ถ้าเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ก็ขอให้รู้ไว้เลยว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแค่โลกการทำงาน ชีวิตประจำวัน หรือความบันเทิงเท่านั้น แต่มันยังเข้าไปเปลี่ยน “ความรัก” ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นเรื่องของหัวใจล้วนๆ ให้กลายเป็นเรื่องของ อัลกอริธึม โค้ด และ Big Data อย่างเต็มตัว
จากยุคของการเขียนจดหมายรัก สู่การส่งอิโมจิหัวใจในแชต จากการพบกันโดยบังเอิญ สู่การถูกจับคู่ผ่านอัลกอริธึม ทุกวันนี้ความรักไม่ได้ถูกกำหนดโดยโชคชะตาเพียงอย่างเดียว แต่มันถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี ที่บางครั้งมันรู้ใจเราดียิ่งกว่าตัวเราเองเสียอีก
บทความนี้ Techsauce จึงอยากพาทุกคนไปย้อนรอยวิวัฒนาการของแอปหาคู่ จากอดีตถึงปัจจุบัน ว่าเมื่อไหร่กันที่เราเริ่มให้คอมพิวเตอร์ช่วยหาคู่ !
ย้อนกลับไปหลายทศวรรษก่อน Tinder, Bumble และ OKCupid ยังไม่มีอยู่จริง แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหารักแท้เริ่มต้นขึ้นจากโปรเจกต์เล็กๆ ของนักศึกษาฮาร์วาร์ดสองคน Jeff Tarr และ Vaughan Morrill ที่เบื่อหน่ายกับกิจกรรมหาคู่แบบเดิมๆ และคิดว่า “ถ้าคอมพิวเตอร์ช่วยหาคู่ให้เราได้ล่ะจะเป็นยังไง?” พวกเขาจึงได้เริ่มโปรเจกต์ Operation Match ขึ้นในปี 1965
รูปจาก: https://abcnews.go.com
หากใครต้องการใช้ Operation Match คุณต้องกรอกแบบสอบถาม 75 ข้อ ที่ครอบคลุมข้อมูลทุกด้าน ตั้งแต่งานอดิเรก การศึกษา รูปลักษณ์ เชื้อชาติ ไปจนถึงทัศนคติเรื่องเพศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวในยุคนั้น โดย Operation Match จะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจับคู่
แต่คอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราใช้กันทุกวัน มันคือ เครื่อง IBM ขนาดมหึมา ทำให้ทั้ง Tarr และ Morrill ต้องเช่าเวลาการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อรันโปรแกรม และคิดค่าบริการ $3 ต่อคน (ประมาณ 100 บาทในปัจจุบัน) ซึ่งคอมพิวเตอร์ IBM จะวิเคราะห์ข้อมูลจากชุดคำถามและจับคู่ที่เหมาะสมให้ผู้ใช้ พร้อมส่ง รายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของ 5 คนที่น่าจะเข้ากันได้มากที่สุด จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะโทรไปทำความรู้จักเอง
ภายใน 6 เดือนแรกมีนักศึกษากว่า 90,000 คนเข้าร่วม แต่สิ่งที่ตลกคือ Tarr ผู้ก่อตั้งเองกลับยุ่งกับการบริหารโปรเจกต์เกินกว่าจะใช้บริการของตัวเอง และสุดท้ายเขากลับพบรักกับภรรยาจากการ นัดบอด (Blind Date) ตามแบบฉบับดั้งเดิม
ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 การหาคู่ผ่านอินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยมีเว็บไซต์หาคู่อย่าง Match.com ถือกำเนิดขึ้นในปี 1995 ก่อตั้งขึ้นโดย Gary Kremen และ Peng T. Ong ในซานฟรานซิสโก มีบริษัท Electric Classifieds Inc. เป็นผู้ดำเนินการ เว็บไซต์นี้ถือเป็นผู้บุกเบิกในด้านเว็บหาคู่ที่เป็นแม่แบบของแอปหาคู่ในปัจจุบัน
รูปจาก: fastcompany.com
ในยุคนั้น การสร้างโปรไฟล์ออนไลน์เพื่อค้นหาคู่ที่ตรงใจถือเป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้น แม้ว่าอัลกอริทึมในตอนนั้นจะยังไม่ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน แต่ผู้ใช้ก็สามารถระบุอายุ ความสนใจ และสถานที่ เพื่อให้ระบบแนะนำคู่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ากันได้
นอกจากนี้ Match.com ยังเป็นหนึ่งในเว็บไซต์แรกที่ใช้ ระบบสมัครสมาชิก (Subscription Model) โดยให้ผู้ใช้จ่ายเงินเพื่อเข้าถึงฟีเจอร์พิเศษ เช่น การส่งข้อความไม่จำกัด หรือการดูว่าใครสนใจโปรไฟล์ของตน
จนต่อมาในปี 1999 IAC (InterActiveCorp) บริษัทสื่อและเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เข้าซื้อกิจการของ Match.com และในปี 2009 ได้ก่อตั้ง Match Group ขึ้นมาเพื่อรวบรวมธุรกิจหาคู่ออนไลน์ทั้งหมดที่บริษัทเป็นเจ้าของ Match Group ได้ขยายอาณาจักรด้วยการเข้าซื้อกิจการอื่น ๆ เช่น
นอกจากนี้ ในปี 2012 Tinder ซึ่งเป็นแอปหาคู่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ก็ถูกพัฒนาขึ้นภายใน Hatch Labs ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพของ IAC ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน Match Group เป็นเจ้าของแอปหาคู่ยอดนิยมมากมาย เช่น Tinder, Match.com, OkCupid, และ PlentyOfFish โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 02/02/2025) ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จและการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมหาคู่ออนไลน์
ปี 2009 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแอปหาคู่ เมื่อสมาร์ทโฟนเริ่มแพร่หลายมากขึ้น Grindr แอปหาคู่เน้นการให้บริการแก่ชุมชน LGBTQ+ โดยเฉพาะกลุ่มเกย์ ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์ ได้เปิดตัวในฐานะแอปที่ใช้ GPS ช่วยให้ผู้ใช้สามารถหาคู่ที่อยู่ใกล้ตัวได้แบบเรียลไทม์ แต่นี้ยังคงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ในแอปเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
แต่ต่อมาในปี 2012 การเปิดตัวของ Tinder ได้เปลี่ยนแปลงโลกของแอปหาคู่ครั้งใหญ่ ด้วยแนวคิด Swipe หรือการปัดซ้าย-ขวาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ผู้ใช้สามารถปัดขวาเพื่อแสดงความสนใจ หรือปัดซ้ายเพื่อผ่าน ซึ่งทำให้การหาคู่กลายเป็นเรื่องสนุกและเสพติด คล้ายกับการเล่นเกม
ความสำเร็จของ Tinder ไม่ได้มาเพียงเพราะฟีเจอร์การปัด แต่ยังมาจากการออกแบบที่เน้นการใช้งานบนมือถือเป็นหลัก และอัลกอริทึมการจับคู่ที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี 2018 Tinder ถูกดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้ง มีการปัดมากกว่า 1.8 พันล้านครั้งต่อวัน และสร้างการจับคู่มากกว่า 20 พันล้านครั้งทั่วโลก
ความสำเร็จของ Tinder ได้จุดประกายให้เกิดแอปหาคู่อื่น ๆ ที่พยายามสร้างความแตกต่างเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ Bumble ซึ่งเปิดตัวในปี 2014 โดย Whitney Wolfe Herd หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Tinder โดย Bumble มีแนวคิดที่แตกต่างโดยให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเริ่มต้นการสนทนาเมื่อเกิดการจับคู่ ซึ่งช่วยลดปัญหาการคุกคามทางออนไลน์
นอกจากนี้ยังมี Raya ซึ่งเปิดตัวในปี 2015 เป็นแอปหาคู่ที่เน้นความเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับเซเลบริตี้และคนในวงการครีเอทีฟ การเข้าร่วม Raya ต้องผ่านกระบวนการสมัครที่เข้มงวด รวมถึงการแนะนำจากสมาชิกปัจจุบัน และการตรวจสอบโดยคณะกรรมการที่ไม่เปิดเผยตัวตน สิ่งนี้ทำให้ Raya กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเป็นส่วนตัวสูง และดึงดูดผู้ใช้ที่มีชื่อเสียง
ในช่วงยุคไล่เลี่ยกันกับการเกิดของ Operation Match ราวปี 1973 เทคโนโลยีในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก การหาคู่ผ่านหนังสือพิมพ์ เคยเป็นทางเลือกยอดฮิตของคนโสดในไทย โดยมักใช้บริการ "คอลัมน์หาคู่" หรือ "โฆษณาหาคู่" ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ที่มีคอลัมน์พิเศษสำหรับโฆษณาประเภทนี้
หนึ่งในคอลัมน์ที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ "มาลัยเสี่ยงรัก" ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เปิดตัวในปี 2516 โดยมี ลุงหนวด หรือ เทพชู ทับทอง เป็นผู้ดูแล จุดแข็งของคอลัมน์นี้คือความเรียบง่ายตรงไปตรงมา คนที่สนใจสามารถส่งจดหมายแนะนำตัว พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับอายุ อาชีพ นิสัย ความต้องการ และช่องทางติดต่อ เช่น
หนุ่ม 35 ปี ข้าราชการ มั่นคง มองหาหญิงโสดจริงใจเพื่อสร้างครอบครัว โทร 08X-XXX-XXXX
จะมาในรูปแบบสั้น กระชับ ได้ใจความ บอกอายุ อาชีพ ความมั่นคง และลักษณะนิสัยก่อนให้ช่องทางติดต่อ เพื่อรับจดหมายจากผู้ที่สนใจ ในบางกรณี ผู้ลงประกาศอาจใช้บริการของหนังสือพิมพ์เป็นตัวกลาง โดยให้จดหมายถูกส่งไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ก่อน แล้วทางสำนักพิมพ์จะเป็นผู้ส่งต่อไปยังผู้ลงประกาศอีกที
แต่พอเข้าสู่ยุค 2000s อินเทอร์เน็ตและมือถือเริ่มเข้ามาแทนที่ การหาคู่แบบดั้งเดิมถูก disrupt โดยเว็บหาคู่ Tinder, Bumble และ Facebook Dating ที่เข้ามาครองตลาด การหาคู่ไม่ต้องรอหนังสือพิมพ์อีกต่อไป ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ สะดวกขึ้น มีตัวเลือกเยอะขึ้น
ปัจจุบัน เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นจน AI และ Big Data สามารถช่วยจับคู่คนที่ใช่ได้แม่นยำขึ้น การเปิดตัวของแอปเหล่านี้แสดงถึงการพัฒนาและความหลากหลายในตลาดแอปหาคู่ ที่พยายามตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้ แต่แก่นแท้ของการเดทยังเหมือนเดิม คือ เทคโนโลยีช่วยสร้างตัวเลือก แต่เรายังต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่า "ใครคือคนที่ใช่"
อ้างอิง: edition.cnn , datingnews, theverge , thematter, techcrunch
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด