต่ละบุคคล เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิในร่างกายที่จะถูกปรับให้อยู่ในระดับสูงเพื่อทำให้ร่างกายตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในช่วงกลางวัน และถูกปรับลดระดับลงเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและพักผ่อนในช่วงเวลากลางคืน 

หากร่างกายและวงจร Circadian rhythm ทำงานในเวลาไม่สอดคล้องกัน ก็อาจส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจให้เกิดภาวะผิดปกติ นำไปสู่สาเหตุของอาการป่วยต่าง ๆ เช่น โรคเรื้อรัง โรคซึมเศร้า โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ภาวะนอนหลับไม่เพียงพอและความผิดปกติของอาการปวดศีรษะได้อีกด้วย

จากการวิจัยแสดงให้เห็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า การไปรบกวนวงจร Circadian rhythm นอกจากจะสร้างความเครียดให้กับร่างกายแล้วยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสมองในส่วนเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ ความจำ สุขภาวะทางจิตโดยรวมและการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมออีกด้วย

จากข้อมูลทั้งหมดได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้การทำงานตอนกลางคืนจะดีขนาดไหนแต่กลับแอบพ่วงผลเสียมาด้วยในระยะยาว ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือเรื่องของการใส่ใจสุขภาพ มารักษาสมดุลการทำงานและดูแลสุขภาพโดยรวมของคุณด้วยการรักษารูปแบบการนอนหลับที่ดี ใช้ร่างกายและสมองให้ตรงตาม Circadian rhythm เพื่อลดอัตราเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมและโรคอื่น ๆ ให้ตัวเองในอนาคต


อ้างอิง NEW YORK POST, dailymail, psy.chula 


No comment