Generosity Burnout อย่ายอมทำงานให้คนอื่น เพียงเพราะความเกรงใจ เพราะผลสุดท้าย เราจะหมดไฟซะเอง | Techsauce
Generosity Burnout อย่ายอมทำงานให้คนอื่น เพียงเพราะความเกรงใจ เพราะผลสุดท้าย เราจะหมดไฟซะเอง

กรกฎาคม 22, 2021 | By Connext Team

‘ช่วยพี่ทำงานอันนั้นหน่อยสิ ขอส่งพรุ่งนี้นะ’

ประโยคที่มักจะได้ยินเป็นประจำ เมื่อพี่ที่ทำงานกำลังต้องการงานอะไรบางอย่างจากเรา 

Credit ภาพประกอบ: freepik

หากเป็นงานที่เรารับผิดชอบภายในทีมอยู่แล้ว หรือเป็นการขอความช่วยเหลือเล็กน้อย ๆ จากเพื่อนร่วมงาน เราก็คงไม่ได้รู้สึกอะไรนักหรอก เพราะ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้วล่ะ

แต่หลาย ๆ ครั้ง พี่ที่ทำงานจากทีมอื่นเริ่มโยนงานที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา มาให้เราทำมากขึ้นเรื่อย ๆ (แถมจะเร่งเอางานให้เสร็จทันควันด้วย) จนกระทั่งส่งผลกระทบต่องานหลักที่เราทำอยู่ ทำให้เราต้องทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่น เพื่อที่จะมาเคลียร์งานทั้งของเราและคนอื่นให้เสร็จ แล้วผลสุดท้ายเป็นยังไง? เขาก็ได้งานจากเราไปแบบฟรี ๆ  

อย่างไรก็ตาม เด็กจบใหม่หรือน้องใหม่ในออฟฟิศอย่างเรา จะมีสักกี่คน ที่กล้าปฏิเสธพี่เขาตรง ๆ ว่า เราไม่สามารถทำงานนี้ได้ เพราะ งานที่เรารับผิดชอบอยู่มันก็เยอะมากพอแล้ว? และถ้าเราพูดออกไป จะมีสักกี่คน ที่จะไม่เอาเราไปนินทาลับหลังว่า เราเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น?

สุดท้าย เราก็มักจะจบการสนทนาด้วยคำว่า ‘ได้ค่ะ เดี๋ยวจะรีบทำมาให้นะคะ’ พร้อมกับยิ้มแบบแห้ง ๆ ในใจอยู่ดี และนั่นแหละ คือ ที่มาของคำว่า ‘Generosity Burnout’ หรือสภาวะให้คนอื่นมากไป จนสุดท้ายหมดไฟซะเอง

‘Generosity Burnout’ หรือสภาวะให้คนอื่นมากไป จนเกิดอาการหมดไฟ คือ อะไร?

Reb Rebele และ Adam Grant เจ้าของหนังสือ Give and Take ได้อธิบายสภาวะ ‘Generosity Burnout’ ไว้ว่า เป็นความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการให้และช่วยเหลือผู้อื่นที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม 

พวกเขากล่าวว่า การให้และช่วยเหลือผู้อื่นจนเกินความจำเป็น ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ประสิทธิภาพการทำงานที่ตกต่ำลง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไปจนถึงสุขภาพทั้งกายและใจในระยะยาวได้อีกด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้ายังเราคอยช่วยเหลือคนอื่น จนตัวเองย่ำแย่แบบนี้ เราก็คงไม่ต่างจากเทียนไขที่คอยต่อเปลวไฟให้กับคนอื่น จนตัวเองมอดไหม้ไปหรอกนะ 

‘Generosity Burnout’ จะหายไปจากสังคมออฟฟิศ และชีวิตการทำงานของเราได้อย่างไร?

จริง ๆ แล้ว การให้และช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานไม่ใช่เรื่องแย่หรอก เราสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานและองค์กรได้เสมอ หากสิ่งที่ทำไม่ได้กระทบต่อภาระหน้าที่และชีวิตความเป็นอยู่ของเรา 

อย่างไรก็ตาม หากการขอความช่วยเหลือจากคน ๆ นั้น มันเริ่มเกินขอบเขตและล้ำเส้นจนเรารับไม่ไหว ท้ายที่สุด เราก็จำเป็นต้องปฏิเสธเขาไป ไม่ว่าคนอื่นจะมองอย่างไรก็ตาม มิฉะนั้น เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากสภาวะ Generosity Burnout ได้เลย

นอกจากความกล้าในตัวเองที่จะปฏิเสธผู้อื่นแล้ว การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ เราเด็กจบใหม่ตัวเล็ก ๆ คนเดียวในออฟฟิศจะแก้ปัญหานี้ให้ยั่งยืนได้ยังไง?

องค์กรจำเป็นจะต้องกำหนดขอบเขตภาระหน้าที่งานของแต่ละคนให้ชัดเจนว่า ใครทำอะไร และมีหน้าที่อะไรในองค์กร เพื่อให้แต่ละคนรู้ขอบเขตและโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ดียิ่งขึ้น 

และที่สำคัญ ทุกคนต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การที่เราไม่ได้ช่วยทำงานของคนอื่น (ที่มากเกินไป) ไม่ได้แปลว่า เราเป็นคนเห็นแก่ตัวและไม่มีน้ำใจ เพราะ สุดท้ายแล้ว ทุกคนล้วนมีงานและภาระหน้าที่ของตัวเองต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ทุกคนควรเคารพบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิดการขอความช่วยเหลือที่มากเกินไป และการช่วยเหลือจนหมดไฟ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สภาวะ Generosity Burnout ก็จะหายไปจากสังคมออฟฟิศ และชีวิตการทำงานของเราในท้ายที่สุด 

อ้างอิง: Kennedy School Review

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn 

ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]

No comment