ชาวจีน Gen Z ยอมลาออก แม้ว่าจะตกงาน หากเจอความไม่ยุติธรรมในออฟฟิศ | Techsauce
ชาวจีน Gen Z ยอมลาออก แม้ว่าจะตกงาน หากเจอความไม่ยุติธรรมในออฟฟิศ

กุมภาพันธ์ 9, 2024 | By Suchanan Songkhor

ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแข่งขันสูงมาแต่ไหนแต่ไร สังคมจีนจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันและต้นทุนทางสังคม ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เราจะเห็นได้ว่าการแข่งขันของคนจีนจะมีอยู่ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกับ Gen Z ที่ต้องแข่งขันกันเพื่อให้ตัวเองได้เรียนโรงเรียนดี ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ต้องแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอเรียนจบก็หนีไม่พ้นที่จะต้องแข่งขันแย่งงานกันหลังเรียนจบอีก 

Gen Z

ซึ่งพอได้ฝ่าฟันสงครามการหางาน จนได้งานทำแล้ว เราก็คงคาดหวังว่าอยากมีงานดีๆ อยากทำงานที่มีความมั่นคง แต่ในโลกของความเป็นจริง การทำงานบางครั้งก็โหดร้ายเกินกว่าที่เราจะรับไหว เพราะอาจต้องเจอกับสังคมที่ Toxic สังคมที่โดนเอาเปรียบ หรือเจอความไม่ยุติธรรมหลายอย่าง ทำให้บางคนถึงขั้นลาออก บางคนก็มีภาวะเครียด หนักสุดถึงขั้นรู้สึกสูญเสียตัวตนและไม่มีความมั่นใจในตัวเอง  

เช่นเดียวกับผู้หญิงคนนี้ที่ชื่อว่า Melody Yan หญิงสาววัย 22 ปี เธอเจอกับความไม่ยุติธรรมในที่ทำงานหลายอย่าง จนทำให้เธอตัดสินใจที่จะลาออก ซึ่งก่อนที่จะลาออก เธอได้เขียนอีเมลหนึ่งฉบับให้หัวหน้าของเธอ ซึ่งในข้อความ ระบุถึงปัญหาในการทำงานที่เธอได้เจอมาทั้งหมด มีทั้งการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของหัวหน้า ไม่มีการซัปพอร์ตพนักงาน แต่ที่หนักที่สุดคือหัวหน้าทำไม่ดีไม่ร้ายกับเธอ

ซึ่งในขณะนั้นเศรษฐกิจของจีนก็กำลังอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ตลาดแรงงานของจีนมีอัตราการว่างงานสูงถึง 20.4% ตัวเลขนี้เกิดกับคนในช่วงวัย 16-24 ปี ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน และตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ฉะนั้นการตัดสินใจลาออกจากงานคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะหางานใหม่ได้ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน นั่นหมายความว่าในช่วงนั้นหนุ่มสาวชาวจีนกว่า 1 ใน 5 อาจหางานไม่ได้หรือไม่มีงานทำ

แต่ก็มีคนที่เกิดในศตวรรษที่ 21 อีกจำนวนไม่น้อย หรือคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2000 (Gen Z) ที่ไม่กลัวการลาออกจากงาน แม้ต้องเจอกับความไม่ยุติธรรมในออฟฟิศ พวกเขาพร้อมที่จะลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ และกล้าต่อต้านการถูกเอารัดเอาเปรียบจากวัฒนธรรมการทำงานที่ Toxic ทันที

คนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมการทำงาน การมี Work Life Balance และจะหลีกเลี่ยงวัฒนธรรมการทำงานที่ Toxic เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่กลัวการลาออก แม้ว่าเศรษฐกิจตอนนั้นจะตกต่ำก็ตาม แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ยอมทนทำงานอยู่กับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ เพราะจำเป็นต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองอยู่ 

และหลังจากที่ Melody Yan ลาออกจากงานไปแล้ว ตอนนี้เธอก็ได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน เธอบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในบริษัทที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเรา หากการทำงานในบริษัทนั้นทำให้เราเกิดความทุกข์ ถึงขั้นวิตกกังวล ก็ไม่คุ้มค่ากับการที่เราต้องทำงานที่นั่นต่อ 

จากการสำรวจของพนักงาน Gen Z กว่า 7,000 คน โดย BOSS Zhipin แพลตฟอร์มจัดหางานออนไลน์ของจีน พบว่าคนกลุ่ม Gen Z เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนาอาชีพมากขึ้น 

ซึ่งในขณะเดียวกันนายจ้างส่วนใหญ่กลับมองว่า Gen Z เป็นกลุ่มคนที่ทำงานด้วยยาก มีข้อแม้เยอะ แต่ก็ยังมีนายจ้างอีกหลายคนมองว่าเราควรทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ให้มาก ๆ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นกลุ่มคนที่มีความหุนหันพลันแล่น แต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เรียนรู้ได้เร็วและมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากไม่น้อยไปกว่าคน Gen อื่น 

สุดท้ายนี้แม้ว่ากระแสการท้าทายเจ้านายหรือการพูดถึงในสิ่งที่ไม่ควรพูดจะเป็นเรื่องที่อันตราย แต่สำหรับ Gen Z แล้ว พวกเขากลับมองว่าถ้าหากเราเจออะไรที่ไม่ยุติธรรมกับตัวเองหรือรู้สึกว่าเรากำลังโดนเอาเปรียบ เราสามารถพูดสิ่งนั้นได้ เพราะสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้สภาพแวดล้อมการทำงานของเราดีขึ้นและไม่ Toxic นั่นเอง

อ้างอิง : scmp

No comment