Adobe เผยผลวิจัย 9 ใน 10 ของนักการตลาดไทย ใช้ AI ทำแคมเปญการตลาด เกินครึ่งใช้หาไอเดีย คิดแคปชั่น | Techsauce

Adobe เผยผลวิจัย 9 ใน 10 ของนักการตลาดไทย ใช้ AI ทำแคมเปญการตลาด เกินครึ่งใช้หาไอเดีย คิดแคปชั่น

แบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของลูกค้าในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ แต่กลับประสบปัญหาเนื่องจากงบประมาณที่ลดลง ตามรายงานผลการศึกษาวิจัยฉบับล่าสุดจาก Adobe ทั้งนี้ องค์กรต่าง ๆ ในไทยปรับลดงบประมาณด้านการตลาดและประสบการณ์ลูกค้าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดย 34% ได้ดำเนินการไปแล้ว และ 33% จะลดงบประมาณอีก 12 เดือนข้างหน้า

องค์กรธุรกิจในไทยพยายามที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการปรับใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (62%) และการนำเอา Generative AI มาใช้ (61%) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า มีเพียง 64% ของแบรนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน และ 56% กำลังปรับใช้ Generative AI

ผู้บริโภคในไทยรู้สึกตื่นเต้นกับการที่ Generative AI ช่วยปรับปรุงสินค้าและบริการ (46%) และประสบการณ์ของลูกค้า (48%) และประเด็นที่น่าสนใจคือ 28% ของผู้บริโภคชาวไทยเชื่อว่าการใช้ประโยชน์จาก Generative AI เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับ 35% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับในที่ทำงาน พนักงานในไทยส่วนใหญ่ (95%) กล่าวว่าพวกเขาได้ใช้ Generative AI ในแคมเปญด้านการตลาดและประสบการณ์ลูกค้าแล้ว ในทางตรงกันข้าม มีผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเพียง 54% บอกว่าบริษัทที่พวกเขาทำงานให้ในปัจจุบันกำลังใช้เครื่องมือ Generative AI โดยพนักงาน (57%) ใช้โปรแกรม text-to-image ในการจัดทำสื่อและคอนเทนต์สำหรับการส่งเสริมการขายของแบรนด์  ขณะที่ 52% ใช้สำหรับพัฒนาแนวคิดและตัวอย่างแคมเปญต่าง ๆ นอกจากนี้ พนักงานราวครึ่งหนึ่ง (50%) ใช้เครื่องมือดังกล่าวสำหรับการสร้าง copywriting รวมถึงการศึกษาวิจัยและการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึก

อย่างไรก็ดีรายงานยังระบุว่า 95% ของพนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังใช้เครื่องมือ Generative AI ในแคมเปญด้านการตลาด ขณะที่มีเพียง 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่าบริษัทของพวกเขากำลังใช้เครื่องมือ Generative AI

ไซม่อน เดล รองประธานบริหาร และกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลีของ Adobe กล่าวว่า “พนักงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เครื่องมือ Generative AI ในการทำงาน สิ่งนี้ตอกย้ำความจำเป็นที่องค์กรต้องดำเนินการเชิงรุกและมีนโยบายที่ควบคุมการใช้ AI รวมทั้งความสามารถในการจัดการและควบคุมศักยภาพของเทคโนโลยี AI ในที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่เทคโนโลยี Generative AI ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การที่เรายังไม่มีมาตรการป้องกันที่แข็งแกร่งและหลักจริยธรรมสำหรับ AI อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อองค์กร และอาจทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”

แบรนด์ไทยควรให้ความสำคัญกับปัจจัยหลักที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นและการใช้จ่าย ซึ่งได้แก่ “ความปลอดภัยของข้อมูล ความยั่งยืน และความสะดวกในการเข้าถึงสินค้า”

ผลการศึกษาของอะโดบีพบว่า ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย ความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยราว 1 ใน 3 (33%) ของผู้บริโภคในไทยระบุว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะภักดีต่อแบรนด์ที่พวกเขาไว้วางใจ ขณะที่ราวครึ่งหนึ่ง (49%) มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นต่อแบรนด์ดังกล่าว

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภคก็คือ “ความปลอดภัยของข้อมูล และการใช้งานข้อมูลอย่างเหมาะสม”  ส่วนอันดับรองลงมาคือ การจัดหาสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและโลกของเรา โดยจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างมีความรับผิดชอบไปพร้อมๆ กัน  ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะช่วยให้ลูกค้าเพิ่มงบในการใช้จ่ายกับแบรนด์

ในทางกลับกัน ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (81%) กล่าวว่าพวกเขาจะลดการใช้จ่ายกับแบรนด์ที่ไม่มีการปกป้องข้อมูลให้ปลอดภัยและไม่เคารพความเป็นส่วนตัว และเกือบครึ่งหนึ่ง (37%) ปฏิเสธที่จะใช้จ่ายกับแบรนด์นั้น ๆ อย่างสิ้นเชิง ประสบการณ์การเข้าถึงที่ไม่สะดวกและไม่เอื้อต่อความต้องการของผู้พิการจะทำให้ผู้บริโภคราว 76% ใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่ 78% จะลดการใช้จ่ายหากแบรนด์นั้น ๆ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับความยั่งยืน

แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเลือกการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ 46% ของแบรนด์ในเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ไม่เห็นว่าความปลอดภัยของข้อมูลมีความสำคัญต่อการดึงดูดและรักษาลูกค้าไว้  สำหรับสินค้าและบริการที่เข้าถึงได้อย่างสะดวกและมีความยั่งยืน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 51% และ 54% ตามลำดับ

ไซม่อน เดล กล่าวเพิ่มว่า “ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงวิธีการที่แบรนด์ต่าง ๆ นำเสนอเรื่องความยั่งยืนและความสะดวกในการเข้าถึงสินค้า ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แบรนด์ต่าง ๆ จะต้องแสดงให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยเพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงดูดลูกค้าแล้ว ยังช่วยปกป้องข้อมูลของผู้บริโภคให้ปลอดภัยอีกด้วย”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...