ย้อนดูธุรกิจ ‘ซ่อง’ ในอดีตที่เคยถูกกฎหมาย และ ‘โสเภณี’ แรงงานลับที่สังคมไม่พูดถึง | Techsauce

ย้อนดูธุรกิจ ‘ซ่อง’ ในอดีตที่เคยถูกกฎหมาย และ ‘โสเภณี’ แรงงานลับที่สังคมไม่พูดถึง

เคยรู้ไหมว่า ในโลกนี้มีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่อยู่รอดจากทุกการ Disruption และอาจเป็นเพียงแค่ธุรกิจเดียวที่ AI ยังเข้ามาแทนที่ไม่ได้… ธุรกิจนั้นก็คือ ‘ซ่องและโสเภณี’ อาชีพเก่าแก่ของมนุษยชาติ คาดว่าเป็นอาชีพแรกที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ 

แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ประเทศไทยเคยใช้ธุรกิจนี้ในการสร้างชาติมาแล้ว เงินจำนวนกว่า 50,000 บาท คือภาษีที่รัฐบาลไทยเคยเก็บได้จากโสเภณีเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ซึ่งมากพอที่จะบอกได้ว่า…อาชีพนี้เคยรุ่งเรืองและสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติพอสมควร 

บทความนี้จึงอยากชวนมาย้อนดูธุรกิจ ‘ซ่อง’ และ ‘โสเภณี’ อีกหนึ่งแหล่งหาเงินชั้นดีของรัฐบาลไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และพามาหาคำตอบว่าเงินเหล่านั้นถูกนำไปพัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง

โมเดลธุรกิจซ่องไทยในอดีต

โสเภณีในไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่เคยมีหลักฐานที่ระบุไว้ชัดเจน แต่เคยปรากฏคำว่า ‘หญิงนครโสเภณี’ ไว้ครั้งแรกในหนังสือกฎหมายโบราณชื่อว่า “กฎหมายลักษณะผัวเมีย” ซึ่งมีการบัญญัติขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ในแผ่นดินของพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1857 – พ.ศ. 1912)

โมเดลซ่องไทยยุคแรก: บุกเบิกอาชีพโสเภณี

กฎหมายได้ให้ความหมายของคำว่าหญิงนครโสเภณีเอาไว้ว่า เป็นหญิงงามเมืองที่ใช้เสน่ห์และร่างกายทำมาหากิน ชายใดเอาไปเป็นภรรยาก็จะถูกสังคมตราหน้าว่าต่ำ นอกจากจะสะท้อนถึงมุมมองของสังคมที่มีต่อโสเภณีแล้ว ในด้านวิธีการทำงานก็เข้าข่ายโสเภณีในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน จึงอาจอนุมานได้ว่าธุรกิจซ่องและโสเภณีเริ่มแพร่หลายขึ้นในสมัยอยุธยานี่แหละ

ทั้งที่ก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องถูกสังคมรังเกียจ ทำไมผู้หญิงเหล่านี้ถึงเลือกที่จะเป็นโสเภณี ? 

ต้องย้อนกลับไปในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่อาชีพโสเภณีเกิดขึ้นมาในฐานะอาชีพที่เลือกทำไม่ได้ เนื่องจากโสเภณียุคแรก คือ ผู้หญิงที่ถูก ‘นำมาขาย’ หรือ ‘ขายตัวเอง’ เพื่อเป็นทาส และนายเงินบังคับให้มาขายตัวอีกทีหนึ่ง ซึ่งตามระบบศักดินาในสมัยนั้น ทาสเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุด ไร้อำนาจและขาดอิสระในการตัดสินใจ ชีวิตจะเป็นไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคำสั่งของนายเงิน 

หลักฐานที่เด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับธุรกิจซ่องและการบังคับขู่เข็ญก็คือ บันทึกของลาลูแบร์ อัครราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เดินทางมายังอยุธยาในสมัยของพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199 – พ.ศ. 2231) ซึ่งในบันทึกระบุอย่างชัดเจนว่า “ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์สตรีที่ตนซื้อมา เป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียภาษีถวายพระมหากษัตริย์…”

ชายคนที่ลาลูแบร์กล่าวถึงก็คือ ‘ออกญามีน’ เจ้าของซ่องที่มียศเป็นถึงออกญา ซึ่งก็ตีความได้ว่าโมเดลแรกของธุรกิจซ่องและโสเภณีนั้นเริ่มต้นจาก ‘ระบบทาสและการบังคับขู่เข็ญ’ > ช่องทางหารายได้พิเศษของเหล่าขุนนางในสมัยอยุธยา > และพัฒนามาเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เพราะต้องเสียภาษีให้แก่กษัตริย์

โมเดลซ่องในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น: ซ่องนานาชาติ 

เวลาล่วงเลยผ่านไป จากสมัยอยุธยาสู่กรุงธนบุรี การค้าประเวณีก็ยังอยู่คู่สังคมไทยมาตลอด แต่เมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแม้จะยังมีการนำทาสมาค้าประเวณีอยู่บ้าง แต่ก็มีหญิงบางประเภทที่สมัครใจจะเป็นโสเภณี ทำให้ในสมัยนี้มีโสเภณีเพิ่มขึ้นมาถึง 5 รูปแบบ  อาทิ 

  • หญิงหาเงินจร (โสเภณีเถื่อน) แอบค้าประเวณี ไม่มีสังกัดซ่อง และไม่เสียภาษีให้รัฐ
  • สมัครใจ เต็มใจที่จะทำอาชีพโสเภณี มีสังกัดซ่อง ได้ค่าแรง 50% จากเงินที่หาได้ และเจ้าของซ่องจะเป็นคนเสียภาษีให้รัฐแทน
  • หญิงทาส ขายตัวเป็นทาส และโดนกดขี่ให้มาเป็นโสเภณี
  • ลูกจ้าง หญิงที่มาสมัครเป็นโสเภณีและรับเงินล่วงหน้า จากนั้นจะทำงานหาเงินคืนให้แก่เจ้าของซ่อง *รูปแบบนี้เกิดหลังการเลิกทาส
  • หัวหน้า คล้ายแมวมองที่คอยชักชวนหญิงสาวหน้าตาดี มาแต่งองค์ทรงเครื่องให้ดูเป็นผู้ดี เพื่อหาคนเลี้ยงที่มีฐานะ ส่วนใหญ่จะเจอได้ตามห้างฝรั่ง

รูปแบบอาชีพโสเภณีที่เปลี่ยนแปลงไป จากรูปแบบการค้ามนุษย์ สู่รูปแบบธุรกิจ ทำให้โมเดลซ่องในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเริ่มมีระบบนายจ้างลูกจ้าง และมีเจ้าของซ่องที่เป็นผู้ประกอบการทั่วไป (ไม่ใช่ขุนนาง) เพิ่มขึ้นมา ซ่องดังๆ ในสมัยนั้นก็มีโรงยายแฟงและโรงยายเต๊า 

เมื่อซ่องมีผู้ประกอบการมากขึ้น การแข่งขันเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เจ้าของซ่องเริ่มมีการปรับปรุงและตกแต่งซ่องของตนให้สวยงามและสะอาดสะอ้าน ทำให้ซ่องในสมัยนี้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมีมาตรฐานมากขึ้น

ซ่องดังๆ ก็ต้องพยายามสร้าง ‘Customer Experience’ ที่ดีเพื่อแข่งขันกัน บางแห่งถึงขั้นจัดธีมเพื่อเอาใจลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยทำการค้ากับจีนรุ่งเรือง คนจีนจึงย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก 

ทำให้ในช่วงนั้นมีซ่องที่ตกแต่งเป็นสไตล์จีนอยู่ไม่น้อยเลย และโสเภณีที่ทำงานในซ่องจีนก็ต้องคัดคนที่เป็นสาวหมวย ถ้าเป็นสาวจีนได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นสาวไทยก็จะต้องเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อจีนเพื่อให้เข้ากับธีมของซ่อง

โสเภณีสร้างชาติจริงไหม เมื่อธุรกิจขายบริการถูกฉวยผลประโยชน์

รัฐบาลไม่ได้มีการซื้อขายโสเภณีด้วยตนเอง แต่เมื่อธุรกิจซ่องรุ่งเรืองมากขึ้นก็นำมาซึ่ง ‘การหาผลประโยชน์’ ระหว่างรัฐ-เจ้าภาษี-นายเงิน โดยเหตุการณ์เริ่มต้นในสมัยของรัชกาลที่ 4 

ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยได้มีการทำสนธิสัญญาสนธิสัญญาเบาว์ริงกับจักรวรรดิบริเตน (อังกฤษ) ซึ่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าอย่างหนัก รัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม ส่งผลให้มีการเก็บภาษีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย เช่น ภาษีฝิ่น ภาษีสุกร ภาษีปลากัด ภาษีปลาทู ภาษีผ้าไหม ภาษีผัก ภาษีถัง อากรการพนัน ฯลฯ และหนึ่งในนั้นก็คือ ภาษีค่าธรรมเนียมโสเภณี หรือ ภาษีบำรุงถนน โดยรัฐจะเรียกเก็บเพื่อเป็นค่าจดทะเบียนหญิงโสเภณี 

นอกจากนี้หลักฐานยังชี้ว่า แค่ภาษีจากโสเภณีอย่างเดียวรัฐบาลก็ได้เงินไปกว่า 50,000 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้ทั้งหมดที่ได้จากมณฑลทางใต้ถึง 10,000 บาท 

ทำไมต้องมีภาษีบำรุงถนน ?

‘ภาษีบำรุงถนน’ เกิดขึ้นมาจากการที่โสเภณีฟ้องร้องเจ้าของซ่องเรื่องโกงค่าตัว ทำให้รัฐบาลสืบทราบจนรู้ว่าเจ้าของซ่องเหล่านี้ไม่ได้โกงแค่ค่าตัวโสเภณี แต่ยังยักยอกเงินภาษีของรัฐบาลไปอีกด้วย จึงทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้มีภาษีนี้ขึ้นอย่างเป็นทางการ

ในข้อกฎหมายที่รัฐบาลระบุเกี่ยวกับภาษีบำรุงถนนก็มีบางส่วนที่ทำขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิของโสเภณี เช่น ห้ามบังคับทาสที่ไม่เต็มใจมาขายตัว ห้ามโกงค่าตัว ไม่งั้นนายเงินจะต้องถูกลงโทษด้วยการเสียค่าปรับหรือซื้อทรายให้กับรัฐ 

แต่ภาพรวมของข้อกฎหมายไม่ได้มีการปกป้องคุ้มครองโสเภณีอย่างรัดกุม เพียงแค่ระบุว่าหาก ‘โสเภณีฟ้องร้อง’ และสืบรู้ว่าเป็นความจริงนายเงินจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งบทลงโทษก็เป็นค่าปรับที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลทั้งสิ้น เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลในตอนนั้นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางภาษีจากโสเภณีมากที่สุด

รัฐบาลนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไร ?

เนื่องจากในช่วงนี้มีการค้ากับต่างชาติมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องมุ่งสร้างและซ่อมแซมถนน เพื่อพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งภายในประเทศให้ดีขึ้น เห็นได้ชัดจากหลักฐานที่รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากไปกับการก่อสร้างและปรับปรุงการคมนาคมภายในประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นคลองภาษีเจริญ ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมืองที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็ล้วนต้องใช้ทุนสร้างมหาศาล ซึ่งบันทึกระบุว่า งบที่นำมาขุดคลองสร้างถนนมีทั้งที่พระมหากษัตริย์ออกเอง และหยิบยืมจากขุนนางมาด้วย เมื่อนำมาพิจารณากับกฏหมายการเก็บภาษีบำรุงถนน จึงสามารถตีความได้ว่าภาษีนี้มีมาเพื่อซัพพอร์ตรัฐบาลในการสร้างถนนหนทางในประเทศ อย่างน้อยๆ ก็คือการซื้อทรายเพื่อมาถมทำถนน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลโอนถ่ายอำนาจการเก็บภาษีนั้นกลับมาที่ตนเอง (ก่อนหน้านี้ใช้ระบบเจ้าภาษีนายอากร มีเอกชนรับเหมาเก็บให้) ผ่านการตั้ง พ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรครัตนโกสินทรศก 127 มีเนื้อหาอนุญาตให้ค้าประเวณีได้แต่สำนักโสเภณีและโสเภณีต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย (คล้ายการมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี)

โดยกำหนดให้โสเภณีต้องเสียค่าจดทะเบียน 12 บาท/ 3 เดือน เพราะทางการบังคับให้ตรวจโรคทุก 3 เดือน นอกจากนี้ยังระบุว่าหญิงที่จะมาขายตัวต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป รวมถึงเจ้าของซ่องต้องเสียค่าจดทะเบียน 30 บาท/ 3 เดือน ให้แก่รัฐบาลด้วย

ข้อมูลจากบันทึกพระราชบัญญัติระบุว่ารัฐจะเก็บเงินภาษีนี้ภาษีเดียวได้ราวปีละ 39,540 บาท มากกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้มาก แต่เงินภาษีที่ได้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้มีการระบุว่าจะนำไปซื้อทรายและสร้างถนนแบบก่อนหน้านี้ แต่ในเมื่อผู้เก็บคือกรมสุขาภิบาลจึงคาดว่ารัฐนำเงินส่วนนี้มาใช้ควบคุมโรคระบาดทางเพศแทน


แหล่งซ่องยอดนิยมที่ทำเงินมหาศาล ได้แก่ สำเพ็ง รายได้ที่รัฐบาลเคยเก็บจากเขตนี้สูงถึง 335,142 บาทส่วนมากเป็นซ่องจีน นับเป็นแหล่งที่ธุรกิจค้าประเวณีรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยนั้น, และบางรัก ส่วนมากเป็นซ่องฝรั่งเรียกกันว่าบาร์ รายได้ที่รัฐบาลเคยเก็บจากเขตนี้สูงถึง 24,246 บาท *รายได้รวมทุกภาษีไม่ใช่แค่ภาษีโสเภณีเพียงอย่างเดียว

ตัวเลขเหล่าเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าธุรกิจค้าประเวณีรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัฐบาลกอบโกยรายได้มหาศาลจากภาษีนี้ นอกจากนี้ยังมีการนำเงินภาษีโสเภณีมาสร้าง โรงพยาบาลหญิงหาเงิน ใน พ.ศ. 2440 อีกด้วย เพื่อตรวจโรคให้แก่ผู้หญิงเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ต่อมามีประชาชนทั่วไปเข้ารับการรักษามากขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงพยาบาลกลาง  

Sex Worker ในปัจจุบันยังคงถูกมองข้ามในสังคมไทย

ในปัจจุบันอาชีพโสเภณีก็ไม่เคยหายไปจากสังคมไทยเลย รวมถึงรูปแบบการบริการและการทำงานก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม แต่ก็ยังคงถูกมองข้ามและไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลอย่างจริงจังอยู่ดี เป็นเวลากว่า 5 ปีที่ร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศได้ผ่านการจัดทำและรับฟังความคิดเห็น แต่ปัจจุบันยังคงถูกแช่แข็ง ไม่มีการสานต่อใดๆ เกิดขึ้น

ตามการรายงานจากประชาไท เมื่อวันที่  18 ม.ค. 2567 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และตัวแทนพนักงานบริการ (Sex Worker) ได้ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ 

นักเคลื่อนไหวทางสังคมและผู้ประกอบชีพนี้ก็หวังว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นสิ่งที่เข้ามาลบล้าง พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และทำให้อาชีพค้าบริการไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ซึ่ง Sex Worker ของไทยก็จะได้รับการคุ้มครองไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ในสังคม

แม้เราจะไม่รู้ถึงเม็ดเงินที่หมุนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ แต่ ‘7 คลอง 4 ถนน 1 โรงพยาบาล’ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยเคยได้จากธุรกิจซ่องและโสเภณีในอดีตมาทั้งนั้น หากเทียบกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสื่อเรื่องเพศอย่าง Onlyfans ก็ยังมีกฏหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครอง Creators จากการถูกเอาเปรียบและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 

ดังนั้นก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้รัฐบาลต้องละเว้นการคุ้มครองแรงงาน Sex Worker ที่มีส่วนสร้างชาติ จริงไหม ?

อ้างอิง: cuir.car.chula.ac.th, silpa-mag , silpa-mag, buuir.buu.ac.th, dspace.spu.ac.th , law.tu.ac.th 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ย้อนรอยเส้นทางความสำเร็จของ TSMC จากบริษัทเล็กๆ ในไต้หวัน สู่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเซมิคอนดักเตอร์

ย้อนกลับไปในปี 1987 บนเกาะไต้หวันที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการเทคโนโลยีในขณะนั้น ใครจะคาดคิดว่าการก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ อย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC จะกลาย...

Responsive image

21 ปี Subway ในประเทศไทย ขายแซนด์วิชชิ้นละร้อยอย่างไรให้อยู่รอด

ทำไม Subway ถึงสามารถขายแซนด์วิชชิ้นละเกินร้อยบาทในไทยได้ ทั้งที่ประเทศไทยก็มีแซนวิชไส้แน่นราคา 20 ขายกันทั่วไป ?...

Responsive image

การต่อสู้ของ Canva สตาร์ทอัพที่กล้าท้าชน Adobe

เจาะเส้นทางการต่อสู้ของ Canva สตาร์ทอัพสายดีไซน์ที่กล้าท้าชน Adobe ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในห้องนั่งเล่นจนสู่เวทีโลก พร้อมแผนบุกตลาดด้วย AI และการเข้าซื้อกิจการ หวังคว้าส่วนแบ่งจ...