หากคุณเป็นคนหนึ่ง ที่มีบุคลิกลักษณะแบบ ‘Introvert’ คุณอาจรู้สึกว่าตัวตนของคุณ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานและการใช้ชีวิตเลยแม้แต่น้อย แต่ทว่า คนรอบข้างกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น
ตั้งแต่ยังเด็ก ทุกครั้งที่มีการประชุมผู้ปกครอง คุณครูประจำชั้น มักจะกล่าวกับพ่อแม่ของคุณด้วยความเป็นห่วงว่า ‘ลูกของคุณ เป็นเด็กที่ฉลาดนะคะ แต่เขามักจะชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร กลัวว่าจะมีปัญหาตามมา’ และแม้ว่า คุณจะเติบโตจนก้าวเข้าสู่วัยทำงานแล้วก็ตาม เจ้านายก็ยังคอยบงการให้คุณทำ ในสิ่งที่คุณไม่อยากทำ เช่น ยกมือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หรือเข้าร่วมกิจกรรม Brainstorming กับเพื่อนร่วมงานมากมาย โดยไม่จำเป็น
สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากความเชื่อแบบผิดๆ ที่ว่า คนที่มีบุคลิกลักษณะแบบ ‘Extrovert’ เท่านั้น ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน ทำให้คนรอบข้าง ที่อาจจะหวังดี (มากเกินไป) พยายามที่จะลบตัวตนของคุณ และเปลี่ยนคุณให้เป็น ‘Extrovert’ แบบที่พวกเขาต้องการ ทั้งที่ ในความเป็นจริง คนที่มีบุคลิกลักษณะแบบ ‘Introvert’ ก็สามารถประสบความสำเร็จในแบบของตนเองได้เช่นกัน
‘Introvert’ มักถูกเข้าใจผิดว่า เป็นพวกขี้อายและไม่ชอบพบปะผู้คน
ในทางจิตวิทยา ‘Introvert’ หมายถึง กลุ่มคนที่มีบุคลิกลักษณะ เลือกอาศัยในสภาพแวดล้อม ที่มีสิ่งรบกวนระดับต่ำ ดังนั้น ขณะที่ ‘Extrovert’ เลือกที่จะไปงานเลี้ยงสังสรรค์ เพื่อพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ‘Introvert’ กลับเลือกที่จะดื่มกาแฟในคาเฟ่แสนสงบกับเพื่อนสนิท หรือนั่งอ่านหนังสือเงียบๆคนเดียวมากกว่า
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ‘Introvert’ จะเป็นคนที่ขี้อายและไม่ชอบพบปะกับผู้คน เหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ในทางตรงกันข้าม คนที่มีบุคลิกลักษณะแบบ 'Introvert' สามารถพูดคุยกับผู้อื่น และเข้าถึงง่ายเหมือนคนปกติทั่วไป เพียงแต่พวกเขาต้องการความเป็นส่วนตัวด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่ใช่คนที่พูดจาสนุกสนาน และคอยสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่น แต่พวกเขาก็เป็นผู้ฟังที่ดี และคอยให้คำปรึกษาผู้อื่นอยู่เสมอ
โลกที่สรรเสริญแต่ ‘Extrovert’
Susan Cain นักเขียนชื่อดัง ผู้เป็นเจ้าของหนังสือ Quiet: The Power of Introverts in a World That Can't Stop Talking กล่าวว่า โลกทุกวันนี้ ต่างชื่นชมและสรรเสริญคุณค่าความเป็น ‘Extrovert’ ในอุดมคติ ที่สะท้อนภาพของบุคคล ผู้เป็นที่รู้จักและโดดเด่นในแวดวงสังคม โดยไม่เห็นคุณค่าของความสุขุมและอ่อนโยน ที่เป็นคุณลักษณะสำคัญของ ‘Introvert’ เลยแม้แต่น้อย เป็นผลให้ คนส่วนใหญ่ ที่ได้รับความไว้วางใจจากคนรอบข้าง ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร มักจะเป็นคนที่มีความมั่นใจ กระฉับกระเฉง และมีเสน่ห์ ในทางตรงกันข้าม คนที่ค่อนข้างเก็บตัวและรักความสันโดษ จะไม่ค่อยได้รับความสนใจ แม้จะมีความสามารถมากเพียงใดก็ตาม
จากภาพลักษณ์ ที่มักถูกมองว่าเป็นพวกขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคม และแนวคิดที่ยกย่องความเป็น ‘Extrovert’ ทำให้คนที่มีบุคลิก ลักษณะแบบ ‘Introvert’ ส่วนมาก รู้สึกว่า ตัวตนของพวกเขา ไม่สามารถนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ พวกเขาจึงพยายามที่จะเป็นคนอื่น ที่มีบุคลิกลักษณะแบบ ‘Extrovert’ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาจะพบว่า การแสดงเป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่ตัวตนของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่เหนื่อยและทรมานจิตใจอย่างยิ่ง และท้ายที่สุด ชีวิตการทำงานของพวกเขา ก็จะไม่ได้พบกับคำว่า ประสบความสำเร็จ อีกเลย
จงเป็นตัวของตัวเอง อย่าแสดงเป็นคนอื่น
เมื่อรู้แล้วว่า การแสดงเป็นคนอื่น ไม่ใช่หนทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาว ดังนั้น สิ่งที่คุณ (ในฐานะ Introvert) ควรทำ คือ ‘เป็นตัวของตัวเอง’ คุณไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะเป็น ‘Extrovert’ หรือทำในสิ่งที่ฝืนตัวตนของคุณมากเกินไป เพื่อเป็นที่ยอมรับในสังคมการทำงาน เพราะ คุณยังสามารถแสดงศักยภาพการทำงานของคุณ ให้เป็นที่รับรู้ของเจ้านายและคนรอบข้าง เพียงปรับรูปแบบการทำงานของคุณให้เหมาะสมกับตัวตนของคุณมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ
1. ขอเวลาเพิ่มอีกสักนิด
เป็นที่ทราบกันดีว่า คนทีมีบุคลิกลักษณะแบบ ‘Introvert’ จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบ และได้ใช้เวลาครุ่นคิดเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่บ่อยครั้ง ที่ชีวิตการทำงาน มักจะมีเรื่องเร่งด่วนให้ต้องจัดการ อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเร่งแก้ไขให้มันจบไป คุณอาจลองขอเวลาส่วนตัวสักครู่ เพื่อคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเมื่อคุณมาพร้อมกับทางออกของปัญหาที่ชาญฉลาด เมื่อนั้น เจ้านายและคนรอบข้าง จะเห็นถึงศักยภาพการทำงานที่แท้จริงของคุณ
2. เตรียมพร้อมก่อนการประชุม
แม้ว่า การประชุม และกิจกรรม Brainstorming จะเป็นเวทีสำหรับแสดงศักยภาพสำหรับคนทำงาน ทั้งการแสดงความคิดเห็นจุดยืนทางความคิด รวมไปถึงการมีส่วนร่วมกับงานที่ได้รับมอบหมาย แต่สำหรับ ‘Introvert’ การประชุมเป็นเรื่องยากเสมอ ทำให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงาน มักจะมองว่า พวกเขาไม่มีศักยภาพในการทำงาน ทางออกของปัญหาดังกล่าว คือ เตรียมพร้อมก่อนการประชุม คุณอาจสอบถามวาระการประชุมก่อนล่วงหน้า เพื่อให้คุณได้ใช้เวลาครุ่นคิดและเตรียมตัวสำหรับการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หรือถ้าหากเป็นไปได้ คุณอาจแสดงความคิดเห็นและจุดยืนของคุณ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง เพียงเท่านี้ ความคิดที่ถูกปิดตายก่อนหน้า ก็จะเป็นที่รับรู้และสนใจของคนรอบข้างในสังคมการทำงาน โดยที่คุณไม่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวตนของคุณเลย
3. ช่วงเวลาพัก ควรเป็นช่วงเวลาส่วนตัว
ในโลกแห่งการทำงาน หากคุณไม่ได้ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ หรือธุรกิจส่วนตัว คุณคงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานได้ตลอดเวลา และบางครั้ง คุณอาจต้องใช้เวลาทั้งวันกับผู้คนเหล่านั้น ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ ดูดพลังงานจาก ‘Introvert’ อย่างมาก ดังนั้น ช่วงเวลาพักกลางวัน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่คุณจะปลีกตัวออกจากสังคมสักครู่ เพื่อชาร์จพลังที่สูญเสียไป ให้กลับมาพร้อมสำหรับการทำงานอีกครั้ง
4. เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน ‘Extrovert’
แม้ว่า บุคลิกลักษณะของ ‘Extrovert’ จะเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามของ ‘Introvert’ ก็ตาม ถึงกระนั้น คุณก็สามารถเรียนรู้ข้อดีจากสิ่งเหล่านั้น และนำมาปรับใช้กับการทำงานในแบบของคุณได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่อย่างใด เช่น คุณลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง ของ‘Extrovert’ ได้แก่ ความเป็นมิตรต่อคนรอบข้าง แต่แทนที่คุณจะพยายามสร้างเสียงหัวเราะ หรือเป็นจุดศูนย์กลางของคนรอบข้าง คุณอาจเลือกที่จะส่งรอยยิ้ม และสายตาที่เป็นมิตรให้คนรอบข้างแทน ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้คุณได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากคนรอบข้าง และพัฒนาศักยภาพการทำงานของคุณได้อย่างมีความสุข
โดยสรุป ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะแบบ ‘Introvert’ หรือ ‘Extrovert’ หากคุณเป็นตัวของตัวเอง และรู้จักปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับตัวตนที่คุณเป็น คนรอบข้างย่อมต้องมองเห็นศักยภาพในตัวคุณ และเปิดโอกาสให้ชีวิตการทำงานของคุณเจริญก้าวหน้า จนกระทั่งประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด
อ้างอิง: gulfnews
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่