Work-Life Balance ไม่มีอยู่จริง Adobe เผย Work from Home ทำให้เวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลาทำงาน

สถานการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลให้เราต้องคิดทบทวน และปรับเปลี่ยนการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และสิ่งที่หลายๆ คนต้องการมากที่สุดก็คือ “การมีเวลามากขึ้น” 

ทุกวันนี้ ผู้คนทั่วโลกรู้สึกกดดัน เครียด และเหนื่อยล้ามากขึ้น แม้ว่าการทำงานจากที่บ้านจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับวันทำงาน แต่ขณะเดียวกันองค์กรก็มีความคาดหวังเพิ่มสูงขึ้นว่าพนักงานจะต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอ และสำหรับหลายๆ คน เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ถูกหลอมรวมเป็นเส้นเดียวกันไปแล้ว

ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานแบบไฮบริดในอนาคต Adobe ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 5,500 คน ซึ่งประกอบด้วยพนักงานบริษัท ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก โดยมีการสอบถามเกี่ยวกับเวลาที่รู้สึกกดดันมากที่สุด และส่งผลกระทบกับชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องเวลาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก 

work from home

การทำงานจากที่บ้านส่งผลให้ “เวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลาทำงาน”

หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้านคือ “ก่อนนี้เราเคยใช้เวลาราวสองชั่วโมงต่อวันเดินทางไป-กลับที่ทำงาน แต่ตอนนี้เมื่อเราทำงานจากที่บ้าน เราใช้เวลาดังกล่าวไปกับเรื่องใดบ้าง?” คำตอบที่ได้คือ คนจำนวนมากใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้น

จากผลการสำรวจของอะโดบี พบว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานบริษัท และ 56 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่า ทุกวันนี้พวกเขาใช้เวลาทำงานยาวนานกว่าเดิม กล่าวคือ พนักงานบริษัททำงานโดยเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำงานโดยเฉลี่ย 45.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าชั่วโมงทำงานปกติ

เวลาที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นว่าพนักงานหรือผู้ประกอบการต้อง “พร้อมติดต่อได้เสมอ” แม้กระทั่งหลังเวลาเลิกงาน ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานบริษัท และ 3 ใน 5 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรู้สึกกดดันที่จะต้องตอบกลับอีเมล และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหลังเวลางาน

ภาวะหมดไฟในการทำงาน — ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสตรี และผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศนั้น (minority-owned businesses)

ภาวะหมดไฟ

ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) กลายเป็นปัญหาที่พบมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่าหนึ่งในสามประสบกับปัญหาที่พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้า และหมดไฟในการทำงานเพราะความเครียดจากการทำงานในช่วงแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ได้เกิดขึ้นในระดับที่เท่าเทียมกันกับคนทุกกลุ่ม กล่าวคือ ผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย* (67 เปอร์เซ็นต์), ผู้ประกอบการที่เป็นสตรี (49 เปอร์เซ็นต์) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน* (67 เปอร์เซ็นต์) มีความเครียดเกี่ยวกับเวลาในการทำงานมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย (52 เปอร์เซ็นต์), ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ชาย (38 เปอร์เซ็นต์) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กบางประเภท (49 เปอร์เซ็นต์)

ความเครียดดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวด้วย โดยผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย (64 เปอร์เซ็นต์), ผู้ประกอบการที่เป็นสตรี (54 เปอร์เซ็นต์) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน* (60 เปอร์เซ็นต์) มีความเครียดในเรื่องชีวิตส่วนตัวมากขึ้นจากการที่ต้องคอยประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในเวลาเดียวกัน

“ในฐานะที่เป็นแม่และเจ้าของธุรกิจ ดิฉันต้องทำงานจิปาถะมากมายหลายอย่างตลอดทั้งวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งช่วงหัวค่ำหลังเวลาเลิกงาน และวันเสาร์-อาทิตย์” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายหนึ่งกล่าว

ผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย (55 เปอร์เซ็นต์) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน*  (51 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าตนเองรู้สึกหมดไฟในการทำงานและการประกอบธุรกิจ  นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่าตนเองยินดีที่จะขายธุรกิจในวันพรุ่งนี้ถ้าเป็นไปได้  

กลุ่มคน Gen Z คือแรงขับเคลื่อนหลักของกระแส “การลาออกครั้งใหญ่”

จากผลการศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีพนักงานลาออกเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว พนักงานในสหรัฐฯ กว่า 4 ล้านคนลาออกจากงาน ตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ

เป็นที่แน่ชัดว่าเทรนด์นี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง  ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัท 35 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าตนเองมีแผนที่จะเปลี่ยนงานในปีหน้า และ 61 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ระบุถึงเหตุผลว่าเป็นเพราะ “ต้องการที่จะออกแบบตารางเวลาชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น”

ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงยิ่งขึ้นสำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน โดยถึงแม้ว่าคน Gen Z จะเพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่กว่าครึ่งหนึ่งมีแผนที่จะหางานใหม่ในปีหน้า  นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังระบุว่าพวกเขามีความพึงพอใจน้อยที่สุดกับ work-life balance (56 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงอาชีพการทำงานโดยรวม (59 เปอร์เซ็นต์) และคนกลุ่มนี้รู้สึกกดดันมากที่สุดที่จะต้องทำงานใน “ช่วงเวลาทำงานตามปกติ” (62 เปอร์เซ็นต์) และหนึ่งในสี่ระบุว่าตนเองทำงานได้ดีที่สุดในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของคนรุ่น Gen Z ระบุว่าตนเองมักจะทำงานบนเตียงนอนเป็นประจำ

พนักงานต้องการ “เทคโนโลยี” ที่จะช่วยเสริมศักยภาพการทำงานให้ดีขึ้น

แม้ว่าแรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังเทรนด์เหล่านี้จะมีลักษณะซับซ้อน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากผลการสำรวจก็คือ พนักงานมีความคาดหวังที่สูงขึ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับงานง่ายๆ อย่างเช่น การจัดการไฟล์ แบบฟอร์ม สัญญา การชำระเงิน และใบแจ้งหนี้  พนักงานต้องใช้เวลาราวหนึ่งในสามของชั่วโมงทำงานไปกับงานธุรการที่ต้องทำซ้ำๆ โดย 86 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานบริษัท และ 83 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่างานปลีกย่อยเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน  91 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความสนใจในเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานหรือกระบวนการต่างๆ เช่น Adobe Acrobat และ Adobe Sign

ในอนาคต พนักงานจะต้องทำงานร่วมกันกับคนที่อยู่ในออฟฟิศ และคนที่ทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการปรับใช้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย รวมไปถึงเทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติ เพื่อรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้ทำงานกับองค์กรไปนานๆ  ผลการศึกษาของอะโดบีชี้ว่า พนักงานบริษัทราวครึ่งหนึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนงานถ้าหากว่าที่ทำงานใหม่มีเครื่องมือที่ดีกว่า ซึ่งจะช่วยให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แล้วถ้าหากพนักงานมีเวลาว่างมากขึ้นเพราะได้ตัวช่วยเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เขาจะใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่ไปกับเรื่องใด?  ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามราวครึ่งหนึ่งมีแผนที่จะใช้เวลาไปกับเรื่องอื่นๆ ที่ตนเองสนใจ รวมถึงการพัฒนาทักษะและความสามารถเพื่อการเติบโตในอนาคต 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงาน Adobe Future of Time ฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์

*ผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย* ครอบคลุมผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเท่านั้น 

*ธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน* หมายถึง ธุรกิจที่จัดหาสินค้าหรือบริการที่จำเป็นให้แก่ผู้บริโภค เช่น ร้านขายของชำ บริการด้านสุขภาพ และบริการฉุกเฉินในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด


No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รวมสถานีชาร์จ EV ของ PEA บนเส้นทางหลักทั่วประเทศ

เทศกาลสงกรานต์มาถึงแล้ว หลายคนคงเตรียมออกเดินทางทั้งกลับบ้าน แต่สำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจกังวลเรื่องจุดชาร์จระหว่างทาง Techsauce จึงรวบรวมจุดให้บริการสถานีชาร์จ EV ทั่วประเท...

Responsive image

วิจัยพบ AI ไม่ได้คิดอย่างที่พูด แม้จะโชว์วิธีคิดยาวเหยียด แต่ซ่อนความคิดที่แท้จริงไว้ไม่บอกใคร

ตอนนี้มี AI ประเภทใหม่ที่เรียกว่าโมเดลจำลองการให้เหตุผล (SR Model) ซึ่งถูกสร้างมาให้โชว์วิธีคิดทีละขั้นตอน เวลาเราถามคำถามยากๆ AI จะอธิบายออกมาเป็นขั้นเป็นตอนว่าคิดด้วยวิธีไหน ถึงไ...

Responsive image

เปิดตัว Llama 4 โมเดล AI ที่ฉลาดที่สุดของ Meta ทำอะไรได้บ้าง แต่ละโมเดลต่างกันอย่างไร ?

Meta ได้เปิด Llama 4 ซึ่งเป็น AI เวอร์ชันอัปเดตล่าสุดอย่างเป็นทางการ โดยครั้งนี้มีโมเดลใหม่ทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่ Llama 4 Scout, Llama 4 Maverick และ Llama 4 Behemoth โดยทาง Meta เป...