อยากเป็น Software Engineer ต้องทำอย่างไร สายงานนี้มีโอกาสเติบโตไหม | Techsauce
อยากเป็น Software Engineer ต้องทำอย่างไร สายงานนี้มีโอกาสเติบโตไหม

กรกฎาคม 25, 2022 | By Chanapa Siricheevakesorn

หลายคนใฝ่ฝันอยากทำงานในสายเทคโนโลยี แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเหมาะกับอาชีพอะไร วันนี้เราเลยจะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักเส้นทางสู่การเป็น Software Engineer เผื่อว่าใครหลายคนที่กำลังสนใจอาชีพนี้อยู่พอดีจะได้เตรียมตัวก่อนตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง โดยผู้ที่ให้สัมภาษณ์เราในวันนี้ ได้แก่คุณเนตรชวินทร์ สุทธิสันธิ์ หรือ คุณวิน ปัจจุบันเป็น CTO ของ Ava Advisor 

Ava Advisor ปัจจุบันมีบริษัทย่อยอยู่ 6 บริษัทซึ่ง Active อยู่ 4 บริษัทด้วยกันคือ Vulcan, Avantis, Avareum, และ AVA Thailand โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณวินคือ ดูแลภาพรวมของบริษัท Avantis และ AVA Thailand ทั้งด้าน Tech, Product และ Team เป็นหลัก โดย Avantis เป็น Startup ที่กำลังอยู่ในช่วงระดมทุน Series A ในขณะที Ava Thailand เป็น Financial technology consultant รับทําแอปพลิเคชันให้ธนาคารและโบรกเกอร์ อย่างเช่น SCB, Kbank, Phatra, TISCO เป็นต้น

Software Engineer

กว่าจะเป็น Software Engineer ได้ ต้องเรียนจบด้านไหนเและต้องทำอะไรบ้าง

เราเรียนด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยความที่เป็นคนชอบวิทยาศาสตร์และชอบทํา ชอบค้นหาสิ่งใหม่ๆ จึงเลือกดาราศาสตร์เป็นวิชา Minor เพราะเป็นศาสตร์ที่ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะมากเมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์ในศาสตร์อื่นๆ ตอนนั้นวาดฝันว่าหลังเรียนจบจะเป็นนักวิจัยศึกษาเรื่องราวของเอกภพอยู่บนภูเขาสักแห่ง

แต่มีจุดพลิกผันตอนเจอการเมืองในวงการวิชาการ, การคอร์รัปชันในการจัดซื้อ-จัดจ้าง ทั้งที่เจอเองกับตัว จากรุ่นพี่ และอาจารย์ที่สนิทกันประสบพบเจอ พอได้รับรู้ข้อมูลด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจว่าถ้าต้องเจอแบบนี้คงจะทำให้เราไม่มีความสุขในการทำงาน แต่อีกใจก็รู้สึกลังเลว่าจะตัดสินใจอย่างไรดีเพราะเรียนมาได้เกือบจะสองปีแล้ว ตอนนั้นถึงกับเคว้งไปพักใหญ่ แต่หลังจากนั้นหนึ่งปีให้หลังมีเพื่อนที่รู้จักแนะนําให้ลองเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งย้อนหลังไปตอนมัธยมต้นเราได้รับโอกาสในการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ สาขาคอมพิวเตอร์ ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้สึกชอบจึงไม่ได้อะไรกลับมาจากครั้งนั้นมากนัก แต่พอกลับมาเรียนอีกครั้ง ปรากฎว่ารู้สึกสนุกและชอบมาก

พอเรียนได้ปีครึ่งก็มีเพื่อนอีกคนในห้องชักชวนไปทำงานที่บริษัทของพี่ชายเขา โดยเขาให้เหตุผลกับเราว่าเขารู้สึกว่าเราโดดเด่นในด้านนี้มาก เพราะเห็นเราสอบได้อันดับต้นๆ และคอยตอบคําถามอาจารย์อยู่ตลอด นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่สาย Software Engineer ของเราตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้นเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่ค่อยตอบโจทย์ตัวเองสักเท่าไหร่ และการเรียนอาจทําให้เราเก่งได้ช้ากว่าหากเทียบกับการทํางานและการศึกษาด้วยตัวเอง ช่วงนั้นเพื่อนคนอื่นๆ ในรุ่นตอนเรียนฟิสิกส์ก็เริ่มเรียนจบกันไปแล้วจึงทำให้เราตัดสินใจออกมาทำงานทันที แม้จะไม่มีใบปริญญา

แต่ถ้าถามว่าใบปริญญาสําคัญไหมในสายงาน Tech ใบปริญญาอาจไม่ค่อยสําคัญเท่าไหร่ เพราะเรามักจะดูจากฝีมือ เช่น ผลงานใน Github เป็นหลัก แต่ทั้งนี้เราเห็นด้วยกับคําที่รุ่นพี่ที่เราเคารพท่านหนึ่งเคยพูดกับเราว่า

ใบปริญญาไม่สําคัญจนกระทั่งมันสําคัญ

ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ โดยทั่วไปไม่ได้สนใจใบปริญญาแล้ว แต่บางบริษัทยังคงระบุชัดเจนว่าคุณต้องจบการศึกษาขั้นต่ำคือปริญญา เช่น Binance ที่กําลังจะมาเปิดในไทย ระบุชัดเลยว่าคุณต้องจบปริญญาโทเป็นอย่างต่ำหรือเช่นเดียวกันกับการย้ายไปทํางานต่างประเทศ ถ้าคุณไม่มีใบปริญญา ประเทศนั้นๆ อาจจะไม่ออก Work permit ให้กับคุณหรืออาจจะมีเงื่อนไขที่จะได้ Work permit ยากกว่าคนอื่นๆ ที่จบปริญญา

โอกาสในการเติบโตในสายงาน 

เราว่างานสาย Software Engineer สามารถเติบโตได้อย่างหลากหลาย เนื่องจากสายงานคอมพิวเตอร์ค่อนข้างกว้างขึ้นอยู่กับว่าเราชอบแบบไหนและทํางานกับบริษัทอะไร เช่น บางบริษัทอาจจะแยกตําแหน่งออกเป็น Developer, DevOps, Data Engineer, SRE, Infra เป็นต้น แต่ถ้าเป็นที่ Ava เรามองตําแหน่งที่กล่าวไปข้างต้นเป็น Skill Set และเรียกรวมกันเป็นตําแหน่งเดียวคือ Software Engineer 

สิ่งที่เรามองว่างานเทคอาจจะแตกต่างกับสายงานอื่นคือ คุณสามารถเติบโตได้โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นสาย Manage ดูแลคนอย่างเดียว แต่สามารถทํางานเทคโดยเฉพาะแบบ Specialist และได้รับเงินเดือนที่สูงๆ ได้ใน Tech Industry เราเรียกสายนี้ว่า Individual Contributor (IC) บางครั้ง IC ที่เก่งมากๆ มักจะได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าสาย Director บางคนด้วยซํ้า

หรือหากคุณมีไอเดียที่ดี อยากทําอะไรที่เป็นของตัวเองในโลกของเทคโนโลยี สามารถเริ่มทํา Startup ได้เลย ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากนัก เพราะค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดสําหรับบริษัทเทคคือ ค่าจ้างพนักงาน ดังนั้นถ้าเราสามารถหา Co-Founder ที่เชื่อในไอเดียธุรกิจของคุณ มา Kickstart ไปด้วยกันได้จะดีมาก เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะมีแค่ค่าแรงของตัวคุณเองเป็นหลักโดยที่ยังไม่จําเป็นต้องจ้างคนและถ้าไอเดียเราดีจริงๆ ก็จะมีนายทุนมากมายที่พร้อมให้เงินทุนสนับสนุนอย่างแน่นอน

ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะมีคนรอบๆ ตัวที่ทํา Startup แล้วประสบความสําเร็จหลายคนแต่คนที่ทําแล้วไม่ไปถึงฝั่งฝันก็เยอะเหมือนกัน แต่เราคิดว่า Barrier of entry มันค่อนข้างตํ่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจจะต้องลงทุนเยอะตั้งแต่แรก

Culture การทํางานบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติต่างกันอย่างไร

หลักๆ เลยคือ Culture การกล้าตั้งคําถาม กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น

เราเป็นคนที่จะไม่ทําตามคําสั่งแบบขอไปทีแต่เราจะช่วยเสนอแนะความคิดเห็นที่อาจจะช่วยให้การทำงานนั้นๆ ออกมาได้ผลลัพธ์ดีมากยิ่งขึ้นด้วย เช่น ถ้าหัวหน้าสั่งให้ทำ A เราจะถามเสมอว่าทําไมถึงอยากได้ A เหตุผลคืออะไร เป้าหมายคืออะไร เพื่อที่จะได้ทำงานออกมาได้อย่างตอบโจทย์ที่สุดและถ้าเรารู้สึกว่าจริงๆ แล้ว A ไม่ได้ตอบโจทย์เท่าที่เขาต้องการขนาดนั้น เราจะช่วยคิดและเสนอ Solution B ที่อาจจะแก้ปัญหานั้นๆ ได้ดีกว่า

ซึ่งเราได้รับ Feedback สําหรับนิสัยนี้ของเราตอนทํางานกับบริษัทไทยต่างกับตอนทํางานบริษัทต่างชาติมากๆ เพราะตอนที่ทํางานกับบริษัทไทยเราโดนตั้งคําถามและโดนตําหนิว่าเราเป็นคนที่ไม่ค่อยทําตามคําสั่ง ชอบถามเยอะจนเกินไป อยากให้เราก้มหน้าก้มตาทํางานตามคําสั่งให้มากขึ้น

แต่ในขณะที่ทํางานกับบริษัทต่างชาติหัวหน้าเรากลับชอบมากและคอยให้กำลังใจอยู่บ่อยๆ ว่านี่คือจุดแข็งอย่างหนึ่งที่เขาอยากให้คนอื่นในทีมทําตามและขอให้รักษาประสิทธิภาพในการทำงานของเราแบบนี้ต่อไป

เราจึงนำเอาสิ่งนี้มาทําที่ Ava ด้วยพยายามให้กำความสำคัญกับทุกความคิดเห็นอย่างเปิดรับ ที่นี่เรามีความเชื่อว่าเราจ้างคนเก่งมาเพื่อฟังความเห็นของเขาและเราใช้คติเดียวกันกับของ Netflix ที่ว่าด้วย 

ถ้าคุณมีความเห็นที่จะทําให้เพื่อนร่วมงานของคุณเก่งขึ้นหรือทําให้บริษัทดีขึ้นแต่คุณเลือกที่จะไม่พูด เราถือว่าคุณบกพร่องต่อหน้าที่

มีรูปแบบหรือตารางการทํางานแต่ละวันอย่างไรบ้าง

หลายคนอาจจะเชื่อใน Work-Life Balance แต่ตัวเราเองเชื่อในสิ่งที่เรียกว่า Work-Life Integration  Work-Life Balance คนจะมองว่าเวลาทํางานคือเวลาทํางาน หมดเวลาทํางานคือเวลาส่วนตัวที่จะไปใช้ชีวิต 

ในขณะที่ Work-Life Integration จะมองว่าการทํางานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกันได้ชัดเจน ไม่ได้มีกรอบเวลาทํางานตายตัวว่าเวลาไหนคือเวลางาน เวลาไหนคือชีวิตส่วนตัว เราอยากจะทํางานตอนไหนก็ทํา เหนื่อยตอนไหนก็พัก ตราบใดที่การทำงานของเราไม่ไปขัดขวางการทํางานของคนอื่นก็เพียงพอแล้ว

ข้อดีที่สุดของแนวคิดแบบนี้คือการใช้ชีวิตแบบมีความยืดหยุ่นสูง ไม่จําเป็นต้องถูกตีกรอบด้วยคําว่า “เวลางาน” เพราะเราทํางานอยู่แล้วตลอดเวลาและมันตอบโจทย์เรามาก

ยกตัวอย่างเช่นบางวันเราเข้าหลายประชุมต่อเนื่องตั้งแต่เช้ายาวไปถึงช่วงบ่ายหรือเย็น

บางครั้งถ้าเป็นการประชุมที่ต้องใช้พลังเยอะมากๆ หลังจากประชุมเสร็จถ้ามีเวลาเราจะหนีไปงีบเพิ่มพลังแล้วค่อยลุกขึ้นมาทํางานต่อตอนกลางคืนแทน อีกอย่างเราเป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาทําให้บางครั้งต้องลางานวันธรรมดาเพื่อไปเรียนคอร์สต่างๆ ที่เขาไม่เปิดสอนวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เราก็ทํางานเสร็จได้เรียบร้อยดีเพราะเรามานั่งทํางานวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดแทน ผลคือการทํางานแบบนี้ทําให้เราสามารถสร้างผลลัพธ์ให้กับบริษัทมากกว่าตอนที่เราทําตาม

Work-Life Balance เสียด้วยซํ้าเพราะเราเป็นคนชอบทํางานอยู่แล้ว การไม่จําเป็นต้องฝืนทํางานในตอนที่เราเหนื่อยเกินไปจึงทําให้ผลงานออกมาดี ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเหนื่อยน้อยกว่าและมีความสุขกว่าด้วย เพราะสามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้

แต่การทำงานแบบ Work-Life Integration ทําให้เรารู้สึกว่าตัวเองต้องมีอะไรสักอย่างมาช่วยเพื่อให้เราวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น เราจึงเลือกใช้ Kanban ที่เป็น Framework หนึ่งของการทํางานที่คนชอบเรียกว่า Agile มาเป็นตัวช่วย ทีนี้จะกลับมาสู่คําตอบของคําถามตอนต้นว่าเรามีตารางการทํางานแต่วันอย่างไรบ้าง จริงๆ แล้วชีวิตของเราวันนี้จะแพลนคร่าวๆ มาแล้วตั้งแต่เมื่อวานคือก่อนนอนเราจะเช็กตารางงานก่อนเลยว่า พรุ่งนี้มีประชุมอะไรต้อง คุยกับใครบ้าง เช็ก To-Do List ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทําเรียงตามลำดับความสำคัญแล้วแพลนการใช้ชีวิตของพรุ่งนี้แบบคร่าวๆ

เราใช้คําว่าใช้ชีวิตเพราะชีวิตมีการทํางานเป็นส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่อยู่แล้ว พอตื่นเช้าวันใหม่เราจะเช็กตารางงานและ To-Do List อีกรอบเพื่อเป็นการทบทวนตัวเอง เช็กอีเมล เช็ก Discord ที่เป็นช่องทางสื่อสารหลักของบริษัทเพื่อตอบคําถามของเพื่อนร่วมงานแล้วเริ่มทําตามแพลนชีวิตที่วางไว้

พอหมดวันก่อนนอนเราจะเช็กอีกครั้งว่าวันนี้ทําอะไรไปแล้วบ้าง ผลลัพธ์เป็นอย่างไร มีอะไรที่เราสามารถทําให้ดีขึ้นได้ไหม ควรจะจัดการตรงไหนเพิ่มอีกบ้าง จากนั้นจะเช็กตารางงานและแพลน To-Do List เพื่อเตรียมพร้อมสําหรับวันต่อไป

สิ่งที่ชอบและไม่ชอบจากการทํางานสายนี้มามีอะไรบ้าง

สิ่งที่ชอบในสายงานนี้คือการได้ทำสิ่งใหม่ๆ และได้องค์ความรู้ใหม่ๆ เพราะโลกของเทคโนโลยีหมุนไปไวมาก เราจึงต้องพยายามพัฒนาตัวเองและทำให้ตัวเองเก่งขึ้นอยู่เสมอ ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบสำหรับการทำงานในสายงานนี้แทบไม่มีเลย

ความท้าทายของอาชีพนี้คืออะไร หากอยากทํางานด้านนี้ต้องมีทักษะอะไรบ้าง

แน่นอนเลยคือเรื่องของตรรกะและการเรียบเรียงระเบียบวิธีการคิดต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

Compute แปลว่าคำนวณ ดังนั้น Computer จึงแปลว่าเครื่องคำนวณ เครื่องคอมพิวเตอร์เปล่าๆ สามารถคำนวณตามที่เราบอกได้อย่างเดียว เราต้องทำหน้าที่เรียบเรียงความคิดถ่ายทอดออกมาเป็นลําดับขั้นตอน วิธีการหรือนิยามเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถนําไปคํานวณและแสดงผลได้

ภาษาอังกฤษจะทําให้คุณเก่งขึ้นเพราะในโลกของ Software Engineer เอกสารและองค์ความรู้จํานวนมากมักจะถูกเขียนด้วยภาษาอังกฤษ ถ้าเราอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ก็จะเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างจํากัด หากเราต้องเขียนโปรแกรมต่อกับระบบอื่นๆ เช่น Facebook เราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอ่านเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ

การเข้าใจคณิตศาสตร์จะช่วยทําให้วิธีคิดและความเข้าใจในสายงานนี้ดีมากขึ้นเพราะวิธีการทํางานของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักคณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรมบาง Paradigm จึงจําเป็นต้องเข้าใจคณิตศาสตร์ การทํางานบางสายเช่น Data Scince หรือ Machine Learning Engineer ก็ใช้คณิตศาสตร์ค่อนข้างมากเช่นกัน

Soft Skill สําคัญไม่แพ้กันเพราะหลายคนคิดว่าเป็นโปรแกรมเมอร์แล้วคุยกับ Code กับคอมก็พอจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แม้แต่คนที่ไปสาย IC เองก็ตาม คุณจำเป็นต้องทํางานกับคนอยู่ดี สมมติคุณไปสายเทคล้วนๆ คุณก็มีหน้าที่ต้องอธิบายหรือโน้มน้าวให้หัวหน้าหรือคนในบริษัทฟังอยู่ดีว่าทําไมคุณถึงเลือกใช้ Solution นี้หรือ Tech stack นี้มาแก้ปัญหา

สุดท้ายสิ่งที่สําคัญมากคือถ้าอยากเป็น Top 10% ในสายงานนี้ เราต้องพร้อมและให้เวลาที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาทั้งสิ่งที่มีอยู่แล้วนั่นคือองค์ความรู้ในโลกของเทคที่มีอยู่เยอะมากๆ และสิ่งใหม่ๆ ในโลกเทคโนโลยีที่ทําให้เรารู้ว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะโลกเทคโนโลยีวิ่งไปเร็วมาก สิ่งที่เราเคยใช้วันนี้ พรุ่งนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์หรือถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีอื่นแล้วก็เป็นได้

ในมุมมองของ CTO Ava Advisor มีคําแนะนําสําหรับคนรุ่นใหม่ที่กําลังก้าวเข้าสู่การสมัครงานครั้งแรกในสาย Software Engineer อย่างไร

เราชอบคําที่หัวหน้าคนแรกของเราพูดว่า “There is no magic in this world” หรือ “โลกนีไม่มีเวทมนตร์” กล่าวคือแท้จริงแล้วในโลกดิจิทัลทุกอย่างทํางานอยู่บน Circuits ที่ว่าด้วยไฟฟ้าว่า ไม่มีไฟวิ่ง (0) หรือมีไฟวิ่ง (1) ที่เราสามารถเขียนสั่งงานด้วยการเขียนเลข 0 และ 1 ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Machine Code แต่หากจะให้มนุษย์ไปเขียนเลขศูนย์ เลขหนึ่ง เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทํางานอย่างที่เราต้องการจะทำให้การทำงานดูค่อนข้างยุ่งยากไปสักหน่อย ภาษา Assembly จึงถือกําเนิดขึ้นจากการแปลงของชุดเลข 0 และ 1 เหล่านี้มาเป็นชุดคําสั่งง่ายๆ ที่คนอ่านสามารถเข้าใจได้ แต่ภาษา Assembly ก็ยังคงยากเกินไป ภาษา C ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาที่มนุษย์เข้าใจมากขึ้นอีกขั้นจึงถือกําเนิดขึ้นตามมา ในลักษณะแบบนี้ทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันเรามีภาษาโปรแกรมขั้นสูงที่ใกล้เคียงกับภาษามนุษย์เต็มไปหมด

ถ้าเราเรียกภาษา Assembly ว่าเป็น Abstraction ของ Machine Code และภาษา C เป็น Abstraction ของภาษา Assembly อีกทีไปเรื่อยๆ แบบนี้ โลกของคอมพิวเตอร์จึงถูกสร้างอยู่บน Abstraction ซ้อน Abstraction จํานวนมากเพื่อให้มนุษย์ทํางานกับ Machine ได้อย่างสะดวกสบายจนคนรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่ทันได้รับรู้ว่าแท้จริงแล้วข้างใต้ Abstraction เหล่านั้นมีอะไรอยู่บ้างหรือทํางานอย่างไรเพราะเขียนแค่นิดเดียวก็สั่งให้คอมพิวเตอร์ทํางานได้ดั่งใจจนดูเหมือนอะไรๆ เป็นเวทมนตร์ไปหมด

ปัญหาคือถ้าเรารู้แต่ Higher level abstraction เมื่อเราต้องการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนหรือถ้าเราต้องการเรียนรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ เราจะทําได้อย่างยากลําบากมาก

ถ้าถามว่าต้องรู้ลงไปลึกแค่ไหน ลงไปถึง Machine Code เลยหรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่ว่าเราทํางานอะไร ถ้าเราทํางานเกี่ยวกับการออกแบบ CPU แล้วต้องออกแบบ Instruction Set การเข้าใจถึง Machine Code นั่นถือว่าจําเป็นแต่ถ้าเราเป็น Software Engineer เขียนระบบจองโรงแรม เขียนระบบโอนเงินให้ธนาคาร ก็อาจจะไม่จําเป็นต้องเข้าใจลงลึกมากขนาดนั้น อาจจะเข้าใจแค่หลักการทํางานพอ ทั้งนี้เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องตัดสินใจเองตามความเหมาะสม

ใจความสําคัญคือโลกนี้ไม่ได้มีเวทมนตร์เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทําความเข้าใจสิ่งที่เป็นพื้นฐานเสียก่อน อย่าทิ้งเรื่องที่เป็นพื้นฐานเด็ดขาด เพราะถ้าเรารู้และเข้าใจพื้นฐานอย่างถ่องแท้แล้วการต่อยอดจะทําได้โดยง่าย

No comment